อรรถาธิบายดุอาอ์ ประจำวันที่ 13 เดือนรอมฎอน
بسم الله الرحمن الرحيم
اللَّهُمَّ طَهِّرْنِي فِيهِ مِنَ الدَّنَسِ وَ الْأَقْذَارِ وَ صَبِّرْنِي فِيهِ عَلَى كَائِنَاتِ الْأَقْدَارِ
وَ وَفِّقْنِي فِيهِ لِلتُّقَى وَ صُحْبَةِ الْأَبْرَارِ بِعَوْنِكَ يَا قُرَّةَ عَيْنِ الْمَسَاكِينِ
ความหมาย :
โอ้อัลลอฮ์ โปรดชำระข้าฯให้บริสุทธิ์จากมลทินและความโสโครก
โปรดให้ข้าฯ อดทนต่อสภาวะที่ถูกกำหนด
โปรดประทานความสำเร็จในการแสดงความสำรวมตน(ยำเกรง)และการเป็นมิตรกับคนดี
ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ โอ้ผู้เป็นสุดที่รักของบรรดาผู้ยากไร้ทั้งหลาย
คำอธิบาย :
“ดุอาอ์เพื่อบรรลุสู่ความสมบูรณ์”
หนึ่งในอะมั้ลที่ถูกเน้นย้ำในช่วงวันที่สิบสาม สิบสี่และสิบห้าของเดือนรอมฎอน คือ การอ่านบทดุอาอ์ มุญีร
“ดุอาอ์มุญีร” เป็นอีกหนึ่งบทดุอาอ์ที่สูงส่ง ซึ่งรายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ) โดยท่านญิบรออีลนำมาให้ท่านขณะกำลังนมาซอยู่ที่มะกอมอิบรอฮีม(อ)
ในหนังสือบะละดุลอามีน และหนังสือมิศบาฮ์ ของท่านกัฟอามี ได้บันทึกดุอาอ์นี้ไว้ในขอบของหนังสือดังกล่าว
ความประเสริฐของบทดุอาอ์นี้
ผู้ใดก็ตามที่อ่านดุอาอ์นี้ในวันที่สิบสาม สิบสี่และสิบห้า (อัยยามุลบัยฎ์) ของเดือนรอมฎอน จะได้รับอภัยโทษในบาปต่างๆถึงแม้นว่าจำนวนของมัน(บาป)จะเท่ากับเม็ดฝน ใบไม้ หรือเม็ดทรายในท้องทุ่งก็ตาม
นอกจากนั้นยังมีมรรคผลในเรื่องอื่นๆอีก เช่น รักษาความป่วยไข้ ปลดเปลื้องหนี้สิน ทำให้มั่นคง ขจัดความเศร้าหมอง และ ฯลฯ........
ข้อควรจำ .... การอ่านดุอาอ์ไม่ใช่หวังที่จะได้รับผลบุญอย่างเดียว ทว่าพื้นฐานหลักของการอ่านดุอาอ์นั้นเพื่อบรรลุสู่ความสมบูรณ์
“อาหารฮะลาลจะส่งผลต่อการถูกตอบรับดุอาอ์”
اللَّهُمَّ طَهِّرْنِي فِيهِ مِنَ الدَّنَسِ وَ الْأَقْذَارِ
ในบทดุอาอ์นี้ เราได้วิงวอนขอจากพระองค์ให้เราบริสุทธิ์จากมลทินและความโสโครก
ความหมายของ “โสโครก” คือ น้ำหนองที่เกิดจากของการทำบาป
มนุษย์หากทำความผิดบาป ก็จะกลิ่นเน่าเหม็นติดตัวเขา แต่หากเป็นผู้ศรัทธาก็จะมีกลิ่นหอมติดตัว
เรื่องเล่า
มีอยู่วันหนึ่ง อุเวส ก็อรนี (ชาวเยเมน) ได้มาหาท่านศาสดามุฮัมมัด(ซ็อลฯ)แต่ไม่ได้พบท่านศาสดา ซึ่งการมาของอุเวสทำให้บรรยากาศภายในบ้านของท่านศาสดาเต็มไปด้วยกลิ่นไอแห่งความหอมหวนอันเนื่องจากอีหม่านและความศรัทธาของเขา และเมื่อวันรุ่งขึ้นท่านศาสดาได้กลับมาถึงบ้านก็ได้สัมผัสกลิ่นหอมอันนี้ แล้วได้กล่าวว่า ฉันได้สัมผัสกลิ่นไอหอมของอุเวส ก็อรนี
ทุกครั้งที่มนุษย์ทำบาปก็จะเกิดจุดดำในหัวใจขึ้น จุดดำนั้นจะค่อยๆ ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากเขาไม่เลิกทำบาปและไม่ขออภัยโทษจากอัลลอฮ์ ในที่สุดก็จะปิดหัวใจ จนมืดบอดไม่เหลือความดีงามใดๆ ไว้อีกเลย
ท่านศาสดากล่าวว่า “แท้จริงเมื่อบ่าวผู้หนึ่งทำความผิดใดๆประการหนึ่ง ก็จะมีจุดดำขึ้นจุดหนึ่งในใจของเขา เมื่อเขาหยุดทำความผิดและขออภัยโทษ จุดดำในหัวใจของเขาก็จะถูกลบ และหากเขาทำผิดอีกครั้ง จุดดำก็จะเกิดเพิ่มขึ้นอีกจนกระทั่งมันเต็มบนหัวใจเขา”
เมื่อมนุษย์ได้ทำบาปและฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ แน่นอนแล้วการทำความผิดบาปดังกล่าวมันจะส่งผลกระทบต่อร่างกายภายนอก(ซอฮิร)และจิตวิญญาณ(บาฏิน)ของมนุษย์
ในริวายะห์(วจนะ)ได้กล่าวว่า เมื่อมนุษย์ได้กระทำบาปหนึ่ง จะมีจุดดำหนึ่งที่เป็นรอยบาปติดอยู่ที่หัวใจของมนุษย์ และจุดดำนั้นมันจะเริ่มขยายตัวมากขึ้นเมื่อมนุษย์ยังคงทำความผิดบาปอย่างต่อเนื่อง และท้ายที่สุดจะทำให้จุดดำดังกล่าวปกคลุมหัวใจทั้งหมด และจากนั้นหัวใจของเขาก็จะมืดบอด จะไม่รับรู้ รับฟังสัจธรรมต่างๆจากพระองค์ อีกทั้งจะทำการลุกขึ้นมาต่อต้าน
ดังนั้นหากมนุษย์ต้องการชำระล้างจุดดำให้สะอาดบริสุทธิ์ จะต้องขอความช่วยเหลือจากพระองค์ ขอให้พระองค์ทรงอภัยโทษในความผิดบาปเพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากมลทิน เนื่องจากว่าการอภัยโทษจากพระองค์เท่านั้นที่จะทำให้มนุษย์นั้นสะอาดบริสุทธิ์จากมลทิน
ดั่งที่พระองค์ทรงตรัสว่า
قُلْ یَا عِبَادِي الَّذِینَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنفُسِهِمْ لَا تَقْنَطُوا مِن
رَّحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ یَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمِیعًا إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِیمُ
ความว่า จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย ! บรรดาผู้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งมวล แท้จริงพระองค์นั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ
ดังนั้น ในวันนี้เราจึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เราเป็นหนึ่งในหมู่ผู้ที่ทำการเตาบัตอย่างแท้จริงเพื่อจะสามารถชำระล้างความผิดบาปต่างๆของเราที่ได้กระทำมา
ตลอดทั้งปีเราได้กินอาหารที่เป็นชุบฮาตและอาหารที่ฮะราม ซึ่งเดือนรอมฎอนเป็นโอกาสแห่งการชำระล้างจิตวิญญาณของเรา และการรับประทานอาหารฮะลาลจะส่งผลให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ
เรื่องเล่า
มีวัยรุ่นคนหนึ่งที่มีอีหม่าน ได้ถาม ท่านอยาตุลลอฮ์ มุจญตะฮีดี เตหะรานี ว่า เมื่อเหล็กขึ้นสนิมก็จะมีอุปกรณ์เครื่องมือเฉพาะในการขัดมันให้หมดไป หากเสื้อผ้าสกปรกติดคราบก็จะมีน้ำยาทำความสะอาดมัน จากนั้นได้ถามว่า มียาตัวไหนบ้างที่จะสามารถขจัดสนิมบนหัวใจของมนุษย์ได้ ?
ท่านอยาตุลลอฮ์ ก็ได้ตอบว่า จงอ่านอัลกุรอานในยามซะฮัร จะสามารถขจัดคราบสนิมบนหัวใจได้
ริวายะห์(คำรายงาน) กล่าวว่า หัวใจของมนุษย์จะขึ้นสนิม เหมือนดั่งเหล็กที่ขึ้นสนิม ดังนั้นจงทำให้หัวใจสะอาดแวววาวด้วยการกล่าวอิสติฆฟารและการอ่านอัลกุรอาน
นอกจากนั้นแล้ว การช่วยเหลือผู้ยากไร้และเด็กกำพร้าก็จะช่วยขจัดสนิมที่เกาะติดอยู่บนหัวใจได้อีกด้วย
“จงอ่านอัลกุรอานในยามซะฮัรเพื่อขจัดคราบสนิมบนหัวใจ”
บาปจะเป็นตัวการที่ทำให้หัวใจของมนุษย์สกปรกและขึ้นสนิม เพื่อชำระและขจัดสนิมที่เกาะติดอยู่บนหัวใจนี้ จำต้องอ่านอัลกุรอานในยามซะฮัร
ประโยคถัดมา
وَ صَبِّرْنِي فِيهِ عَلَى كَائِنَاتِ الْأَقْدَارِ
ในประโยคนี้ เราวิงวอนขอจากพระองค์ให้เราพึงพอใจต่อกฎกำหนดสภาวะของพระองค์ (กอฎอ กอดัร) ด้วยเหตุนี้ จึงวิงวอนขอจากพระองค์ให้เรามีความอดทนต่อกฎกำหนดสภาวะของพระองค์
เรื่องเล่า
เชคอะลีอักบัร บุรฮาน อาจารย์ของท่านอยาตุลลอฮ์ มุจญตะฮีดี เตหะรานี ซึ่งมีบุตรชายคนหนึ่งที่ได้เสียชีวิตเมื่อมีอายุได้สามขวบ ทำให้เขามีความเสียใจเป็นอย่างมากในการสูญเสียบุตรชายสุดที่รักไป มีอยู่คืนหนึ่งเขาได้ฝันเห็นบุตรชายซึ่งเติบโตเป็นหนุ่ม แต่เขากลายเป็นคนไม่ดี ทุกคนต่างจะกล่าวว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นคนไม่ดี เป็นลูกของเชคอะลีอักบัร บุรฮาน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของเขา และทำให้เขาต้องอับอายขายหน้า ทันใดนั้นเมื่อตื่นจากความฝัน ก็ได้ทำการสูญุดชุโกรต่อพระองค์ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น( ที่ลูกชายเสียชีวิตอายุสามขวบ) เพราะก่อนหน้านี้ ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าการที่ลูกชายเสียชีวิตตั้งแต่เล็กนั้นมันเกิดผลดีต่อตัวเขาและครอบครัวของเขา
ความหมายของ “กาอินาติล อักดาร” คือ กฎกำหนดสภาวะของพระองค์ที่แน่นอนและไม่เปลี่ยนแปลง กอฎอและกอดัรของทุกคนถูกกำหนดในลุฟห์มะฮ์ฟุซมาแล้ว
“จงอดทนต่อบททดสอบจากพระองค์”
อัลลอฮ์ (ซ.บ)ได้ตรัสว่า
وَلَنَبْلُوَنَّكُم بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الْأَمْوَالِ
وَالْأَنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ ۗ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ
ความว่า และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิวกระหายและด้วยความสูญเสีย(อย่างใดอย่างหนึ่ง)จากทรัพย์สมบัติ ชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด
ซึ่งโองการนี้แสดงให้เห็นว่า ทุกขั้นตอนของการดำเนินการชีวิตของมนุษย์นั้น คือ บททดสอบและเป็นการประเมินการงานของเขา และผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนี้ คือ ผู้ที่มีความอดทนและพึงพอใจในกฎกำหนดสภาวะของพระองค์
เมื่อเจอกับความทุกข์โศกและสูญเสีย เขาจะกล่าวว่า
انا لله وانا الیه راجعون
ความว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์
และพระองค์จะทรงกล่าวกับบรรดาผู้ที่มีความอดทนและศรัทธาว่า
أُولَٰئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ ۖ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ
ความว่า ชนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับคำชมเชย และการเอ็นดูเมตตาจากพระเจ้าของพวกเขาและชนเหล่านี้แหละ คือ ผู้ที่ได้รับข้อแนะนำอันถูกต้อง
ในโลกดุนยานี้ มนุษย์ทุกคนย่อมมีอุปสรรค์ปัญหา ความกังวล และความทุกข์ตามสถานะของตนเอง
มัรฮูมเชค อะลีอักบัร บุรฮาน กล่าวว่า หากวันหนึ่งเจ้าพูดว่า ฉันไม่มีความกังวลและอุปสรรคปัญหาใดๆ ลูกสาวก็แต่งงานมีครอบครัวแล้ว ลูกชายก็แต่งงานและมีงานมีการแล้ว ฉันไม่มีหนี้สินติดตัวแล้ว ..... และไม่อะไรที่ต้องกังวลอีกต่อไป พึงรู้ว่าอะญั้ล(เวลาแห่งความตาย)ของเจ้าใกล้มาถึงแล้ว เพราะโลกดุนยาถูกสร้างมาในลักษณะที่ทุกคนต้องเจอกับอุปสรรคปัญหาและมีหวาดความกังวลอยู่ตลอดเวลา
ท่านซัยยิด อิบนุ ฏอวุส ได้สั่งเสียกับบุตรชายของท่านว่า เมื่อเจ้าสร้างบ้านแล้ว ก็จงปล่อยให้มุมหนึ่งของบ้านทรุดโทรมเพื่อเจ้าจะได้อยู่สภาพที่มีความกังวลและไม่เพิกเฉย
“ความยำเกรง” คือ ปรัชญาของการถือศีลอด
وَ وَفِّقْنِي فِيهِ لِلتُّقَى
ในวันนี้ เราขอจากพระองค์โปรดประทานความสำเร็จในการแสดงความสำรวมตนและความยำเกรงต่อพระองค์
เดือนรอมฎอนเป็นโอกาสแห่งการฝึกฝนและเก็บเกี่ยวความยำเกรงได้ดีที่สุด
ซึ่งหนึ่งในปรัชญาของการถือศีลอด คือ “ความยำเกรง”
یا أَیهَا الَّذینَ آمَنُوا کتِبَ عَلَیکمُ الصِّیامُ کما کتِبَ عَلَی الَّذینَ مِنْ قَبْلِکمْ لَعَلَّکمْ تَتَّقُونَ
ความว่า บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย! การถือศีลอดนั้นได้ถูกำหนดแก่พวกเจ้าแล้ว เช่นเดียวกับที่ได้ถูกกำหนดแก่บรรดาผู้ก่อนหน้าพวกเจ้ามาแล้วเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง
กล่าวสรุป อีกนัยหนึ่ง คือ ตักวาหรือความยำเกรง หมายถึง การปฏิบัติในสิ่งที่เป็นวาญิบและห่างไกลจากสิ่งที่เป็นฮะรอมอย่างเคร่งครัด
ประโยคถัดมา
وَصُحْبَةِ الْأَبْرَارِ
โอ้อัลลอฮ์ โปรดประทานความสำเร็จในการเป็นมิตรกับคนดี
ซึ่งจำต้องตระหนักอยู่เสมอว่า เราได้คบหามิตรกับบุคคลประเภทใด ........??
“ความสัมพันธ์ระหว่างตักวากับมิตรที่ดี”
ระหว่างตักวากับการเป็นมิตรกับคนดีนั้นมีความเกี่ยวพันธ์ที่ใกล้ชิด เพราะบุคคลที่มีตักวาจะไม่คบกับคนไม่ดี จะไม่ผูกมิตรกับคนที่ทำบาป ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวเรื่องนี้ว่า
لَّا يَسْتَوِي الْخَبِيثُ وَالطَّيِّبُ
ความว่า สิ่งเลวกับสิ่งดีนั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน
ดังนั้นบรรดาผู้มีตักวาจะคบหามิตรที่เป็นคนดีเท่านั้น
ประโยคสุดท้าย
بِعَوْنِكَ يَا قُرَّةَ عَيْنِ الْمَسَاكِينِ
ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ โอ้ ผู้เป็นสุดที่รักของบรรดาผู้ยากไร้ทั้งหลาย
โอ้อัลลอฮ์ ด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ โปรดตอบรับดุอาอ์ทั้งสี่ประการข้างต้นที่ข้าฯได้วิงวอนด้วยเถิด โอ้ผู้เป็นสุดที่รักของบรรดาผู้ยากไร้ทั้งหลาย
บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว