มซฺในหลักการปฏิบัติศาสนบัญญัติ
เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม
คุมซฺ )خمس)ตามความหมายของปทานุกรม หมายถึง หนึ่งในห้า พหูพจน์ของคำว่าคุมซฺคือ อัคมาซ (اخماس) เช่น กล่าวว่า อัคมะซูลเกามิ(اخماس الاقوم )หมายถึง ชนแบ่งเป็นกลุ่มละห้าคน หรือกล่าวว่า อัคคะซะ คอมซะฮฺ มาลิฮิม (اخذ خمسه مالهمหมายถึง หักออกมาหนึ่งในห้าจากทรัพย์สินของเขา[1]
คุมซฺ ในความหมายของนักปราชญ์
1. ชะฮีดที่หนึ่ง(شهید اول)กล่าวว่า คุมซฺ หมายถึง กรรมสิทธิ์อันปรากฏอยู่ในทรัพย์สงครามซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของบนีฮาชิมโดยแท้จริงแทนที่ซะกาต (ทานบังคับ)[2]
2. มุฮัมมัดกาซิม ยัซดียฺ(محمد کاظم یزدی) กล่าวว่า คุมซฺ เป็นหนึ่งในข้อบังคับเหนือตัวซึ่งอัลลอฮ์ทรงกำหนดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) และทายาท[3]
3. ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) กล่าวว่า คุมซฺ หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดให้เป็นข้อคับแทนที่ซะกาต สำหรับประชาชน เพื่อท่านเราะซูล (ซ็อล ฯ) และทายาทผู้ทรงเกียรติของท่าน[4]
ดังนั้นจากสิ่งที่นักปราชญ์กล่าวมาสรุปได้ว่า
คุมซฺ เป็นหนึ่งในข้อบังคับ (วาญิบ) สำคัญของศาสนา เฉกเช่น นมาซและการถือศีลอด
คุมซฺ เป็นกรรมสิทธิ์โดยตรงของบนีฮาชิม ซึ่งถูกทดแทนที่ของซะกาต
คุมซฺ จำเป็นต้องจ่ายให้กับทายาทของท่านศาสดา
คุมซฺ เป็นข้อบังคับซึ่งปรากฏหลักฐานอันชัดแจ้งทั้งจากอัล-กุรอาน รายงานของท่านศาสดา และความเห็นพร้องต้องกันของนักปราชญ์ทุกสมัย
ด้วยเหตุนี้ คุมซฺ จึงเป็นหนึ่งในภาระหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องหักจ่าย 1/5 จากรายได้เหลือสุทธิในรอบหนึ่งปี
หลักฐานของคุมซฺ
หลักฐานจากอัล-กุรอาน กล่าวว่า
وَاعْلَمُوا أَنَّمَا غَنِمْتُمْ مِنْ شَيْءٍ فَأَنَّ لِلَّهِ خُمُسَهُ وَلِلرَّسُولِ وَلِذِي الْقُرْبَى وَالْيَتَامَى وَالْمَسَاكِينِ وَابْنِ السَّبِيلِ إِنْ كُنتُمْ آمَنْتُمْ بِاللَّهِ وَمَا أَنزَلْنَا عَلَى عَبْدِنَا يَوْمَ الْفُرْقَانِ يَوْمَ الْتَقَى الْجَمْعَانِ وَاللَّهُ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ
พึงสังวรเถิดว่า สิ่งที่พวกเจ้าได้มาจากศึกสงครามหนึ่งในห้าส่วนเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ เราะซูล และเครือญาติผู้ใกล้ชิด (ของท่านเราะซูล) เด็กกำพร้า คนอนาถา และผู้เดินทาง มาตรว่าสูเจ้าศรัทธาในอัลลอฮฺ[5]
ประเด็นสำคัญคือ เฆาะนีมะฮฺ
ทัศนะนักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺ
1. ชัยคฺ ฏูซียฺ กล่าวว่า เฆาะนีมะฮฺ หมายถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งหมด จากความหมายดังกล่าวสามารถกล่าวได้ว่ารายได้สุจริตทุกประเภท ผลกำไรจากการค้า ขุมทรัพย์ แร่ธาตุ และสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองของมนุษย์จำเป็นต้องจ่ายคุมซฺ เนื่องจากสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เรียกว่า เฆานีมะฮฺ นั้นเอง[6]
2.เชค เฏาะบัรซียฺ กล่าวว่า คุมซฺ หมายถึง รายได้ที่ได้จากการทำมาหากิน ผลกำไรจากการค้า ขุมทรัพย์ แร่ธาตุ และสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองของมนุษย์จำเป็นต้องจ่ายคุมซฺ เนื่องจากสิ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเรียกว่า คุมซฺ[7]
3. อัลลามะฮฺเฏาะบาเฏาะบาอีย์ กล่าวว่า การได้ซึ่งเฆาะนีมะฮฺ อาจได้มาจากการประกอบสัมมาชีพ การค้า หรือได้จากทรัพย์สงคราม แต่ถ้าพิจารณาจากโองการนี้แล้วทัศนะส่วนใหญ่กล่าวว่า เฆาะนีมะฮฺในทีนี้หมายถึงทรัพย์สงครามเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาจากความหมายภายนอกทั่วไปของโองการนี้ก็เหมือนกับ การความหมายภายนอกของโองการทั่วๆ ไป ที่กล่าวถึงเรื่องบทบัญญัติเพียงแต่ว่า ฮุกุมของคุมซฺตามนัยของโองการเป็นบทบัญญัติที่ดำรงอยู่ในทุกยุคสมัย เนื่องจากสิ่งที่สามารถกล่าวเรียกว่าเป็น เฆาะนีมะฮฺนั้น บัญญัติของมันเป็นมุอัลลัก หมายถึงประโยชน์ทุกสิ่งที่จัดหามาได้ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สงคราม หรือสิ่งนักภาษาศาสตร์กล่าวเรียกว่าเป็นเฆาะนีมะฮฺ แม้ว่าโองการที่ถูกประทานลงมาจะกล่าวถึงเฆาะนีมะฮฺ อันเป็นรายได้ที่มาจากทรัพย์สงครามก็ตาม แต่ประเด็นที่กล่าวถึงมิได้เจาะจงอยู่ในขอบข่ายของโองการเพียงอย่างเดียว[8]
หลักฐานจากริวายะฮฺ
อะลี บุตรของมะฮฺซิยารฺ รายงานว่า อะลี บุตรของรอชิดกล่าวกับฉันว่า วันหนึ่ง ฉันได้กล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า ตามที่ท่านได้สั่งให้ฉันยืนหยัดต่อคำบัญชาและรักษาสิทธิของท่านนั้น ฉันได้ประกาศให้ผู้ที่มีความจงรักภักดีกับท่านได้ตระหนักในเรื่องนี้ แต่มีผู้คนจำนวนหนึ่งได้ถามฉันว่าแล้วสิทธิของอิมามคืออะไร ฉันไม่สามารถตอบถามของพวกเขาได้ อิมาม (อ.) กล่าวว่า เป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) ที่พวกเขาจะต้องจ่ายคุมซฺ
ฉันจึงถามท่านอีกว่า มีสิ่งใดบ้างที่ต้องจ่ายคุมซฺ
ท่านตอบว่า จากรายได้บางส่วนของการค้าขาย หรือจากเรือกสวนไร่นาของพวกเขา
ฉันถามต่อไปว่า พ่อค้าและผู้ผลิตจำเป็นต้องจ่ายคุมซฺด้วยหรือไม่
อิมามจึงตอบว่า พวกเขาต้องจ่ายคุมซฺเหมือนกันจากรายได้สุทธิภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว[9]
จุดประสงค์ของ อัลกุรบา
นักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺส่วนใหญ่มีความเห็นพร้องต้องกันว่า จุดประสงค์ของ ซิลกุรบา ในที่นี้หมายถึง บรรดาอะฮฺลุบัยตฺ (อ.) ส่วนนักอรรถาธิบายฝ่ายอะฮฺลิซุนนะฮฺ มีความเห็นขัดแย้งกันซึ่งขอนำเสนอเพียงแค่ 3 ทัศนะเท่านั้น
1. บางทัศนะกล่าวว่าจุดประสงค์ของ ซิลกุรบา หมายถึงชาวกุเรชทั้งหมด
2. บางทัศนะกล่าวว่า จุดประสงค์ของ ซิลกุรบา หมายถึงตระกูลบนีฮาชิมเท่านั้น
3. บางทัศนะกล่าวว่า จุดประสงค์ของ ซิลกุรบา หมายถึงตระกูลบนีฮาชิม และตระกูลบนิลมุฏ็อลลิบ[10] ซึ่งอะฮฺลิซุนนะฮฺส่วนใหญ่ยึดถือทัศนะที่สามเป็นหลักและถือว่าถูกต้องที่สุด ซึ่งได้นำมาเป็นหลักฐานประกอบโดยอ้างว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า แท้จริงพวกเขามิได้แยกไปจากฉันไม่ว่าจะอยู่ในยุคญาฮิล (ยุคทมิฬ) หรือหลังจากรับอิสลามแล้ว อันที่จริงแล้วทั้งบนูฮาชิมและบนูมุฏ็อลลิบเป็นตระกูลเดียวกัน [11]
อัลลามะฮฺเฏาะบาเฏาะบาอียฺ (รฎ.) กล่าวว่า รายงานจากบรรดาอิมามมะฮฺซูม (อ.) กล่าวว่า จุดประสงค์ของ ซิลกุรบา ก็คือ บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์นั่นเอง ซึ่งภายนอกของโองการก็ให้ความหมายสนับสนุนความหมายดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากคำว่าว่า ซิลกุรบา เป็นคำเอกพจน์ อัล-กุรอานมิได้กล่าวว่า ซะวิลกุรบา[12]
การแบ่งคุมซฺ
นักปราชญ์ฝ่ายชีอะฮฺมีความเห็นพร้องต้องกันว่า คุมซ แบ่งออกเป็น 6 ส่วนกล่าวคือ ส่วนของพระเจ้า ของเราะซูล ซุลกุรบา เด็กกำพร้า คนอนาถา และคนเดินทาง ซึ่งจุดประสงค์ของเด็กกำพร้า คนอนาถา และคนเดินทางก็คือลูกหลานของท่านเราะซูล ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าบุคคลที่มิใช่บนีฮาชิมไม่มีสิทธิ์ใดๆ ในคุมซฺ เนื่องจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทำให้ซะดะเกาะฮฺ (ทานสมัครใจ) เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบนีฮาชิม แต่พระองค์ทรงแทนที่การเซาะดะเกาะฮฺด้วยคุมซฺ
ในปัจจุบันการจ่ายคุมซฺจำเป็นต้องจ่ายให้แก่ ฮากิม ชัรอีย์ (ผู้ปกครองอิสลาม) ดังกล่าวไปแล้วว่าการจ่ายคุมซฺเป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) เหมือนกับนมาซและศีลอด และเป็นวาญิบสำหรับทุกคนที่บรรลุภาวะตามศาสนบัญญัติ มีสติสัมปชัญญะและมีทรัพย์หนึ่งในเจ็ดประเภทดังต่อไปนี้
1. รายได้จากกการทำมาหากิน เมื่อใดก็ตามที่ได้รับผลประโยชน์จากการทำมาหากิน เช่น ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือแม้แต่รายได้จากการรับจ้างทำนมาซ หรือถือศีลอดให้กับคนตาย ถ้าหักรายจ่ายในรอบหนึ่งปี แล้วยังมีรายได้เหลืออยู่ซึ่งเป็นรายได้สุทธิ จำเป็นต้องจ่ายคุมซฺ
2. รายได้จากเหมืองแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ทองคำ เงิน ตะกั่ว ทองแดง เหล็ก น้ำ ถ่านหิน เทอร์คอยส์ โมรา สารส้ม เกลือ ฯลฯ ที่ถึงขั้นกำหนดที่ต้องจ่ายคุมซฺ
3. ขุมทรัพย์ของมีค่าที่พบเจอใต้พื้นดิน ในต้นไม้ ภูเขา หรือใต้กำแพง
ขั้นกำหนดที่ต้องจ่ายคุมสของขุมทรัพย์ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่พบ
ถ้าพบในที่ของตน ถือว่าเป็นของตนและต้องจ่ายคุมซฺุ้
ถ้าพบเจอในที่ที่ไม่มีเจ้าของ เช่น ตามท้องทุ่ง ภูเขา ถือว่าเป็นของตนต้องจ่ายคุมซฺ
ถ้าาพบเจอในที่ของคนอื่น (หรือที่ที่มีเจ้าของ) ถือว่าเป็นของเจ้าของที่
ถ้าพบเจอในที่ที่ซื้อมาจากคนอื่น ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ของเจ้าของเดิมถือว่าเป็นของตนต้องจ่ายคุมซฺ ถ้าสงสัยว่าอาจจะเป็นของคนหนึ่งคนใด จำเป็นต้องประกาศให้รับรู้ และหลังจากนั้นรู้ว่าไม่ใช่ของพวกเขา ให้แจ้งให้เจ้าของเดิมได้รับรู้ และถ้ารู้ว่าไม่ใช่ของใครเลย ถือว่าของนั้นเป็นของตนจำต้องจ่ายคุมส
4. ทรัพย์สงคราม
5. ทรัพย์หรืออัญมณีที่ขุดขึ้นมาจากทะเลหรือมหาสมุทร
6. ทรัพย์สินฮะลาลที่ผสมปนกับทรัพย์สินฮะรอม ในกรณีที่ทรัพย์ของเราได้ผสมปนกับทรัพย์ของคนอื่น ซึ่งอาจจะมีลักษณะดังนี้คือ
ในกรณีที่รู้จักเจ้าของ
รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องแยกส่วนนั้นคือเจ้าของ
ไม่รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องอภัยให้แก่กัน
ในกรณีที่ไม่รู้จักเจ้าของ
รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องเนียตแทนเจ้าของ แล้วเอาทรัพย์ส่วนนั้นจ่ายเป็นเซาะดะเกาะฮฺไป แต่อิหติยาฎวาญิบให้ขออนุญาต ฮากิม ชัรอีย์ ก่อน
ไม่รู้จำนวนทรัพย์ที่ผสมอยู่ จำเป็นต้องจ่ายคุมซฺทั้งหมด ส่วนที่เหลือจึงจะถือว่าฮะลาลได้
7. ที่ดินที่กาฟิรอาศัยอยู่ในประเทศอิสลาม โดยที่เขาได้ซื้อที่ดินนั้นจากมุสลิม
ผู้ที่ไม่มีรายได้ไม่ต้องจ่ายคุมซฺ
อิสลามเป็นแนวทางที่ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อชี้นำมนุษยชาติ ดังนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ จะถูกแนะนำและจัดวางไว้อย่างรอบคอบ อิสลามให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้ทำงานประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว รายได้ทั้งหมดที่หามาได้จำเป็นต้องคำนึงถึงครอบครัวก่อนอื่นใด
ฉะนั้น เรื่องของคุมซฺจึงมาหลังการเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งเมื่อครบปีต้องทำการคำนวณรายได้ หากไม่มีเหลือหรือไม่เพิ่มขึ้นมา ในกรณีนี้ไม่เป็นวาญิบต้องจ่ายคุมซฺ แต่ถ้าเหลือจำเป็นต้องจ่าย 1/5 ส่วนที่เหลืออีก 4/5 เป็นของตน
จุดประสงค์ของคำว่า “รายจ่ายประจำปี” หมายถึง ปัจจัยทั้งหลายที่ตนและครอบครัวต้องการในการดำเนินชีวิต ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. อาหาร ยา และเครื่องนุ่งห่ม
2. เครื่องเรือน เช่น ภาชนะต่าง ๆ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ
3. ยานพาหนะที่ไม่ได้มีไว้เพื่อทำงานเพียงอย่างเดียว
4. ค่าใช้จ่ายในการต้อนรับแขกผู้มาเยือน
5. ค่าใช้จ่ายที่เตรียมไว้เพื่อการสมรสของตน
6. ตำราเรียนต่าง ๆ ที่นักวิชาการต้องการ โดยไม่จำกัด
7. ค่าใช้จ่ายที่จัดเตรียมไว้เพื่อเดินทางไปซิยาเราะหฺสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ
8. รางวัลหรือของขวัญที่จะมอบให้กับผู้อื่น ไม่ว่าในโอกาสใดก็ตาม
กำหนดปีของคุมซฺ
เป็นธรรมดาของผู้ศรัทธาที่วันแรกของการบรรลุภาวะตามศาสนบัญญัติต้องทำนมาซ ถ้าเป็นวันแรกของเดือนรอมฎอนต้องถือศีลอด และถ้า ๑ ปีผ่านไป วันขึ้นปีใหม่ต้องจ่ายคุมซฺ ด้วยเหตุนี้ การคำนวณปีของการจ่ายคุมซฺให้เริ่มตั้งแต่ต้นปี (วันแรก) และเมื่อวันสุดท้ายสิ้นสุดลงถือว่าครบ ๑ ปีบริบูรณ์ตามปีของสุริยะคติ ดังนั้น การนับวันแรกของปีสำหรับคนทุกสาขาอาชีพย่อมมีความแตกต่างกัน อาทิเช่น
เกษตรกร เริ่มตั้งแต่การได้รับผลผลิตครั้งแรก
พนักงาน เริ่มตั้งแต่รับเงินเดือน ๆ แรกเป็นต้นไป
ผู้ใช้แรงงาน เริ่มตั้งแต่รับค่าแรงงวดแรกเป็นต้นไป
เจ้าของกิจการ เริ่มตั้งแต่ทำการค้า
รายได้ดังต่อไปนี้ไม่ต้องจ่ายคุมซฺ
1. มรดกที่ได้รับจากผู้ตาย แต่หากรู้ว่าผู้ตายยังไม่ได้จ่ายคุมซฺ จำเป็นต้องจ่ายก่อนที่จะนำเงินไปใช้
2. สิ่งต่าง ๆ ที่ผู้อื่นได้ยกให้ เช่น สิ่งของที่พ่อแม่ให้หรือของที่สามีให้แก่ภรรยา
3. รางวัลและของขวัญต่าง ๆ ที่ได้รับมา
4. สินสอดของสตรี
5. สิ่งของที่ได้รับมาในนามของคุมซฺ ซะกาตหรือเซาะดะเกาะฮฺ
6. ของขวัญที่ได้รับในวันอีดต่าง ๆ
ผลพวงของการไม่จ่ายคุมส
1. ถ้าหากทรัพย์ส่วนใดยังไม่ได้จ่ายคุมซฺ ถือว่าไม่มีสิทธิใช้จ่ายทรัพย์สินส่วนนั้น หมายถึง อาหารต่าง ๆ ที่ต้องจ่ายคุมซฺก่อนไม่สามารถกินได้ หรือเงินที่ยังไม่ได้หักเพื่อจ่ายคุมซฺไม่สามารถนำไปใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
2. กรณีที่นำเงินที่ยังไม่ได้จ่ายคุมซฺไปทำการค้า โดยปราศจากคำอนุญาตจากฮากิม ชัรอีย์ 1/5 ของการค้านั้นเป็นโมฆะ ไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา
3. ถ้านำเงินที่ยังไม่ได้จ่ายคุมซฺไปซื้อบ้าน และทำนมาซในบ้านนั้น นมาซนั้นเป็นโมฆะ
4. ถ้านำสิ่งของทียังไม่ได้จ่ายคุมซฺไปให้คนอื่น ถือว่า 1/5 ส่วนจากของนั้นไม่ใช่ของเขา
อ้างอิง
[1] ลิซานุล อาหรับ เล่ม 6 หน้า 70
[2] อัดดุรุซชะรีอะฮฺ มุอัซซะซะฮฺ นัชรฺ อิสลามี เล่ม 1 หน้า 258
[3] มุฮัมมัดกาซิม ยัซดียฺ อุรวะตุลวุซกอ เบรุต เล่ม 2 หน้า 366
[4] ตะรีรุล วะซีละฮฺ เล่ม 1 หน้า 351
[5] อัล-กุรอาน บทอัลอันฟาล โองการที 41
[6] ชัยคฺ ฏูซียฺ อัตติบยาน เล่ม 5 หน้า 123
[7] เฏาะบัรซียฺ มัจมะอุลบะยาน เล่ม4 หน้า543
[8] อัลลามะฮฺเฏาะบาเฏาะบาอียฺ อัลมีซาน เล่ม 9 หน้า 89-91
[9] อ้างแล้วเล่มเดิม
[10] กุรฏุบียฺ อัลญามิอฺ ลิลอะฮฺกามิลกุรอาน เล่ม 4 หน้า 270, ฟัครุรรอซียฺ ตัฟซีร อัลกะบีร เล่ม 8 หน้า 171
[11] อ้างแล้วเล่มเดิม
[12] ตัฟซีรอัลมีซาน เล่ม 9 หน้า 137
source : alhassanain