ไทยแลนด์
Wednesday 24th of April 2024
0
نفر 0

จริยธรรม : รูห์ (วิญญาณ) ของศาสนา

จริยธรรม : รูห์ (วิญญาณ) ของศาสนา

อิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด และมีความครอบคลุมในทุกด้าน กล่าวคือ คำสอนต่างๆ ของมันไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในเรื่องคำแนะนำและคำตักเตือน หรือการกระทำต่างๆ ในอิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) เพียงเท่านั้น อิสลามเป็นศาสนาสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง เพื่อที่จะชี้นำมนุษยชาติไปสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) ขั้นสูงสุดของความเป็นมนุษย์ และเป็นศาสนาที่ครอบคลุมและรวบรวมคำสอนของศาสนาทั้งมวลก่อนหน้านี้ และเป็นสิ่งเติมเต็มความสมบูรณ์ของศาสนาเหล่านั้น ตามพัฒนาการสูงสุดของวิถีการดำเนินชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ดังเช่นที่เราจะเห็นได้ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ชี้ถึงความเป็นศาสนาและหลักคำสอนสุดท้ายของอิสลาม และความเป็นตราประทับ (สิ้นสุด) ของสายธารแห่งปวงศาสดาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ไว้ โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า

 

مَا كَانَ مُحَمَّدٌ أَبَا أَحَدٍ مِنْ رِجَالِكُمْ وَلَٰكِنْ رَسُولَ اللَّهِ وَخَاتَمَ النَّبِيِّينَ

 

“มุฮัมมัด หาใช่เป็นบิดาของผู้ใดในหมู่บุรุษของพวกเจ้า แต่เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ์และเป็นตราประทับ (สิ้นสุด) ของปวงศาสดา” [1] และเช่นเดียวกันนี้ คัมภีร์อัลกุรอานยังได้แนะนำอิสลามว่าเป็นเพียงศาสนาหนึ่งเดียว ณ พระผู้เป็นเจ้า โดยกล่าวว่า

 

إِنَّ الدِّينَ عِندَ اللّهِ الإِسْلاَمُ

 

“แท้จริงศาสนา (ที่แท้จริงที่ปวงศาสดาได้นำมา และนำเสนอต่อมนุษย์ชาติในรูปของบทบัญญัติต่างๆ) ณ อัลลอฮ์ นั่นก็คืออิสลาม” [2]

 

ศาสนาอิสลามจะคำนึงถึงความสมบูรณ์ (กะม้าล) เป็นเลิศในทุกด้านของชีวิตมนุษย์ และหนึ่งในด้านหรือมิติเหล่านั้นก็คือ ด้านจริยธรรมและคุณธรรม ท่านศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) ได้ระบุถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยกล่าวว่า

 

بُعِثتُ لاُتَمِّمَ مَكارِمَ الخلاقِ

 

“ฉันถูกส่งมาเพื่อทำให้สมบูรณ์ซึ่งจริยธรรมอันสูงส่ง” [3]

 

อิสลามเป็นศาสนาที่ถือว่า “วิญญาณ (รูห์) ของศาสนา” นั่นก็คือ “จริยธรรมและความมีคุณธรรม” ในขณะที่โลกตะวันตกกำลังพยายามที่จะโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวางในการต่อต้านทำลายอิสลาม โดยวาดภาพให้เห็นว่า อิสลามเป็นศาสนาที่น่าหวาดกลัว มีแต่ความโหดร้ายป่าเถื่อนและความรุนแรง และตรงข้ามกับสิ่งดังกล่าว ความเจริญก้าวหน้าและการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของอิสลามนับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นนั้น ก็อยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ทางด้านจริยธรรมและคุณธรรมดังกล่าวนี้นี่เอง

 

ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

إِنَّا لَنُحِبُّ مَنْ كَانَ عَاقِلًا فَهِماً فَقِيهاً حَلِيماً مُدَارِياً صَبُوراً صَدُوقاً وَفِيّاً إِنَّ اللَّهَ عَزَّ وَ جَلَّ خَصَّ الْأَنْبِيَاءَ بِمَكَارِمِ الْأَخْلَاقِ فَمَنْ كَانَتْ فِيهِ فَلْيَحْمَدِ اللَّهَ عَلَى ذَلِكَ وَ مَنْ لَمْ تَكُنْ فِيهِ فَلْيَتَضَرَّعْ إِلَى اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ وَ لْيَسْأَلْهُ إِيَّاهَا

 

“ฉันรักบุคคลที่เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาด มีความเข้าใจง่าย มีความรู้ที่ลุ่มลึก มีความสุขุมเยือกเย็น มีปฏิสัมพันธ์ที่อ่อนโยนต่อผู้อื่น มีความอดทนอดกลั้น มีวาจาสัจจริงและเป็นผู้มีความซื่อสัตย์ แท้จริงอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงมอบจริยธรรมอันสูงส่งให้เป็นพิเศษแด่ปวงศาสดา ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่มีจริยธรรมอันสูงส่งอยู่ในตัวเขา เขาก็จงสรรเสริญขอบคุณต่ออัลลอฮ์ในสิ่งนั้นเถิด และหากผู้ใดที่ไม่มีสิ่งนั้น ก็จงออดอ้อนและวิงวอนขอสิ่งนั้นต่อพระองค์”

 

ผู้รายงานได้กล่าวว่า ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “จริยธรรมอันสูงส่งนั้นคืออะไร” ท่านตอบว่า

 

هُنَّ الْوَرَعُ وَ الْقَنَاعَةُ وَ الصَّبْرُ وَ الشُّكْرُ وَ الْحِلْمُ وَ الْحَيَاءُ وَ السَّخَاءُ وَ الشَّجَاعَةُ وَ الْغَيْرَةُ وَ الْبِرُّ وَ صِدْقُ الْحَدِيثِ وَ أَدَاءُ الْأَمَانَةِ

 

“มันคือความเคร่งครัด (ในศาสนา) ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนมี ความอดทน การขอบคุณ (ความกตัญญู) ความสุขุมคัมภีรภาพ ความละอายตน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกล้าหาญ ความหวงแหน (ในความดีงาม) ความมีคุณธรรม มีวาจาสัจจริง และซื่อสัตย์ต่อความไว้วางใจ” [4]

 

เราจะเห็นได้ว่า ในมุมมองของอิสลามและบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์นั้น คำว่า “จริยธรรม” จะมีความหมายที่กว้างและมีขอบข่ายการใช้งานอยู่ในทุกด้านของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งจะดำเนินไปในทุกกิจกรรมการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลใด การกระทำใด หรือช่วงเวลาและสถานที่ใดทั้งสิ้น

 

ประเด็นดังกล่าวนี้เอง ที่นับจากช่วงเริ่มแรกของการมาของอิสลาม จึงสามารถปราบพยศชาวอาหรับญาฮิลียะฮ์ (ยุคมืด) ผู้ดื้อรั้นลงได้ และได้ดึงดูดหัวใจของผู้คนทั้งหลายมาสู่อิสลาม

 

มีรายงานว่า มีชายผู้หนึ่งได้ไปพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเขาได้มายืนเบื้องหน้าของท่าน พร้อมกับถามว่า “โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! ศาสนานั้นคืออะไรหรือ” ท่านศาสดากล่าวว่า “การมีจริยธรรมที่งดงาม” อีกครั้งเขาได้มายืนทางด้านขวาของท่านศาสดา และได้กล่าวถามว่า “โอ้ศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์! ศาสนานั้นคืออะไรหรือ” ท่านศาสดาก็ตอบว่า “การมีจริยธรรมที่งดงาม” อีกครั้งหนึ่งเขาได้มาทางด้านซ้ายและได้ถามคำถามเดิมและก็ได้รับคำตอบเดียวกัน และในครั้งสุดท้าย เขาก็ได้ถามย้ำคำถามดังกล่าวจากด้านหลังของท่านศาสดา เพื่อที่จะทดสอบระดับความอดทนอดกลั้นและจริยธรรมของท่าน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้หันไปมองเขา พร้อมกล่าวกับเขาว่า “เจ้าไม่เข้าใจหรือว่า ศาสนานั้นก็คือ การที่เจ้าจะไม่โกรธและจะไม่แสดงพฤติกรรมที่หยาบคายต่อเพื่อนมนุษย์ (และสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า)” [5]

 

จากการพิจารณาถึงคำแนะนำและคำสอนต่างๆ ของอิสลาม เราจะพบถึงความสำคัญและการปกคลุมของคำสอนทางด้านจริยธรรมที่มีอยู่เหนือศาสนานี้ได้อย่างชัดเจน และเป็นเรื่องธรรมชาติที่ว่า การปฏิบัติตามคำแนะนำสั่งสอนเหล่านี้ จะเป็นสื่อของการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ (กะม้าล) และความมีเกียรติอันสูงส่งของมนุษย์ และสิ่งนี้เช่นเดียวกันที่จะเป็นตัวสร้างความล้มเหลวให้กับความพยายามและการดำเนินการต่างๆ ที่ชั่วร้ายของโลกตะวันตก ในการให้ร้ายป้ายสีและการต่อต้านทำลายอิสลาม อีกทั้งจะช่วยโน้มนำมนุษยชาติและชาวโลกมาสู่การยอมรับศาสนาอิสลามมากยิ่งขึ้นในแต่ละวัน ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้เน้นย้ำในเรื่องของการปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบอย่างสำหรับผู้อื่น โดยกล่าวว่า

 

كُونُوا دُعَاةً لِلنَّاسِ بِغَیْرِ أَلْسِنَتِكُمْ

 

“ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้เชิญชวนประชาชน (สู่อัลลอฮ์) ด้วยสื่ออื่นจากลิ้นของพวกท่าน (หมายถึงด้วยการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่าง)” (6)

 

แหล่งที่มา :

[1] ซูเราะฮ์อัลอะห์ซาบ/อายะฮ์ที่ 40

[2] ซูเราะฮ์อาลิอิมรอน/อายะฮ์ที่ 19

[3] กันซุลอุมมาล, เล่มที่ 3, หน้าที่ 16, ฮะดีษที่ 52175

[4] อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 56, ฮะดีษที่ 3

[5] มะนาฮิญุชชาริอีน, ซาลิซุลมุอัลลิมีน (อัลลามะฮ์ มิรดอมอด) หน้าที่ 800

[6] อัลกาฟี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 78

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
“มุบาฮะละฮ์” ในประวัติศาสตร์
จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ ...
มะอาด : ...
ฟาฏิมะฮ์ ...
มองเรื่อง “ข่าวลือ” ...
เคล็ดลับอายุยืน(1)
ชัยฏอน คือ ...
มุอ์ญิซะฮ์ (ปาฏิหาริย์) ...

 
user comment