ไทยแลนด์
Monday 25th of November 2024
0
نفر 0

ทำไมชีอะฮ์จึงได้รับการ

มัซฮับญะอ์ฟะรียะฮ์? เมื่อพูดถึงชีอะฮ์ ท่านผู้อ่านที่เคารพคงจะเคยได้ยินคำว่า “มัซฮับญะฟะรียะฮ์”มาบ้างแล้ว เคยสงสัยบ้างใหมครับว่าทำไมแนวทางชีอะฮ์อิมามียะฮ์จึงได้รับการขนานนามว่า “มัซฮับ ญะอ์ฟะรียะฮ์” ทั้งๆที่ชีอะฮ์อิมามียะฮ์เชื่อมั่นในอิมามสิบสองท่าน และทั้งที่ท่านอิมามญะฟัรคืออิมามท่านที่หกของพวกเขา หากเราต้องการจะไขปริศนาดังกล่าว เราจะต้องทำความเข้าใจว่า ยุคของบรรดาอิมาม
ทำไมชีอะฮ์จึงได้รับการ

มัซฮับญะอ์ฟะรียะฮ์?
เมื่อพูดถึงชีอะฮ์ ท่านผู้อ่านที่เคารพคงจะเคยได้ยินคำว่า “มัซฮับญะฟะรียะฮ์”มาบ้างแล้ว เคยสงสัยบ้างใหมครับว่าทำไมแนวทางชีอะฮ์อิมามียะฮ์จึงได้รับการขนานนามว่า “มัซฮับ ญะอ์ฟะรียะฮ์” ทั้งๆที่ชีอะฮ์อิมามียะฮ์เชื่อมั่นในอิมามสิบสองท่าน และทั้งที่ท่านอิมามญะฟัรคืออิมามท่านที่หกของพวกเขา หากเราต้องการจะไขปริศนาดังกล่าว เราจะต้องทำความเข้าใจว่า ยุคของบรรดาอิมามก่อนหน้าท่านมีความแตกต่างกับยุคภายหลังจากท่านอย่างไร ทำไมแนวทางชีอะฮ์จึงไม่ได้รับการขนานนามว่า มัซฮับ อะละวียะฮ์, ฮะซะนียะฮ์, ฮุซัยนียะฮ์, หรือแม้กระทั่ง บากิรียะฮ์ ตามชื่อของอิมามท่านก่อนๆ แต่กลับเป็นที่รู้จักในนาม“ญะฟะรียะฮ์”

เราจะมาร่วมกันไขข้อข้องใจดังกล่าวร่วมกันโดยอ้างอิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะช่วยให้เรารู้จักท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิกและยุคสมัยของท่านมากยิ่งขึ้น

ในแวดวงวิชาการ เวทีแห่งองค์ความรู้เปิดกว้างเสมอสำหรับทฤษฏีและแนวคิดที่ดีที่สุด ทฤษฏีใหม่จะสามารถแทนที่ทฤษฏีเดิมได้ก็ต่อเมื่อมีคุณค่าทางวิชาการที่เหนือกว่า มิเช่นนั้นก็จะไม่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ สำนักคิดต่างๆที่มีชื่อเสียงก็จำเป็นจะต้องมีคุณลักษณะดังกล่าวเช่นกัน เพื่อที่จะสามารถหยั่งรากลึกอยู่ในความคิดและความทรงจำของผู้คนตลอดไป หากเราลองเปรียบเทียบคำสอนของอิสลามกับความเชื่อดั้งเดิมของอรับในยุคญาฮิลียะฮ์ เราจะประจักษ์ถึงชัยชนะของอิสลามที่มีต่อความเชื่องมงายในยุคนั้นเป็นอย่างดี นั่นเป็นเพราะว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ.ล) มิได้ทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีที่สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมในยุคญาฮีลียะฮ์ แต่ในกรณีที่ต้องทำลายวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้อง ท่านก็จะนำเสนอแนวทางปฏิบัติแทนที่วัฒนธรรมเหล่านั้นเสมอเพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศทางความคิดและวัฒนธรรม

การเตรียมการของอิมามญะฟัร อัศศอดิก (อ)
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้นำการปฏิรูปหลายคนในขบวนการต่างๆในหน้าประวัติศาสตร์ไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปสังคมก์คือ การที่พวกเขาไม่ได้ตระเตรียมระบอบแนวความคิดใหม่เพื่อแทนที่ระบอบความคิดเดิมที่ไม่ถูกต้อง ขบวนการปฏิรูปสังคมสู่แนวทางอิสลามเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าบนโลกใบนี้ ยกตัวอย่างเช่นในประเทศอิหร่าน ขบวนการ”มัชรูเฏาะฮ์”เพื่อคัดค้านระบอบพระเจ้าชาห์เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างเหล่าผู้รู้ทางศาสนาและกลุ่มปัญญาชน แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเพราะเหล่าผู้รู้ทางศาสนาถูกลดบทบาทลงในภายหลัง ในทางตรงกันข้าม การปฏิวัติอิสลามโดยท่านอิมามโคมัยนีประสบผลสำเร็จ หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว สามารถกล่าวได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ผลลัพท์ของการเคลื่อนใหวสองครั้งแตกต่างกันก็คือ การที่ท่านอิมามโคมัยนีได้นำเสนอระบอบแนวคิดใหม่(ระบอบวิลายะตุลฟะกีฮ์)เพื่อแทนที่ระบอบแนวคิดเดิมที่ไม่ถูกต้อง แต่การเคลื่อนใหวในยุค”มัชรูเฏาะฮ์”มีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวก็คือการล้มล้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชของพระเจ้าชาห์ โดยไม่ได้คำนึงถึงแนวคิดหรือระบอบที่จะนำมาแทนที่อย่างจริงจัง

ในกรณีของท่านอิมามศอดิกก็เช่นเดียวกัน ท่านได้ตระเตรียมระบอบแนวคิดไว้เพื่อรองรับการเคลื่อนใหวของมวลมุสลิมสู่ระบอบความคิดใหม่ที่ถูกต้อง กล่าวคือ หลังจากที่อุมมัตอิสลามเริ่มประจักษ์ถึงความไม่ชอบมาพากลของระบอบความเชื่อและระบอบการปกครองของเหล่าผู้มีอิทธิพลในยุคนั้นโดยการต่อสู้ของบรรดาอิมามท่านก่อนๆ (อาทิเช่น การต่อสู้ของอิมามฮุเซนเพื่อคัดค้านระบอบยะซีด) แล้ว อุมมัตก็กระหายที่จะสัมผัสแนวความคิดใหม่ที่ถูกต้องจากบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ และอิมามญะฟัร อัศศอดิกคือวีรบุรุษผู้อาสานำเสนอแนวความคิดที่ถูกต้องจากสายธารวงศ์วานนบีให้อุมมัตได้สัมผัสในช่วงเวลาที่เหมาะสม (อิมามท่านก่อนๆถูกบรรดาผู้ปกครองผู้อธรรมกดขี่ข่มเหงและไม่มีโอกาสได้เผยแผ่สารธรรมอิสลามอย่างอิสระเสรี ในขณะที่ท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิกมีโอกาสได้เผยแผ่แนวความคิดแห่งอะฮ์ลุลบัยต์อย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นยุคแห่งการต่อสู้แย่งชิงบัลลังก์กันระหว่างบนีอุมัยยะฮ์และบนีอับบาส/ผู้แปล) ส่วนบรรดาอิมามท่านอื่นๆภายหลังจากอิมามญะฟัร อัศศอดิกก็ได้ทำการอรรถาธิบายเพิ่มเติมในแง่มุมต่างๆของแนวความคิดที่ท่านอิมามญะฟัรได้นำเสนอไว้

ช่วงเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งอิมามของท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิกซึ่งเริ่มจากปีที่114 ฮ.ศ. จนถึงปีที่148 ฮ.ศ. นั้น(1) ตรงกับช่วงวิกฤติกาลครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์อิสลาม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฐานอำนาจของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ที่ดำเนินมาเกือบร้อยปีกำลังถูกโค่นทำลายลง และฐานอำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ที่จะดำรงต่อไปอีกกว่าห้าร้อยปีกำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาทีละน้อย สถานการณ์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองคนใหม่จากราชวงศ์อับบาซียะฮ์กำลังหมกมุ่นกับการกำจัดเสี้ยนหนามและศัตรูทางการเมืองของตน อาทิเช่น ช่วงเวลาระหว่างปี132ฮ.ศ. จนถึงปี137ฮ.ศ.เป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์อับบาซียะฮ์หวั่นเกรงบารมีของแม่ทัพของตนเองผู้มีนามว่า“อบู มุสลิม คุรอซานี” ผู้นำทัพบดขยี้บนีอุมัยยะฮ์และนำชัยชนะมาสู่อับบาซียะฮ์ แต่คอลีฟะฮ์ใหม่แห่งอับบาซียะฮ์เกรงว่าอิทธิพลและบารมีของแม่ทัพของตนจะกลายเป็นดาบสองคม จนกระทั่งได้วางแผนหักหลังและใช้อุบายลอบสังหารเขาในที่สุด(2) อิมามญะฟัรตระหนักถึงสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว ท่านจึงใช้โอกาสนี้เพื่อนำเสนอแนวคิดแห่งชีอะฮ์อิมามียะฮ์อย่างเป็นระบบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ท่านได้นำเสนอระบอบความคิดใหม่ที่ถูกต้องแทนที่แนวความคิดเดิมที่ผิดพลาด

ความผกผันทางการเมืองยุคแรก
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณร้อยสิบสามปีก่อนยุคสมัยของท่านอิมามญะฟัร ท่านนบีได้ทำการมอบหมายตำแหน่งผู้นำอุมมัตอิสลามแก่ท่านอิมามอลีท่ามกลางแสงแดดอันร้อนระอุ ณ แผ่นดินเฆาะดีร คุมตามพระบัญชาของพระองค์อัลลอฮ์ และได้เรียกร้องให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์ให้สัตยาบันยอมรับตำแหน่งผู้นำของอิมามอลี ดังที่ตำราประวัติศาสตร์ทางสายชีอะฮ์และอะฮ์ลิซซุนนะฮ์บางเล่มได้บันทึกไว้(3) แต่เป็นที่น่าเสียดายที่บรรดาเศาะฮาบะฮ์บางคนไม่เห็นคุณค่าความหวังดีของท่านนบีด้วยเหตุผลบางประการ ส่งผลให้ตำแหน่งผู้นำภายหลังท่านนบีเบี่ยงเบนไปสู่หนทางที่ถูกกำหนดไว้ ณ สะกีฟะฮ์ บนีซาอิดะฮ์ มุฮาญิรีนบางคนอ้างสิทธิความใกล้ชิดทางเครือญาติและเผ่าพันธ์ที่มีต่อท่านนบีและปฏิเสธความชอบธรรมของอันศอรด้วยเหตุผลเดียวกัน(4) แต่เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอิมามอลีผู้มีศักดิ์และสิทธิอันชอบธรรมในฐานะที่เป็นเครือญาติที่ใกล้ชิดท่านนบีที่สุด พวกเขากลับอ้างว่าอรับไม่พอใจแน่ หากต้องเห็นเผ่าบนีฮาชิมควบตำแหน่งนบีและคอลีฟะฮ์ไว้เพียงเผ่าเดียว ฉะนั้นเป็นสิทธิของสมาชิกเผ่าอื่นๆของกุเรชอย่างพวกเขาที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์แทนท่านอิมามอลี(5)

พายุทรายแห่งสะกีฟะฮ์ได้เปลี่ยนทิศทางอำนาจทางการเมืองของมวลมุสลิมให้เบี่ยงเบนไปจากหนทางที่พระองค์กำหนด และยิ่งเวลาผ่านไปเท่าใด ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ยิ่งปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวเผยให้เห็นชัดยิ่งขึ้นในปีที่ 35 ฮ.ศ. เมื่ออุมมัตอิสลามพบว่าเกิดเหตุการณ์จราจลขึ้นในมะดีนะฮ์ ส่งผลให้คอลีฟะฮ์ที่สามถูกสังหารโดยกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจระบบการบริหารของเขา(6)

จากการพิจารณาถึงสงครามกลางเมืองทั้งสามครั้งในสมัยที่ท่านอิมามอลีดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ (สงครามอูฐ,สงครามศิฟฟีน,สงครามนะฮ์รอวาน) (7) เราจะได้ข้อสรุปว่าประชาชาติอิสลามในยุคดังกล่าวประสบกับวิกฤติที่หยั่งรากลึก นั่นก็คือวิกฤติการณ์ที่เกิดจากการเชื่อมต่อตำแหน่งคอลีฟะฮ์เข้ากับระบอบกษัตริย์ ส่งผลให้กลุ่มบนีอุมัยยะฮ์ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยอยู่ในสายตาของมวลมุสลิม และจัดอยู่ในกลุ่มเชลยศึกที่ได้รับอิสรภาพในวันพิชิตมักกะฮ์(8) ฉวยโอกาสทางการเมืองสถาปนาราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์อันมีอายุขัยยาวนานกว่าเก้าสิบปี อย่างไรก็ตาม นโยบายอรับนิยมของราชวงศ์ดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจในทุกแว่นแคว้นทั่วอาณาจักรอิสลาม และส่งผลให้เสื่อมอำนาจและถูกโค่นล้มในที่สุด(9)

คอลีฟะฮ์หรือกษัตริย์แห่งราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ทุกคนล้วนตระหนักดีถึงปมด้อยของตนในอดีต และตระหนักดีว่าอะฮ์ลุลบัยต์,บนีฮาชิมและลูกหลานของอิมามอลีคือศัตรูหมายเลขหนึ่งของพวกเขา จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะลดสถานภาพของฝ่ายตรงข้ามลง อย่างเช่นพยายามรณรงค์และจ้างวานให้มีการกุฮะดีษปลอมเพื่อทำลายภาพพจน์ของอะฮ์ลุลบัยต์และบนีฮาชิมที่มีสถานภาพอันสูงส่งเนื่องจากฐานันดรภาพของท่านอิมามอลี

ในขั้นแรก นักกุฮาดีษพยายามกุฮาดีษที่มีเนื้อหาในเชิงตำหนิท่านอิมามอลี(10) และในขั้นที่สอง นักกุฮาดีษเหล่านี้จะกล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างท่านกับคอลีฟะฮ์คนก่อนๆแต่จะพยายามอ้างอิงความดีงามไปยังคอลีฟะฮ์เหล่านั้นแทน และพยายามลอกเลียนแบบความประเสริฐของท่านเพื่อเสกสรรค์ปั้นแต่งความประเสริฐที่คล้ายคลึงกันให้กับผู้ที่แย่งชิงสิทธิของท่าน(11) เพื่อจะให้ความดีงามที่เด่นชัดของท่านกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ไม่มีความเด่นชัดเหนือผู้อื่นอีกต่อไป ผลก็คือ ท่านอิมามอลีผู้สูงศักดิ์ที่สุด ณ ท่านศาสดาถูกฮะดีษจอมปลอมเหล่านี้เนรมิตให้กลายเป็นเศาะฮาบะฮ์ธรรมดาๆคนหนึ่ง หรือเป็นคอลีฟะฮ์ท่านหนึ่งที่มิได้แตกต่างจากบรรดาคอลีฟะฮ์ก่อนหน้าท่าน(หรืออาจจะต่ำกว่า) จนกระทั่งกลายเป็นผู้ที่ใครๆพากันดูถูกว่าไม่มีความช่ำชองทางการเมือง(12)

เหล่าคอลีฟะฮ์หรือกษัตริย์แห่งราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ไม่หยุดเพียงเท่านี้ พวกเขาออกแถลงการณ์บังคับให้คอเต็บมัสญิดต่างๆต้องสาปแช่งท่านอิมามอลีในคุฏบะฮ์ก่อนนมาซทุกๆเวลาอีกด้วย(13) กลายเป็นประเพณีที่กระทำสืบต่อกันมาตลอดอายุขัยของราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ (ยกเว้นในสมัยของอุมัร อิบนิ อับดุลอะซีซ ระหว่างปีที่ 99 ฮศ. จนถึงปีที่ 101ฮศ.) (14)

พี่น้องอาจเคยได้ยินการถกเถียงในเรื่องที่ว่า ท่านอบูฏอลิบ บิดาของท่านอิมามอลีรับอิสลามก่อนเสียชีวิตหรือไม่ ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์และชีอะฮ์ ก่อให้เกิดการถกเถียงและเขียนหนังสือโต้ตอบกันเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย(15) แต่หากเราย้อนมองถึงสถานะความเป็นกาเฟรของอบูซุฟยาน บิดาของมุอาวิยะฮ์(ผู้สถาปนาราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์)ที่เป็นปฏิปักษ์ต่ออิสลามจนกระทั่งยอมจำนนและจำใจรับอิสลามอย่างเสียมิได้ในวันพิชิตมักกะฮ์ เราก็จะเข้าใจแผนการณ์ทำลายภาพพจน์ท่านอบูฏอลิบอย่างทะลุปรุโปร่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่นักวิชาการบางท่านเปรยขึ้นว่า “ถ้าหากอบูฏอลิบไม่ไช่บิดาของอลี เขาก็จะรอดพ้นจากข้อครหาเหล่านี้อย่างแน่นอน” (16)

การแต่งตั้งยะซีดเป็นมกุฏราชกุมารต่อจากมุอาวียะฮ์ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นทั่วทุกหย่อมหญ้า มุอาวียะฮ์ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้กลอุบาย จึงหันมาใช้กำลังทหารบีบบังคับให้ประชาชนทำการให้สัตยาบันยอมรับสถานะความเป็นผู้นำของยะซีด(17)

สถานการณ์ในยุคอิมามฮุเซน
ในที่สุด ปีที่ 60 ฮศ.ก็มาถึง อันเป็นช่วงเวลาที่ระบอบความเชื่อเกี่ยวกับอิมามะฮ์ของชีอะฮ์ถูกท้าทายอย่างหนักจากระบอบคอลีฟะฮ์-กษัตริย์ ท่านอิมามฮุเซนดำรงตำแหน่งอิมามในสถานการณ์ที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง เนื่องจากในด้านหนึ่ง มีการขยายอาณาจักรมุสลิมสู่ดินแดนต่างๆอันไกลโพ้น(18) แต่อีกด้านหนึ่ง คอลีฟะฮ์คนใหม่ที่เพิ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเหนือมวลผู้ศรัทธาและอาณาจักรมุสลิมอันยิ่งใหญ่นั้นมิไช่ใครอื่น เขาคือยะซีดผู้ที่ไร้ฐานันดรศักดิ์ใดๆในสายตาของมวลมุสลิม เขาคือผู้ที่เหล่าเศาะฮาบะฮ์และบรรดาตาบีอีนไม่ให้การยอมรับเขาในเรื่องศาสนาและความชอบธรรม แม้แต่เศาะฮาบะฮ์อาวุโสอย่างท่านอบู อัยยูบ อัลอันศอรีที่มุ่งมั่นจะเข้าร่วมในการญิฮาดทุกครั้งกับศัตรูของอิสลาม เมื่อครั้งที่ยะซีดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ เขาตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะไม่เข้าร่วมในกองทัพดังกล่าวเด็ดขาด(19)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่บนีอุมัยยะฮ์แปรสภาพระบอบคอลีฟะฮ์เป็นระบอบกษัตริย์ อิมามฮุเซนตระหนักดีว่าพวกเขาพร้อมที่จะพึ่งพาทุกวิถีทางแม้กระทั่งการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่ออุปโลกน์ความชอบธรรมแก่ตนเอง และท่านเองก็ตระหนักดีเช่นกันว่า ท่านสามารถยืนหยัดคัดค้านพฤติกรรมเหล่านี้ของพวกเขาด้วยความชอบธรรมที่ท่านมีในฐานะหลานรักของศาสดาผู้สถาปนาอิสลาม รวมทั้งสามารถฟื้นฟูอุมมัตของท่านศาสดาด้วยสุนทรพจน์ต่างๆตลอดจนการเคลื่อนใหวของท่าน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คือปณิธานที่ท่านอิมามฮุเซนมุ่งหวังจะให้สัมฤทธิ์ผลเพื่อผลประโยชน์ของอัลอิสลาม(20)

การต่อสู้และการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซนส่งผลให้ภาพลักษณ์ทางศาสนาและสังคมที่บนีอุมัยยะฮ์ยังพอมีอยู่บ้างถูกทำลายจนหมดสิ้น ท่านได้กระชากหน้ากากพวกเขาโดยแสดงให้อุมมัตประจักษ์ว่าบนีอุมัยยะฮ์พร้อมที่จะสังหารแม้กระทั่งหลานรักท่านศาสดา ผู้ที่ท่านศาสดาเคยกล่าวชมเชยไว้อย่างมากมาย(21)

อิมามฮุเซนยืนหยัดต่อสู้อย่างองอาจ กระทั่งสามารถเปิดโปงโฉมหน้าความเป็นมุนาฟิกของราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ให้ประวัติศาสตร์ได้รับรู้ว่า ตลอดเวลาที่พวกเขาขึ้นปกครองโลกอิสลาม สิ่งเดียวที่พวกเขาไม่เคยคำนึงถึงแม้แต่น้อยก็คือ “ศาสนา” พวกเขาพร้อมที่ย่ำยีศาสนาทุกเมื่อหากพบว่าบัลลังก์ของพวกเขาเริ่มสั่นคลอน ข้อเท็จจริงดังกล่าวเผยให้เห็นจากความโหดร้ายของกองทัพบนีอุมัยยะฮ์ที่มีต่อเด็กและสตรีในเหตุการณ์กัรบะลา(22) ตลอดจนเหตุการณ์ฮัรเราะฮ์ที่ยะซีดสั่งให้บดขยี้และปล่อยให้มีการข่มขืนพี่น้องมุสลิม ความเลวทรามของคอลีฟะฮ์แห่งบนีอุมัยยะฮ์ผู้นี้ปรากฏชัดเจนที่สุดเมื่อเขาได้สั่งให้ถล่มอัลกะฮ์บะฮ์อย่างบ้าระห่ำ(23) แม้เขาจะแสดงความโหดเหี้ยมถึงขั้นนี้ แต่คลื่นวีรกรรมของท่านอิมามฮุเซนก็โถมกระหน่ำเข้าใส่ราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์อย่างรวดเร็วถึงขนาดที่หลังจากที่ยะซีดเสียชีวิตในปีที่64 ฮศ. มุอาวียะฮ์ อิบนิ ยะซีดขึ้นครองราชย์เพียงสี่สิบวัน สุดท้ายก็ขึ้นคุฏบะฮ์ประกาศว่าพ่อและปู่ของเขาคือผู้ที่แย่งชิงตำแหน่งคอลีฟะฮ์มาโดยมิชอบ และปลดตนเองจากตำแหน่งคอลีฟะฮ์ทันที(24) เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะประชาชาติมุสลิมเริ่มตื่นตัวและตระหนักถึงการกดขี่ของบนีอุมัยยะฮ์มากขึ้น ส่งผลให้มีการประท้วงและเริ่มมีการแข็งเมืองในบางพื้นที่ ขบวนการ“เตาวาบีน”เริ่มปฏิบัติการในปีฮ.ศ.65 เพื่อตอบโต้ความอำมหิตในกัรบะลา(25), มุคตาร อัษษะเกาะฟีย์และพรรคพวกร่วมกันกุมอำนาจเหนือกูฟะฮ์ในปีฮ.ศ. 67 และเริ่มคิดบัญชีกับเหล่าอาชญากรแห่งกัรบะลา(26) นอกจากนี้ยังมีขบวนการคอวาริญสองกลุ่มเกิดขึ้นในจุดต่างๆทั่วอาณาจักรอิสลาม(27) เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ดุลอำนาจทางการเมืองพลิกผันและเป็นประโยชน์แก่บนีฮาชิมในที่สุด

การฉวยโอกาสของบนีอับบาส
ในสถานการณ์ที่อุมมัตเริ่มตื่นตัวสู่การสนับสนุนวงศ์วานท่านนบี กลุ่มบนีอับบาสฉวยโอกาสชูคำขวัญ “อัรริฏอ มิน อาลิมุฮัมมัด” (เชิญชวนสู่ผู้ที่ได้รับการไว้วางใจในหมู่วงศ์วานท่านนบี)เพื่อแทรกตนเข้าไปอยู่ในกระแสความนิยมดังกล่าวอย่างแนบเนียน

ความเปลี่ยนแปลงมาเยือนสังคมมุสลิมเมื่อบนีอับบาสโค่นล้มราชวงศ์บนีอุมัยยะฮ์ที่มีอายุขัยกว่าเก้าสิบปีสำเร็จ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ลักษณะความเป็นกาฝากของบนีอับบาสที่ฉวยโอกาสขึ้นสู่อำนาจทั้งที่สถานการณ์กำลังเอื้ออำนวยให้วงศ์วานท่านนบีและอิมามอลี

แน่นอนว่าพวกเขาเฝ้ารอให้มีความเคลื่อนใหวทางการเมืองที่ผิดพลาดเกิดขึ้นโดยบุคคลสำคัญทางฝ่ายวงศ์วานท่านนบี ทั้งนี้ก็เพื่อจะใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัดคู่แข่งออกจากสังเวียนอำนาจนั่นเอง ดังที่อัลมันศูร คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์อย่างเต็มที่จากขบวนการต่อต้านโดยการนำของผู้สืบเชื้อสายจากท่านอิมามฮะซันผู้มีนามว่า “มุฮัมมัด นัฟซุสซะกียะฮ์” ในปีฮศ.145 (28)

ท่าทีอันชาญฉลาดของท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิก (อ)
อิมามญะฟัร อัศศอดิกเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ท่านทราบว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นไม่เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนใหวทางการเมืองอย่างเปิดเผย สิ่งที่สังคมมุสลิมในยุคนั้นขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งก็คือพื้นฐานทางความคิดและวิชาการที่ถูกต้องนั่นเอง เพราะหากสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นมิได้ตึงเครียดและคลุมเคลือด้วยเล่ห์กลของบนีอับบาสแล้ว ฐานะภาพและคะแนนนิยมของท่านอิมามญะฟัรก็มิได้ด้อยไปกว่าบุคคลอย่าง อบู มุสลิม คุรอซานี (นักเชิญชวนสู่ขบวนการอับบาซียะฮ์คนสำคัญซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจสู่ชัยชนะของบนีอับบาส) ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฏในจดหมายฉบับประวัติศาสตร์ของอบูมุสลิม คุรอซานีที่พร้อมจะให้การสนับสนุนอิมามญะฟัรหากท่านยอมเข้าร่วมในขบวนการด้วย แต่ท่านเผาจดหมายดังกล่าวทั้งที่ยังไม่เปิดอ่าน เพราะท่านทราบดีว่าอบูมุสลิมคือสาวกผู้ซื่อสัตย์ของบนีอับบาส มิไช่สาวกของท่าน

ความเสียสละของท่านอิมามฮุเซนคือสาเหตุที่ทำให้มวลมุสลิมทุกหนแห่งเริ่มเข้าใจและโหยหาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านนบี ทว่าในยุคสมัยของท่านอิมามญะฟัร บนีอับบาสฉวยโอกาสขึ้นเถลิงอำนาจด้วยคำขวัญ “อัรริฏอ มิน อาลิมุฮัมมัด” แต่ในความเป็นจริงพวกเขากลับผลักไสวงศ์วานท่านนบีออกไปจากเวทีการเมืองโดยที่อุมมัตอิสลามมิได้รู้สึกระแคะระคายแต่อย่างใด

คำถามก็คือ อะไรคือสาเหตุของความพลิกผันและความระส่ำระส่ายที่ปรากฏในสังคมมุสลิมสมัยนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า หากมิได้เกิดจากพื้นฐานความคิดที่สั่นคลอนที่ต้องได้รับการแทนที่ด้วยระบอบแนวคิดที่ถูกต้องและแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ระบอบความเชื่อและฟิกฮ์(หลักปฏิบัติ)ของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์กำลังก่อตัวขึ้น ในช่วงเวลานี้ จะมีสิ่งใดที่สามารถค้ำประกันแนวทางของอะฮ์ลุลบัยต์โดยหยั่งรากลึกในปัญญาของอุมมัตและแก้ไขนิยามความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์,พระองค์อัลลอฮ์และสังคมได้? ในสถานการณ์เช่นนี้เองที่อิมามญะฟัร อัศศอดิกอาสาทำหน้าที่นำเสนอแนวทางและระบอบความคิดเหล่านี้อย่างสมบูรณ์

บทบาทการเติมเต็มทางวัฒนธรรมและองค์ความรู้ของท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิก (อ)
สรุปก็คือ ท่านอิมามญะฟัรได้ก้าวสู่ขั้นตอนที่สองในการสถาปนาศาสนา นั่นคือการหักล้างความคิดและความเชื่อที่ผิดพลาด และนำเสนอระบอบความคิดที่ถูกต้องอันสอดคล้องกับแนวทางของกุรอานและอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดาแก่อุมมัตอิสลาม เพราะหลังจากเหตุการณ์กัรบะลา ย่อมมีผู้ที่รักและนิยมชมชอบอิมามฮุเซนและบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ตั้งคำถามกับบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ว่า “หากบนีอุมัยยะฮ์คือกลุ่มที่หลงทาง และบนีอับบาสคือกลุ่มนักปฏิรูปจอมปลอม พวกท่านจะมีแนวทางอย่างไร จะให้คำนิยามอิสลามแตกต่างจากสองกลุ่มดังกล่าวหรือไม่ หรือหากจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ “อะฮ์ลุลบัยต์มีระบอบความคิดใหม่ที่ถูกต้องแทนที่ระบอบความคิดเดิมหรือไม่? อย่างใร?”

การอรรถาธิบายคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮ์อย่างละเอียด,ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับมนุษย์ รวมทั้งการให้คำนิยามมนุษย์ในอุดมคติตามทัศนะของอิสลามนับเป็นภารกิจสำคัญของท่านอิมามญะฟัร ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับระบอบความเชื่อที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญา,หลักจริยธรรมที่งดงามครอบคลุมและหลักปฏิบัติทางศาสนาสำหรับปัจเจกบุคคลและสังคมคือหมวดหมู่หลักที่ท่านอิมามญะฟัร อัศศอดิกได้นำเสนอสารธรรมคำสอนที่ถูกต้องแทนที่ความเข้าใจดั้งเดิมที่คลาดเคลื่อน และเมื่อการปฏิรูปแนวความคิดสู่สัจธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นโดยคำสอนของท่าน และในสถานการณ์ที่แนวทางอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ก่อตัวขึ้นกลายเป็นมัซฮับต่างๆเช่น ฮะนะฟี ฮัมบาลี มาลิกี ชาฟิอี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่มัซฮับและแนวทางอิมามียะฮ์ของเราจะถูกขนานนามตามนามของท่านอิมามญะฟัรผู้เป็นอาจารย์ของทุกมัซฮับว่า “ญะฟะรียะฮ์”





เชิงอรรถ
1- بحارالانوار، ج‌47، ص‌6.
2- تاريخ الطبرى، ج‌6، ص‌123، منشورات مكتبه اورميه.
3- الغدير،امينى، ج 1، ص 152 تا 158، دارالكتب العربى ‌لبنان.
4- تاريخ الطبرى، ج 2، ص 455.
5- تاريخ الخلفا، رسول جعفريان، ص 30.
6- تاريخ الطبرى، ج‌3، ص‌399.
7- _________________، ج‌3، ص.
8- _________________، ج 2، ص 520/ ج‌3، ص 1 تا 10.
9- تاريخ تحليلى اسلام، شهيدى، نشر دانشگاهى سال 1374، ص‌200.
10- تاريخ سياسى اسلام، رسول جعفريان، ص 90 و89.
11- _________________، ص 92 و 91.
12- نهج البلاغه، خطبه 118.
13- بحارالانوار، ج 44، ص 125.
14- شرح نهج البلاغه، ابن ابى‌الحديد، ج 4، ص‌56.
15- เช่นหนังสือ”อีมานของอบูฏอลิบ”ของเชคมุฟีด ซึ่งอัลลามะฮ์อามีนีได้กล่าวถึงในปฐมบทของหนังสืออัลเฆาะดีร เล่ม 1 หน้า23,24
16- ____________، ج 1 الی 10
-17 الامامه والسياسه، ابن قتيبه، ج 1، ص 175/ ابن اعثم،الفتوح، ج 4، ص 226- 225.
18- تاريخ الطبرى، ج 4، سنة 50 تا 60 هجرى.
19- طبقات، ابن سعد، ج‌3، ص 485، دارصادر بيروت.
20- حماسه حسينى، شهيد مطهرى، ج‌3، ص 380، انتشارات صدرا.
21- _________________، ص 368-370.
22- _________________، ص‌383.
23- _________________، ص‌426.
24- _________________، ص‌487.
25- _________________، ص‌579.
26- كامل ابن اثير، ج 2، ص 225/ تاريخ يعقوبى، ج 2، ص 305.
27- تاريخ سياسى اسلام، ص 260.
28- تحف العقول، ابن شعبه حرانى،ص 256-260.





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ ...
อิมามฮะซัน อัสการีย์(อ) ...
อิมามอะลี ...
"ฝน"ในอัลกุรอาน
ชีวประวัติท่านฮัมซะฮ์ บิน ...
หลักปฏิบัติในอิสลาม ...
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม

 
user comment