อัสลามุอลัยกุม โองการต่อไปนี้หมายความว่าอย่างไร وَ لَوْ أَنَّ قُرْآناً سُیِّرَتْ بِهِ الْجِبالُ أَوْ قُطِّعَتْ بِهِ الْأَرْضُ أَوْ کُلِّمَ بِهِ الْمَوْتى بَلْ لِلَّهِ الْأَمْرُ جَمیعا กุรอานที่อยู่ในมือเรานี่น่ะหรือ ที่จะเคลื่อนย้ายภูเขา ...ฯลฯ นักแปลกุรอานมีความเห็นแตกต่างกัน บ้างแปลว่าหมายถึงกุรอานเล่มนี้ แต่บางคนเชื่อว่าเรื่องพวกนี้ไม่ไช่เป้าหมายของกุรอาน กรุณาอธิบายด้วยค่ะ
คำตอบโดยสังเขป
ในประเด็นที่ว่าโองการ وَ لَوْ أَنَّ قُرْآناً سُیِّرَتْ بِهِ الْجِبالُ أَوْ قُطِّعَتْ بِهِ الْأَرْضُ... หมายความว่าอย่างไรนั้น นักอรรถาธิบายกุรอานได้นำเสนอไว้สองทัศนะด้วยกัน
1. โองการต้องการจะสื่อว่า หากจะมีตำราใดที่จะสามารถเคลื่อนย้ายภูเขา หรือแยกแผ่นดิน หรือทำให้ผู้ตายสนทนาได้ ตำรานั้นย่อมมิไช่อื่นใดนอกจากกุรอาน ทั้งนี้ก็เพราะกุรอานประเสริฐเหนือทุกคัมภีร์
2. โองการข้างต้นเป็นคำตอบโต้ข้อเรียกร้องของบรรดากาเฟรแห่งมักกะฮ์ที่เรียกร้องให้ท่านนบีแสดงอภินิหาร โดยโองการนี้สื่อว่าคนพวกนี้มีนิสัยดื้อรั้น แม้หากกุรอานแสดงอภินิหารเคลื่อนย้ายภูเขาตามที่พวกเขาต้องการ หรือแม้จะแยกแผ่นดินและผุดตาน้ำ หรือแม้จะชุบชีวิตผู้ตายให้ปฏิญาณถึงความเป็นศาสดาของเจ้า (โอ้มุฮัมมัด)ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาก็ตาม แต่คนเหล่านี้ก็จะยังดื้อแพ่งไม่ศรัทธาอยู่วันยังค่ำ.
คำตอบเชิงรายละเอียด
ก่อนที่จะชี้แจงถึงความหมายของโองการ وَ لَوْ أَنَّ قُرْآناً سُیِّرَتْ بِهِ الْجِبالُ أَوْ قُطِّعَتْ بِهِ الْأَرْضُ... [1]ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุแห่งการประทาน (ชะอ์นุนนุซู้ล) เสียก่อน อันจะช่วยให้เข้าใจความหมายของโองการมากยิ่งขึ้น
นักอรรถาธิบายกุรอานบางท่านเล่าว่า โองการนี้ประทานลงมาเพื่อเป็นคำตอบสำหรับพวกมุชริกีนมักกะฮ์อย่างเช่น อบูญะฮั้ล, อับดุลลอฮ์ บิน อบีอุมัยยะฮ์ และพรรคพวกซึ่งนั่งอยู่หลังกะอ์บะฮ์ พวกเขาได้เรียกให้ท่านนบีไปพบพร้อมกับกล่าวแก่ท่านว่า เจ้าอ้างว่าตนเองเป็นศาสดาของพระเจ้า แล้วที่อ่านอยู่ก็คือคัมภีร์ที่พระองค์ทรงประทานให้ ถ้าเจ้าต้องการให้พวกเราคล้อยตามก็จงใช้กุรอานของเจ้าเคลื่อนย้ายภูเขามักกะฮ์ดูซิ เพื่อให้มีที่โล่งสำหรับพวกเรามากยิ่งขึ้น จงแยกแผ่นดินและผุดตาน้ำดูซิ เราจะได้ใช้ปลูกต้นไม้และรดน้ำทำสวน เพราะเจ้าอ้างว่ามีดีไม่แพ้ดาวู้ดที่พระองค์ทรงบันดาลให้ยอมสยบและรำลึกถึงพระองค์ไปพร้อมกับเขา
หรือไม่ก็จงสยบลมให้พัดพาพวกเราไปยังเมืองชามเพื่อเจรจาธุรกิจและซื้อหาของจำเป็นโดยกลับสู่มักกะฮ์ในวันเดียว ดังที่สุลัยมานเคยควบคุมลมได้ เจ้าอ้างมิไช่หรือว่าเจ้ามิได้ด้อยไปกว่าสุลัยมาน
หรือไม่ก็จงชุบชีวิตปู่ทวดของเจ้านาม กุศ็อย บิน กิล้าบ หรือศพอื่นๆที่เจ้าต้องการ เพื่อให้เราสอบถามว่าเจ้าเป็นผู้สัจจริงหรือพูดปด เนื่องจากอีซาก็เคยชุบชีวิตคนตายมาแล้ว และเจ้าก็มิได้มีสถานะด้อยค่าไปกว่าอีซา เจ้าจงทำตามที่เราร้องขอทั้งหมดนี้ แล้วเราจะยอมศรัทธาในตัวเจ้า
หลังจากนั้น โองการดังกล่าว (وَ لَوْ أَنَّ قُرْآناً...) ก็ประทานลงมา[2]
ด้วยเหตุนี้ โองการข้างต้นสื่อถึงเรื่องราวของมุชริกีนที่ดื้อรั้นต่อท่านนบีและมุอ์ญิซาตของท่าน โดยนำข้ออ้างของบนีอิสรออีลมาบังหน้า จึงทำให้พระองค์ประทานโองการดังกล่าวลงมา
หลังจากที่ทราบถึงเหตุแห่งการประทานโองการไปแล้ว เราจะมาวิเคราะห์ว่าโองการนี้ต้องการจะสื่อถึงประเด็นใด ซึ่งนักอรรถาธิบายให้ทัศนะไว้สองประเภทด้วยกันดังนี้
หนึ่ง. โองการต้องการจะสื่อว่า หากจะมีตำราใดที่จะสามารถเคลื่อนย้ายภูเขา หรือแยกแผ่นดิน หรือทำให้ผู้ตายสนทนาได้ ตำรานั้นย่อมมิไช่อื่นใดนอกจากกุรอานเป็นแน่ ทั้งนี้ก็เพราะกุรอานประเสริฐเหนือกว่าทุกคัมภีร์
สอง. โองการข้างต้นเป็นคำตอบโต้ข้อเรียกร้องของบรรดากาเฟรแห่งมักกะฮ์ที่เรียกร้องให้ท่านนบีแสดงอภินิหาร โดยโองการนี้สื่อว่าคนพวกนี้มีนิสัยดื้อรั้น แม้หากกุรอานแสดงอภินิหารเคลื่อนย้ายภูเขาตามที่พวกเขาต้องการ หรือแม้จะแยกแผ่นดินและผุดตาน้ำ หรือแม้จะชุบชีวิตผู้ตายให้ปฏิญาณถึงความเป็นศาสดาของเจ้า (โอ้มุฮัมมัด)ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเขาก็ตาม แต่คนเหล่านี้ก็จะยังดื้อแพ่งไม่ศรัทธาอยู่วันยังค่ำ[3]
เฏาะบัรซีรายงานจากซุญ้าจว่า ตามความเข้าใจของฉัน ซึ่งได้รับการยืนยันจากนักวิชาการบางท่าน โองการนี้หมายความว่า หากอัลลอฮ์ประทานมาซึ่งกุรอานที่มีอิทธิฤทธิ์ถึงเพียงนี้ ( เคลื่อนย้ายภูเขา ...ฯลฯ) พวกเขาก็ยังจะดื้อแพ่งไม่ยอมรับอยู่วันยังค่ำ ตามที่กุรอานกล่าวว่า وَ لَوْ أَنَّنا نَزَّلْنا إِلَیهِمُ الْمَلائِکَةَ وَ کَلَّمَهُمُ الْمَوْتى وَ حَشَرْنا عَلَیهِمْ کُلَّ شَی ءٍ قُبُلًا ما کانُوا لِیؤْمِنُوا [4](มาตรว่าเราส่งมวลมลาอิกะฮ์สู่พวกเขา และบันดาลให้คนตายฟื้นขึ้นมาสนทนากับพวกเขา และปลุกทุกสิ่งเป็นกลุ่มๆให้พวกเขาประจักษ์ พวกเขาก็ไม่มีวันศรัทธา)[5]
ดังนั้น โองการข้างต้นต้องการสื่อว่าพวกเจ้า (กาฟิรมักกะฮ์) มิได้แสวงหาสัจธรรม เพราะมิเช่นนั้นก็ย่อมจะยอมสยบและศรัทธาต่ออภินิหารบางประการที่ศาสนทูตได้แสดงไปบ้างแล้ว คำพูดเหล่านี้ล้วนเป็นข้ออ้างทั้งสิ้น
จุดประสงค์ของท่อนสุดท้ายที่ว่า بَلْ لِلَّهِ الْأَمْرُ جَمِیعاً นั้น (بَلْ) เป็นการ “อิฎร้อบ”[6] คำว่า (وَ لَوْ أَنَّ) ซึ่งหมายความว่า มิไช่ว่าพระองค์จะไม่สามารถแสดงอภินิหารอื่นนอกเหนืออัลกุรอานได้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาจากพระองค์ทั้งสิ้น โองการนี้อาจต้องการสื่อว่า พระองค์ทราบดีว่าคนเหล่านี้ไม่ยอมศรัทธาเป็นแน่ จึงไม่แสดงอภินิหาร(มุอ์ญิซาต) อื่นๆให้ได้เห็น เพื่อมิให้ต้องถูกอะซาบในโลกนี้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า หากท่านนบีแสดงอภินิหารตามคำขอแต่พวกเขาดื้อแพ่งไม่ยอมศรัทธา ก็ย่อมจะถูกอะซาบในโลกนี้อย่างแน่นอน[7]
เจ้าของตำรามัจมะอุ้ลบะยาน ได้อธิบาย بَلْ لِلَّهِ الْأَمْرُ جَمِیعا ว่า: ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะการเคลื่อนย้ายภูเขา หรือแยกแผ่นดิน หรือการฟื้นคืนชีพผู้ตาย ฯลฯ ล้วนอยู่ในข่ายอำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น เนื่องจากพระองค์เท่านั้นที่ทรงอำนาจยิ่ง อย่างไรก็ดี พระองค์ไม่แสดงอภินิหารเหล่านี้ตามคำขอ เนื่องจากสัญลักษณ์ที่พระองค์สำแดงไว้แล้วนั้น เพียงพอสำหรับผู้มีใจเป็นกลาง[8]
[1] อัรเราะอ์ด, 31 “หากกุรอานสามารถจะเคลื่อนย้ายภูเขา หรือแยกแผ่นดินเป็นเสี่ยงๆ หรือทำให้ผู้ตายสนทนาได้ ก็ย่อมเป็นกุรอานนี้ และทุกสิ่งล้วนเป็นกรรมสิทธิของพระองค์”
[2] ดู: อมีน,ซัยยิดะฮ์ นุศรัต, มัคซะนุ้ลอิรฟาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 7,หน้า 42-43,ขบวนการสตรีมุสลิม,เตหราน,ปี 1361 และ ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 10,หน้า 230-231,ดารุ้ลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1374
[3] لَوْ أَنْزَلْنا هذَا الْقُرْآنَ عَلى جَبَلٍ لَرَأَیْتَهُ خاشِعاً مُتَصَدِّعاً مِنْ خَشْیَةِ اللَّهِ มาตรแม้นว่าเราประทานกุรอานนี้ยังภูผา เจ้าก็ย่อมจะเห็นมันแตกสลายด้วยความหวาดเกรงพระองค์, อัลฮัชร์,21
[4] อัลอันอาม,111
[5] มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 6,หน้า 451,นาศิร โคสโร,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สาม,ปี1372
[6] อิฎร้อบใช้ในการปฏิเสธความหมายก่อนหน้า แต่บางครั้งก็ใช้สื่อถึงการเปลี่ยนจุดประสงค์ ซึ่งในโองการนี้สื่อถึงความหมายแรก
[7] มัคซะนุ้ลอิรฟาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 7,หน้า 43-44
[8] เฏาะบัรซี,มัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 6,หน้า 451