ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

ผิดด้วยหรือที่เราหลั่งน้ำตา

ผิดด้วยหรือที่เราหลั่งน้ำตา

การร้องไห้และการไว้อาลัยต่อผู้ล่วงลับ
เมื่อเราเข้าฟังการบรรยายธรรม หรืออ่านหนังสือเกี่ยวกับอัคลาก(จริยธรรมอิสลาม)เมื่อใด จะพบคำตักเตือนให้ระมัดระวังบางสิ่งบางอย่าง อาทิเช่น นัฟซู , ดุนยา ฯลฯ และเชิญชวนให้กระทำในสิ่งที่แสดงถึงความห้าวหาญหรือเสียสละเพื่อศาสนา เช่นการญิฮาด เป็นต้น หากมองโดยผิวเผินแล้วอาจทำให้เข้าใจคร่าวๆว่า อิสลามเป็นศาสนาที่เน้นความเข้มแข็ง ,ตัดขาดจากอารมณ์ ( เพราะนัฟซูหมายถึงอารมณ์ไฝ่ต่ำ) , คัดค้านความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆในโลกดุนยา

หนึ่งในประเด็นที่อาจจะถือเป็นสิ่งที่ขัดกับคำสอนของศาสนาคือ การร้องไห้และการไว้อาลัยต่อผู้ล่วงลับไปแล้ว เพราะดูผิวเผินแล้วคล้ายเป็นการยึดติดกับดุนยา หรือเป็นสิ่งที่แสดงออกจากนัฟซูอันไม่เหมาะสม หรือเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักคำสอนทางศาสนาเกี่ยวกับความห้าวหาญเสียสละเพื่อหนทางของพระองค์

ทว่าหากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว การร่ำไห้และการไว้อาลัยผู้ล่วงลับมิได้ขัดกับหลักการศาสนาแต่อย่างใด ทั้งนี้ข้อเท็จจริงดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้โดยการพิจารณาในแบบฉบับของท่านศาสดา (ที่จะกล่าวถึงในภายหลัง)โดยศาสนาได้กำหนดขอบเขตการไว้อาลัยที่เป็นที่อนุมัติไว้แล้ว ข้อเขียนนี้ต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นโดยรวมว่าการร่ำไห้และการไว้อาลัยมิได้เป็นสิ่งที่ขัดกับจริยธรรมคำสอนของอิสลามแต่อย่างใด ทว่าเป็นสิ่งดีงามที่ท่านศาสดาและบรรดาผู้นำทางศาสนาภายหลังจากท่านได้ถือปฏิบัติไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน และจะกล่าวถึงหลักฐานของผู้ที่คัดค้านการร่ำไห้และการไว้อาลัยผู้ล่วงลับพร้อมวิเคราะห์ความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านี้เป็นลำดับต่อไป

ธรรมชาติของการร้องไห้และการไว้อาลัย
การร่ำไห้และการไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับถือเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้สึกภายในของมนุษย์ บรรดาผู้ประสบเคราะห์กรรมต่างได้รับแรงโน้มน้าวสู่การร่ำไห้ด้วยแรงดึงดูดทางจิตใจและความรู้สึกอันถือเป็นเรื่องปกติสามัญ นอกจากนี้ ท่านนบีมุฮัมมัดยังให้การยอมรับและส่งเสริมการร่ำไห้อย่างชัดเจน

อุซามะฮ์ บินเซดเล่าว่า “ วันหนึ่ง หลานของท่านนบีเสียชีวิต (ในวัยเยาว์) บุตรีของท่านได้แจ้งข่าวอันน่าสลดใจนี้ต่อผู้เป็นบิดา และเชิญให้ท่านมายังบ้านของเธอ ท่านนบีได้รีบรุดมายังบ้านของบุตรสาวพร้อมซะอ์ด อิบนิ อุบาดะฮ์ มุอาซ อิบนิ ญะบัล อุบัยย์ อิบนิ กะอ์บ เซด อิบนิ ษาบิต และเศาะฮาบะฮ์อีกจำนวนหนึ่ง ท่านนบีผู้เมตตาได้บรรจงอุ้มเด็กน้อยที่นอนแน่นิ่งขึ้นแนบอกและร่ำไห้อย่างหนักหน่วงกระทั่งน้ำตาของท่านใหลพรากผ่านดวงหน้าของท่าน ซะอ์ด แปลกใจอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นท่านนบีร่ำไห้จึงเอ่ยถามว่า “ เพราะเหตุใดท่านจึงร่ำไห้เล่า? ” ท่านกล่าวตอบว่า “ (สิ่งที่เจ้าเห็นคือ) ความเมตตาที่พระองค์ทรงทำให้สถิตในดวงใจของปวงบ่าวของพระองค์ แท้จริงพระองค์จะทรงเมตตา (เป็นพิเศษ) แก่ปวงบ่าวผู้มีเมตตาจิตเท่านั้น

ภายหลังจากที่สมรภูมิอุฮุดสิ้นสุดลง ท่านนบีได้เดินทางกลับสู่มะดีนะฮ์ และพบว่าบรรดาสตรีชาวอันศอรกำลังสาละวนอยู่กับการร่ำไห้และไว้อาลัยต่อการจากไปของบรรดาเศาะฮาบะฮ์ซึ่งเป็นญาติพี่น้องของตนเท่านั้น เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านนบีหวลรำลึกถึงท่านฮัมซะฮ์ผู้เป็นลุงพร้อมกับกล่าวอย่างสลดใจว่า “ แต่สำหรับฮัมซะฮ์กลับไม่มีผู้ใดร่ำไห้ไว้อาลัยให้ท่านเลย ” ภายหลังจากที่ท่านพักผ่อนไปชั่วครู่ ท่านก็ได้ยินเสียงร่ำไห้ของบรรดาสตรีชาวอันศอรที่กำลังทำการไว้อาลัยให้ท่านฮัมซะฮ์อย่างสมเกียรติ

นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ท่านญะฟัร อิบนิ อบีฎอลิบถูกสังหารในสงครามเมาตะฮ์ ท่านนบีได้ให้เกียรติปลอบขวัญครอบครัวของเขาถึงที่บ้าน เมื่อถึงเวลาที่ท่านจะลากลับ ท่านได้กล่าวว่า “ สำหรับบุคคลเฉกเช่นญะฟัรสมควรแล้วที่ต้องมีผู้หลั่งน้ำตาไว้อาลัย ”

แนวคิดต่อต้านการร่ำไห้อันขัดกับธรรมชาติของมนุษย์ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงโดยท่านนบี และท่านได้แสดงท่าทีคัดค้านแนวคิดดังกล่าวอย่างชัดเจน บรรดานักวิชาการได้รายงานไว้ว่า “ ในวันหนึ่ง ท่านนบีได้ให้เกียรติร่วมพิธีฝังศพมุสลิมคนหนึ่ง โดยมีอุมัร อิบนิ ค็อฏฏอบติดตามท่านไปด้วย เมื่ออุมัรได้ยินเสียงร้องไห้เสียใจของบรรดาสตรี เขาแสดงท่าทีไม่พอใจด้วยการสั่งห้ามไม่ให้บรรดาสตรีแสดงพฤติกรรมดังกล่าว ท่านนบีหันมาเตือนอุมัรว่า “ โอ้อุมัร จงปล่อยพวกนางไปเถิด เพราะแท้จริงดวงตาของพวกนางต่างชุ่มด้วยน้ำตา จิตใจของพวกนางอัดแน่นด้วยความระทมทุกข์ และความผูกพันเพิ่งจะขาดสะบั้นลงไม่นาน ”

แบบฉบับของท่านนบีเกี่ยวกับการร่ำไห้
เราสามารถพบการร่ำไห้อันเกิดจากความอาลัยต่อผู้เสียชีวิตได้ในแง่มุมต่างๆของชีวประวัติอันจำเริญของท่านนบี นักประวัติศาสตร์ได้รายงานการร่ำไห้ของท่านนบีในรูปแบบต่างๆต่อการจากไปของเครือญาติ และบรรดาสหายผู้เป็นที่รัก ซึ่งเราจะขอหยิบยกบางเหตุการมาเป็นตัวอย่างสำหรับข้อเท็จจริงดังกล่าวดังนี้

1 การร่ำไห้ต่อการเสียชีวิตของท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ
ภายหลังจากที่ท่านอับดุลมุฏ็อลลิบผู้เป็นปู่ของท่านนบีเสียชีวิต ท่านได้ร่ำไห้ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอุมมุ อัยมัน ได้เล่าว่า “ ฉันเห็นท่านรอซูลเดินตามญะนาซะฮ์ผู้เป็นปู่ในขณะที่ท่านกำลังร่ำไห้อยู่ ” (ตัซกิเราะตุล เคาะวาศ หน้า 7)

2 การร่ำไห้ต่อการเสียชีวิตของท่านอบูฏอลิบ
การจากไปของท่านอบูฏอลิบผู้เป็นลุงและผู้ปกป้องท่านจากเงื้อมมือของกาเฟรมุชริกีนยังความโศกสลดสุดอาลัยมาสู่ท่านนบี ท่านอลีได้กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ฉันแจ้งข่าวการเสียชีวิตของพ่อให้ท่านนบีทราบ ท่านได้ร่ำไห้และกล่าวแก่ฉันว่า “ จงไปทำการอาบน้ำมัยยิต และห่อหุ้มกะฝั่นให้ท่าน และจงฝังร่างท่าน ขอพระองค์ทรงอภัยและเมตตาแก่ท่าน ” ( อัฏฏอบะกอตุลกุบรอ เล่ม 1 หน้า 123)

3 การร่ำไห้ ณ หลุมฝังศพมารดา
ในวันหนึ่ง ท่านนบีได้ไปเยี่ยมหลุมฝังศพมารดาของท่าน (ท่านหญิงอามินะฮ์) ณ สถานที่ๆเรียกว่า อับวาอ์ นักประวัติศาสตร์ได้รายงานว่าท่านนบีได้ร่ำไห้เคียงข้างหลุมฝังศพของมารดาอันเป็นเหตุให้เหล่าเศาะฮาบะฮ์ผู้ติดตามท่านกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่และร่วมร่ำไห้กับท่านนบีด้วย (อัลมุสตัดร็อก เล่ม 1 หน้า 357 , ตารีคุลมะดีนะฮ์ ของอิบนิ ชุบบะฮ์ เล่ม 1 หน้า 118)

4 การร่ำไห้ต่อการเสียชีวิตของอิบรอฮีม บุตรของท่านนบี
อิบรอฮีมถือเป็นบุตรชายคนเดียวของท่านนบีที่พระองค์ทรงประทานให้ ทว่าเด็กน้อยผู้นี้ลืมตาดูโลกได้ไม่เกินหนึ่งปีก็จากอ้อมอกผู้เป็นพ่อไปอย่างนิรันดร์ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเศร้าสลดใจต่อท่านนบีเป็นอย่างยิ่ง ท่านร่ำไห้ด้วยความอาลัยรักบุตรชายอย่างระทม และเมื่อมีผู้ถามถึงเหตุผลของการร่ำไห้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านตอบว่า “ น้ำตาใหลพรากจากสองตา ดวงใจช้ำตรมด้วยความระทมทุกข์ ทว่าเราจะไม่กล่าวสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรงพิโรธเด็ดขาด (อัลอุกดุลฟะรีด เล่ม 3 หน้า 19)

5 การร่ำไห้ต่อการเสียชีวิตของท่านหญิง ฟาฏิมะฮ์ บินติ อะซัด
ฟาฏิมะฮ์ บินติ อะซัด ภริยาของท่านอบูฏอลิบ และมารดาของท่านอิมามอลี เป็นสตรีที่ท่านนบีรักและให้การเคารพตลอดมา เนื่องจากนางคือผู้ให้การเลี้ยงดูท่านอย่างทะนุถนอมเมื่อครั้งที่ท่านเยาว์วัย เมื่อนางเสียชีวิตลงในปีฮิญเราะฮ์ที่ 3 ท่านนบีซึ่งรักและให้เกียรตินางดั่งมารดาของท่านเองเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างสุดซึ้ง และได้ร่ำไห้อย่างอาดูร บรรดานักประวัติศาสตร์รายงานว่า “ ท่านนบีได้นมาซมัยยิต หลังจากนั้นท่านได้นอนในหลุมฝังศพของนางและร่ำไห้ ”

6 การร่ำไห้ต่อการจากไปของท่านฮัมซะฮ์
ท่านฮัมซะฮ์ บุตรของอับดุลมุฏ็อลลิบ คือหนึ่งในวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอิสลามที่ได้เป็นชะฮีดในสมรภูมิอุฮุด การจากไปไม่มีวันหวนคืนของท่านฮัมซะฮ์ยังความโศกเศร้าสู่ท่านนบีอย่างยิ่ง กระทั่งได้ให้ฉายานามท่านฮัมซะฮ์ว่า “ นายแห่งบรรดาชุฮะดาอ์ ” ท่านร่ำไห้อย่างหนักต่อการสูญเสียผู้พิทักษ์อิสลามที่ยิ่งใหญ่ท่านนี้
“ เมื่อท่านนบีเหลือบเห็นร่างอันไร้วิญญาณของท่านฮัมซะฮ์ ท่านได้ร่ำไห้ด้วยความระทม แต่เมื่อท่านพอร่องรอยการถูกหั่นอวัยวะของผู้เป็นลุง (โดยฮินด์ ภรรยาของอบูซุฟยาน) ท่านได้ร่ำไห้อย่างหนักหน่วงด้วยเสียงอันดัง ” (อัซซีเราะตุล ฮะละบียะฮ์ เล่ม 2 หน้า 247)

7 การร่ำไห้ต่อการจากไปของบรรดาเศาะฮาบะฮ์
การจากไปของเศาะฮาบะฮ์บางท่านสร้างความโศกสลดแก่ท่านนบีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้หยาดน้ำตาของท่านใหลชโลมเคราด้วยความอาลัย, ท่านร่ำไห้ต่อการเสียชีวิตของอุษมาน อิบนิ มัซอูน พร้อมก้มลงจุมพิตร่างอันไร้วิญญาณของเขาด้วยความอาดูร ( อัลมุสตัดร็อกอะลัศเศาะฮีฮัยน์ เล่ม 1 หน้า 261 , อัซซุนะนุล กุบรอ เล่ม 3 หน้า 407)

หลังจากการปะทะกันที่ “ ฮัมรออุล อะซัด ” ยุติลง ท่านนบีได้เยี่ยมปลอบขวัญครอบครัวของซะอ์ด อิบนิ เราะบีอ์ หนึ่งในเหล่าชุฮะดาอ์จากสมรภูมิอุฮุด พร้อมกับเล่าถึงวีรกรรมของเขาด้วยความอาลัย คนในครอบครัวของซะอ์ดไม่สามารถกลั้นน้ำตาไว้ได้เมื่อได้ยินเรื่องราวของหัวหน้าครอบครัวผู้กล้าหาญ ท่านนบีก็ร่วมหลั่งน้ำตาพร้อมกับครอบครัวของซะอ์ดด้วย และมิได้สั่งห้ามมิให้ครอบครัวของเขาร่ำไห้และไว้อาลัยแต่อย่างใด (อัลมะฆอซี เล่ม 1 หน้า 329)





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ตัฟซีรซูเราะฮ์อัลฟาติฮะฮ์ ...
ดุอากุเมล คำอ่านพร้อมความหมาย
...
เปชวาร์ราตรี : เสวนาคืนที่ 1 ...
...
สระน้ำเกาษัรคืออะไร?
ความอธรรมในอัลกุรอาน
...
“ฟาฏิมะฮ์”แปลว่าอะไร? ...
...

 
user comment