บทเรียนอัลกุรอานจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 108 บทอัตเตาบะฮ์
อัลกุรอานโองการนี้ได้เน้นย้ำประเด็นดังกล่าวไว้อีกด้วยการแนะนำมัสยิดที่ดีแก่บรรดามุสลิมทั้งหลาย อีกทั้งได้มีบัญชาให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ต่อสู้กับมัสยิดที่ส่ออันตรายและสร้างความเสียหายแก่สังคม ตรัสว่า
لَاتَقُمْ فِيهِ أَبَداً لَمَسْجِدٌ أُسِّسَ عَلَى التَّقْوَى مِنْ أَوَّلِ يَوْمٍ أَحَقُّ أَن تَقُومَ فِيهِ فِيهِ رِجَالٌ يُحِبُّونَ أَن يَتَطَهَّرُوا وَاللّهُ يُحِبُّ الْمُطَّهِّرِينَ
คำแปล :
108. เจ้าอย่าไปยืนนมัสการในมัสยิดนั้นเป็นอันขาด แน่นอน มัสยิดที่ถูกวางรากฐานบนความสำรวมตนตั้งแต่วันแรกนั้น สมควรอย่างยิ่งที่เจ้าจะเข้าไปนมัสการในนั้น เพราะในมัสยิดนั้นมีบุคคลที่ชอบจะชำระขัดเกลาตัวให้บริสุทธิ์ และอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ที่ชำระขัดเกลาตัวให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ
คำอธิบาย :
1. นักอรรถาธิบายส่วนใหญ่กล่าวว่า จุดประสงค์ของมัสยิดที่ดีที่กล่าว ในโองการข้างต้นหมายถึง มัสยิดกุบาอ์ ซึ่งได้สร้างอยู่ใกล้ๆ กับมัสยิดฎิรอร อีกทั้งเป็นมัสยิดหลังแรกที่ถูกสร้างในนครมะดีนะฮ์ แต่เป็นไปได้ว่าจุดประสงค์อาจหมายถึง มัสยิดของศาสดา ที่สร้างขึ้นในนครมะดีนะฮ์เช่นกัน หรืออาจหมายถึงทุกมัสยิดที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานของความสำรวมตนที่มีต่อพระเจ้า แต่เมื่อพิจารณาประโยคที่ว่า “ตั้งแต่วันแรก” ประกอบกับมัสยิดกุบาอ์ เป็นมัสยิดหลังแรกที่ถูกสร้างขึ้นในนครมะดีนะฮ์ ฉะนั้น คำอธิบายถือว่าใกล้เคียงมากที่ที่สุด [1]
2. คำว่า อะฮักกุ หมายถึง ดีกว่า สมควรยิ่งกว่า แต่จุดประสงค์ในโองการข้างต้นเป็นการ ไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบกันระหว่างสมควรกว่าหรือดีกว่า ทว่าเป็นการเปรียบเทียบระหว่างมัสยิด ฎิรอร ที่ไม่มีความดีอันใดกับมัสยิดกุบาที่มีความดีเพียบพร้อม ประหนึ่งการกล่าวว่า สำหรับท่านแล้วสิ่งสะอาดนั้นดีกว่าสิ่งสกปรก
3. จุดประสงค์ของความสะอาด ในโองการข้างต้นนั้นมีความหมายครอบคลุมกว้าง หมายถึงการทำความสะอาดจิตวิญญาณให้สะอาดจากการตั้งภาคีเทียบเคียง และทุกการกระทำความผิด หรือการทำความสะอาดร่างกายให้สะอาดจากสิ่งโสโครก และสิ่งโสมมทั้งหลาย
4. รายงานจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ท่านได้กล่าวกับชาวมัสยิดกุบาว่า พวกท่านทำความสะอาดร่างกายกันอย่างไรหรือ อัลลอฮ์ (ซบ.) จึงได้สรรเสริญพวกท่านถึงเพียงนี้
พวกเขากล่าวว่า เพราะพวกเราทำความสะอาดหลังขับถ่ายด้วยน้ำ[2]
แน่นอนว่า รายงานประเภทนี้ไม่สามารถบ่งบอกความจำกัดของโองการข้างต้นได้อย่างแน่นอน ทว่าเป็นการอธิบายให้เห็นถึงหนึ่งในตัวอย่างของโองการเท่านั้น
5. จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่าวัฒนธรรมอันดีงามของศาสนาคือ ฐานอันมั่นคงซึ่งต้องมีคุณสมบัติพิเศษสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ ต้องมีเจตคติที่สะอาดบริสุทธิ์ และสองบุคคลที่อยู่รายรอบนั้นต้องเป็นผู้ซื่อสัตย์และมีความสะอาดบริสุทธิ์ด้วยเช่นกัน
6. โองการได้กำชับกับท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า อย่านมาซในมัสยิดฎิรอรเป็นอันขาด ทว่าจุดประสงค์ของโองการหมายรวมถึงมุสลิมทุกคนบนโลกนี้ ซึ่งการที่โองการได้กำชับแก่ท่านศาสดาในฐานะที่เป็นผู้นำ ก็เพื่อต้องการให้ท่านผู้นำเป็นแบบอย่างสำหรับบุคคลอื่น
7. ประชาชนบางจำพวกจะทำความสะอาดร่างกายและจิตวิญญาณของตน ไปตามพระบัญชาของพระเจ้า หรือเพราะความหวาดกลัวในไฟนรกพวกเขาจึงหลีกเลี่ยง แต่มีประชาชนบางจำพวกอีกเช่นกันที่สะอาดบริสุทธิ์ เนื่องจากพวกเขาเป็นผู้ที่รักในความสะอาด และนี่เป็นประเภทหนึ่งของความสมบูรณ์สำหรับมนุษย์ซึ่งโองการข้างต้นได้เน้นย้ำเอาไว้
อ้างอิง
[1]กามิล อิบนุอะซีร เล่ม 2 หน้า 107,วะซาอิลุชชีอะฮฺ เล่ม 5 หน้า 285 ฮะดีซบทที่ 6562, เล่มที่ 14 หน้าที่ 352,356 พิมพ์ที่อาลุลบัยต์
[2]บิฮารุลอันวาร เล่ม 21 หน้า 254 เล่ม 80 หน้า 344 เล่ม 97 หน้า 212, ฟิกฮุลอัลกุรอาน เล่ม 1 หน้า 67