ไทยแลนด์
Wednesday 1st of January 2025
0
نفر 0

ทำไมต้องซัจดะฮฺบนดิน

ทำไมต้องซัจดะฮฺบนดิน

 

 

คำตอบ : มีชนบางกลุ่มคิดว่า การซัจดะฮฺบนดิน หรือบนดินของบรรดาชุฮะดา หมายถึง การสักการะสิ่งนั้น และเป็นชิริกประเภทหนึ่ง สำหรับข้อสงสัยดังกล่าวนี้ สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงคือ ระหว่างคำว่า   อัซซุญูดลิลลาฮฺ (การซัจดะฮฺอัลลอฮฺ) กับอัซซุญูดอะลัลอัรฎิ (การซัจดะฮฺพื้นดิน) นั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ปัญหาที่เกิดเป็นข้อสงสัย เนื่องจากว่าผู้สงสัยไม่พยายามแยกแยะระหว่างความแตกต่างของทั้งสอง คำอธิบายโดยสรุปกล่าวคือ อัซซุญูดลิลลาฮฺ หมายถึงทำการซัจดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ ขณะที่ความหมายของคำว่า อัซซุญูดอะลัลอัรฎิ คือ การซัจดะฮฺลงบนพื้นดิน อีกนัยหนึ่งคือ พวกเราได้ทำการซัจดะฮฺลงบนพื้นดินเพื่อเป็นการซัจดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ทั้งที่มุสลิมทั้งหลายโดยปรกติ

เมื่อซัจดะฮฺ ต้องซัจดะฮฺลงบนสิ่งอื่นทั้งสิ้น อันเป็นการบ่งบอกว่าได้ทำการซัจดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) บรรดานักแสวงบุญทั้งหลาย (ฮุจญาต) ได้ทำการซัจดะฮฺลงบนหินอ่อนของมัสญิดหะรอมทั้งสิ้น ขณะที่เป้าหมายในการซัจดะฮฺของเขานั้น คือ อัลลอฮฺ (ซบ.)

ดังนั้นจะเห็นว่าการซัจดะฮฺลงบนดิน พรม ใบไม้ และอื่น ๆ ไม่ได้หมายความว่า ได้ทำการสักการะบูชาสิ่งนั้น ทว่าการซัจดะฮฺนั้นเพื่อเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้นการซัจดะฮฺลงบนดิน นอกเหนือไปจากการซัจดะฮฺที่มีต่อดิน  อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَلِلّهِ يَسْجُدُ مَن فِي السَّمَاوَاتِ وَالأَرْضِ

และผู้อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินต่างซุญูดต่ออัลลอฮฺด้วยความภักดี [1]

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า

جُعِلَتْ لِىَ الارض مسجدًا و طهورًا

พื้นดินได้ถูกมอบให้เป็นสถานที่ซัจดะฮฺ และทำความสะอาดสำหรับฉัน [2]

 

ด้วยเหตุนี้ การซัจดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ กับการซัจดะฮฺลงบนดิน นอกจากจะไม่มีความขัดแย้งกันแม้แต่นิดเดียวแล้วยังสามารถเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการซัจดะฮฺลงบนพื้นดิน หรือลงบนใบไม้คือสัญลักษณ์สุดท้ายของการนอบน้อม ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์

 

เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างชัดเจนตามหลักการของชีอะฮฺ ขอนำเสนอคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ.) ผู้นำที่บริสุทธิ์ของชีอะฮฺ

อิมามกล่าวว่า

عن هشام ابن الحكم قال قلت لأبي عبد الله (ع) اخبرني عما يجوز السجود عليه و عما لا يجوز ؟ قال : السجود لا يجوز الا على الأرض أو ما أنبتت الأرض إلا ما أكل أو لبس. فقلت له  جعلت فداك ما العلة في ذلك ؟ قال لأنّ السجود هو الخضوع لله عزّوجل فلا ينبغي أن يكون على ما يؤكل و يلبس لأنّ ابناء الدنيا عبيد ما يأكلون ويلبسون والساجد في سجوده على معبود ابناء الدنيا الذين اغتروا بغرورها والسجود على الأرض افضل لأنّه أبلغ في التّواضع و الخضوع لله عزّوجل

 

ฮิชาม บิน ฮะกัมพูดว่า ฉันได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) เกี่ยวกับสิ่งที่ซัจดะฮฺลงบนนั้นแล้วถือว่าถูกต้อง ท่านตอบว่า ต้องซัจดะฮฺลงบนดินหรือสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดิน ยกเว้นสิ่งที่เป็นอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม ฉันพูดว่า มีสาเหตุอะไรหรือ ท่านตอบว่า การซัจดะฮฺคือการแสดงความนอบน้อมและการภักดีที่มีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งไม่เป็นการดีหากจะทำการซัจดะฮฺลงบนอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากว่าจะกลายเป็นผู้ที่มีความลุ่มหลงต่อโลก บูชาอาหารและเครื่องนุ่งห่ม ขณะที่ทำการซัจดะฮฺนั้นมนุษย์ได้แสดงการเคารพภักดีต่อพระองค์ ดังนั้นไม่เป็นการดีหากเราจะนำหน้าผากของเรา ซัจดะฮฺลงบนสิ่งที่พวกบูชาโลกได้สักการะต่อมัน ส่วนการซัจดะฮฺลงบนดินเป็นการกระทำที่สูงและดีกว่า เนื่องจากว่าได้เข้าถึงแก่นของการแสดงความนอบน้อมถ่อมตน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระองค์ผู้ทรงสูงส่งและเกรียงไกร [3]

 

จากคำพูดของท่านอิมาม (อ.) เป็นที่ชัดเจนว่าการซัจดะฮฺบนดิน คือ สาเหตุที่นำไปสู่การนอบน้อมถ่อมตนได้มากกว่าการซัจดะฮฺลงบนสิ่งอื่น

ตรงนี้มีคำถามว่า ทำไมชีอะฮฺไม่ซัจดะฮฺลงบนสรรพสิ่งอื่น ต้องเป็นบนดิน หรือบนสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดินที่ไม่ใช่อาหารเท่านั้น

ตอบว่า แก่นแท้ของอิบาดะฮฺหนึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต้องออกมาจากผู้วางกฎเกณฑ์ ส่วนเงื่อนไขและขั้นตอนในการปฏิบัติต้องผ่านการบอกกล่าว และการแสดงออกของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เท่านั้น เพราะท่านคือผู้ยึดมั่นอยู่กับอัล-กุรอาน ความประพฤติของท่านคือแบบอย่างสำหรับมวลประชาชาติทั้งหลาย

 

ต่อไปนี้จะขออธิบายฮะดีษอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่มาอธิบายประวัติและแบบฉบับของท่านศาสดา ฉะนั้นเมื่อศึกษาให้ละเอียดจะพบว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่เคยซัจดะฮฺลงบนสิ่งอื่นใดนอกจากดิน และสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดิน ดังเช่นที่ชีอะฮฺได้เชื่อและยึดถือปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน

 

๑. มีนักฮะดีซกลุ่มหนึ่งได้บันทึกคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไว้ในซิฮาฮฺ และมะซานีดของตนว่า ท่านได้ใช้พื้นดินเป็นสถานที่ซัจดะฮฺท่านกล่าวว่า

 

جعلت لي الأرض مسجدا وطهورا

พระองค์ได้มอบให้ดินเป็นสถานที่ซัจดะฮฺ และทำความสะอาดแก่ ฉัน [4]

 

คำว่า ญะอะละ ในที่นี้หมายถึงการกำหนดกฎเกณฑ์ หมายถึงว่าสิ่งนี้เป็นกฎที่พระผู้เป็นเจ้าได้วางไว้สำหรับหมู่ชนที่ทำการปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้

การซัจดะฮฺบนดิน หินและสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดินจึงเป็นการอนุญาตไปโดยปริยาย

 

๒. มีริวายะฮฺบางกลุ่มได้สนับสนุนทัศนะดังกล่าวโดยกล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เชิญชวนบรรดามุสลิมให้ซัจดะฮฺลงบนดิน ดังที่ท่านหญิงอุมมุซะละมะฮฺ (ภรรยาท่านหนึ่งของท่านศาสดา) ได้รายงานจากท่านศาสดาว่า

 

ترّب وجهك لله

จงนำใบหน้าของเจ้าวางบนดินเพื่ออัลลอฮฺ [5]

 

จากคำว่า ترّب ในคำพูดของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทำให้เกิดความกระจ่างขึ้นสองประเด็นดังนี้ หนึ่ง เป็นความจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนขณะซัจดะฮฺต้องวางหน้าผากลงบนดิน สอง การกระทำของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือคำสั่งที่สั่งให้มุสลิมปฏิบัติ และในความเป็นจริงจำเป็นสำหรับมุสลิมทุกคนต้องถือปฏิบัติเช่นนั้น เนื่องจากคำว่า ตัรริบ มาจากรากศัพท์ว่า

ตุรอบ หมายถึงดินและเป็นกริยาในรูปคำสั่ง

 

๓. การกระทำของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) คือคำยืนยัน ที่สร้างความชัดเจนให้กับบรรดามุสลิม ท่านวาอิล บิน ฮะญัร พูดว่า

 

رأيت النبي صلّى الله عليه وآله وسلّم إذا سجد وضع جبهته و أنفه على الأرض

ฉันได้เห็นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะลงซัจดะฮฺได้เอาหน้าผากและจมูกวางลงบนพื้น [6]

 

ท่านอะนัซ บินมาลิก ท่านอิบนุอับบาซ และภรรยาบางคนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เช่นท่านหญิงอาอิชะฮฺ อุมมุซะละมะฮฺ และบรรดานักฮะดีซอีกจำนวนมากได้รายงานว่า

كان رسول الله (ص) يصلّى على الخمرة

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ซัจดะฮฺลงบนคุมเราะฮฺ  คุมเราะฮฺ หมายถึงสื่อที่ทำจากกาบและใบของอินทผลัม [7]

 

ท่านอะบูซะอีด ได้เล่าจากเซาะฮาบะฮฺคนหนึ่งของท่านศาสดา    (ซ็อล ฯ) ว่า

دخلت على رسول الله صلّى الله عليه وآله وسلّم وهو يصلّى على حصير

ฉันได้เข้าไปหาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ขณะที่ท่านกำลังทำนะมาซอยู่บนเสื่อ [8]

 

คำพูดดังกล่าวนี้เป็นหลักฐานที่สนับสนุนทัศนะของชีอะฮฺ ที่ว่าอนุญาตให้ซัจดะฮฺลงบนสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดินที่ไม่ใช่อาหาร

 

๔. คำพูดและการกระทำของบรรดาเซาะฮาบะฮฺและตาบิอีน เปรียบเสมือนซุนนะฮฺของศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านญาบิรอับดุลลอฮฺ อันซอรียฺพูดว่า

كنت أصلي الظهر مع رسول الله (ص) فآخذ قبضة من الحصاء لتبرد في كفي أضعها لجبهتي أسجد عليها لشدة الحر

ฉันได้ทำนมาซซุฮฺริร่วมกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งฉันได้กอบก้อนกรวดขึ้นมากำมือหนึ่งถือไว้ในมือเพื่อให้เย็น สำหรับวางหน้าผากเมื่อเวลาลงซัจดะฮฺ ที่ทำเช่นนี้เพราะว่าอากาศร้อนมาก [9]

 

รอวียฺได้กล่าวว่า ถ้าหากอนุญาตให้ทำการซัจดะฮฺกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็คงสะดวกกว่าการกำก้อนกรวดที่ร้อนไว้ในมือ

อิบนุซะอัด เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ. ที่ ๒๐๙ ได้บันทึกไว้ในตำราของตน (อัฏเฏาะบะกอตุลกุบรอ) ว่า

كان مسروق إذا خرج يخرج بلبنة يسجد عليها في السفينة

มัซรูก บิน อัจดะอฺ เมื่อเวลาเดินทางไกลจะนำเอาดินแห้งติดตัวไปด้วย (เพื่อว่า) เมื่ออยู่ในเรือเขาจะได้ซัจดะฮฺบนมัน [10]

 

สิ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงคือ มัซรูก บิน อัจดะอฺ เป็นหนึ่งในตาบิอีนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นเซาะฮาบะฮฺของอิบนิมัซอูด เจ้าของตำราอัฏเฏาะบะกอต ได้ยกย่องให้ท่านเป็นนักฮะดีซในชั้นแรกจากกูฟะฮฺ หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านอะบูบักรฺ อุมัร  อุซมาน และอับดุลลอฮฺ อิบนิมัซอูด

คำพูดของมัซรูกได้สร้างความกระจ่างแก่ผู้ที่กล่าวว่า การที่ชีอะฮฺพกพาดินติดตัวตลอดเวลาเพื่อซัจดะฮฺนั้นเป็นชิริกและเป็นบิดอะฮฺ จะเห็นว่าชีอะฮฺได้ทำเหมือนกับชนในยุคก่อนได้ทำ [11]

 

ท่านนาฟิอฺ พูดว่า

انّ ابن عمر كان إذا سجد و عليه العمامه يرفعها حتى يضع جبهه بالأرض

อับดุลลอฮฺ บินอุมัร เมื่อเวลาซัจดะฮฺ ได้ขยับอะมามะฮฺของตนออกเพื่อเอาหน้าผากวางลงบนดิน [12]

เราะซีนพูดว่า

كتب الى عليّ بن عبدالله بن عباس رضي الله عنه أن ابعث اليّ بلوح من أحجار المروة أسجد عليه

อะลี บินอับดุลลอฮฺ บิน อับบาซได้เขียนจดหมายถึงฉันว่า ให้ช่วยส่งหินเลาฮี ซึ่งเป็นหินจากเนินเขามัรวะฮฺเพื่อจะได้ซัจดะฮฺลงบนนั้น [13]

 

๕. นักฮะดีษอีกกลุ่มได้รายงานว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สั่งห้ามบุคคลที่ลงซัจดะฮฺแล้วแผ่อะมามะฮฺของตนออกเพื่อซัจดะฮฺลงบนนั้น

ซอลิฮฺ ซะบายีพูดว่า

إنّ رسول الله (ص) رأي رجلا يسجد بجنبه و قد اعتمّ على جبهته فحسر رسول الله صلّى الله عليه وآله وسلّم عن جبهته

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เห็นชายคนหนึ่งที่ทำซัจดะฮฺลงบนอะมามะฮฺใกล้ ๆ กับท่าน ท่านได้ดึงเอาอะมามะฮฺนั้นออกจากหน้าผากเขา [14]

 

อิยาฏ บิน อับดุลลอฮฺ กุเรชพูดว่า

رأي رسول الله (ص) رجلا يسجد على كور عمامته فأ ومأ بيده : إرفع عمامتك و أومأ إلى جبهته

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เห็นชายคนหนึ่งกำลังซัจดะฮฺ ลงบนอะมามะฮฺของตน ท่านได้ชี้ให้เขาเอาออก และชี้ไปที่หน้าผากของเขา [15]

 

จากริวายะฮฺดังกล่าวนี้เข้าใจได้ว่า ในสมัยของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มุสลิมทั้งหลายได้ซัจดะฮฺลงบนดิน เพราะจะสังเกตเห็นว่าเมื่อมีมุสลิมคนหนึ่งซัจดะฮฺลงบนอะมามะฮฺของตน ท่านจะสั่งห้ามทันที

 

๖. บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) ของชีอะฮฺ ตามรายงานของฮะดีษซะเกาะลัยนฺ คือผู้ที่ไม่แยกออกจากอัล-กุรอานตลอดกาล ท่านศาสดา   (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่าคำพูดของท่านเป็นฮุจญัติสำหรับประชาชาติ ท่านได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า

السجود علی الأرض فريضة و على الخمرة سنّة

การซัจดะฮฺบนดินเป็นข้อบังคับ (จากพระผู้เป็นเจ้า) ส่วนการซัจดะฮฺบนเสื่อเป็นซุนนะฮฺ [16]

อีกที่หนึ่งกล่าวว่า

السجود لا يجوز الاّ على الأرض أو على ما انبتت الأرض الاّ ما أكل أو لبس

ไม่เป็นที่อนุญาตให้ซัจดะฮฺบนสิ่งอื่นใดนอกจากพื้นดิน และสิ่งที่งอกเงยจากดิน ยกเว้นสิ่งที่เป็นอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม [17]

 

สรุป จากเหตุผลที่ได้กล่าวมา ทำให้รู้ว่าไม่ใช่ริวายะฮฺที่มาจากอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เพียงอย่างเดียว ทว่าเป็นซุนนะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)  เป็นการปฏิบัติของเหล่าบรรดาศอฮาบะฮฺ และตาบิอีนของท่านศาสดาที่ได้ทำการซัจดะฮฺบนดิน และบนสิ่งที่งอกเงยขึ้นจากดิน (ยกเว้นสิ่งที่เป็นอาหารหรือเครื่องนุ่งห่ม) นอกเหนือจากนั้นเป็นที่รับทราบกันอย่างดีว่า การซัจดะฮฺบนสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นที่อนุญาต ขณะที่การอนุญาตให้ซัจดะฮฺบนสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมา เป็นที่สงสัยและเป็นความขัดแย้งในหมู่นักปราชญ์และผู้รู้ ด้วยเหตุนี้ถือว่าเป็นการอิฮฺติยาฏ (ระมัดระวัง) และเป็นการที่ดีควรซัจดะฮฺเฉพาะบนสิ่งที่ได้กล่าวมาเท่านั้น

 

สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวคือ ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องทางฟิกฮฺ (หลักปฏิบัติ) ซึ่งในหมู่ของนักปราชญ์มีทัศนะที่แตกต่างกันมาก แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาที่ต้องเป็นกังวล เพราะแม้แต่นักปราชญ์ของ ๔ มัซฮับเองก็มีความขัดแย้งในเรื่องของฟิกฮฺมากเช่นกัน เช่น ท่านมาลิก พูดว่าการเอาจมูกแตะพื้นขณะซัจดะฮฺเป็นมุสตะฮับ แต่ฮัมบาลีพูดว่า การทำเช่นนั้นเป็นวาญิบ หากไม่ปฏิบัติถือว่าเป็นสาเหตุทำให้การซัจดะฮฺบาฏิล (โมฆะ)

 

แหล่งอ้างอิง

[1] เราะอฺดุ /๑๕

[2] เซาะฮียฺ บุคอรียฺ กิตาบุซเซาะลาฮฺ หน้าที่ ๙๑

[3] บิฮารุลอันวาร เล่มที่ ๘๕ หน้าที่ ๑๔๗ คัดลอกมาจากหนังสือ อิลัล ชะรอยิอฺ

[4] ซุนันบัยฮะกีย์ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๒๑๒ บาบอัตตะยัมมุม บิซเซาะอีดิฏฏอยยิบะฮฺ, เซาะฮียฺบุคอรียฺ เล่มที่ ๑ กิตาบุซเซาะลาฮฺ หน้าที่ ๙๑, อิกติฎอ อัซซิรอตุลมุซตะกีม อิบนิตัยมียะฮฺ หน้าที่ ๓๓๒

[5] กันซุลอุมาล เล่มที่ ๗ หน้าที่ ๔๖๕ ฮะดีซที่ ๑๙๘๐๙ กิตาบุซเซาะลาฮฺ อัซซุญูด วะมายะตะอัลละเกาะ บิฮี

[6] อะฮฺกามุลกุรอาน ญะซอซ ฮะนะฟียฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๒๐๙ พิมพ์ที่เบรุต บาบ ซุญูด อะลัล วัจฮิ

[7] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๒๑ กิตาบุซเซาะลาฮฺ บาบเซาะลาตุ อะลัลคุมเราะฮฺ

[8] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๔๒๑ กิตาบุซเซาะลาฮฺ บาบเซาะลาตุ อะลัล ฮะซีร

[9] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๓๙ กิตาบุซเซาะลาฮฺ

[10] อัฏเฏาะบะกอตุลกุบรอ เล่มที่ ๖ หน้าที่ ๗๙ ตอนอธิบายถึงสภาพของมัซรูก

[11] ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากหนังสือ ซีเราะตะนา อัลลามะฮฺอามีนี

[12] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๐๕ กิตาบบุซเซาะลฮฺ บาบ อัลกัชฟฺ อะนิซซัจดะฮฺ ฟิซซุญูด

[13] อัซเราะกียฺ อัคบารุลมักกะฮฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๑๕๑

[14] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๐๕

[15] ซุนันบัยฮะกียฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๑๐๕

[16] วะซาอิลชีอะฮฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๕๙๓ กิตาบเซาะลาฮฺ อับวาบ มายัซญุดุอะลัยฮิ ฮะดีษที่ ๗

[17] วะซาอิลชีอะฮฺ เล่มที่ ๓ หน้าที่ ๕๙๑ กิตาบเซาะลาฮฺ อับวาบมายัซญุดุอะลัยฮิ ฮะดีษที่ ๑

ขอขอบคุณเว็บไซต์อิมามอะลี

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
สงคราม “อาร์มาเกดอน” ...
ความพอเพียงในอิสลาม
...
...
ดุอากุเมล ...
ท่านหญิงฟาฏีมะฮ์ มะอ์ศูมะฮ์(อ.)
ยะกีนมีกี่ระดับ?
ดุอาแห่งเดือนรอญับ
ดุอาอฺ อาวุธของผู้ศรัทธา

 
user comment