#มนุษย์สามารถที่จะรับรู้และจำแนกความดีความชั่วได้หรือไม่?
ความจริงมนุษย์สามารถที่จะรับรู้และสัมผัส ความดี ความชั่ว ความยุติธรรมและความอธรรมได้
ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า เด็กคนหนึ่งขณะกำลังกินขนม จู่ๆมีคนอื่นมาแย่งขนมไป
กรณีเช่นนี้ มนุษย์โดยทั่วไปสามารถ รู้ได้ไหมว่า การกระทำของคนๆนั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่?
แน่นอน มนุษย์สามารถรับรู้ได้ว่าการกระทำเช่นที่บุคคลดังกล่าวกระทำไปนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี และเป็นการละเมิดผู้อื่นด้วย และกรณีเดียวกัน หากมีอีกคนหนึ่งนำขนมกลับไปคืนให้เด็กคนนั้น มนุษย์ย่อมสามารถรับรู้ได้ว่าสิ่งนั้นเป็นการกระทำที่ดี
อีกตัวอย่าง หากบุคคลหนึ่งฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์การกระทำเช่นนี้ด้วยสามัญสำนึก มนุษย์ทุกคนรับรู้ได้ว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่ถูกต้อง และหากมีการจับฆาตกรมาลงโทษได้ มนุษย์ทุกคนก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีเหมาะสม ถูกต้องสมควร ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ สามัญสำนึกรับรู้สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสอนของศาสนาใดมาสำทับอีก เพราะสามัญสำนึกและสติปัญญาของมนุษย์สามารถรับรู้และแยกแยะได้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี
โดยพื้นฐานทั่วไป แม้มนุษย์สามารถรับรู้และจำแนกด้วยสติปัญญาได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วยังมีความดีอื่นๆอีกมาก ที่ลึกซึ้งและสูงส่ง ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยสติปัญญาพื้นฐาน แต่ยังไม่ขอกล่าวรายละเอียด ณ ที่นี้
– มีคำถามในทางปรัชญาว่าอะไร คือ สาเหตุที่มนุษย์สามารถรับรู้และจำแนกความดีความชั่วเบื้องต้นเหล่านั้นได้?
คำตอบ : เพราะสิ่งที่ดีและไม่ดี ความดีและความชั่วนั้น คือ สิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เมื่อมันมีอยู่จริง จึงทำให้สติปัญญาสามารรับรู้และจำแนกมันได้ แต่ทว่าก็ไม่ใช่ทุกคนจะมีความเชื่อในหลักพื้นฐานเช่นนี้ได้ จะเห็นได้ว่ายังมีข้อโต้แย้งอยู่ ในบางทัศนะเกี่ยวกับการรับรู้และการได้มาซึ่งความรู้ของมนุษย์
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับทัศนะต่างๆที่มีต่อข้อโต้แย้ง ดังกลุ่มต่อไปนี้
กลุ่มแรก เป็นแนวความคิดที่(อาชาอิเราะฮ์)อธิบายว่า มนุษย์ไม่สามารถรับรู้และแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี และยังเห็นว่ามนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นความดีหรือความไม่ดี และอธิบายว่า มนุษย์จะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อพระผู้เป็นเจ้าสอน และมีกรอบคิดเบื้องต้นว่า สิ่งที่พระองค์ใช้ให้ปฏิบัตินั้นคือสิ่งที่ดี และสิ่งที่พระองค์สั่งห้ามนั้นคือสิ่งที่ไม่ดี ถ้าปราศจากทัศนะของพระองค์กำกับเป็นบรรทัดฐานให้ก่อน มนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดีเลย
ทัศนะนี้จึงนำไปสู่ความเข้าใจผิดในเรื่องความยุติธรรมของพระผู้เป็นเจ้า เพราะพวกเขาอธิบายว่า เมื่อมนุษย์ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี มนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะรับรู้ได้ว่าอะไรคือความยุติธรรมและอะไรคือ ความไม่ยุติธรรม
ตรรกะหลัก ก็คือ สิ่งใดก็ตามที่พระองค์สั่งปฏิบัตินั้นคือ สิ่งดี ยุติธรรม และตรงข้ามกัน สิ่งใดที่พระองค์ทรงห้าม ไม่เห็นด้วยสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดี และยังอธิบายเชื่อมโยงไปเรื่อง กอฎอ กอฎัร(การกำหนดสภาวะ)
กรอบคิด คือ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นพระองค์ทรงอนุมัติให้บังเกิด หากแม้นพระองค์ไม่ทรงอนุมัติก็จะไม่มีสิ่งใดบังเกิดขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าตรรกะเช่นนี้มันย้อนแย้งอยู่ในตัว เพราะเท่ากับสรุปว่า ทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นมันย่อมผ่านการอนุมัติจากพระเจ้า อีกทั้งถูกนับรวมให้เป็นสิ่งที่ดีและยุติธรรมอีกด้วย แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏขึ้นกับมนุษย์ การมีอยู่ของ พวกฏอฆูต พวกทรราชผู้กดขี่ อย่างเช่น มูอาวียะฮ์ ยาซีด ได้ขึ้นมาเป็นผู้ปกครองนั้น เราจะอธิบายว่าเป็นการอนุมัติให้เกิดขึ้นโดยพระองค์กระนั้นหรือ? และทัศนะเช่นนี้ การอนุมัติให้บังเกิดถือว่า เป็นสิ่งที่ยุติธรรม เพราะถ้าไม่ยุติธรรมพระองค์ก็จะไม่อนุมัติให้มันบังเกิดขึ้น
จะเห็นได้ว่า ทัศนะเช่นนี้ จะย้อนแย้งในตรรกะอย่างยากจะหาคำตอบ ที่สติปัญญาขั้นพื้นฐานจะรับได้
ซึ่งนับเป็นข้อพิสูจน์หนึ่ง เบื้องต้นที่เราได้อธิบายไปแล้วว่า ความดีความชั่วนั้นมันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติวิสัย โดยมนุษย์สามารถที่จะรับรู้และจำแนกแยกแยะได้ด้วยสติปัญญา เพราะพระองค์จะส่งเสริมสนับสนุนให้กระทำแต่ความดีเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อเป็นความดีเท่านั้นที่พระองค์จึงจะสั่งใช้ให้ปฏิบัติ
ดังนั้น การที่มีความไม่ยุติธรรม การกดขี่ หรือ สิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นนั้น มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระองค์ เพราะพระองค์จะไม่ทำสิ่งเหล่านี้ แต่ที่มันมีอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเอง
ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่มีทรราชขึ้นมาปกครองนั้น มันคือการกดขี่เป็นความอธรรม และมนุษย์ไม่สามารถที่จะอ้างได้ว่า สิ่งนียุติธรรมแล้วเพราะเป็นสิ่งที่พระองค์ทำให้เกิดขึ้น เช่นนี้เป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้อง มันขัดกับนิยามข้อที่สี่ของความยุติธรรม คือการวางทุกสิ่งทุกอย่างไว้ในที่ที่เหมาะสมของมัน
การขึ้นมาปกครองของทรราช ผู้กดขี่ ย่อมไม่ใช่ที่เหมาะสมของบุคคลประเภทนี้เพราะจะทำให้สังคมมนุษย์เสียหาย และถ้าพิจารณากับความยุติธรรมตามนิยามข้อที่สาม คือการให้สิทธิตามที่ควรจะได้รับ ฉะนั้นทรราชไม่ควรมีสิทธ์ขึ้นมาปกครอง พวกเขาไม่ดีพอ
ดังนั้น การขึ้นมาปกครองของบรรดาทรราชจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระองค์ เพราะสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อมันเป็นสิ่งที่ไม่ดีเราก็ไม่อาจที่จะกล่าวได้ว่ามันเป็นความยุติธรรม
การที่กลุ่มทัศนะตามแนวความคิดนี้(อาชาอิเราะฮ์) อธิบายว่า การที่ทรราชเป็นผู้ปกครองก็เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากพระองค์ทำให้เขาขึ้นมาปกครอง
ตัวชี้วัดความยุติธรรมตามทัศนะของกลุ่มนี้ คือ พิจารณาจากยังสิ่งที่พระองค์อนุมัติให้เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่เช่นนั้น พระองค์ได้สร้างกฎธรรมชาติของโลกสรรรพสิ่งไว้ ถ้ามนุษย์ทำไปตามเหตุและเงื่อนไขของมัน ผลลัพธ์ของมันก็จะเกิดขึ้นตามนั้น ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี มันเป็นกฎของธรรมชาติ เช่น ผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพก็จะทำให้ร่างกายแข็งแรง ตรงข้ามกันผลลัพธ์ของการปล่อยปละละเลย จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอหรือเกิดโรคได้ หรือสมมุติ ผลของการเอาเข็มจิ้มไปที่ดวงตา คือ ส่งผลทำให้ตาบอด
ดังนั้น การที่ทรราชขึ้นมาปกครองนั้น ย่อมมีที่มา มีเหตุ มีเงื่อนไขประกอบ ทั้งจากเล่ห์เหลี่ยม การฉ้อโกง หรืออาชญกรรมที่ก่อขึ้นจนทำให้พวกเขาได้ขึ้นมาปกครอง แต่สาเหตุที่ทำให้กลุ่มนี้(อาชาอิเราะห์) เชื่อว่ามันยุติธรรมแล้ว ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าความดีและไม่ดี ไม่มีอยู่จริงตามธรรมชาติและมนุษย์ไม่สามารถที่จะรับรู้แยกแยะได้ว่าอันใดดีหรือไม่ดี อันใดยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ดังนั้น เมื่อพระเจ้าให้บังเกิดมันย่อมดี และยุติธรรม