เตาฮีด เอกภาพแห่งอัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า
การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า ในสังคมปัจจุบันนี้ มนุษย์ที่นับถือศาสนาส่วนมากจะเชื่อในเรื่องพระเจ้าและการสร้างสรรค์ของพระองค์ พร้อมทั้งตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ผู้คนในอดีตก็มีสภาพที่ไม่แตกอะไรไปจากผู้คนในยุคปัจจุบัน จากประวัติศาสตร์ที่บันทึกไว้ระบุว่า ผู้คนในอดีตนั้นส่วนมากเป็นผู้ที่มีศาสนาและยอมรับในเรื่องของพระเจ้าพระผู้ทรงสร้างสรรค์
แม้ว่าในหมู่ของพวกเขาจะมีทัศนะที่แตกต่างและขัดแย้งกันอยู่ก็ตาม ผู้คนเหล่านั้นได้พยายามอธิบายให้เห็นถึงพระผู้ทรงสร้าง และคุณลักษณะของพระองค์ ซึ่งถ้าพิจารณาถึงแก่นแท้ของเรื่องราวที่พวกเขาพยายามอธิบายกันอยู่ จะพบว่ามันตรงกัน กระทั่งว่าถ้าหากเราย้อนกลับไปสู่มนุษย์ในยุคแรกก็จะพบร่องรอยที่แสดงให้เห็นว่า ศาสนาและความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้านั้น มีมาตั้งแต่ดั้งเดิมซึ่งพอที่จะเป็นเหตุผลได้ว่า พวกเขาก็เชื่อและศรัทธาต่อสัจจะภาวะเช่นกัน
ฉะนั้น ความเชื่อในเรื่องของพระผู้เป็นเจ้ามีอยู่ทุกยุคทุกสมัย ส่วนการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า ถือเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะสิ่งนี้แฝงเร้นอยู่ในตัวมนุษย์ตลอดเวลา พระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ถ้าหากถามพวกเขา (มนุษย์) ว่า ใครคือผู้สร้างพวกเขาขึ้นมา พวกเขาก็จะตอบว่า อัลลอฮฺ (พระผู้เป็นเจ้า)” อัล-กุรอาน บทอัช-ชุครุฟ โองการที่ 87
ถ้าหากถามพวกเขาว่า ใครคือผู้สร้างท้องฟ้าและแผ่นดิน พวกเขาก็จะตอบว่าอัลลอฮฺ (พระผู้เป็นเจ้า) อัล-กุรอาน บทลุกมาน โองการที่ 25
มนุษย์ถ้าใคร่ครวญด้วยสติปัญญาและพิจารณาถึงธรรมชาติรอบ ๆ ตัวเอง เขาก็จะพบเหตุผลมากมายที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างเอกภพนี้ขึ้น เพราะด้วยสติปัญญาเท่านั้นที่มนุษย์สามารถประจักษ์ชัดได้ว่า มวลสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในเอกภพนี้ล้วนกำเนิดมาจากพระองค์ทั้งสิ้น เอกภพมีการเปลี่ยนแปลงและไม่สมบูรณ์ต้องอาศัยสิ่งสมบูรณ์ ไม่อาจมีได้ เป็นได้ด้วยตัวมันเอง แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎของกาลและอวกาศ ฉะนั้น จึงต้องอาศัยที่อยู่เหนือกาลและอวกาศ เอกภพนี้เป็นเพียงผลต้องอาศัยสิ่งที่เป็นเหตุ ไม่มีความแน่นอนและไม่เป็นอิสระ ต้องอาศัยสิ่งที่แน่นอนและเป็นอิสระ ทุกอย่างบนเอกภพจึงถูกอุบัติขึ้นมาด้วยการคำนวณนับที่แน่นอน ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้
ความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้า จึงเป็นการศรัทธาโดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ว่า พระองค์อัลลอฮฺ ทรงมีอยู่จริง ทรงดำรงอยู่ด้วยพระองค์เอง ทรงมีมาแต่ดั้งเดิมไม่มีสิ่งใดมีมาก่อนพระองค์ และไม่มีสิ่งใดมีอยู่หลังจากพระองค์ พระองค์ดำรงอยู่เป็นนิจนิรันดร พระองค์ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในพิภพ และในท้องฟ้า สรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้ต้องพึ่งพิงพระองค์ แต่พระองค์ไม่พึ่งพาสิ่งใด หรือผู้ใด พระองค์ทรงเดชานุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง และพระองค์ทรงเพียบพร้อมไปด้วยคุณลักษณะอันประเสริฐยิ่ง
ความเชื่อในเอกภาพของพระเจ้าคือพื้นฐานหลักอันสำคัญที่สุดของอิสลาม ความเชื่อนี้เองที่เป็นตัวควบคุมความเชื่อทางศาสนา เป็นตัวกำหนดแบบแผนของสังคมรวมทั้งเป็นตัวให้กำเนิดบรรดากฎเกณฑ์ทางศีลธรรม
ประโยคแรกของคำปฏิญาณตนเมื่อเป็นมุสลิมคือ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ประโยคนี้เป็นเครื่องนำทางมุสลิมตลอดอายุขัยของเขา ไม่เพียงแต่ในเรื่องของศาสนาเท่านั้น แต่คำว่าเอกภาพของพระเจ้ายังเป็นตัวนำในพฤติกรรมทางสังคมของเขาด้วยเช่นกัน คำว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด แสดงให้มุสลิมเห็นว่าไม่มีสิ่งใดในมหาจักรวาลจะอยู่เหนือพระองค์ ดังที่คัมภีร์อัล-กุรอาน กล่าวว่า พระองค์คือผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งมวลในพื้นพิภพนี้สำหรับสูเจ้า
ด้วยเหตุนี้ มุสลิมจึงตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีสิ่งใดบนโลกนี้คู่ควรแก่การเคารพภักดี ไม่ว่าจะเป็นก้อนหิน ดิน ต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์หรือมวลมนุษย์ ดวงตะวัน ดวงจันทร์ หรือมวลหมู่ดวงดาว เพราะว่าบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายนั้นต่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของมวลมนุษย์เท่านั้น เมื่อมุสลิมไม่ยอมรับความแปลกปลอมทั้งมวล และบรรดาแนวความคิดแห่งการบูชาธรรมชาติ และการบูชารูปปั้นหรือมวลมนุษย์ด้วยกันแล้ว เมื่อนั้นเขาก็พร้อมที่จะยอมรับในความเชื่อที่แท้จริงแห่งเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงประทานจุดมุ่งหมายของชีวิตให้แก่พวกเขาและกำหนดสำหรับการกระทำทั้งหลายของพวกเขา มนุษย์ที่ถูกปล่อยให้อยู่กับความรู้สึกผิดพลาดที่ว่าไม่มีพระผู้เป็นเจ้าอยู่จริง ชีวิตของเขาก็จะเป็นชีวิตที่ไร้จุดหมาย และชีวิตที่ไร้จุดหมายนั้นเป็นอันตรายโดยแท้จริง นอกจากนั้นยังได้ถูกเสริมอีกว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ ประโยคนี้มีลักษณะปฏิเสธ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใด) เช่นเดียวกับที่ยืนยันว่า (นอกจากอัลลอฮฺ) ซึ่งประโยคทั้งสองนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อที่ว่า มนุษย์มีความเท่าเทียมกัน เมื่อไม่มีใครเหนือกว่าใครและไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร ดังนั้น ความเชื่อในเอกภาพแห่งพระผู้เป็นเจ้ายังเป็นเครื่องมือส่งเสริมความรูสึกแห่งภาดรภาพ (ความเป็นพี่น้องกัน) ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัล-ชีอะฮ์