ป็นไปได้อย่างไร? ที่มนุษย์จะอธรรมต่อตัวเอง
ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงความอธรรมไว้ 3 ประเภท คือความอธรรมต่อพระเจ้า ความอธรรมต่อผู้อื่น และความอธรรมต่อตัวเอง และในคัมภีร์อัลกุรอานยังมีโองการอีกจำนวนมากที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความอธรรมต่อตัวเอง ตัวอย่างเช่น กุรอานได้กล่าวว่า :
إِنَّ اللّهَ لاَ یَظْلِمُ النَّاسَ شَیْئًا وَلَكِنَّ النَّاسَ أَنفُسَهُمْ یَظْلِمُونَ
“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงอธรรมต่อมนุษย์แต่อย่างไร ทว่ามนุษย์ต่างหากที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง” (1)
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือว่า เป็นไปได้อย่างไรที่มนุษย์จะอธรรมต่อตัวเอง? เนื่องจากความอธรรมนั้นจะเกิดขึ้นจากความประสงค์ร้าย และเป็นไปไม่ได้ที่ใครจะประสงค์ร้ายต่อตัวเอง คำตอบสำหรับคำถามข้อนี้ก็คือ หนึ่งในสาเหตุของความอธรรมต่อตนเองนั้นเกิดตากความเผอเรอและความไม่รู้ (ญะฮาละฮ์) และจากความไม่รู้นี้เองที่ทำให้มนุษย์หลงคิดว่าเขาทำสิ่งที่ดีงามให้แก่ตัวเอง ในขณะที่มันคือการนำสิ่งชั่วร้ายมาสู่ตัวเอง
ชายคนหนึ่งได้เขียนจดหมายถึงสาวก (ซอฮาบะฮ์) ผู้หนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และขอให้เขาช่วยแนะนำตักเตือน สาวก (ซอฮาบะฮ์) ผู้นั้นได้เขียนตอบว่า “ท่านจงอย่าทำสิ่งที่ไม่ดีต่อบุคคลที่ท่านรักมากที่สุด” ชายผู้นั้นไม่เข้าใจความหมายของประโยคนี้และขอให้เขาช่วยอธิบายให้เกิดความกระจ่างว่า “มันเป็นคำแนะนำตักเตือนอะไร! เป็นไปได้หรือที่ว่าหากฉันรักใครคนหนึ่งอย่างมากมาย แต่ฉันกลับทำไม่ดีต่อเขาผู้นั้น?”
สาวก (ซอฮาบะฮ์) ผู้นั้นได้เขียนตอบว่า “ใช่แล้วมันเป็นไปได้ และจุดประสงค์ของฉันจากบุคคลที่ท่านรักมากที่สุดนั้นก็คือตัวของท่านเอง เนื่องจากความไม่รู้ที่ท่านคิดว่าท่านทำสิ่งที่ดีงามให้แก่ตัวเอง ในขณะที่มันคือการนำสิ่งชั่วร้ายมาสู่ตัวเอง ความชั่วทั้งมวลที่ท่านจะกระทำมันโดยคาดคิดว่าจะยังคุณประโยชน์ให้แก่ตัวท่านเองนั้น ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วทั้งหมดเหล่านี้ไม่ใช่อื่นใดเลยนอกจากความเป็นศัตรู และเป็นพฤติกรรมที่เป็นปรปักษ์ต่อตัวเองทั้งสิ้น”
ตัวอย่างของความอธรรมต่อตัวเองและผลต่างๆ
พ่อค้าที่พูดโกหกและบอกราคาสินค้าไว้แพงกว่าความเป็นจริงและหลอกลวงลูกค้าของตนนั้น แน่นอนผลประโยชน์จะย้อนกลับมาสู่ตัวเขาและเงินส่วนเกินจะเข้าสู่กระเป๋าเขา เงินนั้นจะช่วยชีวิตทางวัตถุของเขา จะกลายเป็นเสื้อผ้าของเขา จะเป็นอาหารและน้ำและเป็นทุกอย่างสำหรับเขา แต่ในขณะเดียวกันคนผู้นี้มีจิตสำนึก (วิจญ์ดาน) และจิตสำนึกของเขาจะไม่อนุญาตให้เขาโกหก แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาพูดโกหก เขาก็จะทำร้ายจิตสำนึกและมโนธรรมของตนเอง จะทำให้มันอับเฉาและอ่อนแอลง ดังนั้นเขาได้อธรรมต่อตัวเองแล้ว
ด้วยวิธีดังกล่าว (2) ในขณะที่เพื่อจะบรรลุสู่แนวทางที่ดีงามและเที่ยงตรงนั้น มนุษย์จำเป็นต้องรักษาจิตสำนึก (วิจญ์ดาน) ของตนเองให้อยู่ในสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อให้เกิดความพร้อมสำหรับการยอมรับสัจธรรม เพราะหากมิเช่นนั้นแล้วความชั่วจะทำให้ดวงตาของเขามืดบอดและจะทำให้หูของเขาหนวก ทำนองเดียวกันกับการเพาะปลูก การมีเมล็ดพันธ์เพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ ทว่าจำเป็นที่พื้นดินที่จะทำการเพาะปลูกนั้นจะต้องมีความพร้อมและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ด้วย (3)
สาเหตุของความอธรรมต่อตัวเอง
เราได้กล่าวไปแล้วว่า สาเหตุของการอธรรมต่อตัวเองนั้นคือความเผอเรอและความไม่รู้ (ญะฮาละฮ์) และสาเหตุอีกประการหนึ่งของการอธรรมต่อตนเองก็คือ การกระซิบกระซาบของมาร (ชัยฏอน) อย่างไรก็ตาม มาร (ชัยฏอน) นั้นทำได้แค่เพียงการกระซิบกระซาบ และไม่สามารถบีบบังคับมนุษย์ให้กระทำความชั่วได้ แต่ตัวมนุษย์เองต่างหากที่ย่างก้าวไปสู่ความชั่วด้วยการกระซิบกระซาบดังกล่าว และกลายเป็นสื่อของการอธรรมต่อตนเอง ในวันกิยามะฮ์ (ปรโลก) มาร (ชัยฏอน) จะกล่าวกับบรรดาผู้ที่ถูกมันหลอกลวงและตำหนิประณามมันว่า “พวกท่านอย่าได้ตำหนิประณามฉันเลย เพราะฉันไม่มีอำนาจใดๆ เหนือพวกท่าน ฉันเพียงแต่ให้สัญญา (ที่หลอกลวง) ต่อพวกท่านและฉันก็บิดพลิ้วสัญญาของฉัน” คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
وَقَالَ الشَّیْطَانُ لَمَّا قُضِیَ الأَمْرُ إِنَّ اللّهَ وَعَدَكُمْ وَعْدَ الْحَقِّ وَ وَعَدتُّكُمْ فَأَخْلَفْتُكُمْ وَمَا كَانَ لِیَ عَلَیْكُم مِّن سُلْطَانٍ إِلاَّ أَن دَعَوْتُكُمْ فَاسْتَجَبْتُمْ لِی فَلاَ تَلُومُونِی وَلُومُواْ أَنفُسَكُم مَّا أَنَاْ بِمُصْرِخِكُمْ وَمَا أَنتُمْ بِمُصْرِخِیَّ إِنِّی كَفَرْتُ بِمَآ أَشْرَكْتُمُونِ مِن قَبْلُ إِنَّ الظَّالِمِینَ لَهُمْ عَذَابٌ أَلِیمٌ
“และเมื่อการงานได้ถูกตัดสินแล้ว มาร (ชัยฎอน) ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงสัญญาด้วยความสัจจริงกับพวกท่าน และฉันก็ได้สัญญากับพวกท่าน แต่แล้วฉันได้บิดพลิ้วพวกท่าน ฉันไม่มีอำนาจใดๆ เหนือพวกท่านเลย ฉันเพียงแต่เรียกร้องพวกท่าน แล้วพวกท่านก็ตอบสนองฉัน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ประณามฉัน แต่ทว่าจงประณามตัวพวกท่านเอง ฉันไม่อาจช่วยเหลือใดๆ ต่อพวกท่านได้ และพวกท่านก็ไม่อาจช่วยเหลือใดๆ ต่อฉัน (จากการลงโทษของอัลลอฮ์) ได้ แท้จริงฉันได้ปฏิเสธต่อสิ่งที่พวกท่านตั้งฉันให้เป็นภาคี (ต่ออัลลอฮ์) แต่ก่อนนี้แล้ว แท้จริงบรรดาผู้อธรรมนั้น พวกเขาจะได้รับการลงโทษอย่างเจ็บปวด” (4)
บทสรุป : พระผู้เป็นเจ้าจะไม่ทรงอธรรมต่อมวลมนุษย์ แต่ตัวมนุษย์เองต่างหากที่ได้ทำให้จิตวิญญาณของตนแปดเปื้อนด้วยการกระทำความชั่วต่างๆ จนกระทั่งว่าพวกเขาได้สูญเสียความพร้อมและความสามารถที่จะยอมรับหรือรับรู้ต่อสัจธรรม และด้วยกับการหลุดพ้นออกจากความไม่รู้ (ญะฮาละฮ์) ความเผอเรอ และการกระซิบกระซาบของชัยฏอน (มารร้าย) เท่านั้น ที่จะทำให้มนุษย์สามารถมีชัยเหนือมันได้
แหล่งที่มา :
(1) อัลกุรอานบทยูนุส โองการที่ 44
(2) ฮิกมัตฮอ วะอันดัรซ์ฮอ, เล่มที่ 1, หน้าที่ 71-68
(3) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, เล่มที่ 5, หน้าที่ 217
(4) อัลกุรอาน บทอิบรอฮีม โองการที่ 22