ไทยแลนด์
Friday 19th of April 2024
0
نفر 0

เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 29

เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 29

บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 29

 

ประเภทของเตาฮีด รูบูบียะฮ์ ความเป็นเอกะในการอภิบาลบริหารของพระผู้เป็นเจ้า


การ “รูบูบียะฮ์” การอภิบาล การบริหารของพระองค์นั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

๑. “รูบูบียะฮ์ตัชรีอี” “ربوبية تشريعي” หมายถึง การวางชารีอัต กฎเกณฑ์ บทบัญญัติทางศาสนา เพื่อชี้นำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์


ตัวอย่าง : การส่งบรรดาศาสดาลงมาชี้นำ อบรม สั่งสอนมนุษย์ แจ้งข่าวดี แจ้งถึงบทลงโทษต่างๆ สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งใดที่ต้องห้าม การอภิบาลแบบนี้นั้นใช้กับสิ่งที่มีชีวิตที่มีการรับรู้และความปรารถนา(ชูอูรและอิรอดะฮ์) ซึ่งก็คือมนุษย์และญิน

 

ตัวอย่าง : คำสอนต่างๆของศาสดา


แน่นอนว่า คำสอนต่างๆของศาสดานั้นมีประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งทางด้านร่างกายและจิตวิญญาณ เช่น


- กรณีการห้ามกินของสิ่งที่เป็นฮาหร่าม “สิ่งที่ต้องห้ามและสกปรกตามหลักการศาสนา” ซึ่งจะมีผลเสียทั้งต่อร่างกายและจิตวิญญาณ ทำให้เป็นโรคร้ายต่างๆและทำให้จิตวิญญาณมืดบอด


- กรณีบทบัญญัติ เรื่องของการนมาซ ถือศีลอด การเคารพภักดีพระองค์หรืออิบาดัตอื่นๆก็เพื่อเป็นอาหารทางจิตวิญญาณเพื่อให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ทั้งสิ้น เป็นการขัดเกลาจิตวิญญาณของมนุษย์


โองการอัลกุรอานจำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงเป้าหมายและมรรคผลของนมาซที่ปรากฏในอัลกุรอานซูเราะฮ์ฏอฮาโองการที่ 15


وَ أَقِمِ الصَّلَوةَ لِذِكْرِى‌
 

“จงนมาซเพื่อรำลึกถึงฉัน”

ซูเราะฮ์อัลอังกาบูต โองการที่ 45


إِنَّ الصَّلَوةَ تَنهَْى‌ عَنِ الْفَحْشَاءِ وَ الْمُنكَرِ
 

“แท้จริงการนมาซจะยับยั้งจากความชั่วและความโสมม”

ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 45


وَ اسْتَعِينُواْ بِالصَّبرِْ وَ الصَّلَوةِ وَ إِنهََّا لَكَبِيرَةٌ إِلَّا عَلىَ الخَْاشِعِين‌
 

“จงขอความช่วยเหลือด้วยความอดทนและการนมาซเถิด แท้จริงการนมาซนั้นเป็นสิ่งยิ่งใหญ่นอกจากผู้ที่นอบน้อมถ่อมตนเท่านั้น”

 

ซูเราะฮ์อัลมุอ์มินูน โองการที่ 1-2

 

قد افلح المؤمنون الَّذِينَ هُمْ فىِ صَلَاتهِِمْ خَاشِعُون‌


“แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธานั้นได้ประสบความสำเร็จแล้ว ผู้ซึ่งมีความนอบน้อมถ่อมตนในนมาซของพวกเขา”

 

๒.“รูบูบียะฮ์ตักวีนี” คือการอภิบาล การบริหารทางธรรมชาติ เช่น การทำให้เกิด การทำให้ตาย การทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น การทำให้ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า การทำให้เกิดกลางวันกลางคืน การทำให้ฝนตกแดดออกหิมะตก หรือเกิดสุริยุปราคาจันทรุปราคา การทำให้ดวงดาวต่างๆโคจร การทำให้เกิดเป็นมนุษย์ การทำให้เป็นผู้หญิง การทำให้เป็นผู้ชาย การเกิดโรค การทำให้จากจากโรค และภัยพิบัตทางธรรมชาติ

 

ความเป็นเอกะในการอภิบาลของพระผู้เป็นเจ้าจากทัศนะของอัลกุรอาน

 

อัลกุรอานได้เน้นถึงความเป็นเอกะในการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) ด้วยคำว่า พระผู้อภิบาลของทุกๆสรรพสิ่ง “รอบบุลอาละมีน” “رَبّ‌ِ الْعَلَمِين‌” ซึ่งปรากฏอยู่ในอัลกุรอานเป็นจำนวนหลายครั้ง และคำว่า “ร็อบ” “ربّ” เพียงอย่างเดียวปรากฏอยู่ในอัลกุรอานเกือบหนึ่งพันครั้ง

 

สรุปคือ ทุกๆสรรพสิ่งอยู่ภายใต้การอภิบาลของพระองค์ อัลลอฮ์(ซบ) ได้บัญชาแก่ท่านศาสดามูฮัมมัด(ศล) ว่าให้แนะนำพระองค์ในฐานะพระผู้อภิบาลแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดินทั้งหลาย ในซูเราะฮ์อัรเราะด์ โองการที่ 16


قُلْ مَن رَّبُّ السَّمَاوَاتِ وَ الْأَرْضِ قُلِ الله‌
 

“จงกล่าวเถิดโอ้มูฮัมมัด ใครคือพระผู้อภิบาลแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน จงกล่าวเถิด อัลลอฮ์”

 

อย่างไรก็ตามความเป็นผู้อภิบาลของพระองค์นั้นไม่ได้เฉพาะอยู่แค่ชั้นฟ้าและแผ่นดิน แต่หมายถึงสรรพสิ่งทั้งหมด


ซุเราะฮ์อัศอฟฟาต โองการที่ 125 126


أَ تَدْعُونَ بَعْلًا وَ تَذَرُونَ أَحْسَنَ الخَْالِقِين اللَّهَ رَبَّكمُ‌ْ وَ رَبَّ ءَابَائكُمُ الْأَوَّلِين‌‌
 

“พวกท่านเคารพสักการะเทวรูปและทอดทิ้งการนมัสการอัลลอฮ์ผู้ทรงสร้างที่ดีที่สุดกระนั้นหรือ” “อัลลอฮ์คือพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าและพระผู้อภิบาลบรรพบุรุษของพวกเจ้าแต่เก่าก่อน”

 

เห็นได้ว่าอัลกุรอานได้ปฏิเสธการอภิบาลที่เป็นเอกเทศของสิ่งอื่นทั้งหมด

 

หนึ่งในภารกิจหลักของบรรดาศาสดา คือ การใช้เหตุผลในการยืนยันถึงความเป็นเอกะในการอภิบาลของอัลลอฮ์(ซบ) ตัวอย่างหนึ่งจากท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ) เรื่องราวการถกเถียงโต้แย้งระหว่างท่านศาสดาอิบรอฮีม(อ)กับพระราชาองค์หนึ่ง ซึ่งตามฮาดีษหมายถึงนัมรูดเรื่องราวดังกล่าวปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 258


أَ لَمْ تَرَ إِلىَ الَّذِى حَاجَّ إِبْرَاهِمَ فىِ رَبِّهِ أَنْ ءَاتَئهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِمُ رَبىّ‌َِ الَّذِى يُحْىِ وَ يُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْىِ وَ أُمِيتُ قَالَ إِبْرَاهِمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتىِ بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بهَِا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِى كَفَرَ وَ اللَّهُ لَا يهَْدِى الْقَوْمَ الظَّالِمِين‌
 

“เจ้า(มูฮัมมัด) มิได้มองดูผู้ที่โต้แย้งกับอิบรอฮีมในเรื่องพระผู้อภิบาลของเขาดอกหรือ เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงให้เขาเป็นพระราชา และเขาได้โต้แย้งกับท่านศาสดาอิบรอฮีมในเรื่องพระผู้อภิบาล อิบรอฮีมได้กล่าว่า พระผู้เป็นเจ้าของฉันคือผู้ให้ชีวิตและผู้ทำให้ตาย และเขาก็กล่าวว่าข้าก็ให้ชีวิตและให้ตายได้ อิบรอฮีมกล่าว่าแท้จริงพระผู้อภิบาลของฉันนั้นทรงให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออก ดังนั้นท่านจงทำให้มันขึ้นจากทิศตะวันตกเถิด และผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นได้รับความงงงวย และอัลลอฮ์จะไม่ทรงนำทางบรรดาผู้อธรรมทั้งหลาย”

 

จากโองการดังกล่าวนัมรูดได้อ้างว่าเขาเป็นพระผู้อภิบาลองค์หนึ่งเทียบเคียงอัลลอฮ์ ท่านศาสดาอิบรอฮีมต้องการที่จะพิสูจน์ว่านัดรูดไม่ใช่พระผู้อภิบาลที่แท้จริง โดยชี้ให้เห็นสถานะภาพและอำนาจของอัลลอฮ์(ซบ)ในการอภิบาลซึ่งได้กล่าว่า พระผู้อภิบาลของฉันคือผู้ที่ให้ชีวิตและผู้ให้ความตายที่แท้จริง นัมรูดได้แสดงความเจ้าเล่ห์ โดยสั่งให้ทหารไปนำตัวนักโทษจากคุกมาสองคนและได้ปล่อยคนหนึ่งให้เป็นอิสระและอีกคนหนึ่งนัดรูดสั่งให้ฆ่า และด้วยการกระทำนี้นัมรูดได้อ้างว่าตัวเองก็สามารถให้ชีวิตและสามารถทำให้ตายได้

 

ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาอิบรอฮีมได้ชี้ให้เห็นอำนาจในการอภิบาลของพระผู้เป็นเจ้าอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แน่นอนว่า นัมรูดไม่สามารถใช้ความเจ้าเล่ห์ตบตาปชะชาชนได้ ท่านศาสดาอิบรอฮีมได้ชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ และได้กล่าวว่าพระผู้อภิบาลของฉันทรงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันออก ถ้าหากท่านคือพระผู้อภิบาลและมีอำนาจจริงก็จงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากทิศตะวันตก เมื่อมาถึงตรงนี้นัดรูดก็นิ่งเงียบต่อหลักฐานและเหตุผลที่ท่านศาสดาอิบรอฮีมนำมาไม่สามารถตอบคำถามต่อไปได้เพราะนัมรูดไม่มีอำนาจทำได้ ก็เป็นที่เพียงพอในการพิสูจน์ว่าผู้ทรงอำนาจในการอภิบาลอย่างแท้จริงก็คืออัลลอฮ์(ซบ)

 

ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
มองเห็นอัลลอฮ์?!
ทำไมต้องอ่าน ...
คำว่า ฟิตนะฮ์ ในอัลกุรอาน
ตัฟซีร ซูเราะฮ์อัลอัลอิคลาศ ...
...
จุดประสงค์ของคำว่า “บุรูจญ์” ...
สนทนากับอิมามอะลี (อ) หัวข้อ ...
ดุอาเดือนรอญับ

 
user comment