การมอบความรักและความพอดีในความรักที่มีต่อบุตร
หน้าที่ของบิดามารดาไม่ใช่แค่เพียงการจัดเตรียมอาหาร เครื่องนุ่งห่มและสุขภาพพลานามัยให้กับเด็กเพียงเท่านั้น ทว่าสิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือการทะนุบำรุงจิตใจของพวกเขาด้วยสายธารแห่งความรักและความเอื้ออาทร การมอบความรักและความเอื้ออาทร คือความต้องการอันเป็นธรรมชาติของเด็ก ทั้งนี้เนื่องจากเด็กจะแสวงหาแหล่งพักพิงที่อบอุ่นและก่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งภายใต้สื่อดังกล่าว พรสวรรค์และความพร้อมความสามารถต่างๆ ของเขาจะเกิดความเบ่งบาน และบุคลิกภาพของเขาก็จะถูกหล่อหลอมขึ้น และเขาจะรู้จักคุ้นเคยอยู่กับโลกที่เปี่ยมไปด้วยแรงดึงดูดของความรัก ความเอื้ออาทรและความจริงใจ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ การแสดงความเอ็นดูของบิดามารดาต่อลูกน้อยจะสร้างความกล้าหาญและความมั่นใจในตัวเอง และจะช่วยทำให้จิตใจของเขามีความเข้มแข็งที่จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้
เคมีแห่งความรักคือยาบำบัดรักษาความเจ็บปวดและความป่วยไข้ทางด้านจิตวิญญาณนานัปการ หรือแม้แต่ความเจ็บปวดทางด้านร่างกายของเด็ก ด้วยกับความรักจะทำให้เขารู้สึกสงบมั่นและมีความสุข และจิตใจของเขาก็จะเบิกบาน การขาดความรักและความอบอุ่นจะเป็นสื่อนำไปสู่ความเจ็บปวดทางจิตวิญญาณและร่างกายของเด็กๆ อย่างเช่น ความเบื่ออาหาร การนอนไม่หลับ การถ่ายปัสสาวะรดที่นอน การเลียนแบบต่างๆ ที่ไม่ถูกต้อง พฤติกรรมทั้งหลายที่เบี่ยงเบน การนอนละเมอ การมีจิตใจซึมเศร้า มีอารมณ์ฉุนเฉียว และอื่นๆ
ผลในทางลบของการขาดหรือเกินความพอดีในความรัก
การขาดความรักและความอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยแห่งความพร้อม จะเป็นสาเหตุทำให้เด็กเกิดความสับสน ความว้าวุ่นใจและความเบี่ยงเบน
บรรดาเด็กๆ ที่รู้สึกถึงการขาดความรักและความอบอุ่นจากบิดามารดา จะแสวงหาที่พึ่งพิงไปยังบุคคลอื่น เพื่อว่าบางที่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะช่วยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปของพวกเขาได้
อารมณ์ฉุนเฉียวและความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก เกิดจากการขาดความรักและความอบอุ่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะก่อให้เกิดเป็นปมด้อยขึ้นในตัวเด็ก
เหตุผลของความเบี่ยงเบนในเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ และความผิดพลาดของเด็กผู้ชาย ถูกแฝงเร้นอยู่ในประเด็นเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น เด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ได้รับความรักและความอบอุ่นอย่างสมบูรณ์จากครอบครัว ย่อมจะไม่นำพาตัวเองเข้าสู่สภาพแวดล้อมของสังคมโดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความรักอันจอมปลอมและผิวเผินของเด็กหนุ่มที่เสเพลและปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่อย่างแน่นอน และเธอย่อมจะไม่เบี่ยงเบนออกไปจากพรหมจรรย์และความสะอาดบริสุทธิ์ และจะไม่ย่างกายเข้าสู่เส้นทางของความชั่วร้าย
จำเป็นจะต้องระมัดระวังในประเด็นนี้ นั่นคือจะต้องไม่แสดงความรักและความเอื้ออาทรจนเกินขอบเขต เพราะว่าความสุดโต่งและการเกินขอบเขตของความรักนั้นก็มีโทษภัยที่ไม่อาจทดแทนได้เช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งจากสิ่งเหล่านั้นก็คือการขาดความรู้สึกถึงหน้าที่รับผิดชอบในตัวเด็ก ความบกพร่องของพัฒนาการทางด้านสติปัญญา การตามใจจนเสียคน การละเมิดสิทธิต่างๆ ของผู้อื่น การถือว่าตนเองมีสิทธิในทุกๆ เรื่อง เป็นต้น (1)
การให้ความรัก
ความรักนั้นจะต้องนำออกมาจากหัวใจสู่คำพูดและการกระทำ เพื่อว่าเด็กจะได้สัมผัสมันได้อย่างแท้จริง พ่อแม่ที่มีความรักต่อลูกของตนเองอยู่ในหัวใจแต่ไม่เคยแสดงออกมาให้เห็น ความรักในลักษณะนี้จะไม่ส่งผลเท่าใดนัก ทว่าบางครั้งอาจส่งผลในทางลบ และไม่สามารถทำให้เด็กสัมผัสถึงความรักและความเอื้ออาทรของผู้ให้กำเนิดทั้งสองได้ และในที่สุดเขาก็จะพบว่าตนเองอยู่อย่างเดียวดาย และจะคิดว่าตนมิได้อยู่ในความสนใจของบุคคลทั้งสองเลย ด้วยเหตุนี้เขาจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและมองดูตัวเองไร้ค่า จากเหตุผลดังกล่าวนี้เอง พ่อแม่จะต้องแสดงความรักของตนเองออกมาในรูปแบบต่างๆ
ในที่นี้เราจะขอนำเสนอตัวอย่างคำรายงาน (ริวายะฮ์) บางส่วนเกี่ยวกับการแสดงความรักต่อลูกๆ
อะมั้ล (การกระทำ) ที่ดีที่สุด
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า มูซา (อ.) ได้กล่าวว่า “โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ อะมั้ล (การกระทำ) ใดที่ประเสริฐสุด ณ พระองค์” พระองค์ได้ทรงตรัสว่า “การมีความรักต่อเด็กๆ เพราะแท้จริงข้าได้สร้างพวกเขาขึ้นมาบนสัญชาตญาณ (ฟิฏเราะฮ์) แห่งการยอมรับในเอกภาพของข้า และหากข้าได้ทำให้พวกเขาตาย ข้าก็จะทำให้พวกเขาเข้าสู่สรวงสวรรค์ของข้าด้วยความเมตตาของข้า” (2)
ความเมตตาของอัลลอฮ์อยู่ในการให้ความรักต่อบุตร
ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร จะทรงเมตตาต่อบุคคลเนื่องจากความรักอย่างแรงกล้าที่เขามีต่อบุตรของตน” (3)
การแสดงออกซึ่งความรัก
การมีความรักต่อบุตรอย่างเดียวนั้นไม่เป็นการเพียงพอ ทว่าผลต่างๆ ทางด้านการขัดเกลาของความรักนี้จะปรากฏขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อความรักและความห่วงใยทางใจที่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นความเอื้ออาทร ความรักและความห่วงใยที่ถูกแสดงออกมาในคำพูดและการกระทำ ดังนั้นท่านทั้งหลายจงแสดงออกซึ่งความรักอย่างเป็นรูปธรรม และจงกล่าวกับพวกเขาว่า พ่อหรือแม่รักพวกเธอ หรือจงแสดงออกทางการกระทำในลักษณะที่ลูกๆ ของพวกท่านสามารถรู้สึกและรับรู้ถึงความรักดังกล่าวนี้ได้อย่างแท้จริง ในที่นี้เราจะขอชี้ให้เห็นถึงสามตัวอย่างจากวิธีการปฏิบัติที่ดีงามในการดำเนินชีวิตของอิมามมะอ์ซูม (อ.) สามท่าน
ก). การแสดงความรักของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ต่อท่านหญิงซัยนับและท่านกอมัร บะนีฮาชิม
ในหนังสือ “มุสตัดร่อกุลวะซาอิล” ได้มีบันทึกไว้ว่า ในช่วงที่ท่านอับบาสและท่านหญิงซัยนับ บุตรสองคนของท่านอิมามอะลี (อ.) ยังเด็ก วันหนึ่งท่านอะลี (อ.) ได้กล่าวกับท่านอับบาสว่า “โอ้ลูกน้อยของพ่อ จงกล่าวซิว่า หนึ่ง” ท่านอับบาสได้กล่าวตามว่า “หนึ่ง” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวต่อว่า “จงกล่าวซิว่า สอง” ท่านอับบาสกล่าวว่า “หนูละอายใจที่จะกล่าวว่าสอง ด้วยลิ้นที่เคยกล่าวว่าหนึ่ง” ท่านอิมาม (อ.) รู้สึกปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งในความเฉลียวฉลาดและการคิดตริตรองของลูกน้อยของตนท่านจึงได้จูบลงที่ดวงตาทั้งสองของลูกน้อย
จากนั้นท่านได้หันไปยังท่านหญิงซัยนับซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ในขณะที่ท่านอับบาสอยู่ด้ายขวามือ ท่านหญิงซัยนับได้กล่าวขึ้นว่า “โอ้พ่อจ๋า ท่านรักพวกเราไหม?” ท่านตอบว่า “รักซิ โอ้ลูกน้อยของพ่อ ลูกๆ ของเราคือแก้วตาดวงใจของเรา” ท่านหญิงซัยนับได้กล่าวว่า “โอ้พ่อจ๋า ความรักสองประการย่อมไม่สามารถอยู่ร่วมกันในหัวใจของผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) นั่นคือ ความรักในอัลลอฮ์และความรักที่มีต่อลูกๆ และหากมันจะต้องเกิดขึ้นกับพวกเรา ก็ขอให้เป็นเพียงความเอื้ออาทรและความห่วงใยต่อพวกเรา ส่วนความรักนั้นจงมีแด่อัลลอฮ์เพียงอย่างเดียวเถิด” สิ่งดังกล่าวนี้เป็นสาเหตุทำให้อิมามอะลี (อ.) มีความรักเพิ่มพูนต่อบุคคลทั้งสอง
ข). ความรักของท่านอิมามซอดิก (อ.) ที่มีต่อบุตรของตน
มุฮัมมัด บินมัสอะดะฮ์ บัศรี ได้เล่าว่า ท่านอิมามซอดิก (อ.) มีบุตรชายคนหนึ่งซึ่งท่านรักเขามาก มีผู้กล่าวกับท่านว่า “ท่านรักลูกคนนี้มากเพียงใด” ท่านตอบว่า “ความรักของฉันที่มีต่อเขานั้นมากถึงขั้นที่ว่าฉันไม่ปรารถนาที่จะมีลูกคนอื่นอีก ซึ่งจะทำให้ฉันต้องต้องแบ่งปันความรักให้แก่เขา” (5)
ค). ความรักของอิมามมูซา กาซิม (อ.) ในขณะที่อะลีบุตรของท่านอยู่บนตักของท่าน และท่านได้จูบเขา ดูดลิ้นเขา บางทีท่านก็วางเขาไว้บนไหล่และก็โอบกอดเขา และท่านได้กล่าวว่า “ขอพลีพ่อของฉันแด่เจ้า เจ้าช่างมีกลิ่นกายที่หอมหวน มีอุปนิสัยใจคอที่ดีงาม และมีความประเสริฐที่เด่นชัดเสียนี่กระไร” (6)
เชิงอรรถ:
(1) นักเช่ มอดัร ดัรตัรบิยัต, อะลี กออิมี, หน้า 91-95 ; กูดัก, มุฮัมมัด ตะกี ฟัลซะฟี, เล่มที่ 1, หน้า 265 (โดยสรุป)
(2) อัลญะวาฮิรุซซะนียะฮ์, เชคฮุรรุลอามิลี, หน้า 71 ; มุสตัดร่อกุลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้า 114
(3) ษะวาบุลอะอ์มาล, หน้า 182 ; วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 15, หน้า 201 ; อุดดะตุดดาอี, หน้า 78 ; มะการิมุลอัคลาก, หน้า 219
(4) มุสตัดร่อกุลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้า 215
(5) กิตาบุลอิยาล, เล่มที่ 1, หน้า 315
(6) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 18, หน้า 557
ที่มา : หนังสือ “สิทธิของบุตรในทัศนะของอิสลาม”
ผู้เขียน : มุฮัมมัดญะวาด มุเราวิจญ์ อัฏฏอบะซี
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ