อิมามัต ตำแหน่งผู้นำ (2)
เมื่อย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม พร้อมกับพิจารณาเงื่อนไขในสมัยนั้น และสถานการณ์ในช่วงที่ท่านศาสดากำลังจะจากไป จะเห็นว่าการแต่งตั้งอิมามขึ้นปกครองสังคมเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากช่วงที่ท่านกำลังจะสิ้นใจนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะมีศัตรูทั้งสามกลุ่มคอยหาโอกาสโจมตีอิสลาม
กลุ่มที่หนึ่งเป็นมหาจักรพรรดิจากโรม
กลุ่มที่สองมหาจักรพรรดิจากอิหร่าน
กลุ่มที่สามเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิกีน) ที่ซุ่มตัวอยู่ในคราบของมุสลิม
ทั้งสามกลุ่มคอยหาโอกาสที่เมื่อใดก็ตามถ้าท่านศาสดาจากไปก็จะเข้าโจมตีอิสลามทันทีบทบาทของศัตรูกลุ่มแรกได้สร้างความหนักใจให้กับท่านศาสดาอย่างยิ่ง ท่านเป็นกังวลเรื่อยมาจนกระทั่งนาทีสุดท้ายแห่งชีวิตอันจำเริญ และในที่สุดช่วงบั้นปลายแห่งชีวิตนั่นเองท่านได้สั่งให้จัดทัพเพื่อทำศึกกับพวกโรม โดยแต่งตั้งให้ อุซามะฮฺ บิน ซัยดฺ เป็นแม่ทัพในการทำศึกครั้งนี้ ท่าน ได้สาปแช่งทุกคนที่คัดค้านไม่เห็นด้วย ศัตรูกลุ่มที่สอง เป็นชนค่อนข้างไร้วัฒนธรรม มีความยโสโอหัง ถือตนเป็นใหญ่ และไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น ได้ฉีกสาส์นของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ครั้งเมื่อท่านส่งไปเชิญชวนให้ศึกษาอิสลาม นอกจากนั้นมหาจักรพรรดิแห่งอิหร่านยังได้มีบัญชาไปยังผู้บัญชาการแห่งเยเมน ให้จับท่านหรือไม่ก็ให้ตัดศีรษะเพื่อนำไปถวาย ศัตรูกลุ่มที่สาม เป็นศัตรูภายในที่มีการเคลื่อนไหว และติดต่อกันอย่างแนบแน่นทั้งภายในและภายนอกเมืองมะดีนะฮฺ คอยกีดขวางงานของท่าน แผนการของพวกเขาเกือบจะทำให้หัวใจของท่านต้องแตกสลาย อัล-กุรอานหลายโองการ ได้กล่าวถึงบทบาทและการกระทำที่หน้ารังเกียจของพวกเขา
จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับท่านศาสดาต้องจัดการเกี่ยวกับเรื่องผู้นำให้เรียบร้อยก่อนที่จะอำลาจากโลกไป ดังนั้น ท่านศาสดาจึงได้เลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติและมีความเหมาะสมในการเป็นผู้นำ ตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า และได้แนะนำสถานภาพของเขาในฐานะตัวแทนของท่านแก่ประชาชนไว้เรียบร้อยแล้ว
คำว่า อิมามและเคาะลิฟะฮฺของท่านศาสดาในทัศนะของมุสลิมหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่แทนท่านศาสดาทุกอย่าง (ยกเว้นการรับเทวโองการจากพระผู้เป็นเจ้า) ฉะนั้น สิ่งจำเป็นที่ต้องกล่าวถึงคือ หน้าที่ของท่านศาสดา เพื่อให้ความเข้าใจเกี่ยวกับอิมาม ความสำคัญ และสถานภาพของ
อิมามชัดเจนขึ้น จึงขอสรุปหน้าที่ของท่านศาสดา พอเป็นสังเขปดังนี้
1. อธิบายความรู้ของอัล-กุรอานและขจัดข้อข้องใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่สำคัญของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) อัล-กุรอาน กล่าวว่า
“ด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง และคัมภีร์ต่างๆ และเราได้ประทานอัล-กุรอานแก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้ชี้แจงโดยกระจ่างสำหรับมนุษย์ ตามที่ได้ถูกประทานแก่พวกเขา และเพื่อพวกเขาจะได้ใคร่ครวญ” อ(อัล-กุรอาน บท อัน-นะฮฺลิ โองการที่ 44)
2. อธิบายอะฮฺกามชัรอียฺ หน้าที่หลักอีกประการหนึ่งของท่านศาสดา คืออธิบายข้อปฏิบัติต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งได้อ่านโองการอัล-กุรอานเป็นคำอธิบาย และบางครั้งได้ใช้แบบฉบับของท่าน การอธิบายข้อปฏิบัติต่าง ๆ เป็นไปที่ละขั้นตอนตามเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในแต่ละวัน และโดยธรรมชาติของชีวิตแล้วบอกว่าหน้าที่นี้ต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายงานของท่านศาสดาที่ได้อธิบายกฎบัญญัติต่าง ๆ และตกมาถึงมือเราขณะนี้มีไม่เกิน 500 รายงาน แน่นอน จำนวนรายงานดังกล่าว ไม่สามารถทำให้ประชาชาติมีความเพียงพอต่อการสร้างความเชื่อมั่นได้
3. ท่านศาสดาเป็นแบบฉบับของสัจธรรม เนื่องจากท่านเป็นภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ของสัจธรรม ท่านจึงมีหน้าที่ปกป้องความหลงผิดทางความเชื่อของประชาชาติทุกประเภท ดังนั้น จะเห็นว่าในสมัยของท่านจึงไม่มีสำนักคิดใดเกิดขึ้น เป็นเพราะการมีอยู่ของท่าน หรือโอกาสไม่เอื้ออำนวยก็ตาม
4. ตอบคำถามศาสนา ทั้งด้านความเชื่อและการปฏิบัติเป็นหน้าสำคัญของท่านศาสดา
5. อบรมสั่งสอนประชาชาติ ทั้งด้านความเชื่อ การปฏิบัติ และจริยธรรม ทั้งคำพูดและปฏิบัติให้เห็นกับตา
6. สร้างความยุติธรรมในสังคม นอกจากนั้นยังต้องสร้างความสมดุล และความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคมส่วนรวม ประชาชนจะต้องได้รับสิทธิ์โดยเท่าเทียมกัน ต้องไม่เบียดเบียนและเอาเปรียบ หรือยอมเสียเปรียบคนอื่น
7. ต้องเป็นผู้พิทักษ์พรมแดนและทรัพย์สินของอิสลาม ทั้งต่อหน้าและลับหลังศัตรู ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน้าที่จำเป็นของศาสดา และการปฏิบัติหน้าที่ 2 ประการหลังผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนสามารถทำได้ แต่หน้าที่ก่อนหน้านั้น (การอธิบายความรู้และความเข้าใจพร้อมทั้งแก้ปัญหาของอัล-กุรอาน การอธิบายบทบัญญัติ และอื่น ๆ) ต้องอาศัยผู้นำที่มีความรู้และความสามารถ และได้รับความการุณย์พิเศษจากพระผู้เป็นเจ้า ทั้งการกระทำและคำพูดต้องสอดคล้องตรงกับท่านศาสดา หมายถึงต้องได้รับการถ่ายทอดความรู้จากท่าน อันเป็นความรู้ที่ปราศจากความผิดพลาดเพื่อจะได้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่กล่าวมาแล้วได้อย่างถูกต้อง ที่สำคัญต้องต่อเติมการไม่มีท่านศาสดาได้อย่างสมบูรณ์ แม้ว่าผู้ที่เป็นตัวแทนด้านความรู้จะไม่ได้เป็นศาสดา ไม่ใช่ผู้สถาปนาหลักการอิสลาม และตำแหน่งอิมามกับการเป็นศาสดไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ตาม
แน่นอนการแต่งตั้งบุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ เกินกำลังความรู้และความสามารถของมนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยการแต่งตั้งจากท่านศาสดา ที่ดำเนินไปตามพระบัญชาและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น และเป็นที่ชัดเจนว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อประชาชนให้การสนับสนุน เชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้นำที่ได้รับการแต่งตั้งจากท่าน เนื่องจากเป็นการแต่งตั้งของพระผู้เป็นเจ้า และการประกาศของท่านไม่ใช่เงื่อนไขที่เพียงพอสำหรับการเกิดเป้าหมาย ดังที่ประจักษ์แล้วว่าอัล-กุรอาน และแบบฉบับของท่านมากมายที่ได้ถูกทอดทิ้งทั้งในสมัยของท่านและปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ในทางลบและสำนักคิดทั้งหลายได้เกิดขึ้นภายหลังจากท่านได้จากไป ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ท่านปฏิบัติหน้าที่ไม่สมบูรณ์ หรือละเลยต่อหน้าที่ หรือไม่ได้วางแผนการไว้เพื่ออนาคตของอิสลาม (ขอให้อัลลอฮฺ ทรงโปรดให้เราห่างไกลจากความคิดเช่นนี้) ทว่าในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากมีบางคนพยายามนำทัศนะและแผนการของตนนำหน้าแผนการของท่านศาสดา และคิดว่าทัศนะส่วนตัวของตนดีกว่าการแต่งตั้งของอัลลอฮฺ และศาสดา และนี่ไม่ใช่เหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ ยังมีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้อีกมากมายที่ได้เกิดขึ้น
คำว่า อิมาม ไม่เหมือนกับผู้นำธรรมดาทั่วไปที่มีหน้าที่ปกป้องพรมแดน และรักษาผลประโยชน์ของอิสลาม ทว่าอิมามมีหน้าที่นอกเหนือไปจากนี้ ดังที่กล่าวไปแล้วในบทก่อน ๆ เช่น การอธิบาย
อัล-กุรอาน บทบัญญัติของอิสลาม ตอบคำถามประชาชนทั้งที่เป็นความเชื่อและการปฏิบัติ ป้องกันความคิดที่หลงผิดทางความเชื่อทุกประเภท และการเปลี่ยนแปลงที่อาจขึ้นกับอัล-กุรอานและหลักการอิสลาม ที่สำคัญไปกว่านั้นการนำเสนอความรู้ต้องครอบคลุมและไม่ผิดพลาด แน่นอนบุคคลทั่วไปที่แอบอ้างการเป็นผู้นำเช่นนี้เขาไม่บริสุทธิ์จากความผิดพลาดแน่นอน
จริงอยู่ความบริสุทธิ์ไม่เท่าเทียมกับตำแหน่งการเป็นศาสดา เพราะเป็นไปได้ที่บางคนอาจบริสุทธิ์จาก บาปทั้งหมดแต่ไม่ได้รับตำแหน่งของการเป็นศาสดา เช่น ท่านหญิงมัรยัม ซึ่งได้กล่าวไปแล้วในข้อที่อธิบายถึงความบริสุทธิ์ของศาสดา ดังนั้น ตำแหน่งศาสดากับความบริสุทธิ์ (อิซมัต) เป็นคนละประเด็นกันแต่สามารถกล่าวได้ว่า คนที่มีความบริสุทธิ์ไม่ได้เป็นศาสดาทุกคน แต่ทุกคนที่เป็นศาสดาต้องบริสุทธิ์
นอกจากการวิเคราะห์ดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่งที่บ่งบอกว่าอิมาม จำเป็นต้องมีความบริสุทธิ์ เช่น
1. พระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ปรารถนาให้อิมามเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากความผิดบาปและความโสโครกทั้งหลาย อัลกุรอาน กล่าวว่า
“อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะขจัดมลทินออกไปจากพวกเจ้า โอ้อะฮฺลุลบัยตฺ และทรงประสงค์ที่จะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง” (อัล-กุรอาน บทอัล-อะฮฺซาบ โองการที่ 33)
โองการได้บ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ของทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดาไว้ดังนี้ กล่าวคือ
อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกรียงไกร ทรงมีความประสงค์ที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ ที่จะให้บรรดาทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดามีความสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทิน ซึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับความบริสุทธิ์ของพวกเขาคือ สะอาดปราศจากความผิด เนื่องจากจุดประสงค์ของคำว่า ริจซุน ในโองการนั้นหมายถึงความสกปรกโสโครกทุกชนิดที่เกิดในความคิด จิตใจ และการกระทำ และบาปนั้นเป็นผลพวงที่มาจากมัน ขณะที่อีกด้านหนึ่งโองการกล่าวว่า ความประสงค์ของอัลลอฮฺ มีให้กับบุคคลที่มีความพิเศษเฉพาะเท่านั้นมิใช่ทุกคน แน่นอน ความประสงค์ที่จะขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์ตรงนี้ มีความแตกต่างกับความประสงค์ทั่ว ๆ ไป เนื่องความประสงค์ที่ต้องการให้มุสลิมทั้งหลายมีความบริสุทธิ์เป็นความประสงค์ด้าน การกำหนดเงื่อนไขเท่านั้น อัล-กุรอาน กล่าวว่า
“แต่ทว่าทรงประสงค์ที่จะให้พวกเจ้าสะอาด” (อัล-กุรอาน บทอัล-มาอิดะฮฺ โองการที่ 6)
แน่นอนสิ่งนี้จะไม่เกิดกับบุคคลที่ฝ่าฝืน ขณะที่ความประสงค์นี้เป็นตักวีนียฺ (การกำหนดกฎสภาวะ) ซึ่งเป้าหมายและสิ่งที่ย้อนกลับไปสู่ความประสงค์อันได้แก่ความบริสุทธิ์จากบาป ซึ่งจะไม่แยกออกจากความประสงค์
ดังนั้น ความประสงค์ตักวีนียฺที่มีต่อความบริสุทธิ์ (อิซมัต) ของทายาทแห่งครอบครัวของทานศาสดาไม่เป็นการปฏิเสธการเลือกสรรแต่อย่างใด ทำนองเดียวกัน ความบริสุทธิ์ที่มีในบรรดาศาสดาก็ไม่ได้เป็นการปฏิเสธการเลือกสรร เพราะความประสงค์ของอัลลอฮฺ เพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้ความบริสุทธิ์เกิดขึ้นได้ถ้าหากไม่มีการเลือกสรร
2. เงื่อนไขที่กล่าวไว้ในรายงานของศาสดาที่ว่า “ฉันขอฝากสิ่งหนักสองสิ่งไว้ในหมู่พวกท่านได้แก่ อัล-กุรอานและลูกหลานของฉัน” จะสังเกตเห็นว่าทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดาได้ถูกกล่าวไว้เคียงข้างกับอัล-กุรอาน ในความหมายก็คือ เมื่ออัล-กุรอานบริสุทธิ์จากความผิดพลาดทั้งหลาย ทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดา ก็บริสุทธิ์จากความผิดทั้งปวงด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความผิดด้านจิตใจหรือการกระทำ ด้วยเหตุผลของฮะรายงานที่กล่าวว่า
2.1 ตราบที่เจ้าได้ยึดมั่นอยู่กับทั้งสอง เจ้าจะไม่หลงทางตลอดไป
2.2 ทั้งสองจะไม่แยกออกจากกันเด็ดขาดจนกว่าทั้งสอง จะย้อนกลับคืนสู่ฉัน ณ สระน้ำ
เป็นที่ชัดเจน เพราะสิ่งที่ยึดมั่นนั้นเป็นมูลเหตุนำไปสู่การชี้นำ และทำให้รอดพ้นจากการหลงทางและการหลงผิด นอกจากนี้ทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดา จะไม่แยกออกจากอัล-กุรอาน แสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ ที่ปราศจากบาป
2.3 ท่านศาสดา ได้เปรียบเทียบทายาทแห่งครอบครัวของท่านเหมือนกับเรือของท่านศาสดานูฮฺ ใครก็ตามได้ขึ้นเรือจะได้รับความปลอดภัย ส่วนผู้ที่ไม่ได้ขึ้นจะพบกับความหายนะจมน้ำตาย
จากสิ่งที่กล่าวมาเป็นเหตุผลที่ชัดเจนส่วนหนึ่งที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ของทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดา แน่นอนข้อมูลที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่เพียงเท่านี้ ยังมี อัล-กุรอานและรายงานอีกมากมายที่บ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ของทายาทแห่งครอบครัวของท่านศาสดา
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์
source : alhassanain