อาลัมบัรซัค (โลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก)
“พวกเขาจะถามเจ้าถึงกาลอวสาน (วันกิยามะฮ์) นั้นว่า เมื่อใดเล่ามันจะเกิดขึ้น จงกล่าวเถิดว่า แท้จริงความรู้ในเรื่องนั้นอยู่ที่พระผู้อภิบาลของฉันเท่านั้น ไม่มีใครจะเผยมันให้รู้ถึงช่วงเวลาของมันได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น …”
บางครั้งการใช้ชีวิตและการพำนักอยู่ในโลกนี้ เราอาจจะประมาณการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่ช่วงเวลาของการหยุดพักหรือการพำนักอยู่ในอาลัมบัรซัค (โลกหลังความตายหรือโลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก) นั้น อาจจะไม่สามารถรับรู้และประมาณการณ์ได้เลย ทั้งนี้เนื่องจากช่วงเวลาการสิ้นสุดลงของมัน ก็คือวันแห่งกาลอวสานของโลก (กิยามะฮ์) ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะล่วงรู้ถึงวันเวลาแห่งกาลอวสานดังกล่าวได้นอกจากพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
حَتَّى إِذَا جَاء أَحَدَهُمُ الْمَوْتُ قَالَ رَبِّ ارْجِعُونِ * لَعَلِّی أَعْمَلُ صَالِحًا فِیمَا تَرَكْتُ كَلَّا إِنَّهَا كَلِمَةٌ هُوَ قَائِلُهَا وَمِن وَرَائِهِم بَرْزَخٌ إِلَى یَوْمِ یُبْعَثُونَ
“(พวกเขาจะใช้ชีวิตอยู่ในสภาพของการตั้งภาคีและการปฏิเสธ) จนกระทั่งเมื่อความตายได้มาถึงคนใดในหมู่พวกเขา เขาก็จะกล่าวขึ้นว่า ข้าแต่พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์กลับไปมีชีวิตอีกครั้งหนึ่งเถิด เพื่อข้าพระองค์จะได้กระทำความดีในสิ่งที่ข้าพระองค์ได้ละเลย (ในขณะที่อยู่ในโลก) เปล่าเลย! มันเป็นเพียงถ้อยคำที่เขาจะกล่าวมันไปทีเท่านั้น และเบื้องหน้าของพวกเขานั้นมีโลกขั้นกลาง (บัรซัค) จนกระทั่งถึงวันที่พวกเขาจะถูกฟื้นคืนชีพขึ้นมา” (1)
ในอีกด้านหนึ่ง พระองค์ได้ทรงตรัสเกี่ยวกับวันแห่งกาลอวสาน (กิยามะฮ์) ว่า
يَسْأَلُونَكَ عَنِ السَّاعَةِ أَيَّانَ مُرْسَاهَا قُلْ إِنَّمَا عِلْمُهَا عِندَ رَبِّي لَا يُجَلِّيهَا لِوَقْتِهَا إِلَّا هُوَ
“พวกเขาจะถามเจ้าถึงกาลอวสาน (วันกิยามะฮ์) นั้นว่า เมื่อใดเล่ามันจะเกิดขึ้น จงกล่าวเถิดว่า แท้จริงความรู้ในเรื่องนั้นอยู่ที่พระผู้อภิบาลของฉันเท่านั้น ไม่มีใครจะเผยมันให้รู้ถึงช่วงเวลาของมันได้ นอกจากพระองค์เท่านั้น …” (2)
“บัรซัค” นั้น หมายถึงอะไร
คำว่า “บัรซัค” ในหนังสืออธิบายคำศัพท์ภาษาอาหรับนั้น กล่าวไว้เช่นนี้ว่า
البرزخ هو : الحاجز بين الشيئين ، و المانع من اختلاطهما و امتزاجهما
“คำว่า บัรซัค หมายถึง สิ่งกีดขวางระหว่างสองสิ่ง และเป็นตัวขวางกั้นจากการปะปนและการผสมปนเปกันของสิ่งทั้งสอง” (3)
ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงคำว่า “บัรซัค” ไว้ในหลายโองการ ตัวอย่างเช่น
مَرَجَ الْبَحْرَیْنِ یَلْتَقِیَانِ * بَیْنَهُمَا بَرْزَخٌ لَّا یَبْغِیَانِ
“พระองค์ทรงทำให้น่านน้ำทั้งสอง (ทะเลและแม่น้ำ) ไหลมาบรรจบกัน ระหว่างมันทั้งสองมีสิ่งขวางกั้น โดยที่ทั้งสองจะไม่ล้ำเขตต่อกัน” (4)
ดังนั้นสิ่งขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลกซึ่งจะอยู่ระหว่างช่วงเวลาหลังจากความตาย จนกว่าจะถึงวันแห่งกาลอวสาน (กิยามะฮ์) เรียกว่า “อาลัมบัรซัค” (โลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก)
สิ่งที่จำเป็นต้องกล่าวถึง ณ ที่นี้ก็คือ การที่เราจะรับรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ของโลกที่สูงส่งกว่าโลกนี้นั้น สำหรับบุคคลที่จนถึงขณะนี้ยังมิได้หลุดพ้นออกไปจากขอบเขตอันจำกัดของประสาทสัมผัสอันภายนอก (ประสาทสัมผัสทั้งห้า) นั้น ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได
กฎเกณฑ์สากลต่างๆ ที่ปลกคลุมอยู่ในอาลัมบัรซัคนั้น จะมีความแต่งต่างโดยสิ้นเชิงกับระบอบที่มีอยู่ในโลกนี้ และสิ่งที่ผ่านไปในช่วงเวลายาวนานหลายปี (ในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้) เราจะค่อยๆ รับรู้และมีความคุ้นเคยกับบางส่วนของมัน
ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของวัตถุและมีคุณสมบัติต่างๆ ของวัตถุ กล่าวคือ ในโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในกรอบจำกัดของเวลา สถานที่ ขนาด รูปร่าง สี และอื่นๆ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาพของการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพ (ฮะรอกัต) กล่าวคือจากศักยภาพ (กูวะฮ์) ไปสู่การปรากฏเป็นจริง (ฟิอ์ลุน) ตัวอย่างเช่น สิ่งมีชีวิตทั้งมวลจะมีการพัฒนาและการเจริญเติบโตและจะไปถึงยังความสมบูรณ์ที่ก่อนหน้านั้นไม่มี
ในโลกภายหลังจากกาลอวสานของโลกนี้ (กิยามะฮ์) จะไม่มีสิ่งใดที่มีคุณสมบัติหนึ่งใดจากคุณสมบัติทั้งหลายของวัตถุหรือสสารอยู่เลย ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นนามธรรมหรือนามธาตุ (ไม่ใช่วัตถุ) เป็นโลกของดวงวิญญาณและสิ่งเชิงเดี่ยวหรือนามธาตุ (ไม่ใช่วัตถุ
ดังนั้นสิ่งมีชีวิตที่เป็นอนัตตา (ไร้วิญญาณ ไร้ความรับผิดชอบ อย่างเช่น พืชพันธ์และสรรพสัตว์) ซึ่งไม่มีสภาพเป็นนามธาตุนั้น จะไม่มีโอกาสไปสู่โลกดังกล่าว (ปรโลก) ได้ แต่อาลัมบัรซัค (โลกหลังความตายหรือโลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก) นั้น เป็นสื่อกลางและกล้ำกึ่งระหว่างทั้งสอง กล่าวคือ ยังมีคุณสมบัติบางประการของวัตถุอยู่ด้วย แต่ในด้านต่างๆ อีกจำนวนมากของสิ่งดำรงอยู่ในอาลัมบัรซัค (โลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก) นั้นก็เป็นนามธาตุ (อสสารไม่ใช่วัตถุ) ตัวอย่างเช่น ในอาลัมบัรซัคไม่มีเวลาและสถานที่ แต่มีเรื่องของปริมาณ เช่น ขนาดและรูปร่าง
คำอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
อาลัมบัรซัค คือระดับหนึ่งของการดำรงอยู่ที่ไม่ใช่นามธาตุ (อสสาร) แบบบริสุทธิ์ และไม่ใช่วัตถุ (สสาร) แบบบริสุทธิ์ แต่อยู่ในระหว่างกลางของทั้งสอง กล่าวคือ มันจะบริสุทธิ์และไม่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์ของวัตถุและภาวะบางประการของวัตถุ อย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงและการขับเคลื่อนในทางพัฒนาด้านการเจริญเติบโต (ฮะรอกัต) แต่จะมีบางส่วนของร่องรอยของวัตถุอยู่บ้าง อย่างเช่น รูปร่าง มิติ สภาพและอื่นๆ
อีกชื่อหนึ่งของอาลัมบัรซัค (โลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก) เรียกว่า “อาลัม มิซ้าล” (โลกแห่งความเหมือน) ชีวิตของมนุษย์หรือสิ่งดำรงอยู่อื่นๆ ที่มีโอกาสไปสู่โลกดังกล่าวนั้น ภายหลังจากที่วิญญาณของเขาได้แยกตัวออกจากเรือนร่างที่เป็นวัตถุ ที่มีชื่อว่า “ญิสม์” (ร่างกายอันเป็นสสาร) แล้ว จะเข้าสู่เรือนร่างใหม่ ที่เรียกว่า “บะดัน มิซาลี” (เรือนร่างแห่งความเหมือน) พวกเขาจะกระทำสิ่งต่างๆ และรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยกับเรือนร่างใหม่นี้
หนทางที่ดีที่สุดที่จะรู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาลัมบัรซัค (โลกขั้นกลางระหว่างโลกนี้และปรโลก) ก็คือความฝันต่างๆ ที่เราหลับฝันเห็นในตลอดช่วงการนอนหลับในยามค่ำคืนและวันของเรา ความฝันนั่นก็คือระดับหนึ่งของอาลัม มิซ้าล (โลกแห่งความเหมือน) เช่นเดียวกัน สิ่งที่เราเห็นในโลกของความฝันนั้นมีด้าน มีมิติ และมีขนาด แต่ไม่ใช่วัตถุ (ไม่มีสสาร) “บะดัน มิซาลี” (เรือนร่างแห่งความเหมือน) ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันนั้น ในโลกของธรรมชาติ (โลกนี้) จะมีเรือนร่าง มีขนาด มีด้าน (มิติ) ต่างๆ มีสสารและวัตถุธาตุ
ในโลกแห่งความฝัน เรือนร่างอันเป็นธรรมชาติและเป็นวัตถุธาตุจะหลับสนิทและสงบนิ่งอยู่บนที่นอน แต่วิญญาณ (รูห์) ของเรา กำลังอยู่ในสภาพของการเคลื่อนไหวไป ด้วยกับบะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) ที่ไม่ใช่วัตถุธาตุแต่มีด้าน (และมิติ) ต่าง ๆ สิ่งนี้เองที่เรียกว่า บะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน)
มนุษย์ทุกคนภายหลังจากความตายจวบจนถึงวันกิยามะฮ์ (กาลอวสานของโลก) เราจะอยู่กับบะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) นี้ ไม่ต้องสงสัยใดๆ เลยว่า เราเองจะเป็นผู้สร้างบะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) นี้ด้วยกับอะมั้ล (การกระทำ) ต่างๆ ของตนเอง กล่าวคือ การกระทำ พฤติกรรมความดีและความชั่ว และการเคลื่อนไหวทั้งมวลของเราในขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะมีส่วนเกี่ยวข้องในการก่อรูปของบะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ใครก็ตามที่ปรารถนาจะให้เรือนร่างของเขามีความสวยงามประหนึ่งดังศาสดายูซุฟ (อ.) ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพในปรโลก เขาสามารถจะกระทำสิ่งนี้ได้ด้วยกับการกระกทำและพฤติกรรมต่างๆ ของตน หากเขาประพฤติและปฏิบัติสิ่งที่เป็นความดีงาม (ฮะซะนะฮ์) และความสวยงาม เรือนร่างของเขาก็จะออกมาในรูปที่สวยงามประหนึ่งดังยูซุฟ (อ.)
แต่หากเราประพฤติและปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความชั่ว (ขอพระผู้เป็นเจ้าอย่าทรงให้เป็นเช่นนั้นเลย) บะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) ของเราก็จะออกมาในรูปลักษณ์ที่ดำสนิทและน่าเกลียด ดังเช่นที่ในอัลกุรอานโองการที่ 106 และ 107 ของบทอาลุอิมรอนได้กล่าวว่า
يَوْمَ تَبْيَضُّ وُجُوهٌ وَتَسْوَدُّ وُجُوهٌ فَأَمَّا الَّذِينَ اسْوَدَّتْ وُجُوهُهُمْ أَكَفَرْتُم بَعْدَ إِيمَانِكُمْ فَذُوقُوا الْعَذَابَ بِمَا كُنتُمْ تَكْفُرُونَ وَأَمَّا الَّذِينَ ابْيَضَّتْ وُجُوهُهُمْ فَفِي رَحْمَةِ اللَّهِ هُمْ فِيهَا خَالِدُونَ
“วันซึ่งบรรดาใบหน้าจะขาวผ่อง และบรรดาใบหน้า (ของคนอีกกลุ่มหนึ่ง) จะดำคล้ำ สำหรับผู้ที่ใบหน้าของพวกเขาดำคล้ำนั้น (พวกเขาจะถูกถามว่า) พวกเจ้าได้ปฏิเสธศรัทธา หลังจากที่พวกเจ้าศรัทธาแล้วกระนั้นหรือ พวกเจ้าจงลิ้มรสของการลงโทษเถิด เนื่องจากการที่พวกเจ้าปฏิเสธศรัทธา และส่วนบรรดาผู้ที่ใบหน้าของพวกเขาขาวผ่องนั้น เขาจะอยู่ในความเมตตาของอัลลอฮ์ โดยที่พวกเขาจะอยู่ในความเมตตานั้นเป็นนิรันดร์” (5)
น้ำวุฎูอ์ นั้นคือรัศมี (นูร) และจะทำให้มนุษย์มีรัศมี (นูร) ในช่วงเวลาที่ท่านทั้งหลายล้างใบหน้าขณะทำวุฎูอ์นั้น ในความเป็นจริงแล้วท่านกำลังกล่าวกับพระผู้เป็นเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! ข้าพระองค์ของสารภาพผิดและกลับเนื้อกลับตัว (เตาบะฮ์) จากความชั่วต่างๆ ที่ข้าพระองค์ได้กระทำด้วยกับใบหน้าของข้าพระองค์ ดังนั้นขอพระองค์ทรงทำให้ใบหน้าของข้าพระองค์สะอาดบริสุทธิ์ด้วยเถิด”
ในช่วงที่ล้างมือทั้งสองในขณะทำวุฎูอ์ ควรจะกระทำด้วยเจตนา (เหนียต) ที่ว่า ท่านจะละเลิกจากความชั่วต่างๆ ที่กระทำด้วยมือ เป็นต้น… อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเป็นตัวสร้างและก่อรูปให้กับบะดัน มิซาลี (เรือนร่างแห่งความเหมือน) ของมนุษย์นั้นก็คือการกระทำ (อะมั้ล) เจตนา (เหนียต) และพฤติกรรมทั้งมวลที่มนุษย์จะกระทำมันในทุกขณะในการดำเนินชีวิตของเขาในโลกนี้
เชิงอรรถ :
[1] อัลกรุอานบทอัลมุอ์มินูน โองการที่ 99 และ 100
[2] อัลกุรอานบท อัลอะอ์รอฟ โองการที่ 187
[3] จาก : อัลมะกอบีซ, เล่มที่ 1, หน้าที่ 333 ; ลิซานุ้ลอะหรับ, เล่มที่ 3, หน้าที่ 8
[4] อัลกรุอานบท อัรเราะห์มาน โองการที่ 19 และ 20
[5] อัลกรุอานบท อาลุอิมรอน โองการที่ 106 และ 107