ไทยแลนด์
Tuesday 24th of December 2024
0
نفر 0

ประวัติโดยสังเขปการสร้างอาคารกะอ์บะฮ์โดยอิบรอฮีม (อ.)

ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เริ่มต้นสร้างผนังของอาคารกะอ์บะฮ์ในวันที่ 5 ซุลเกาะฮ์ดะฮ์ โดยการช่วยเหลือของท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) บุตรชายของท่าน และการก่อสร้างเสร็จสิ้นในวันที่
ประวัติโดยสังเขปการสร้างอาคารกะอ์บะฮ์โดยอิบรอฮีม (อ.)

ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เริ่มต้นสร้างผนังของอาคารกะอ์บะฮ์ในวันที่ 5 ซุลเกาะฮ์ดะฮ์ โดยการช่วยเหลือของท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) บุตรชายของท่าน และการก่อสร้างเสร็จสิ้นในวันที่ 27 ซุลเกาะฮ์ดะฮ์ ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ประกอบพิธีฮัจญ์ครั้งแรกในสถานที่แห่งความปลอดภัยของพระผู้เป็นเจ้านี้ด้วยการแนะนำของท่านญิบรออีล (อ.)

 

        

ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เริ่มต้นการสร้างผนังของอาคารกะอ์บะฮ์ ในวันที่ 5 ของเดือนซุลเกาะฮ์ดะฮ์ ในปีที่ 3429 หลังจากการลงมาของท่านศาสดาอาดัม (อ.) โดยความร่วมมือและการช่วยเหลือของท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) บุตรชาย โดยการชี้นำและแนะนำของท่านญิบรออีล (อ.) และการก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 27 ของเดือนซุลเกาะฮ์ดะฮ์ หลังจากนั้นท่านได้นำ “ฮะญะรุลอัสวัด” (หินดำ) ซึ่งเป็นหินจากสวรรค์ ไปติดตั้งไว้ที่ผนังของอาคารกะอ์บะฮ์ (1)

 

       

  จากคำรายงาน (ริวายะฮ์) และบันทึกต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์สรุปได้ว่า อาคารกะฮ์บะฮ์ (บัยตุลลอฮ์) มีการก่อสร้างและซ่อมแซมใหม่รวมทั้งสิ้น 12 ครั้ง คือ

 

1) ก่อสร้างครั้งแรกโดยมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) และญิบรออีล (กาเบรียล) ในยุคก่อนท่านศาสดาอาดัม (อ.)

 

2) โดยท่านศาสดาอาดัม (อ.)

 

3) โดยชีซบุตรชายขอท่านศาสดาอาดัม (อ.) ต่อมาได้พังทลายลงในเหตุการณ์น้ำท่วมสมัยท่านศาสดานูห์ (อ.)

 

4) วางรากฐานใหม่โดยท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.)

 

5) ได้รับการซ่อมแซมโดยชนเผ่าญุรฮุม

 

6) ซ่อมแซมโดยรัฐอะมากอละฮ์

 

7) ซ่อมแซมโดย กุซ็อย บินกิลาบ ปู่ทวดชั้นที่สี่ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) หลังจากได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม

 

8) ซ่อมแซมใหม่โดยเผ่ากเรช ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดา และในยุคญาฮิลียะฮ์ (ยุคก่อนอิสลาม) เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับกรณีของการติดตั้งหินดำ (ฮะญะรุลอัสวัด) ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เข้ามาแก้ไขและจัดการเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว

 

9) ซ่อมแซมอาคารใหม่ในสมัยของคอลีฟะฮ์ที่ 2 และ 3

 

10) สร้างใหม่โดย อับดุลลอฮ์ อิบนุซุบัยร์

 

11) ในสมัยของอับดุลมาลิก บินมัรวาน ที่ถูกทำลายโดย ฮัจญาจ บินยูซุฟ จากนั้นจึงสร้างขึ้นใหม่

 

12) หลังจากการรุกรานของพวกกอรอมิเฏาะฮ์และการลักขโมยหินดำ (ฮะญะรุลอัสวัด) ในปี ฮ.ศ. 339

 

มุมมองโดยสังเขปเกี่ยวกับมะกอมอิบรอฮีม (อ.)

 

       

แน่นอน! ความเก่าแก่ของการสร้างอาคารกะอ์บะฮ์ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาก่อนการสร้างศาสดาอาดัม (อ.) โดยพระบัญชาของพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก บ้าน (อาคาร) หลังหนึ่งได้ถูกสร้างขึ้นโดยบรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) จากเบื้องใต้อะรัช (บัลลังก์) อันสูงสุดของพระผู้เป็นเจ้า ในชั้นฟ้าที่สี่ โดยตั้งขนานกับบัลลังก์ดังกล่าว อาคารหลังนี้มีชื่อว่า "บัยตุ้ลมะอ์มูร" บรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) มีหน้าที่ทำการฏอวาฟ (เวียนรอบ) อาคารหลังนี้ และทำอิบาดะฮ์ (นมัสการ) พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก

 

       

หลังจากนั้นพระผู้เป็นเจ้าทรงมีบัญชาแก่บรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ที่รับใช้บริการอยู่ในโลกนี้ ให้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นบนพื้นโลกเบื้องใต้และตั้งขนานกับบัยตุลมะอ์มูร และให้ทำการฏอวาฟ (เวียนรอบ) อาคารนี้ ดังนั้นช่วงเวลาสองพันปีก่อนการสร้างมนุษย์ บรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ได้สร้างอาคารกะอ์บะฮ์ขึ้นมาและได้ทำการอิบาดะฮ์ (นมัสการ) พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก ณ ที่อาคารดังกล่าว

 

      

  เมื่อเวลาผ่านไปอาคารที่บรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) สร้างขึ้นก็ผุพังลง เมื่อท่านศาสดาอาดัม (อ.) ถูกส่งตัวจากสวรรค์ลงมาสู่แผ่นดิน อาคารกะอ์บะฮ์นี้จึงถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยท่านศาสดาอาดัม (อ.) ตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า

 

 

      

หลังจากเวลาผ่านไปหลายปี ปรากฏการณ์และภัยพิบัติของยุคสมัย ทำให้อาคารกะอ์บะฮ์ก็ถูกทำลายลงอีก และถูกสร้างขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยศาสดาชีซ (อ.) บุตรชายของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ต่อจากนั้นในปี 1890 ก่อนคริตศักราช อาคารกะอ์บะฮ์ถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งโดยท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และท่านได้ประกาศเชิญชวนผู้ที่ศรัทธาในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้าให้มาแสวงบุญและฎอวาฟ (เวียนรอบ) อาคารกะอ์บะฮ์นี้

 

       

สิ่งที่เผยให้เห็นเด่นชัดกว่าทุกครั้งจากการสร้างและการซ่อมแซมอาคารกะอ์บะฮ์ นั้นก็คือ เป้าหมายของการสร้าง ที่ต้องการปลดปล่อยมวลมนุษย์จากการเคารพบูชาเจว็ดและการโน้มเอียงไปสู่ความเชื่อที่เหลวไหล การนำพวกเขากลับมาสู่การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า และอาคารกะอ์บะฮ์ซึ่งเป็นสื่อในการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้านี้ กลายเป็นศูนย์กลางของผู้ที่ยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า

 

       

คัมภีร์อัลกุรอาน อธิบายถึงเรื่องราวของการซ่อมแซมอาคารกะอ์บะฮ์โดยทานศาสดาอิบรอฮีม ค่อลีลุลลอฮ์ (อ.) ไว้เช่นนี้ว่า

 

«وَإِذْ یَرْفَعُ إِبْراهیمُ الْقَواعِدَ مِنَ الْبَیْتِ وَ إِسْماعیلُ رَبَّنا تَقَبَّلْ مِنَّا إِنَّکَ أَنْتَ السَّمیعُ الْعَلیمُ»

 

“และจงรำลึกถึงขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีล ได้ยกฐานของบ้าน (อาคารกะอ์บะฮ์) หลังนั้นให้สูงขึ้น (ทั้งสองกล่าววิงวอนว่า) โอ้พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าพระองค์ โปรดตอบรับ (สิ่งนี้) จากเหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด แท้จริงพระองค์นั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้” (2)

 

รอยเท้าของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ณ อาคารกะอ์บะฮ์

 

       

บางทีการมีอยู่ของมะกอม (รอยเท้าที่ยืน) ของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) คือหลักฐานที่แข็งแรงที่ชี้ให้เห็นว่าท่านศาสดาอิบรอฮีม คอลีลุลลอฮ์ (อ.) ได้ก่อสร้างอาคารกะอ์บะฮ์นี้ขึ้นมาใหม่ และรอยเท้าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ที่ปรากฏอยู่สถานที่แห่งนั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานในฐานะที่เป็นหลักฐานหนึ่งอันชัดแจ้ง โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

«فِیهِ ءَایَت بَیِّنَاتٌ مَّقَامُ إِبْرَهِیمَ»

 

“ในมัน (มัสยิดิลฮะรอม) มีหลักฐานต่าง ๆ อันชัดแจ้ง (หนึ่งในบรรดาหลักฐานเหล่านั้น) คือมะกอมอิบรอฮีม” (3)

 

        

ในช่วงวางรากฐานก่อสร้างอาคารกะอ์บะฮ์ใหม่นั้น ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ยืนบนแท่นหินนี้เพื่อก่อส่วนบนของอาคารกะอ์บะฮ์ให้สมบูรณ์ และโดยพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า รอยเท้าทั้งสองข้างขอท่านจึงปรากฏอยู่บนแท่นหินนี้ ปัจจุบันมะกอมอิบรอฮีมตั้งอยู่ห่างจากตัวอาคารกะอ์บะฮ์ 13 เมตร ถูกจัดวางไว้ภายในหอเล็ก ๆ หลังหนึ่งเพื่อรักษาไม่ให้เกิดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้

 

หลังจากการซ่อมแซมอาคารกะอ์บะฮ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงบัญชาแก่ท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และท่านศาสดาอิสมาอีล (อ.) ให้ประกอบพิธีฮัจญ์ ท่านญิบรออีล (อ.) ได้ลงมาพบกับท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และสอนวิธีการทำฮัจญ์ อันได้แก่การฏอวาฟ (เวียนรอบอาคารกะอ์บะฮ์) การเดินซะแอ

การวุกูฟในอารอฟะฮ์และในมัชอะริลฮะรอม และมารยาทต่าง ๆ ของมินาให้แก่ท่านทั้งสอง ท่านทั้งสองจึงปฏิบัติพิธีฮัจญ์ตามลำดับขั้นตอนที่ได้เรียนรู้ดังกล่าว

 

       

แน่นอน! พิธีกรรมฮัจญ์ซึ่งในอิสลามถือเป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีความสำคัญที่สุดในระดับโลก  คือการย้ำเตือนความทรงจำและการรำลึกถึงท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) อยู่ตลอดเวลา วีรกรรมแห่งความเป็นบ่าวผู้ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ถูกผสมผสานอยู่ในพิธีกรรมของฮัจญ์ โดยพื้นฐานแล้วการทำฮัจญ์โดยปราศจากการรำลึกถึงท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) นั้นจะไม่มีความหมายใด ๆ ด้วยเหตุนี้เอง ชื่อ แนวทางและวีรกรรมความกล้าหาญของมหาบุรุษแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านนี้จึงยังคงอยู่ตลอดไป และผู้ที่ปรารถนาจะเดินไปบนเส้นทางของเกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ พวกเขาจะย่างก้าวไปบนเส้นทางนี้

 

 

 

เชิงอรรถ :

 

1)- วะกออิอุลอัยยาม , เชคอับบาสกุมมี , หน้าที่ 88

 

2)- อัลกุรอานบทอัลบากอเราฮ์ โองการที่ 127

 

3)- อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 97


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
ในประโยคคำปฏิญาณ (อัชฮะดุ อันลา ...
...
พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ...
ความสมบูรณ์ของศาสนาอิสลาม
...
หยดหนึ่งจากดุอาอบูฮัมซะฮ์
อิมามมะฮฺดี (อ.)ในช่วงเร้นกาย
...

 
user comment