ไทยแลนด์
Sunday 5th of January 2025
0
نفر 0

ความกลัวการลงโทษและความหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

ความกลัวการลงโทษและความหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

ความกลัวการลงโทษและความหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า


เราทุกคนทราบดีว่า หนึ่งในคุณลักษณะ (ซิฟัต) อันวิจิตรและสูงส่งของพระผู้เป็นเจ้า คือ พระองค์ทรงไว้ซึ่งความเมตตาอันสูงสุด هُوَ أَرْحَمُ الرَّاحِمِینَ “พระองค์คือผู้ทรงเมตตาที่สุดในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย” (1) และความเมตตาของพระองค์นั้นมาก่อนและมีมากกว่าความกริ้วโกรธของพระองค์ ดั่งที่ในดุอาอ์เญาชันกะบีร ได้กล่าวว่า

 

 يا مَنْ وَسِعَتْ كُلَّ شَيْء رَحْمَتُهُ يا مَنْ سَبَقَتْ رَحْمَتُهُ غَضَبَهُ

 

“โอ้ ผู้ซึ่งความเมตตาของพระองค์นั้นแผ่ปกคลุมทุกสิ่ง โอ้ ผู้ซึ่งความเมตตาของพระองค์นำหน้าความกริ้วโกรธของพระองค์” (2)

 

     นี่คือเหตุผลที่ทำให้มนุษย์ส่วนใหญ่เกิดความลำพองใจ และเป็นเหตุทำให้พวกเขาอาจหาญในการทำความชั่วและละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า ในขณะที่เรามีความหวังในความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้านั้น เราก็จะต้องไม่ลืมอีกด้านหนึ่งของพระองค์ที่ว่า

 

فَإِنَّ اللَّهَ شَدِيدُ الْعِقَابِ

“แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงลงโทษที่รุนแรงยิ่ง” (3)

 

     ความเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างมาก และเราทุกคนจะต้องพยายามขวนขวายให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นในตัวเรา หากเราปรารถนาความดีงามในชีวิต จำเป็นที่จะต้องฝึกฝนและสร้างความกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า กลัวจากความกริ้วโกรธของพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ แล้วเราจะบรรลุสู่บั้นปลายที่ดีงาม คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า

 

وَأَمَّا مَنْ خَافَ مَقَامَ رَبِّهِ وَنَهَى النَّفْسَ عَنْ الْهَوَى فَإِنَّ الْجَنَّةَ هِىَ الْمَأْوَى

 

“และส่วนผู้ที่หวั่นกลัวต่อการยืนเบื้องหน้าองค์พระผู้อภิบาลของเขา และหักห้ามจิตใจจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ ดังนั้น สวรรค์จะเป็นที่พำนักของเขา” (4)

 

   

คำว่า “مَقَامَ رَبِّهِ” มีการอรรถาธิบายความหมายไว้หลายอย่าง หนึ่งในคำอรรถาธิบายเหล่านั้นคือ “مقامه عند ربّه” “การยืนของมนุษย์ ณ เบื้องพระพักตร์ขององค์พระผู้อภิบาลของเขา (ในวันชาติหน้า)” ฉะนั้นในการดำเนินชีวิตในโลกนี้ หากเรากลัวสิ่งดังกล่าว เราก็ต้องพยายามปฏิบัติตนตามคำสั่งใช้ของพระผู้เป็นเจ้า และหลีกเลี่ยงข้อห้ามและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์ แล้วเราจะพบกับบั้นปลาย หมายถึงชีวิตที่ดีงามและผาสุกไพบูลย์ในปรโลก ความเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า คือคุณลักษณะของ “อิบาดุรเราะห์มาน”

 

    ในอัลกุรอานบทอัลฟุรกอน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสถึงปวงบ่าวเฉพาะของพระองค์ โดยเรียกพวกเขาว่า “อิบาดุรเราะห์มาน” (ปวงบ่าวของพระผู้ทรงเมตตา) เกี่ยวกับคุณลักษณะประการที่สี่ของปวงบ่าวกลุ่มนี้ พระองค์ทรงตรัสว่า

 

 وَالَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا اصْرِفْ عَنَّا عَذَابَ جَهَنَّمَ إِنَّ عَذَابَهَا كَانَ غَرَامًا إِنَّهَا سَاءَتْ مُسْتَقَرًّا وَمُقَامًا

 

“และบรรดาผู้ที่กล่าวว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเหล่าข้าฯ โปรดทรงปกป้องการลงโทษของนรกให้พ้นไปจากเหล่าข้าฯ ด้วยเถิด เพราะการลงโทษของมันคือความทุกข์ทรมานที่ยาวนาน แท้จริงมันเป็นที่พำนักและสถานที่อยู่ที่เลวร้ายยิ่ง” (5)

 

     ในโองการนี้พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงคุณลักษณะที่โดดเด่นของปวงบ่าวเฉพาะของพระองค์ นั่นก็คือ “คุณลักษณะของความเกรงกลัวและความยำเกรงต่อพระองค์” กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ พวกเขามีความหวั่นกลัวอย่างมากต่อการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า ที่เกิดจากการละเมิดฝ่าฝืนพระองค์ และพวกเขามีความเชื่ออย่างมั่นคงว่า การละเมิดคำสั่งพระผู้เป็นเจ้านั้น หมายถึงการเชื่อฟังคำสั่งของมาร (ชัยฏอน) และการกระทำเช่นนี้จะทำให้เขาต้องได้รับโทษทัณฑ์จากพระผู้เป็นเจ้าและเข้าสู่ไฟนรก

 

     อย่างไรก็ดี ความกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้าในที่นี้ หมายถึงความกลัวต่อหน้าที่รับผิดชอบต่างๆ ที่มนุษย์ได้ถูกมอบหมายจากพระองค์ กลัวการที่เราอาจจะบกพร่องต่อการปฏิบัติตามหน้าที่และภารกิจที่ได้รับมอบหมาย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กลัวจากความผิดบาปและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระองค์ ดังที่ท่านอิหม่ามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

 

 لَا يَرْجُوَنَّ أَحَدٌ مِنْكُمْ إِلَّا رَبَّهُ وَ لَا يَخَافَنَّ إِلَّا ذَنْبَه

 

“คนหนึ่งคนใดจากพวกท่านอย่าได้หวัง (จากผู้ใด) นอกจากอัลลอฮ์เพียงเท่านั้น และอย่าได้กลัวสิ่งใดนอกจากบาปของเขาเองเท่านั้น” (6)

 

ความกลัวการลงโทษและความหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

 

     ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) จะต้องดำรงตนอยู่ในระหว่างความกลัว (เคาฟ์) และความหวัง (ร่อญาอ์) หมายถึง จะต้องมีความหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และในขณะเดียวกันก็จะต้องมีความกลัวเกรงต่อการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้าด้วย แนวทางสายกลาง (เอี๊ยะอ์ติดาล) ก็คือสิ่งนี้นั่นเอง และการยึดถือหรือโน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างสุดโต่ง โดยละทิ้งอีกด้านหนึ่งนั้น จะนำมาซึ่งอันตรายที่ใหญ่หลวง ทั้งนี้เนื่องจากว่าหากเรามีความมุ่งหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าเพียงอย่างเดียว จะทำให้เราเกิดความลำพองใจ สิ่งนี้จะเปิดโอกาสให้เราย่างก้าวเข้าสู่ความชั่วและการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า และหากเรามีแต่ความกลัวเพียงอย่างเดียว ความกลัวโดยปราศจากความหวังก็จะนำพาเราไปสู่ความท้อแท้สิ้นหวัง สภาพเช่นนี้จะทำให้มนุษย์เกิดการหยุดนิ่ง ไร้ชีวิตชีวา ยับยั้งตนจากการพัฒนาและการขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้นไป

 

     ด้วยเหตุนี้เองท่านอิหม่ามมุฮัมมัด บากิร (อ.) จึงได้กล่าวว่า

 

 إِنَّهُ لَيْسَ مِنْ عَبْدٍ مُؤْمِنٍ إِلَّا وَ فِي قَلْبِهِ نُورَانِ نُورُ خِيفَةٍ وَ نُورُ رَجَاءٍ لَوْ وُزِنَ هَذَا لَمْ يَزِدْ عَلَى هَذَا وَ لَوْ وُزِنَ هَذَا لَمْ يَزِدْ عَلَى هَذَا

 

“แท้จริงไม่มีบ่าวผู้ศรัทธาคนใด นอกจากในหัวใจของเขาจะต้องมีสองแสงสว่าง (นูร) คือ แสงสว่างแห่งความกลัวและแสงสว่างแห่งความหวัง และหากทั้งสองถูกนำมาชั่งวัด จะไม่มีสิ่งใดที่มากไปกว่าอีกสิ่งหนึ่งเลย” (7)

 

คุณค่าของความเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้า ในวจนะของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิหม่ามอะลี (อ.)

 

    ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

 

 أَعْلَى النَّاسِ مَنْزِلَةً عِنْدَاللَّهِ أَخْوَفُهُمْ مِنْهُ

 

"มนุษย์ที่มีตำแหน่งสูงส่งที่สุด ณ อัลลอฮ์ คือคนที่เกรงกลัวพระองค์มากที่สุดในหมู่พวกเขา” (8)

 

    ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า

 

 إن الله إذا جمع الناس نادى فیهم مناد أیها الناس إن أقربکم الیوم من الله أشدکم منه خوفا

 

"แท้จริงเมื่ออัลลอฮ์ได้ทรงรวมมนุษย์ขึ้น (ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพในปรโลก) จะมีผู้ประกาศผู้หนึ่งประกาศว่า โอ้ประชาชนเอ๋ย! วันนี้ผู้ที่ใกล้ชิดอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่มีความเกรงกลัวพระองค์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน” (9)

 

ผลของความเกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้าในริวายะฮ์ (คำรายงาน)

 

    จะทำให้เกิดการยับยั้นตนจากความชั่ว : ท่านอิหม่ามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

 الخَوْفُ سِجْنُ النَّفْسِ عَنِ الذُّنُوبِ، وَ رادِعُها عَنِ المَعاصي

 

"ความกลัว (ต่อพระผู้เป็นเจ้า) คือสิ่งที่จะกักขังจิตใจจากบาปทั้งหลาย และจะเป็นเครื่องปกป้องมันจากการละเมิดฝ่าฝืนต่างๆ" (10)

 

    ทำให้เกิดความน่าเกรงขามและความเคารพจากผู้อื่น : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า

 

مَنْ خَافَ اللهَ أخَافَ اللهُ مِنْهُ کلَّ شَی ءٍ وَ مَنْ لَمْ یخِفِ اللهَ أخَافَهُ اللهُ مِنْ کلِّ شیءٍ

 

"ผู้ใดที่เกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะให้ทุกสิ่งกลัวเขา และผู้ใดที่ไม่เกรงกลัวอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะให้เขากลัวทุกสิ่ง" (11)

 

    ความปลอดภัยจากการลงโทษของพระเจ้า : ท่านอิหม่ามอะลี (อ.) กล่าวว่า

 

 ثَمَرَةُ الْخَوْفِ ألأمْنِ

"ผลของความเกรงกลัว (พระผู้เป็นเจ้า) คือความปลอดภัย" (12)

 

แหล่งอ้างอิง :

 

(1) อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 54 และ 92

(2) ดุออาอ์เญาชันกะบีร, มะฟาตีฮุ้ลญินาน

(3) อัลกุรอานบทอัลฮัชรุ์ โองการที่4

(4) อัลกุรอานบทอันนาซิอาต โองการที่ 40-41

(5) อัลกุรอานบทอัลฟุรกอนโองการที่ 65-66

(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, ฮิกมะฮ์ที่ 82

(7) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 11, หน้าที่ 168

(8) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 74, หน้าที่ 180

(9) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 141

(10) ฆุร่อรุ้ลฮิกัม, ฮะดีษที่ 1987

(11) อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้าที่ 68

(12) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 70, หน้าที่ 381

 

เรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัด นาอีม ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

บทบาทของบรรดาอิมาม (อ.) ...
...
การบริหารริซกี
ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
อิสลามเชิญชวนมนุษย์สู่อะไร ?
เทววิทยาอิสลาม บทที่ 4
ใครคือซัยนับ?
อภัยทาน
วิถีฟื้นฟูของอิมามมะฮ์ดี
อิมามฮุเซน (อ.) ...

 
user comment