ไทยแลนด์
Tuesday 24th of December 2024
0
نفر 0

เราะห์มัต (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้าในคำสอนอิสลาม

เราะห์มัต (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้าในคำสอนอิสลาม

เราะห์มัต (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้าในคำสอนอิสลาม

 

คำว่า “เราะห์มัต” (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง หมายถึง การมอบความดีงามให้แก่ผู้ที่คู่ควรต่อการได้รับความดีงามนั้น และนั่นก็จะเป็นไปตามปริมาณและขอบเขตที่เขาสมควรได้รับมัน หมายความว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงประทานความดีงาม (ปัจจัยอำนวยสุขทั้งทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณ) ให้แก่ผู้ใดหรือแก่สิ่งใดนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความพร้อมและศักยภาพในการรับความดีงามของเขาหรือของสิ่งนั้น และนี่คือความหมายของคำว่า “ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า”

 

ความหมายของความเมตตา (เราะห์มัต)

 

      คำว่า “เราะห์มัต” ( الرحمة) มาจากรากศัพท์ “รอ ฮา มีม” ( رحم ) ซึ่งมีความหมายว่า “ความเมตตาและความปรานีที่มากมาย” (1) “ความเมตตา” (เราะห์มัต) เมื่อถูกนำมาใช้กับมนุษย์ จะให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ ความเมตตา ความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจและอื่นๆ ที่มีต่อบุคคลคนหนึ่งหรือต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้มนุษย์แสดงออกด้วยความเมตตาและความปรานีต่อผู้ที่ควรได้รับความเมตตานั้น แต่ทว่าคุณลักษณะตามรูปดังกล่าวนี้ คือคุณลักษณะทางกายภาพและวัตถุ ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ทรงบริสุทธิ์จากการมีคุณลักษณะเช่นนี้

 

      คำว่า “เราะห์มัต” (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง หมายถึง การมอบความดีงามให้แก่ผู้ที่คู่ควรต่อการได้รับความดีงามนั้น และนั่นก็จะเป็นไปตามปริมาณและขอบเขตที่เขาสมควรได้รับมัน (2) หมายความว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจะทรงประทานความดีงาม (ปัจจัยอำนวยสุขทั้งทางด้านวัตถูและด้านวิญญาณ) ให้แก่ผู้ใดหรือแก่สิ่งใดนั้น ขึ้นอยู่กับพื้นฐานความพร้อมและศักยภาพในการรับความดีงามของเขาหรือของสิ่งนั้น และนี่คือความหมายของคำว่า “ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า”

 

     ความกว้างขวางของความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ความเมตตา (การประทานความดีงาม) ของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่าจะในด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณ มีความกว้างขวางที่ไร้ขอบเขตจำกัด ซึ่งมันจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะกับบุคคลใดหรือกลุ่มชนใดจากปวงบ่าวของพระองค์เพียงเท่านั้น และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ที่จะสามารถมากำหนดเงื่อนไขของความเมตตา (การประทานความดีงาม) ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่มีบุคคลใดที่จะบีบบังคับพระองค์ให้ยับยั้งจากการประทานความดีงาม (ความเมตตา) ได้ นอกจากตัวของบุคคลผู้นั้นเองซึ่งไม่มีศักยภาพที่คู่ควรต่อการได้รับสิ่งหนึ่งๆ หรือเมื่อเขาได้กระทำสิ่งใดที่กลายเป็นอุปสรรคกีดขวางความคู่ควรของตนเอง อันจะเป็นผลทำให้เขาถูกยับยั้งจากการประทานความดีงาม (ความเมตตา) ของพระผู้เป็นเจ้า

 

อุปสรรคกีดขวางความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าเพียงสิ่งเดียวและวิธีการขจัดมัน

 

     มีเพียงอุปสรรคเดียวเท่านั้นที่จะสามารถยับยั้งและกีดขวางไม่ให้ความเมตตาและการประทานความดีงามของพระผู้เป็นเจ้ามาถึงมนุษย์ นั่นก็คือ ความชั่วต่างๆ ของพวกเขา ที่จะไม่อนุญาตให้มนุษย์ในฐานะที่เป็นบ่าวของพระองค์ได้รับเกียรติในการเข้าใกล้ชิดพระองค์และได้รับสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่เป็นผลพวงมาจากความใกล้ชิดต่อพระองค์ดังกล่าว (อันได้แก่ สรวงสวรรค์และสิ่งที่มีอยู่ในมัน)

 

     การกลับเนื้อกับตัว (เตาบะฮ์) ที่แท้จริงและการวิงวอนขออภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง และความอุตสาห์พยายามในการที่จะขจัดร่องรอยต่างๆ ของความชั่วและบาปออกไปจากหัวใจนั้น เป็นกุญแจเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะช่วยเปิดประตูของความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ ที่จะทำให้มนุษย์กลับมาสู่ความพร้อมและการมีศักยภาพที่จะรองรับการโปรยปรายของสายฝนแห่งความเมตตา (การประทานความดีงาม) ของพระผู้เป็นเจ้าได้ (3)

 

ประเภทของความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า (ความเมตตาทั่วไปและความเมตตาเฉพาะ)

 

     ความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้ามีสองประเภท : ความเมตตาประเภทแรกของพระผู้เป็นเจ้านั้นมีความกว้างขวางและครอบคลุม ซึ่งจะรวมสิ่งถูกสร้างทั้งมวลไว้ภายใต้ร่มเงาแห่งความเมตตาของพระองค์ โดยที่ไม่มีสิ่งดำรงอยู่ใดๆ เลยที่จะไร้โชคผลไปจากความเมตตา (การประทานให้) ดังกล่าวนี้ของพระองค์ ตัวอย่างเช่น เนี๊ยะอ์มัต (โชคผล) แห่งการดำรงอยู่ ความเมตตาดังกล่าวนี้เรียกว่า “ความเมตตาทั่วไป” (الرحمة العامة )

 

     ความเมตตาประเภทที่สองคือ “ความเมตตาพิเศษ” ความเมตตานี้จะพรั่งพรูไปสู่บรรดาผู้ที่มีความคู่ควรและมีศักยภาพในการรับที่พิเศษเท่านั้น

 

     ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี (ร.ฮ.) ได้อรรถาธิบายโองการที่เกี่ยวกับความเมตตาทั้งสองประเภทนี้

 

وَرَحْمَتِی وَسِعَتْ كُلَّ شَیْءٍ فَسَأَكْتُبُهَا لِلَّذِینَ یَتَّقُونَ وَیُۆْتُونَ الزَّكَـاةَ وَالَّذِینَ هُم بِآیَاتِنَا یُۆْمِنُونَ

 

“และความเมตตาของข้านั้นกว้างขวางครอบคลุมทุกสิ่ง ซึ่งข้าจะกำหนดมันให้แก่บรรดาผู้ที่ยำเกรงและจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับ) และแก่ผู้ที่พวกเขาศรัทธาต่อบรรดาโองการ (และสัญลักษณ์ต่างๆ) ของเรา” (4)

 

     ท่านได้เขียนว่า “สำหรับพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้น พระองค์ทรงมีความเมตตาสองประเภท ประเภทแรกคือความเมตตาที่ครอบคลุมทั่วไป (เราะฮ์มะตุลอามมะฮ์) โดยที่ทั้งผู้ศรัทธาและผู้ปฏิเสธ คนดีและคนชั่ว ทั้งมนุษย์และอื่นจากมนุษย์ นับตั้งแต่การเริ่มต้นการสร้างของพระองค์ตราบเท่าที่พวกเขาดำรงอยู่นั้น ทั้งหมดล้วนดำรงรงอยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งความเมตตานี้ของพระองค์ และได้รับปัจจัยดำรงชีพจากความเมตตานี้ทั้งสิ้น

 

     ความเมตตาอีกประเภทหนึ่ง คือความเมตตาเฉพาะ ( الرحمة الخاصة ) ซึ่งโดยตัวของมันคือของขวัญ (อะฏียะฮ์) ที่พระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานให้เฉพาะแก่ผู้ที่มีศรัทธาและยอมตนเป็นบ่าวที่ดีต่อพระองค์ (สิ่งดังกล่าวนี้) ตัวอย่างเช่น ชีวิตที่ดีงาม (ฮะยาตุน ฎ็อยยิบะฮ์) ชีวิตในโลกนี้ที่เปี่ยมไปด้วยรัศมี สรวงสวรรค์และความพึงพอพระทัยในปรโลก โดยที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาและคนชั่ว เนื่องจากการปฏิเสธและการประพฤติชั่วของพวกเขา จะไม่ได้รับโชคผลจากความเมตตาประเภทนี้ สิ่งที่จะเป็นโชคผลสำหรับพวกเขานั้น คือสิ่งที่ตรงข้ามกับความเมตตานี้ อย่างเช่น ชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากและความทุกข์เข็ญในโลกนี้ ไฟนรกและความทุกข์ทรมานต่างๆ ของชีวิตในปรโลก” (5)

 

    การตักเตือน คือสื่อนำไปสู่ตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) และตัก วา คือบ่อเกิดแห่งการได้รับความเมตตาอันเป็นเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า

 

 أَوَعَجِبْتُمْ جَاءكُمْ ذِكْرٌ مِّن رَّبِّكُمْ عَلَى رَجُلٍ مِّنكُمْ لِیُنذِرَكُمْ وَلِتَتَّقُواْ وَلَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ

 

“และพวกท่านแปลกใจกระนั้นหรือ การที่มีข้อตักเตือนจากพระผู้อภิบาลของพวกท่านได้มายังพวกท่าน โดยผ่านบุรุษผู้หนึ่งในหมู่พวกท่านเอง เพื่อเขาจะได้ตักเตือนพวกท่าน (จากการลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า) และเพื่อที่พวกท่านจะได้ยำเกรง และเพื่อว่าพวกท่านจะได้รับการความเมตตา” (7)

 

    ผู้แสวงหาชีวิตแห่งปรโลก คือผู้ที่จะได้รับพระกรุณาธิคุณและความเมตตาเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า

 

مِنكُم مَّن یُرِیدُ الدُّنْیَا وَمِنكُم مَّن یُرِیدُ الآخِرَةَ ثُمَّ صَرَفَكُمْ عَنْهُمْ لِیَبْتَلِیَكُمْ وَلَقَدْ عَفَا عَنكُمْ وَاللّهُ ذُو فَضْلٍ عَلَى الْمُۆْمِنِینَ

 

“จากพวกเจ้ามีผู้ปรารถนาโลกนี้ และจากพวกเจ้ามีผู้ปรารถนาปรโลก แล้วพระองค์ก็ทรงหันพวกเจ้ากลับออกไปจากพวกเขา (โดยให้พวกเจ้าพ่ายแพ้ในสงครามอุฮุด) เพื่อที่จะทรงทดสอบพวกเจ้า และแน่นอนพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเจ้าแล้ว และอัลลอฮ์ทรงไว้ซึ่งพระกรุณาธิคุณแก่ผู้ศรัทธาทั้งหลาย” (8)

 

    ผู้ที่จะได้รับความเมตตาเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า คือผู้ที่ประพฤติดีและทำความดีต่อผู้อื่น

 

نُصِیبُ بِرَحْمَتِنَا مَن نَّشَاء وَلاَ نُضِیعُ أَجْرَ الْمُحْسِنِینَ

 

“ความเมตตาของเราจะเป็นโชคผลแก่ผู้ที่เราประสงค์ และเราจะไม่ทำให้รางวัลของบรรดาผู้กระทำความดีนั้นสูญหาย” (9)

 

     ความเมตตาพิเศษนี้ ก็คือ “เราะฮ์มะตุลอามมะฮ์” (ความเมตตาเฉพาะ) การอธิบายก่อนหน้านี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จุดประสงค์จากคำว่า “แก่ผู้ที่เราประสงค์” ก็คือบรรดาผู้ศรัทธาและบรรดาผู้ยำเกรง และคำว่า «المحسنین» (ผู้กระทำความดี) ก็ได้เพิ่มเข้ามาอีกในช่วงท้ายของโองการนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การเป็นผู้ประพฤติดีและทำคุณงามความดี โดยตัวมันเองก็คืออีกปัจจัยหนึ่งสำหรับการได้รับความเมตตาพิเศษของพระผู้เป็นเจ้า

 

    ความเป็นคนดีมีคุณธรรม คือสาเหตุของการได้รับความเมตตาเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า

 

وَأَدْخَلْنَاهُمْ فِی رَحْمَتِنَا إِنَّهُم مِّنَ الصَّالِحِینَ

 

“และเราได้ให้พวกเขาเข้าอยู่ในความเมตตาของเรา (คือตำแหน่งศาสดา ความสมบูรณ์ต่างๆ ทางจิตวิญญาณ คัมภีร์แห่งฟากฟ้าและการอบรมขัดเกลาสังคม) แท้จริงพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งจากคนดีมีคุณธรรม” (10)

 

      ความเป็นคนดีมีคุณธรรม (ซอและห์) ในวัฒนธรรมคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน คือบุคคลที่ในด้านความเชื่อและการกระทำ เขาจะยึดมั่นตามแนวทางศาสนาที่เป็นสัจธรรมในยุคสมัยของตนและการปฏิบัติตามคำสอนของมัน

 

    ความอดทน คือสาเหตุประการหนึ่งของการได้รับประโยชน์จากความเมตตาเฉพาะของพระผู้เป็นเจ้า

 

 وَلَنَبْلُوَنَّكُم بِشَيْءٍ مِّنَ الْخَوْفِ وَالْجُوعِ وَنَقْصٍ مِّنَ الْأَمْوَالِ وَالْأَنفُسِ وَالثَّمَرَاتِ وَبَشِّرِ الصَّابِرِينَ الَّذِينَ إِذَا أَصَابَتْهُم مُّصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا لِلَّهِ وَإِنَّا إِلَيْهِ رَاجِعُونَ أُولَٰئِكَ عَلَيْهِمْ صَلَوَاتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَرَحْمَةٌ وَأُولَٰئِكَ هُمُ الْمُهْتَدُونَ

 

“และแน่นอน เราจะทดสอบพวกเจ้าด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากความกลัวและความหิว และด้วยความสูญเสีย (อย่างใดอย่างหนึ่ง) จากทรัพย์สมบัติ ชีวิตและพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด คือบรรดาผู้ที่เมื่อเคราะห์ร้ายได้มาประสบกับพวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ์ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์ คนเหล่านี้แหละพวกเขาจะได้รับการประทานพรและความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และพวกเขาเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับการชี้นำทาง” (11)

 

เราจะคู่ควรต่อการได้รับความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าได้อย่างไร?

 

ตัวอย่างของความเมตตาทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้า

 

      ความเมตตาทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้านั้น แม้จะมิได้พิจารณาถึงการดำรงอยู่ของพวกเขา เพียงแค่ความเป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้าของพวกเขาเท่านั้น ก็จะทำให้ความเมตตาดังกล่าวนี้ปกคลุมถึงพวกเขาทั้งหมด ในคัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงเรื่องนี้ไว้ในหลายกรณี ซึ่งเราจะขอชี้เพียงบางตัวอย่างเท่านั้น

 

    ความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) ทั้งมวลที่ถูกกล่าวถึงในซูเราะฮ์อัรเราะห์มาน ที่มนุษย์ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากมัน โดยไม่มีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ศรัทธา ตัวอย่างเช่น การสร้างมนุษย์ «خَلَقَ الْانسَان » (พระองค์ทรงสร้างมนุษย์) การสอนมนุษย์ให้รู้จักการสื่อสารด้วยภาษา «عَلَّمَهُ الْبَیَان » (พระองค์ทรงสอนให้เขารู้ถึงการใช้ภาษา) การยกฟากฟ้าไว้ให้สูง «وَ السَّمَاءَ رَفَعَهَا » (และฟากฟ้านั้น พระองค์ได้ยกมันไว้ให้สูง) และความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) อื่นๆ ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้คือตัวอย่างและหลักฐานของความเมตตาทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้า


    น้ำฝนที่ยังคุณประโยชน์ คือตัวอย่างหนึ่งจากความเมตตาทั่วไปของพระผู้เป็นเจ้าที่ครอบคลุมอยู่ในโลกแห่งการดำรงอยู่นี้

 

وَهُوَ الَّذِی یُنَزِّلُ الْغَیْثَ مِن بَعْدِ مَا قَنَطُوا وَیَنشُرُ رَحْمَتَهُ

 

“และพระองค์คือผู้ทรงหลั่งน้ำฝนลงมาหลังจากที่พวกเขาหมดหวังกันแล้ว และพระองค์ทรงแผ่กระจายพระเมตตาของพระองค์” (12)

 

     ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า ในโองการนี้ใช้คำว่า «غیث» (ฆ็อยษ์) สำหรับน้ำฝน โดยที่ในภาษาอาหรับ คำๆ นี้ (ฆ็อยษ์) จะถูกใช้สำหรับน้ำฝนที่ให้คุณประโยชน์เพียงเท่านั้น ตรงข้ามกับคำว่า «مَطُر» (มะฏ็อร) ซึ่งจะถูกใช้ในความหมายที่ครอบคลุมโดยรวมทั้งน้ำฝนที่มีคุณประโยชน์และไม่มีคุณประโยชน์ (13)

 

บทสรุป :

 

     ความเมตตาและการประทานความดีงาม คือคุณลักษณะ (ซิฟัต) หนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งความหมายของมันจะแตกต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่โดยทั่วไปในระหว่างมนุษย์อย่างพวกเรา ความเมตตาที่เป็นอยู่ในระหว่างพวกเรานั้น หมายถึง ความสงสาร ความเอื้ออาทร ไม่ว่าจะคู่ควรเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม แต่ในกรณีของพระผู้เป็นเจ้า หมายถึง พระมหากรุณาธิคุณ การประทานความดีงามและความโปรดปราน (เนี๊ยะอ์มัต) ต่างๆ ให้แก่ปวงบ่าวของพระองค์

 

     พระมหากรุณาธิคุณและการประทานให้ของพระผู้เป็นเจ้านี้ บางครั้งอยู่ในรูปทั่วไป โดยที่จะครอบคลุมถึงสิ่งมีอยู่ทั้งมวล ตัวอย่างเช่น การมีชีวิตอยู่ ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น “เราะฮ์มะตุลอามมะฮ์” (ความเมตตาทั่วไป) และบางทีก็อยู่ในรูปของความเมตตาพิเศษและถูกจำกัดเฉพาะสำหรับปวงบ่าวที่เป็นผู้ศรัทธาและผู้ยำเกรง ซึ่งจะถูกเรียกว่า “เราะฮ์มะตุลค็อซเซาะฮ์” (ความเมตตาเฉพาะ) ในคัมภีร์อัลกุรอานและในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายจะมีการกล่าวถึงกรณีและตัวอย่างต่างๆ สำหรับความเมตตาทั้งสองประเภทนี้ของพระผู้เป็นเจ้าไว้

 

เชิงอรรถ :

[1] มะกอยีซุลลุเฆาะฮ์ อธิบายศัพท์ คำว่า «رحم»

[2] อัลมีซาน เล่มที่ 5 หน้าที่ 187

[3] อัลมีซาน เล่มที่ 3 หน้าที่ 160

[4] อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 156

[5] อัลมีซาน เล่มที่ 8 หน้าที่ 274

[6] อุซูลุลกาฟี เล่มที่ 1 หน้าที่ 114

[7] อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 63

[8] อัลกุรอานบทอาลุอิมรอน โองการที่ 152

[9] อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 56

[10] อัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 86

[11] อัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 155 – 157

[12] อัลกุรอานบทอัชชูรอ โองการที่ 28

[13] มัจญ์มะอุลบะยาน เล่มที่ 9 -10 หน้าที่ 46

 

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ยะกีนมีกี่ระดับ?
อิมามริฎอ (อ.) คือ ...
...
...
มะฮฺดียฺ (อ.) ในอีกมุมมองหนึ่ง
ความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า ...
ความซื่อสัตย์งดงามที่สุด
อิมามที่สิบสอง การซ่อนเร้นกาย ...
เดือนรอมฎอน ...
ทำไมต้องนมาซ?!

 
user comment