เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม
การยืนหยัดต่อสู้ของอิมามมะฮ์ดี (อ.) ในทัศนะของอัลกุรอาน
คำถามเกิดขึ้นว่า : การยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ)นั้น จะพิสูจน์ด้วยกับสองโองการจากอัลกุรอานต่อไปนี้ได้อย่างไร?
ดั่งที่อัลกุรอานกล่าวไว้ว่า
وَنُرِيدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِينَ اسْتُضْعِفُوا فِي الْأَرْضِ وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِينَ
“และเราปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ที่อ่อนแอ (ผู้ถูกกดขี่) ในแผ่นดิน และเราจะทำให้พวกเขาเป็นผู้นำ และจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอดมรดก” (1)
ดังนั้นโองการนี้มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ..) ได้อย่างไร?
คำตอบก็คือ : การตรวจสอบโองการนี้ โดยการพิจารณาโองการต่างๆ ก่อนหน้าและหลังโองการนี้ ทำให้ประเด็นนี้เป็นที่ชัดเจนที่ว่า คัมภีร์อัลกุรอานจะไม่พูดถึงแค่เรื่องราวหรือเหตุการณ์เฉพาะที่เกี่ยวกับเผ่าพันธุ์อิสราเอล (บนีอิสรออีล) เพียงเท่านั้น ทว่าจะอธิบายถึงกฎเกณฑ์สากลสำหรับทุกยุคสมัย ทุกศตวรรษ ทุกหมู่ชนและทุกสังคม โดยต้องการที่จะกล่าวว่า : เราประสงค์ที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ และจะทำให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอดอำนาจการปกครองในหน้าแผ่นดิน นี่เป็นข่าวดีหนึ่ง สำหรับเสรีชนทุกคนที่เรียกร้องหาระบอบการปกครองที่มีความยุติธรรมและความเที่ยงธรรม การทำลายรากเหง้าความอธรรมและการกดขี่ หลักฐานที่บ่งชี้ถึงประเด็นนี้ก็คืออีกโองการหนึ่งที่กล่าวว่า
وَلَقَدْ كَتَبْنَا فِي الزَّبُورِ مِن بَعْدِ الذِّكْرِ أَنَّ الْأَرْضَ يَرِثُهَا عِبَادِيَ الصَّالِحُونَ
“และแน่นอนยิ่ง เราได้บันทึกไว้ในคัมภีร์อัซซะบูร หลังจากอัซซิกร์ (คัมภีร์เตารอต) ว่า แผ่นดิน (ในอนาคต) ปวงบ่าวผู้มีคุณธรรมของข้าจะเป็นผู้สืบทอดมรดกมัน” (2)
หนึ่งในตัวอย่างเหล่านี้ ก็คือการปกครองของวงศ์วานอิสราเอลและการล่มสลายของอำนาจการปกครองของบรรดาฟิรเอาน์ (ฟาโรห์) ตัวอย่างที่สมบูรณ์และชัดเจนกว่านั้นก็คือ อำนาจการปกครองของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาสาวกของท่านภายหลังจากการปรากฏขึ้นของอิสลาม โดยในที่สุดพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงพิชิตประตูปราสาทของคอสโร (Khosrau) และไกเซอร์ (Kaiser) โดยมือของคนกลุ่มนี้ และได้โค่นบุคคลเหล่านั้นลงจากบัลลังก์อำนาจ
ตัวอย่างที่ชัดเจนและมีขอบข่ายที่กว้างขวางยิ่งกว่านั้น คือการปรากฏขึ้นของการปกครองของสัจธรรมและความยุติธรรมในทั่วทุกมุมโลก โดยท่านอิมามมะฮ์ดี (ดวงวิญญาณของเราขอพลีแด่ท่าน) ดังนั้นหากจะพิสูจน์การมาปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ด้วยกันโองการนี้ ในความเป็นจริงแล้วก็คือลักษณะหนึ่งของการพิสูจน์หรือการให้เหตุผลโดยอาศัยกฎเกณฑ์สากลที่เกี่ยวกับตัวอย่างและกรณีหนึ่งๆ นั่นเอง บรรดานักอรรถาธิบาย (มุฟัซซิร) คัมภีร์อัลกุรอาน ต่างเชื่อมั่นว่า โองการของคัมภีร์อัลกุรอานนั้นแม้จะถูกประทานลงมาในกรณีหนึ่งๆ แต่มันไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกรณีดังกล่าวเพียงเท่านั้น ทว่าตัวอย่างใหม่ๆ ของมันจะปรากฏขึ้นในตลอดทุกยุคสมัย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงมีรายงานจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลี (อ.) ในการอรรถาธิบายโองการนี้ โดยที่ท่านกล่าวว่า
هم آل محمد يبعث الله مهديهم بعد جهدهم فيعزّهم ويذلّ عدّوهم
“พวกเขา (หมายถึงบรรดาผู้ถูกกดขี่) คือวงศ์วานของมุฮัมมัด อัลลอฮ์จะทรงแต่งตั้งมะฮ์ดีของพวกเขามา ภายหลังจากความทุกข์ยากของพวกเขา และจะทรงทำให้พวกเขามีเกียรติศักดิ์ศรีและทำให้ศัตรูของพวกเขาต่ำต้อยไร้เกียรติ”(3)
ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งจากท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า
وَ الَّذِي بَعَثَ مُحَمَّداً بِالْحَقِّ بَشِيراً وَ نَذِيراً إِنَّ الأَبْرَارَ مِنَّا أَهْلَ الْبَيْتِ وَ شِيعَتَهُمْ بِمَنْزِلَةِ مُوسَى وَ شِيعَتِهِ وَ إِنَّ عَدُوَّنَا وَ شِيعَتَهُمْ بِمَنْزِلَةِ فِرْعَوْنَ وَ أَشْيَاعِه
“ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งทรงแต่งตั้งมุฮัมมัดมาด้วยสัจธรรม เพื่อเป็นผู้แจ้งข่าวดีและเป็นผู้ตักเตือน แท้จริงบรรดาผู้มีคุณธรรมจากเราอะฮ์ลุลบัยติ์และชีอะฮ์ (ผู้ปฏิบัติตาม) พวกเขา อยู่ในฐานะของมูซาและชีอะฮ์ (ผู้ปฏิบัติตาม) เขา และแท้จริงศัตรูของเราและผู้ที่ปฏิบัติตามของเขาอยู่ในฐานะของฟิรเอาน์และผู้ที่ปฏิบัติตามเขา” (ท้ายที่สุดเราจะเป็นผู้ชนะและพวกเขาจะพินาศ และอำนาจการปกครองแห่งสัจธรรมและความยุติธรรมจะเป็นของเรา) (4)
(2) โองการที่กล่าวว่า
بَقِيَّةُ اللَّهِ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ وَمَا أَنَا عَلَيْكُمْ بِحَفِيظ
“สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์นั้นดียิ่งสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา และฉันมิใช่ผู้คุ้มกัน (และผู้บังคับ) พวกท่าน” (5)
ในโองการนี้ท่านศาสดาชุอัยบ์ ได้กล่าวเตือนพวกเขาไม่ให้ลดพร่องในการขายและไม่อนุญาตให้กดขี่และอธรรมต่อประชาชนในการการค้าขายและการปฏิสัมพันธ์ ท้ายที่สุดท่านได้ย้ำว่า "บะกียะตุ้ลลอฮ์" (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) หมายถึง ผลกำไรที่ฮะลาล (อนุมัติ) แม้จะปริมาณน้อยแต่ถูกต้องตามบทบัญญัติของพระเจ้า ย่อมจะดีกว่าสำหรับพวกเจ้า
และในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า
وَالْبَاقِيَات الصَّالِحَات خَيْر عِنْد رَبّك ثَوَابًا وَخَيْر أَمَلًا
“และความดีที่คงอยู่ทั้งหลายนั้นย่อมเป็นรางวัลที่ดียิ่ง ณ พระผู้อภิบาลของเจ้า และเป็นความหวังที่ดียิ่ง” (6)
โองการนี้ได้อธิบายถึงกฎเกณฑ์สากล โดยที่หนึ่งในตัวอย่างของมันก็คือ สิ่งที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของหมู่ชนของศาสดาชุอัยบ์ (อ.) คือผลกำไรที่เล็กน้อยแต่เป็นการซื้อขายที่สะอาดบริสุทธิ์
กฎเกณฑ์นี้ตลอดช่วงระยะเวลาของประวัติศาสตร์จะมีเป็นตัวอย่างต่างๆ เกิดขึ้นให้เห็น บรรดาศาสดาและเอาลิยาอ์ (ผู้ใกล้ชิด) ของอัลลอฮ์ก็เป็นส่วนหนึ่งจากตัวอย่างต่างๆ ของบะกียะตุลลอฮ์ (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) และหนึ่งในตัวอย่างเหล่านั้นก็คือ ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ) โดยที่ท่านอิมามบากิร (อ) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านไว้ว่า
أوّل ما ينطق القائم (عليه السلام) حين يخرج هذه الآية: (بَقِيَّتُ اللَّهِ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِينَ) ، ثم يقول: أنا بقية الله وحجته وخليفته عليكم فلا يسلم عليه مسلم إلاّ قال: السلام عليك يا بقية الله فى أرضه
“ประโยคแรกที่กออิม (มะฮ์ดี (อ.)) จะพูดในขณะที่ปรากฏตัวนั่นก็คือโองการที่ว่า “สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์นั้นดียิ่งสำหรับพวกท่าน หากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา” ต่อจากนั้นเขาจะกล่าวว่า “ฉันคือบะกียะตุลลอฮ์ (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) เป็นข้อพิสูจน์ของพระองค์และผู้ปกครองของพระองค์เหนือพวกท่าน” ต่อจากนั้นจะไม่มีมุสลิมคนใดกล่าวสลาม (คำทักทาย) ต่อเขา นอกจากจะกล่าวว่า “ขอความสันติพึงมีแด่ท่านโอ้ท่านบะกียะตุลลอฮ์ (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) ในแผ่นดินของพระองค์”(7)
จริงอยู่ที่ว่าในโองการข้างต้นนี้ จุดประสงค์จากคำว่า “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) หมายถึงผลกำไรและต้นทุนที่ฮะลาล (อนุมัติ) หรือรางวัลแห่งพระเจ้า แต่ทว่าทุกสิ่งที่มีอยู่ที่มีคุณประโยชน์ที่ยังคงเหลืออยู่สำหรับมนุษยชาติที่มาจากพระเจ้า ที่เป็นบ่อเกิดแห่งความดีงามและความผาสุกไพบูลย์ของมนุษยชาตินั้น ถูกนับว่าเป็น “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) ทั้งสิ้น บรรดาศาสดาและบรรดาผู้นำผู้ยิ่งใหญ่แห่งพระเจ้าทั้งหมดคือ “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) บรรดาผู้นำผู้สัจจริงทั้งมวลซึ่งภายหลังจากการต่อสู้กับศัตรูที่ร้ายกาจแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่สำหรับชนกลุ่มหนึ่งหรือสำหรับชนชาติหนึ่งในแง่นี้นั้น พวกเขาก็คือ “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์)
ทำนองเดียวกันนี้ บรรดานักต่อสู้ที่ภายหลังจากได้รับชัยชนะและกลับมาจากสนามศึกสงคราม พวกเขาก็คือ “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) เช่นกัน จากกรณีที่ว่า อิมามมะฮ์ดี (อ) ถูกสัญญาไว้ คือผู้นำท่านสุดท้ายและเป็นผู้นำการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดภายหลังจากการยืนหยัดต่อสู้ของท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ซ็อลฯ) ดังนั้นท่านจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนที่สุดของ “บะกียะตุลลอฮ์” (สิ่งที่เหลืออยู่ของอัลลอฮ์) และท่านเป็นผู้ที่คู่ควรที่สุดต่อฉายานาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านเป็นเพียงบุคคลเดียวที่คงเหลืออยู่ภายหลังจากบรรดาศาสดาและบรรดาอิมาม (อ)
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซูเราะฮ์อัลก้อศ็อศ/อายะฮ์ที่ 5
(2) ซูเราะฮ์อัลอันบิยาอ์/อายะฮ์ที่ 5
(3) อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซีย์, อ้างจากตัฟซีร นูรุษษะกอลัยน์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 11
(4)มัจญ์มะอุลบะยาน, ในการอธิบายโองการข้างต้น
(5)ซูเราะฮ์ฮูด/อายะฮ์ที่ 86
(6) ซูเราะฮ์อัลหะฮ์ฟี/อายะฮ์ที่ 46
(7) อ้างอิงจากตัฟซีร อัซซอฟีย์, ในการอธิบายโองการข้างต้น
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน