ไทยแลนด์
Friday 6th of December 2024
0
نفر 0

ชีวประวัติอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)

ชีวประวัติอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)



ชีวประวัติอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)

 

อิมามอะลี ซัยนุลอาบิดีน


นาม อะลี บุตรของฮุเซน (อ.)


ฉายานาม ซัยนุลอาบิดีน


สมญานาม อบูมุฮัมมัด


ชื่อบิดา อิมามฮุเซน (อ.) บุตรของอิมามอะลี (อ.)


ชื่อมารดา ชาฮ์บานู


ปู่ อิมามอะลี บุตรของอะบีฏอลิบ (อ.)


กำเนิด 5 ชะอ์บาน ฮ.ศ. 38


ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งอิมาม 10 ปี


เสียชีวิต 25 มุฮัรรอม ฮ.ศ. 95


สถานฝังศพ ญันนะตุลบะกีอ์ เมืองมะดีนะฮ์ มุเนาวะเราะฮ์

 

การถือกำเนิด


ในสมัยอุมัร บิน ค็อฏฏ็อบ เคาะลิฟะฮฺที่สอง กองทัพมุสลิมสามารถพิชิตเปอร์เซีย (อิหร่าน) สำเร็จ ทหารมุสลิมได้นำเชลยสงครามมายังเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งในจำนวนนั้นมีราชธิดาของ “ยัซด์เกริด” จักรพรรดิเปอร์เซียรวมอยู่ด้วย


บรรดามุสลิมได้ประชุมหารือกันที่มัสญิดในเรื่องของนาง เคาะลิฟะฮ์ต้องการนำนางไปขาย แต่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ยับยั้งไว้ และเสนอว่า ควรปล่อยพวกนางเป็นอิสระและจัดการสมรสกับผู้ที่พวกนางประสงค์


ราชธิดาองค์หนึ่งก็ได้เลือกอิมามฮุเซน(อ.) เป็นคู่สมรส และอีกคนหนึ่งเลือกอิมามฮาซัน ท่านอะมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ผู้เป็นบิดาได้กำชับว่าให้ปฏิบัติต่อพวกนางอย่างดี โดยกล่าวกับอิมามฮุเซนว่า “โอ้อบูอับดุลลอฮ์ เธอผู้นี้จะให้กำเนิดบุคคลที่ประเสริฐที่สุดสำหรับมนุษยชาติ”


ต่อมานางก็ได้ให้กำเนิดอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)  แก่อิมามฮุซัยนฺ(อ.) ซึ่งท่านให้สมญานามแก่เขาว่า “บุตรของสองชาติตระกูลที่ดีเลิศ” หมายความว่า เผ่าที่เลิศในหมู่ชาวอาหรับนั้นได้แก่เผ่ากุเรช และจากเผ่ากุเรชก็คือตระกูลบนีฮาชิม ส่วนเผ่าที่ดีเลิศในหมู่ผู้ไม่ใช่อาหรับทั้งหลายได้แก่ชาวเปอร์เซีย

 

จริยธรรมและบุคลิกลักษณะ


ฟะร็อซดัก นักกวีเอกของอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้พรรณนาถึงท่านว่า ท่านเป็นคนที่มีใบหน้าสง่างามและมีกลิ่นกายที่หอมที่สุด


ระหว่างดวงตาทั้งสองของท่านจะมีรอยก้มกราบ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงมีฉายานามว่า “ซัจญาด” (ผู้หมั่นในการกราบพระผู้เป็นเจ้า)


อิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) บิดาของข้าพเจ้าจะนำเสื้อผ้าไปบริจาคทานให้คนจน และเมื่อถึงฤดูร้อน ท่านก็จะบริจาคสิ่งเหล่านั้นอีกเช่นเคย”


ท่านสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ประณีต และประพรมน้ำหอมเมื่อท่านจะยืนนมาซ เป็นที่รู้กันว่าอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) เป็นผู้หมั่นวิงวอนขอพรต่อพระเจ้าและร้องไห้อยู่เป็นนิจสิน


ท่านฏอวูซ อัล ยะมานี สหายของท่านคนหนึ่งได้กล่าวถึงท่านว่า “ฉันเคยเห็นชายคนหนึ่งทำนมาซในมัสญิดอัล ฮะรอม ตรงใต้อัล มีซาบ (รางทอง) เขาวิงวอนขอพรแล้วร้องไห้ไปพลาง เมื่อนมาซเสร็จแล้ว ฉันเดินเข้าไปหาเขา จึงได้รู้ว่าเป็นอิมามซัยนุลอาบิดีน อะลี บิน ฮุเซน(อ.) ฉันจึงพูดกับท่านว่า “โอ้ บุตรแห่งท่านศาสดา ท่านยังร้องไห้อีกหรือในเมื่อท่านเป็นถึงบุตรหลานของท่านศาสดา”


ท่านกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าฉันจะเป็นบุตรของท่านศาสดา แต่ก็มิได้ทำให้ฉันปลอดภัยจากการลงโทษของอัลลอฮ์ เนื่องจากอัลลอฮ์ทรงมีดำรัสว่า “ในวันนั้นจะไม่มีการนับเชื้อสายกันในระหว่างพวกเขา แน่นอนอัลลอฮ์ทรงสร้างสวรรค์ไว้สำหรับผู้ที่เคารพเชื่อฟังพระองค์ และคนทำความดีถึงแม้ว่าเขาจะเป็นทาสชาวนิโกร และทรงสร้างนรกไว้สำหรับคนทรยศต่อพระองค์และคนเลว ถึงแม้เขาจะเป็นประมุขในเผ่ากุเรชก็ตาม”


ท่านได้ไปบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ด้วยการเดินเท้าถึง 20 ครั้ง


ท่านแนะนำตักเตือนให้บรรดามิตรสหาย ให้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย และกล่าวว่า “ขอสาบานต่อพระองค์ ผู้ซึ่งแต่งตั้งมุฮัมมัดมาด้วยสัจธรรมว่า ถ้าหากคนที่ฆ่าฮุเซน (อ.) ได้นำดาบเล่มที่เขาได้ฆ่าท่านมาไว้กับฉัน ฉันก็ต้องรักษามันไว้ให้เขา” และอิมามซัยนุลอาบิดีนยังได้สอนพวกเขาอีกว่าจะต้องปลดเปลื้องความเดือนร้อนของบรรดาผู้ที่มีความเดือดร้อน โดยกล่าวว่า


“แท้จริง สำหรับอัลลอฮ์ จะมีบ่าวอยู่กลุ่มหนึ่งที่พยายามปลดเปลื้องความเดือดร้อนให้กับคนทั้งหลาย พวกเขาจะได้รับความปลอดภัยในวันฟื้นคืนชีพ และผู้ใดที่ทำให้ผู้ศรัทธาคนหนึ่งดีใจ อัลลอฮ์ ก็จะทำให้เขาดีใจในวันฟื้นคืนชีพ”


ครั้งหนึ่ง อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) นั่งอยู่ท่ามกลางมิตรสหาย ได้มีชายคนหนึ่งจากบรรดาลูก ๆ ของลุง ป้า น้า อา ของท่านมาหา ชายคนนั้นได้บริภาษท่าน และกล่าวถ้อยคำว่าร้าย โดยอิมามมิได้ตอบโต้ด้วยถ้อยคำใด ๆ เลย จนกระทั่งเขาผู้นั้นได้จากไปเอง


หลังจากนั้น อิมามได้บอกกับบรรดามิตรสหายของท่านว่า “พวกท่านได้ยินที่ชายคนนั้นพูดแล้วใช่ไหม ฉันอยากจะให้พวกท่านไปพบเขาพร้อมกับฉัน เพื่อจะได้รับฟังคำตอบโต้ของฉันที่มีให้แก่เขา”


แล้วคนเหล่านั้นก็ได้ลุกขึ้นไปพร้อมกับอิมาม พลางคาดคิดว่า อิมามจะต้องตอบโต้แบบเดียวกัน เมื่ออิมามไปถึงท่านได้เคาะประตูบ้าน สหายคนนั้นจึงออกมาด้วยท่าทางที่เตรียมพร้อมที่จะทำร้าย แต่อิมามได้พูดกับเขาด้วยมารยาทที่ดีงามว่า “โอ้น้องชาย เธอได้พูดในเรื่องของฉันตามที่เธอได้กล่าวไปแล้ว ฉะนั้นถ้าหากเรื่องนั้นเป็นความจริง ก็ขอให้อัลลอฮ์ยกโทษให้เธอก็แล้วกัน”


ชายผู้นั้นรู้สึกสะเทือนใจและเสียใจมาก เขาได้ก้มลงจูบอิมามในฐานะของผู้สำนึกผิด


ครั้งหนึ่งอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้เดินทางไปหามุฮัมมัด บิน อุซามะฮ์ บิน เซด เพื่อเยี่ยมดูอาการป่วยของเขา ครั้นมุฮัมมัดเห็นก็ร้องไห้ทันที อิมามถามว่า “อะไรเป็นเหตุให้ท่านร้องไห้”


มุฮัมมัด บิน อุซามะฮ์ กล่าวว่า ”ข้าพเจ้ามีหนี้สิ้นอยู่จำนวนหนึ่ง”


อิมามถามว่า “จำนวนเท่าไหร่?” “15,000 ดีนาร” มุฮัมมัดตอบ
อิมามกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นไว้เป็นหน้าที่ของฉันเอง” จากนั้นอิมามก็ได้ชดใช้หนี้แทนมุฮัมมัด บิน อุซามะฮ์


อิมามมักจะออกจากบ้านในเวลาดึกดื่น เพื่อนำทรัพย์สินและอาหารออกไปนอกเมืองมะดีนะฮฺ แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่คนยากจน โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสรู้จักท่านเลย โดยท่านรับภาระเลี้ยงดูผู้คนมากกว่าร้อยครอบครัว เมื่อเวลาที่ท่านได้พลีชีพไปแล้ว การแจกจ่ายอาหารในยามค่ำคืนก็หายไปจากชาวบ้านด้วย เมื่อนั้นเองพวกเขาจึงได้รู้ว่า แท้ที่จริงคนผู้นั้นก็ คืน อิมาม ซัยนุลอาบิดีน (อ.) นั้นเอง

 

 ณ กัรบะลาอ์


อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้ติดตามท่านอิมามฮุเซน (อ.) ผู้เป็นบิดาในการเดินทางจากเมืองมะดีนะฮ์สู่มักกะฮ์ และจากมักกะฮ์สู่กัรบะลาอ์ในช่วงที่เกิดการต่อสู้นองเลือดที่กัรบะลาอ์นั้น ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) มีอาการเจ็บป่วยและต้องนอนซมอยู่แต่ในที่พัก


แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังลุกขึ้นจากที่นอน เพื่อจะออกไปร่วมรบ หลังจากที่เห็นบิดาของท่านเหลืออยู่เพียงคนเดียว


แต่อิมามฮุเซน(อ.) ได้บอกกับ ท่านหญิงซัยนับ น้องสาวของท่านไว้ว่า “จงห้ามเขาไว้ให้ได้ อย่าให้สายเลือดของคนในตระกูลของท่านศาสดาต้องขาดหายไป”


การป่วยไข้ของท่านในยามนั้น ถือเป็นความการุณย์ของอัลลอฮ์ เพื่อที่ท่านจะได้มีชีวิตอยู่ต่อไป เพื่อเปิดเผยเรื่องราวการก่ออาชญากรรม อันเลวร้ายของยะซีด จอมอาชญากร

 

ตกเป็นเชลยหลังเหตุการณ์กัรบะลาอ์


ทหารของอิบนิ ซิยาด ได้บุกเข้ามาที่ค่ายพัก หลังจากสังหารอิมามฮุเซน (อ.) แล้ว เพื่อปลิดชีพอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 23 ปี แต่ท่านหญิงซัยนับ ผู้เป็นอาสาวได้ขัดขวางอย่างกล้าหาญ นางได้กล่าวว่า “หากพวกแกต้องการจะฆ่าเขา ก็จงฆ่าฉันเสียก่อนเถิด”


จากนั้นพวกเขาได้จัดการผูกมือสองข้างของท่าน และจับตัวท่านพร้อมกับเชลยคนอื่น ๆ เพื่อเดินทางไปยังเมืองกูฟะฮ์ต่อไป


ท่าทีของท่านหญิงซัยนับและอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) อีกทั้งเชลยคนอื่นๆ ที่ถูกจับตัวไปภายหลังจากที่อิมามฮุเซน(อ.) ถูกสังหารที่กัรบะลาอ์ล้วนเด็ดเดียวกล้าหาญอย่างยิ่ง พวกเขากล่าวโจมตีการก่ออาชญากรรมของยะซีด และอุบัยดิลลาฮ์ อิบนิ ซิยาด และจุดยืนอันอัปยศของชาวกูฟะฮ์


ในขณะที่ขบวนแห่เชลยศึกได้มาถึงยังเมืองกูฟะฮ์ บรรดาชาวเมืองได้มาห้อมล้อมอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ทั้งที่อยู่ในสภาพถูกล่ามโซ่จนเลือดไหลออกมาจากลำคอ ท่านได้ส่งสัญญาณบอกให้ประชาชนอยู่ในความสงบ แล้วท่านได้กล่าวคำปราศรัย ตอนหนึ่งดังนี้


“ประชาชนทั้งหลาย ใครที่รู้จักข้าพเจ้า ก็ถือว่าได้รู้จักข้าพเจ้าแล้ว แต่ถ้าใครที่ยังไม่รู้จัก ก็ขอบอกว่า ข้าพเจ้าคือ อะลี บุตรของฮุเซน บิน อะลี บิน อะบีฏอลิบ ข้าพเจ้าคือบุตรของผู้ที่เกียรติยศของเขาได้ถูกทำลาย ศักดิ์ศรีของเขาถูกลบเลือน ทรัพย์สินของเขาถูกปล้นสะดมถ์ และครอบครัวของเขาได้ถูกจับเป็นเชลย ข้าพเจ้าคือบุตรของผู้ที่ถูกเชือด ณ ริมฝั่งแม่น้ำยูเฟรติส ข้าพเจ้าคือบุตรของผู้ที่ถูกสังหารอย่างทารุณ เพียงพอกับสิ่งเหล่านั้นแล้วสำหรับความภูมิใจ”


“ประชาชนทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอคำยืนยันจากพวกท่านต่อเบื้องพระพักตร์แห่งอัลลอฮ์ พวกท่านรู้ใช่ไหมว่า พวกท่านได้เขียนจดหมายไปหาบิดาของข้าพเจ้า แล้วพวกท่านก็หลอกลวงท่าน พวกท่านมองว่าตัวของพวกท่านเป็นพันธะต่อท่าน และยังได้ให้คำมั่นสัญญาอีกทั้งได้ให้สัตยาบัน แต่แล้วพวกท่านก็ได้สังหารท่านเสีย ดังนั้น ความวิบัติพึงมีแด่พวกท่าน สำหรับสิ่งที่พวกท่านได้ประกอบไว้เพื่อตัวของพวกท่านเอง พวกท่านจะมองท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ด้วยสายตาเช่นไร? หากท่านศาสดากล่าวกับพวกท่านว่า เมื่อพวกท่านได้สังหารเชื้อสายของฉันและทำลายเกียรติยศของฉันให้เสียหาย พวกท่านก็มิใช่ประชาชาติของฉัน”

 

เหตุการณ์ในวังของอุบัยดิลลาฮ์


เมื่ออุบัยดิลลาฮ์ บุตรของซิยาด ได้สั่งให้นำบรรดาเชลยเข้าไปพบ เขามีความปรารถนาที่จะเห็นร่องรอยของความพ่ายแพ้บนใบหน้าของเหล่าอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)


แต่พวกเขาต้องตะลึงเมื่อพบกับสายตาเหล่านั้น ทุกดวงตาที่มองอยู่ดูถูกและเหยียดหยาม แม้จะอยู่ในสายตาของบรรดาคนใจโหดร้ายที่รายรอบพวกเขาก็ตาม บุตรของซิยาด ได้หันไปทางอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) แล้วพูดว่า เจ้าชื่ออะไรหรือ?


อิมาม (อ.) ตอบว่า ข้าชื่ออะลี บุตรของฮุเซน


บุตรของซิยาดได้กล่าวเชิงเหยียดหยามว่า อ้าว อัลลอฮ์ ยังมิได้ฆ่าอะลีอีกหรือ?


อิมาม (อ.) ตอบอย่างหนักแน่นว่า ข้ามีน้องชายอีกคนชื่อว่าอะลี แต่เขาถูกคนใจร้ายสังหารแล้ว


อิมาม (อ.) ได้กล่าวอย่างไม่เกรงกลัวอีกว่า อัลลอฮ์ทรงเก็บชีวิตเพื่อวาระแห่งความตายของเขา และสำหรับชีวิตหนึ่งๆ จะต้องไม่ตายเว้นแต่โดยการอนุมัติของอัลลอฮ์


บุตรของซิยาด บันดาลโทสะอย่างรุนแรง จึงสั่งให้นำอิมามไปประหาร ตรงนี้เอง ท่านหญิงซัยนับ (อ.) อาสาวของท่านอิมามได้กล่าวขึ้นว่า เจ้าหลั่งเลือดของพวกเรามามากพอแล้ว บุตรของซิยาด เจ้าจะเว้นไว้สักคนได้หรือไม่ แต่ถ้าเจ้าต้องการจะสังหารเขาจริง เจ้าก็จงสังหารข้าพร้อมกับเขาเถิด


อิมาม (อ.) ได้กล่าวอย่างกล้าหาญชาญชัยว่า เจ้ารู้ไหมว่าการถูกสังหารสำหรับพวกเราเป็นเรื่องธรรมดา พวกเราถือเป็นเกียรติยศ ซึ่งเกียรติยศของพวกเราเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามาจากอัลลอฮ์


บุตรของซิยาดจึงสั่งยกเลิกการสังหารท่านอิมาม (อ.)  แต่ได้สั่งให้นำเอาเชลยเหล่านั้นไปส่งยังเมืองซีเรียต่อไป

 

ณ เมืองซีเรีย


เมื่อบรรดาเชลยได้เดินทางมาถึงซีเรียในสภาพที่น่าเวทนา แม้ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) เองยังถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน ยะซีดได้สั่งให้ประดับประดาเมืองดามัสกัสอย่างงดงาม และมีการจัดพิธีแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้สังหารอิมามฮุเซน(อ.) สำเร็จ เพราะชาวซีเรียนั้นได้ถูกมุอาวิยะฮฺหลอกลวงและสร้างภาพบิดเบือนมาโดยตลอด ในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุตรหลานของท่านอิมามอะลี (อ.)


เมื่อบรรดาเชลยเดินทางเข้าเมืองดามัสกัส ได้มีชายผู้สูงวัยคนหนึ่งเข้าไปหาท่านอิมาม (อ.) แล้วพูดว่า ขอสรรเสริญต่ออัลลอฮ์ที่พระองค์ทำลายพวกแก และทรงให้เคาะลิฟะฮฺมีชัยเหนือพวกแก


ท่านอิมาม (อ.) ทราบทันทีว่าชายผู้นั้นไม่รู้ข้อเท็จจริง ท่านจึงกล่าวกับเขาอย่างสุภาพว่า โอ้ ท่านผู้อาวุโส ท่านเคยอ่านอัลกุรอานหรือไม่?


เคยซิ ผู้อาวุโสท่านนั้นตอบทันที


อิมาม (อ.) กล่าวว่า แล้วท่านเคยอ่านโองการที่พระองค์ทรงตรัสว่า จงกล่าวเถิด ฉันมิได้ขอรางวัลใดๆ จากพวกท่านสำหรับการเผยแผ่ เว้นแต่การให้ความรักในเครือญาติสนิทใช่ไหม?


และดำรัสของพระองค์ที่ว่า จงรู้ไว้เถิดว่า ที่จริงสำหรับสิ่งที่พวกท่านยึดมาได้ ไม่ว่าจะเป็นอันใดก็ตาม ดังนั้น แท้จริงจำนวนหนึ่งในห้าของสิ่งเหล่านั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ ของศาสนทูต และของญาติสนิท


ชายผู้นั้นตอบว่า ใช่ ข้าเคยอ่านโองการเหล่านี้


อิมาม (อ.) ตอบว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ พวกเรานี้แหละเป็นญาติสนิทของท่านศาสดา ตามความหมายของโองการเหล่านี้


หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ยังได้กล่าวอีกว่า แล้วท่านเคยอ่านพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า อันที่จริง อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะขจัดมลทินออกไปจากพวกท่าน โอ อะฮ์ลุลบัยต์เอ๋ย และทรงชำระขัดเกลาพวกท่านให้สะอาดบริสุทธิ์จริง หรือไม่?


ชายผู้นั้นตอบว่า เคย ข้าเคยอ่านโองการเหล่านี้


ท่านอิมาม (อ.) ก็พวกเรานี่แหละคือ อะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา


ชายผู้นั้นกล่าวด้วยความตกใจว่า ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ขอยืนยันว่า พวกท่านเป็นอะฮ์ลุลบัยต์จริง


อิมาม (อ.) กล่าวตอบว่า ใช่แล้ว ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ คือ ตาทวดของเราเอง เราคือบรรดาผู้บริสุทธิ์ตามที่โองการกล่าวถึงอย่างแน่นอน


ชายผู้นั้นกล่าวว่า ฉันขอประกาศตัดขาดจากผู้ที่สังหารพวกท่าน เมื่อข่าวได้รู้ไปถึงยะซีด เขาได้สั่งประหารชายผู้คนนั้นทันที

 

อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กับยะซีด


ยะซีดสั่งให้นำเชลยเข้าไปหาในสภาพที่ถูกพันธนการไว้ด้วยโซ่ตรวน เป็นที่สังเวชใจแก่ผู้พบเห็น อิมาม (อ.) กล่าวขึ้นว่า โอ้ ยะซีด เจ้าไม่คิดหรือว่าท่านศาสดาจะรู้สึกอย่างไร? ในขณะที่ข้าตกอยู่ในสภาพเช่นนี้ ผู้คนทั้งหลายต่างร่ำไห้เมื่อได้ยินคำกล่าวเช่นนั้น


กวีคนหนึ่งได้ขึ้นบนมิมบัรตามคำสั่งของยะซีด แล้วอ่านคำกลอนด่าประณามท่านอิมามอะลี อิมามฮะซัน และอิมามฮุเซน (อ.) พร้อมกับสรรเสริญมุอาวิยะฮ์


ท่านอิมาม (อ.) จึงได้หันไปกล่าวคำปราศรัยเพื่อตอบโต้เขาด้วยความโกรธเคืองว่า ความวิบัติจงประสบกับเจ้า โอ้ นักพูดเอ๋ย แน่นอน เจ้าได้แลกเอาความพึงพอใจของสิ่งถูกสร้าง ด้วยการทรยศต่อพระผู้สร้าง ดังนั้น จงเตรียมที่นั่งของเจ้าในนรกเถิด


จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้หันไปทางยะซีด พร้อมกับกล่าวว่า แกจะยอมให้ข้าขึ้นบนมิมบัรไหม เพื่อกล่าวถ้อยคำอันเป็นที่พึงพอพระทัยของพระเจ้า เพื่อให้ผู้คนในที่นี้ได้รับรางวัลและการตอบแทนที่ดีงาม


ยะซีด ปฏิเสธพลางกล่าวว่า หากท่านขึ้นมิมบัร ท่านก็จะไม่ลงมาอย่างแน่นอน จนกว่าจะกล่าวถึงความน่าอับอายของฉันและวงศ์วานของอบูซุฟยาน


แต่หลังจากที่ประชาชนรบเร้าหลายครั้งว่า ขอให้อิมาม (อ.) พูด ยะซีดจึงจำเป็นต้องยอม อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ท่านอิมาม (อ.) ได้ขึ้นมิมบัรหลังจากกล่าวสรรเสริญและสดุดีอัลลอฮ์แล้ว  ท่านได้กล่าวว่า


ประชาชนทั้งหาย จงฟังพวกเรา เราได้รับมอบความดีไว้ 6 ประการ และได้รับเกียรติ 7 ประการ กล่าวคือ เราได้รับมอบความรู้ ความสุขุมคัมภีรภาพ  ความมีใจอ่อนโยน ความสันทัดในการพูด ความกล้าหาญ และความรักในหัวใจของผู้ศรัทธา และเราได้รับเกียรติให้คนในตระกูลของเราเป็นศาสดาผู้ถูกคัดเลือก และในพวกเรามีอัฏฏ็อยยาร (ผู้ที่มีปีกบินในสวรรค์ หมายถึง ท่านญะอฺฟัร ฏ็อยยาร พี่ชายของท่านอิมามอะลี) ในหมู่พวกเรามีราชสีห์แห่งอัลลอฮ์ ราชสีห์แห่งศาสนทูตอของพระองค์ (หมายถึงท่านอิมามอะลี) ในหมู่พวกเรามีประมุขของบรรดาสตรี (ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์) และในหมู่พวกเรามีผู้สืบเชื้อสายแห่งตระกูลของศาสดาแห่งประชาชาตินี้ (หมายถึงท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน)


ประชาชนทั้งหลาย ผู้ใดเคยรูจักฉันมาแล้ว แน่นอน เขาก็ได้รู้จักฉันแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่รู้จักฉัน ฉันก็จะบอกเขาให้รู้จักเกี่ยวกับสถานภาพและชาติตระกูลของฉัน


ฉันคือ บุตรของเมืองมักกะฮ์และมินา
ฉันคือ บุตรของบ่อน้ำซัมซัมและศอฟา
ฉันคือ บุตรของผู้เดินทางในยามค่ำคืนจากมัสญิดอัลฮะรอมไปยังมัสญิดอัลอักซอ
ฉันคือ บุตรของผู้ที่ญิบรออีลไปพาเขาไปจนถึงยังซิดเราะตุลมุนตะฮา
ฉันคือ บุตรของบุตรของผู้ได้เข้าถึงบัลลังก์ (อะรัช) ของอัลลอฮ์ อย่างใกล้ชิดเพียงแค่สองคันธนูโก่งเข้าหากันหรือใกล้ชิดมากกว่านั้น (หมายถึงฐานะแห่งความเป็นบุตรของท่านศาสดา)
ฉันคือ บุตรของมุฮัมมัด อัลมุศฏอฟา (ผู้ถูกเลือกสรร)
ฉันคือ บุตรของอะลี อัลมุรตะฎอ (ผู้ได้รับความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์)


ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ยังได้เปิดเผยถึงชาติตระกูลอันบริสุทธิ์ของท่านต่อไป จนกระทั่งถึงตอนที่กล่าวถึงรายละเอียดของโศกนาฎกรรมแห่งกัรบะลาอ์ ประชาชนต่างตะลึงงันกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และผู้คนทั้งหลายต่างร่ำไห้ ยะซีดกลัวว่าความเดือดร้อนจะคืนกลับมาสนองตัวเอง จึงส่งสัญญาณให้ผู้อะซาน ประกาศเสียงอะซาน เพื่อตัดตอนคำปราศรัยของท่านอิมาม (อ.)


เสียงผู้อะซานกล่าวก้องกังวานว่า อัชฮะดุอันลาอิลาฮะอิลลัลลอฮ์ (ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์)


อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กล่าวตอบรับว่า เลือดเนื้อของฉันได้ปฏิญาณเช่นนั้นแล้ว


ผู้อะซานกล่าวว่า อัชฮะดุอันนะมุฮัมมะดัรเราะซูลลัลลอฮ์ (ข้าขอปฏิญาณว่า แท้จริงมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์)


อิมาม (อ.) ได้หันไปหายะซีด พร้อมกับพูดกับเขาว่า มุฮัมมัดคนนี้เป็นตาทวดของข้าหรือ หรือเป็นตาทวดของเจ้า ถ้าเจ้ากล่าวอ้างว่าเป็นตาทวดของเจ้า แน่นอน เจ้าพูดโกหก แต่ถ้าเจ้ากล่าวว่าเป็นตาทวดของเรา แล้วทำไมเจ้าจึงสังหารลูกหลานของท่าน


ยะซีดกลัวว่าจะมีการปฏิวัติขึ้นในซีเรียจึงได้สั่งให้ส่งเชลยกลับไปยังมะดีนะฮ์เป็นการด่วน บรรดามุสลิมต่างรู้สึกเสียใจกับท่าที การปฏิบัติตัวของยะซีดที่มีต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) และต่อความอยุติธรรมของยะซีดที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง


ทหารของเขาได้โจมตีเมืองมะดีนะฮ์ และอยู่ที่นั่นต่ออีกสามวันเพื่อปล้นสะดมถ์และสังหารชาวมะดีนะฮ์ไปนับหมื่นคน จากนั้นกองกำลังของยะซีดได้ปิดล้อมเมืองมักกะฮ์และถล่มวิหารกะอ์บะฮ์ ด้วยการยิงธนูเพลิงเข้าใส่จนเกิดเพลิงไหม้ขึ้น


แต่อัลลอฮ์ก็ไม่ปล่อยให้ยะซีดมีชีวิตอย่างสงบสุข เพราะในปีฮิจญฺเราะฮฺศักราชที่ 64 ยะซีดก็จบชีวิตลงด้วยความอัปยศอดสูที่สุด เพราะพิษสุราเรื้อรัง หลังจากสิ้นยะซีดไปแล้ว มุอาวิยะฮ์ที่สองบุตรของเขาก็ขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮ์สืบต่อ แต่ได้ถอนตัวออกจากตำแหน่งเคาะลิฟะฮ์ไป เนื่องจากตระหนักดีถึงความอยุติธรรมของยะซีดผู้เป็นบิดา ที่ได้ละเมิดสิทธิในตำแหน่งนี้มาจากเจ้าของที่แท้จริง ดังนั้น มัรวานจังประกาศตัวขึ้นเป็นเคาะลิฟะฮ์แทน และชาวเมืองซีเรียก็ให้สัตยาบันแก่เขา


ในขณะเดียวกัน อับดุลลอฮ์ บุตรของซุเบร ก็ได้ประกาศตัวเป็นเคาะลิฟะฮ์ขึ้นที่ฮิญาซ (หมายถึงคาบสมุทรอาหรับ ที่มีเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์เป็นศูนย์กลาง) และทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองอัลกะอ์บะฮฺ


ในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่ 73 อับดุลมาลิก บุตรของมัรวาน ได้เคลื่อนพลเข้ามาล้อมเมืองมักกะฮ์อีกครั้งหนึ่ง และใช้ธนูเพลิงยิงเข้าใส่อัลกะอ์บะฮ์ และในที่สุด อับดุลลอฮ์ บุตรของซุเบรก็ถูกสำเร็จโทษ


อับดุลมาลิก ได้ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดกับทุกคนที่ต่อต้าน เขาได้ให้อำนาจการปกครองเมืองบัศเราะฮ์และกูฟะฮ์แก่คนผู้หนึ่ง ที่เป็นผู้กระหายเลือดและก่อการนองเลือดมากที่สุดในบรรดานักปกครองทั้งหลายนั่นคือ ฮัจญาจ บินยูซุฟ อัลซะกอฟี กล่าวคือ เขาได้สังหารบรรดาผู้บริสุทธิ์และจับผู้คนทั้งชายและหญิงจำนวนมากมายมหาศาลมาไว้ขังไว้ในคุก
อับดุลมาลิก เฝ้าติดตามดูอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) อย่างใกล้ชิด บรรดาผู้สอดแนมจะคอยตรวจความเคลื่อนไหวของท่านอยู่ทุกฝีก้าว ถึงกระนั้นก็ตาม เขายังได้สั่งให้จับตัวท่านอิมาม (อ.) ส่งไปยังเมืองซีเรีย และต่อมาในภายหลังก็ได้ปล่อยตัวไป

 

อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) กับฮิชาม


อับดุลมาลิก ได้เสียชีวิตลง อำนาจการปกครองจึงถ่ายโอนให้แก่ฮิชาม ครั้งหนึ่งฮิชามได้ไปบำเพ็ญฮัจญ์และเดินเวียนรอบบัยตุลลอฮ์ และพยายามจะเข้าไปจุมพิตหินดำ แต่เขาเหนื่อยจนหอบเพราะคนแออัดดันมาก เขาจึงนั่งรอโดยมีชาวซีเรียยืนรายล้อมเข้าอยู่ ในขณะนั้นเองอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ก็ได้ก้ายเข้ามาอย่างงามสง่า แล้วเวียนรอบๆ บัยตุลลอฮ์ ครั้นมาถึงตรงหินดำ ประชาชนได้แหวกทางเดินให้และยืนแสดงความเคารพคารวะ จนกระทั่งท่านได้เข้าไปแสดงความคารวะและจุมพิตหินดำ เมื่อท่านออกไปแล้วผู้คนก็กลับไปทำพิธีเวียนรอบของพวกเขาตามเดิม


ชาวซีเรียยังไม่เคยรู้จักท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) เมื่อได้เห็นเช่นนั้นก็ซักถามกันเองถึงเรื่องราวของบุรุษผู้นี้ ฮิชามก็ได้แสร้งว่าตนเองก็ไม่รู้จักด้วย โดยกล่าวว่า ข้าก็ไม่รู้จักเขาเหมือนกัน


ฟะร็อซดัก นักกวีเอกซึ่งอยู่ที่นั้นด้วย ได้ร่ายบทกวีที่จัดว่าไพเราะมากที่สุดบทหนึ่งในบรรดากวีนิพนธ์ของชาวอาหรับ เมื่อเขาได้กล่าวตอบคำถามของชาวซีเรียในครั้งนี้ว่า


นี่คือ บุรุษผู้ใจบุญ รู้จักเรื่องราวการถือกำเนิดของเขา (หมายถึงท่านศาสดา)
บัยตุลลอฮ์ อีกทั้งในเขตอนุญาตและในเขตหวงห้ามต่างก็รู้จักเขา
นี่คือ บุตรของคนที่ดีทีที่สุดในหมู่ปวงบ่าวของอัลลอฮ์ทั้งหมด
นี่คือ ผู้สำรวมตนที่บริสุทธิ์ ผู้ที่สะอาดแห่งพิภพ
นี่คือ บุตรของฟาฏิมะฮ์ มาตรว่าท่านยังไม่รู้จักเขา
บรรดาศาสดาแห่งอัลลอฮ์ ได้ประทับตารับรองความสมบูรณ์ ก็โดยตามทวดของเขานี้เอง

 

หนังสือศอฮีฟะฮ์ซัจญาดียะฮ์


หนังสือศอฮีฟะฮ์ซัจญาดียะฮ์ เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งที่รวบรวมคำขอพร แต่ความเป็นจริงแล้วหนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนสถาบันการศึกษาอันยิ่งใหญ่ ที่สั่งสอนมนุษย์ในด้านจริยธรรมประเสริฐ และมารยาทอันสูส่ง อีกทั้งยังประกอบไปด้วยเรื่องราวทางปรัชญา วิชาการ เศรษฐกิจ และการเมือง ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างบางส่วน จากคำขอพรของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)


โอ้ อัลลอฮ์ แท้จริงข้าฯ ขอความคุ้มครองจากพระองค์ ให้พ้นจากความเกียจคร้าน ความขี้ขลาด ความตระหนี่ การหลงลืม ความกระด้าง และความอัปยศ
มหาบริสุทฺธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ผู้ซึ่งเสียงหายใจของหมู่มวลมัจฉาในก้นบึ้งแห่งมหาสมุทร มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ผู้ซึ่งรอบรู้ถึงน้ำหนักของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ข้าฯ ประหลาดใจกับบุคคลใดก็ตามที่รู้จักพระองค์แล้ว เหตุไฉนเขาไม่ยำเกรงต่อพระองค์


ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ยังมีบทขอพรเฉพาะสำหรับวันต่างๆ และเฉพาะสำหรับแต่ละวันในสัปดาห์อีกด้วย ทั้งหมดมี 15 บท ถ้อยคำต่างๆ ในบทขอพรเหล่านี้นั้น ล้วนลึกซึ้งยิ่งนัก อันแสดงให้เห็นถึงมารยาทอันสูงส่ง วิทยปัญญาอันล้ำลึก และจิตวิญญาณที่นอบน้อมต่ออัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์

 

สารที่ว่าด้วยสิทธิต่างๆ


อิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) มีสารฉบับหนึ่ง เรียกว่า สารว่าด้วยสิทธิต่างๆ (ริซาละตุลฮุกูก) อันประกอบด้วยกฎระเบียบ 50 ประการด้วยกัน ซึ่งได้อธิบายถึงหน้าที่ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เกี่ยวกับสิทธิที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าต่อตนเอง ต่อเพื่อนบ้าน และมิตรสหายของตน ดั่งเช่น ที่ท่านได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิของครูว่า


ส่วนหนึ่งจากสิทธิของครูที่มีเหนือตัวท่านก็คือ การให้ความเคารพต่อท่าน ให้เกียรติต่อที่นั่งของท่าน ให้รับฟังท่านแต่โดยดี จงอย่าขึ้นเสียงต่อหน้าท่าน จงปิดบังข้อบกพร่องของท่าน และจงเผยแผ่คุณงามความดีของท่าน


เกี่ยวกับสิทธิของมารดา ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า


สำหรับสิทธิของบิดามารดาของพวกท่านคือ พวกท่านจะต้องรู้ว่าหากปราศจากบิดามารดาแล้ว เจ้าก็ไม่อาจมีชีวิตขึ้นมาได้ เจ้าจะต้องรู้ว่ามารดาได้อุ้มครรภ์เจ้ามาอย่างยากลำบาก นางได้ให้อาหารอันเกิดจากความรักแห่งหัวใจของนางให้กับเจ้า นางพอใจที่จะเห็นเจ้าอิ่มในขณะที่นางนั้นหิวกระหาย นางพอใจที่จะให้เจ้าสวมใส่ในขณะที่นางเปล่าเปลือย นางพอใจที่จะให้ท่านดับกระหายในขณะที่นางกระหาย นางพอใจที่จะทนอยู่ในการแผดเผาของแสงอาทิตย์ เพื่อให้เจ้าอยู่ภายใต้ร่มเงา เจ้าไม่อาจทดแทนคุณของนางได้ เว้นเสียแต่อัลลอฮ์ จะเป็นผู้ประทานการตอบแทนแก่นาง

 

วาทะประทีป


ลูกเอ๋ย จงพิจารณาบุคคล 5 ประเภทต่อไปนี้ และจงอย่าคบอย่าพูดจากับเขาในเวลาเดินทาง นั่นคือ


จงระวังอย่าเป็นมิตรกับคนโกหก เพราะแท้จริงเขาเป็นเสมือนภาพลวงตาในทะเลทราย คือ เขาจะทำให้สิ่งที่อยู่ใกล้ดูไกลและทำให้สิ่งที่อยู่ไกลดูใกล้
จงอย่าเป็นมิตรกับคนพาล เพราะเขาสามารถขายเจ้าได้ในราคาเพียงแค่อาหารเพียงมื้อเดียว หรืออาจน้อยกว่านั้น


จงระวังอย่าได้เป็นมิตรกับคนตระหนี่ถี่เหนียว เพราะแท้จริงเขาจะล่อลวงเจ้าในเรื่องทรัพย์สิน และจะวกกลับมาในทางที่ทำให้เจ้าต้องจ่ายทรัพย์สินให้แก่เขา
จงระวังอย่าได้เป็นมิตรกับคนโฉดเขลา เพราะเขาอาจต้องการจะทำประโยชน์ให้แก่เจ้า  แต่แล้วกลับเป็นอันตรายแก่เจ้าก็ได้


จงระวังการเป็นมิตรกับคนที่ตัดความสัมพันธ์กับเครือญาติ เพราะฉันได้พบว่าเขาเป็นผู้ที่ถูกสาปแช่ง ดังที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์แห่งอัลลอฮ์
ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)  ได้เคยกล่าวกับอิมามบากิร (อ.) ผู้เป็นบุตรว่า


จงทำความดีกับทุกคนที่ต้องการความดีจากเจ้า ดังนั้น ถ้าหากเขาเป็นผู้เหมาะสมในความดีนั้นๆ ก็เท่ากับเจ้าได้วางเขาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง แต่ถ้าหากเขาเป็นคนที่ไม่เหมาะสมกับความดีนั้น เจ้านั่นแหละคือ ผู้ที่เหมาะสมกับความดีนั้น และถ้าหากคนๆ หนึ่งได้ก่นด่าเจ้าทางด้านขวา และกล่าวขอโทษทางด้านซ้ายมือของเจ้า กระนั้นก็ตาม เจ้าจงยอมรับคำขอโทษของเขาเถิด.

 

ขอขอบคุณ เว็บไซต์อิสลามิคซอร์ซ

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ข้อคิดจากซูเราะฮ์อันนาส
เตาฮีด ...
“มุบาฮะละฮ์” ในประวัติศาสตร์
...
ท่านหญิงซากีนะฮ์(อ.) ...
ความสำคัญของพ่อแม่ในอิสลาม
“อัรบาอีน ฮูซัยนี” ...
...
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ ...

 
user comment