บทเรียนอูศูลุดดีน (รากฐานของศาสนา)
เตาฮีด (ความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 30
อิรอดะฮ์ “ارادة” พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า
“อิรอดะฮ์” (ความประสงค์) นักปรัชญาอิสลามมีทัศนะที่แตกต่างกันอย่างมาก ในเรื่องนี้ถกเถียงกันว่า “อิรอดะฮ์”(พระประสงค์)ของพระองค์ เป็น”ซาตียะฮ์”(คู่กับพระองค์มาแต่เดิม) หรือว่าเป็น”ฟิอฺลียะฮ์” “คือ(ถูกรู้จักภายหลังจากที่พระองค์ทรงสร้างสรรพสิ่ง) และยังถกกันในเรื่องของความเป็น”กอดีม”คือ(มีมาแต่เดิม) หรือว่าเป็น”ฮาดีษ” (เกิดขึ้นมาใหม่) และถกในเรื่องของความเป็น”วาฮิด” (มีความเป็นหนึ่งเดียว) หรือ “มุตะอัดดิด” (มีมากมายหลากหลาย)
- ทัศนะที่แพร่หลายเกี่ยวกับความหมายของ “อิรอดะฮ์” (ความประสงค์) ของอัลลอฮ์(ซบ)นักปรัชญาอิสลามได้ให้คำนิยามไว้ ๒ ความหมายหลัก คือ
1.หมายถึง ความรัก ความชอบ ความต้องการ
2.หมายถึง การทำให้เกิด การตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น
นิยามที่ 2 นั้น มีความหมายของนิยามที่ 1รวมอยู่ด้วย เพราะการที่จะตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วนั้นต้องมีความรัก ความชอบ ความต้องการให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นด้วย
1.นิยาม “อิรอดะฮ์” ที่ให้ความหมายว่า ความรัก ความชอบ ความต้องการ ซึ่งในบางครั้งความต้องการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ความรักความชอบของพระองค์ที่จะให้อิมามมะฮ์ดี(อ)ปรากฏกาย แต่ปัจจุบันในความเป็นจริงอิมามมะฮ์ดี(อ)ยังไม่ปรากฏ
ตัวอย่าง จากอัลกุรอานในซูเราะฮ์อัลกอศอศ โองการที่ 5
وَ نُرِيدُ أَن نَّمُنَّ عَلىَ الَّذِينَ اسْتُضْعِفُواْ فىِ الْأَرْضِ وَ نجَْعَلَهُمْ أَئمَّةً وَ نجَْعَلَهُمُ الْوَارِثِين
“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปราณแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่บนหน้าแผ่นดิน และทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด”
โองการนี้คำว่า 'นูรีดุ' มาจากรากศัพท์ของ อิรอดะฮ์ (ความประสงค์) หมายถึง ความรักความชอบที่จะให้ผู้ที่ถูกกดขี่นั้นเป็นผู้นำ ซึ่งผู้ถูกกดขี่ นี้ หมายถึงบรรดาอิมามอะฮฺลุลเบต (อ) และเป้าหมายของโองการดังกล่าวคือ ท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)ผู้ถูกรอคอย
คำว่า “มุสตัฏอะฟีน” ไม่ได้หมายถึง บุคคลที่อ่อนแอ แต่หมายถึงบุคคลที่มีพละพลังกำลัง มีความสามารถแต่ถูกบรรดาผู้กดขี่กดดัน กดขี่ข่มเหง ซึ่งในความเป็นจริง เขาไม่ได้ยอมศิโรราบต่อการกดขี่นั้นเขาพยายามต่อสู้อยู่ตลอดเวลาที่จะเอาชนะการกดขี่นั้นและทำให้บรรดาผู้กดขี่นั้นเพลี่ยงพล้ำ
เป้าหมายนั้นเพื่อให้ศาสนาแห่งสัจธรรมและความยุติธรรมเกิดขึ้นบนโลกนั่นเอง
โองการดังกล่าวเป็นการแจ้งข่าวดีถึงการปกครองหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหนึ่ง ซึ่งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของโองการดังกล่าว คือ การเกิดขึ้นของระบบการปกครองที่ยุติธรรมที่สุดบนหน้าแผ่นดิน การปกครองของสัจธรรมและความยุติธรรมจะปกคลุมทั่วแผ่นดินด้วยการปรากฏของท่านอิมามมะฮ์ดี(อ)
ฮะดิษจากท่านอิมามอาลี(อ)มาอธิบายโองการดังกล่าว จากหนังสือตัฟซีรนุรุซซะกอลัยน์ เล่มที่ 4 หน้า 110
هم آل محمد (ص) يبعث اللَّه مهديهم بعد جهدهم، فيعزهم و يذل عدوهم:
“พวกเขาคือวงศ์วานของศาสดามูฮัมหมัด(ศ็อล) หลังจากที่ความยากลำบาก ความกดดัน ความกดขี่เกิดขึ้นกับพวกเขาเหล่านั้น อัลลอฮ์(ซบ)จะให้การปรากฏของอิมามมะฮ์ดี(อ)จากพวกเขาเกิดขึ้น และจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีเกียรติและศัตรูของพวกเขาจะถูกทำให้อัปยศ”
และอีกโองการหนึ่งในซูเราะฮ์อัลอันฟาล โองการที่ 67
تُرِيدُونَ عَرَضَ الدُّنْيَا وَ اللَّهُ يُرِيدُ الاَْخِرَةَ وَ اللَّهُ عَزِيزٌ حَكِيم
“พวกเจ้านั้นต้องการสิ่งเล็กน้อยแห่งโลกนี้ แต่อัลลอฮ์(ซบ)นั้นปรารถนาปรโลก(
ชีวิตหลังความตายให้กับพวกเจ้า)และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพผู้ทรงปรีชาญาณ”
สาเหตุของการประทานโองการนี้ เนื่องจากในยุคเริ่มแรกของอิสลามนั้น เชลยศึก คือ สินสงคราม บรรดาทหารของอิสลามจึงไม่อยากฆ่าศัตรูมากเพราะต้องการจับเชลยศึกมาครอบครอง บางคนออกไปทำสงครามเพื่อต้องการทาสมาครอบครอง
การได้สินสงครามในวันนั้น หมายถึง รางวัลในโลกนี้ โองการนี้จึงถูกประทานลงมาว่า พวกเขาชอบสิ่งเล็กน้อยในโลกนี้ แต่พระองค์มีความชอบต่ออาคิเราะฮ์ (ชอบโลกหน้า)
ความประสงค์ของพระองค์ไม่ได้หมายความว่า พระองค์มีความต้องการ ไม่ได้หมายถึงพระองค์มีความจำเป็น แต่หมายถึงความรัก ความชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่ในอาตมันของพระองค์อยู่แล้ว คู่กับอาตมันของพระองค์มีอยู่หนึ่งเดียวและมีมาแต่เดิม
2. นิยาม "อิรอดะฮ์" ที่หมายถึงการทำให้เกิด การตัดสินใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
ในโองการในซูเราะฮ์ยาซีน โองการที่ 82
إِنَّمَا أَمْرُهُ إِذَا أَرَادَ شَيًْا أَن يَقُولَ لَهُ كُن فَيَكُون
“แท้จริงกิจการ “อัมรฺ” “أَمْر” ของพระองค์เมื่อพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะประกาศิตว่าจงเป็น แล้วมันก็จะเป็นขึ้นโดยพลัน”
คำว่า "อะรอดะ” ในโองนี้ มาจากรากศัพท์ของ "อิรอดะฮ์” ความประสงค์ของพระองค์ในโองการนี้คือเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ พระองค์จะบันดาลให้สิ่งนั้นๆเกิดขึ้นมา เนื่องจากสรรพสิ่งที่ถูกทำให้เกิดมานั้นมีอย่างมากมายหลายสิ่งหลายอย่างและไม่ได้เกิดขึ้นมาในเวลาเดียวกัน เป็นความประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง ซึ่งได้ถูกรู้จักภายหลังจากที่พระองค์ทรงสร้าง “อิรอดะฮ์”ในโองการนี้อยู่ในรูปแบบของ “كُن فَيَكُون”
ดังนั้น เมื่อพระองค์ประสงค์ พระองค์ก็จะประกาศิตว่า “จงเป็น" มันก็จะเกิดขึ้นมาทันที บันดาลให้เกิดขึ้นมา เนรมิตให้เกิดขึ้นมา คือตัดสินใจให้เกิดขึ้นมา ซึ่งมีตัวอย่างมากมายในรูปแบบที่เมื่อพระองค์ประสงค์พระองค์ก็จะบันดาลให้เกิดขึ้นมา
ตัวอย่าง:
การทำให้น้ำท่วมโลกในยุคศาสดานุฮ์(อ)
การผ่าทะเลแดงในยุคศาสดามูซา(อ)
การทำให้ไฟเย็นในยุคของศาสดาอิบรอฮีม(อ)
การผ่าดวงจันทร์ในยุคศาสดามูฮัมมัด(ศ็อล) ฯลฯ
ขอขอบคุณสถาบันศึกษาศาสนาอัลมะฮ์ดี