โองการต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงวาญิบ (จำเป็น) และการนอบน้อมถ่อมตนในนมาซ เช่น กล่าวว่า
إِنَّ الصَّلاةَ كَانَتْ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ كِتَابًا مَوْقُوتًا
คำว่า “กิตาบ” หรือ “มักตูบ” หมายถึงวาญิบ เช่นเดียวกับโองการที่ว่า
كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ
“ การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว” (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 183)
คำว่า “เมากูต” หมายถึง กำหนดที่เฉพาะเจาะจง (จากหนังสือกันซุลอิรฟาน และฆอรีบุลกุรอาน)
โองการจึงหมายถึง “แท้จริงนมาซเป็นบัญญัติที่ถูกกำหนด
ไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธา” (ซูเราะฮฺ นิซาอฺ โองการที่ 103)
บทบัญญัติ
1. การนมาซ วาญิบสำหรับมุสลิมทุกคน
2. วาญิบนี้มีเวลาในการปฏิบัติอันเฉพาะเจาะจงพิเศษ
3. ตอนแรกของโองการบ่งชี้ว่าการรำลึกถึงอัลลอฮ (ซบ.) ในทุก ๆ สภาพนั้นคือเป้าหมายแท้จริง
ข้อสังเกต
ผู้รู้บางท่าน (เช่นท่าน อิมามอะบูฮะนีฟะฮ์) ถือว่า คำว่า “บรรดาผู้ศรัทธา” บ่งบอกถึงว่านมาซเป็นวาญิบสำหรับผู้ที่เข้ารับอิสลามแล้ว ทว่าอันที่จริงการยกเหตุผลดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานความหมายของ วัศฟ์ (คำลักษณะนาม) ซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับของเหล่านักค้นคว้า และเป็นที่รู้กันแพร่หลายในประโยคคำกล่าวที่ว่า การพิสูจน์สิ่งใดสิ่งหนึ่งมิได้หมายความว่าจะปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งได้ ด้วยเหตุนี้ ทัศนะของผู้ที่เชื่อว่าบรรดาผู้ปฏิเสธก็มีภาระหน้าที่ในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาก็ถือว่าถูกยอมรับเช่นกัน
حَافِظُوا عَلَى الصَّلَوَاتِ وَالصَّلاةِ الْوُسْطَى وَقُومُوا لِلَّهِ قَانِتِينَ فَإِنْ خِفْتُمْ فَرِجَالا أَوْ رُكْبَانًا فَإِذَا أَمِنْتُمْ فَاذْكُرُوا اللَّهَ كَمَا عَلَّمَكُمْ مَا لَمْ تَكُونُوا تَعْلَمُونَ
เป้าหมายของ “ฮาฟิซูอะลัซเซาะละวาต” คือ การให้ความสำคัญต่อนมาซ และความเพียรพยายามในการนมาซตรงต่อเวลาที่กำหนดไว้ คำว่า “ซอลาติลวุซฏอ” หมายถึงนมาซที่อยู่ตรงกลางของนมาซต่าง ๆ หรือหมายถึงนมาซที่เปี่ยมด้วยความประเสริฐ เพราะบางท่านเชื่อว่า “วุซฏอ” ให้ความหมายของความประเสริฐที่เปี่ยมล้น คำว่า “กอนิตีน” เป็นพหุพจน์ของคำว่า “กอนัต” มาจากรากศัพท์ของคำว่า “กุนูต” ซึ่งหมายถึงการวิงวอน (ดุอาอฺ) กล่าวคือ จงวิงวอนในขณะที่ยืน บางท่านก็กล่าวว่า “กุนูต” หมายถึงการยืนหยัดในการทำงานใดงานหนึ่ง และก็มีการกล่าวอีกเช่นกันว่า หมายถึงการภักดี และการนอบน้อม และโดยปกติแล้วการภักดีย่อมควบคู่กับการมีความนอบน้อมถ่อมตน (จากหนังสือมุฟรอดาต รอฆิบ)
คำว่า “ริญาล” เป็นพหูพจน์ของคำว่า “รอญิล” หมายถึงผู้ที่เดินเท้า ส่วนคำว่า “ รุกบานัน” เป็นพหูพจน์ของคำว่า “รอกิบ” หมายถึงผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะ
โองการจึงมีความหมายว่า พวกเจ้าจงรักษานมาซทั้งหลายไว้ และนมาซที่อยู่กึ่งกลาง (นมาซซุฮร์)และจงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮฺโดยนอบน้อม ถ้าพวกเจ้ากลัวก็จงนมาซพลางเดินหรือขี่ ครั้นเมื่อพวกเจ้าปลอดภัยแล้วก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺดังที่พระองค์ได้ทรงสอนพวกเจ้าซึ่งสิ่งที่พวกเจ้ามิเคยรู้มาก่อน (ซูเราะฮฺ บะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 238-239)
บทบัญญัติ
1.กล่าวกันว่าเป้าหมายของ การเป็นวาญิบในการรักษานมาซ คือ การรักษาเวลา, ขอบเขตและเงื่อนไขต่าง ๆ ของนมาซ หรือเป้าหมายของการรักษานมาซที่เป็นวาญิบ และยืนหยัดในการนมาซ นะวาฟิล ซึ่งเป็นรายงานจาก ท่านอิมามมุฮัมมัด บาเกร (อ.) (จากหนังสือกันซุลอิรฟาน)
2. บางท่านเชื่อว่าคำสั่งให้รักษานมาซทั้งหลายบ่งชี้ถึงการเป็นวาญิบของทุก ๆ นมาซประจำวัน, นมาซญุมอะฮ์, นมาซอีดทั้งสอง, นมาซอายาต, นมาซฏอวาฟ, นมาซมัยยิตและนมาซบนบาน
3. เป้าหมายของ นมาซที่อยู่กึ่งกลางบ้างก็กล่าวว่าหมายถึงนมาซซุบฮฺ เพราะอยู่ระหว่างนมาซกลางคืนและนมาซกลางวัน ซึ่งคำกล่าวนี้เป็นของท่านชาฟิอี และบ้างก็กล่าวว่าหมายถึงนมาซซุฮร์ โดยยกรายงานบทหนึ่งจากท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร และอิมามซอดิก (อ.) เพราะนมาซซุฮร์เป็นนมาซที่อยู่ช่วงตรงกลางของกลางวัน และบ้างก็กล่าวว่าหมายถึง นมาซอัซร์ เพราะเป็นนมาซที่อยู่ระหว่างนมาซกลางวันและนมาซกลางคืน โดยยกรายงานบทหนึ่งจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) (จากหนังสือสุนัน อะบูดาวูด)
4. บางท่าน (เช่นท่าน ฟาฎิล มิกดาด) เข้าใจจากประโยคที่ว่า “จงยืนนมาซเพื่ออัลลอฮฺ” ว่าบ่งบอกถึงการเป็นวาญิบที่ต้องยืนนมาซ
5. การ “กุนูต” ถือเป็นบทบัญญัติในทุก ๆ นมาซ (ตามทัศนะของท่านฟาฎิล มิกดาด และท่านอิรดิบิลี) เพราะให้ความหมายที่เหมาะสมกับการวิงวอน (ดุอาอฺ) (เพราะอิมามชาฟิอี ถือว่าการกุนูตเป็นบัญญัติสำหรับในนมาซซุบฮฺเท่านั้น ส่วนมัซฮับอื่น ๆ ก็จะไม่กล่าวกุนูตในนมาซ)
6. การอนุญาตให้นมาซในสภาพที่กลัว, ขับขี่ยานพาหนะหรือในสภาพที่เดินเท้า
وَأْمُرْ أَهْلَكَ بِالصَّلاةِ وَاصْطَبِرْ عَلَيْهَا لا نَسْأَلُكَ رِزْقًا نَحْنُ نَرْزُقُكَ وَالْعَاقِبَةُ لِلتَّقْوَى
คำว่า “อิซเฏาะบิร” เป็นคำสั่งที่มาจากคำว่า “อิซฏิบาร” หมายถึงความอดทน ถึงแม้ว่าคำนี้จะมีความหมายว่า เป็นการอดทนอย่างมากก็ตาม
ความหมายของโองการ เจ้าจงให้ครอบครัวของเจ้านมาซ และจงอดทนในการปฏิบัติ เรามิได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า เราต่างหากเป็นผู้ให้เครื่องยังชีพแก่เจ้าและบั้นปลายนั้นเป็นของผู้ที่มีความสำรวมตน
(ซูเราะฮฺฏอฮา โองการที่ 132)
บทบัญญัติ
โองการนี้ชี้ให้เห็นว่าคำสั่งให้ทำนมาซ ไม่ใช่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากปวงบ่าวของพระองค์ (ดังที่พระองค์ตรัสว่า เราสั่งให้เจ้าทำสิ่งนี้โดยไม่ได้ขอเครื่องยังชีพจากเจ้า) ทว่านมาซเป็นเหตุให้บ่าวเกิดความสำรวมตน และบั้นปลายชีวิตที่ดีงามย่อมเป็นของบรรดาผู้มีความสำรวมตน
قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُون الَّذِينَ هُمْ فِي صَلاتِهِمْ خَاشِعُونَ
คำว่า “อัฟละฮเ” หมายถึงชัยชนะ (จากหนังสือ มิศบาฮฺ อัลมุนีร) คำว่า “ คุชูอ์” หมายถึงความกลัวที่เกิดขึ้นภายใน (จากหนังสือ กันซุลอิรฟาน) ท่านตัฟลีซี ให้ความหมายของคำว่า “คุชูอ์” ไว้สองประการดังนี้ คือ การนอบน้อมและการลดเสียงเนื่องจากความกลัวต่อพระผู้เป็นเจ้า โดยผิวเผินแล้วความหมายของคำว่า “คุชูอ์” คือ ความกลัวผู้ที่มีความยิ่งใหญ่ จนเป็นเหตุให้เขาต้องนอบน้อม เมื่ออยู่ต่อหน้าเขาผู้นั้น และเช่นกันในความหมายของคำว่า “คุชูอ์” ก็คือ การนอบน้อมและการก้มมองลงเบื้องล่าง ซึ่งบ่งบอกถึงความกลัวจากความยิ่งใหญ่
ความหมายของโองการ แน่นอน บรรดาผู้ศรัทธาย่อมได้ประสบความสำเร็จ บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในนมาซของพวกเขา (ซูเราะฮฺ มุอฺมินูน โองการที่ 1-2)
บทบัญญัติ
โองการนี้มีคำสั่งอย่างชัดเจนให้นอบน้อมถ่อมตนในขณะนมาซ และเช่นกันบ่งชี้ให้เห็นว่าการมีศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่นี้ ทำให้เกิดการนอบน้อมถ่อมตน ท่านบัยฎอวี และท่าน ฟาฎิล มิกดาด ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากที่โองการที่ถูกประทานลงมาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กำลังนมาซอยู่ ท่านจึงก้มมองไปยังที่ทำสุญูด (กราบ) ด้วยเหตุนี้การก้มมองที่สุญูด (กราบ) ในขณะนมาซจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของการมีความนอบน้อมถ่อมตน