ไทยแลนด์
Tuesday 24th of December 2024
0
نفر 0

ความรู้ของอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ในวัย 9 ขวบ

ความรู้ของอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ในวัย 9 ขวบ



ความรู้ของอิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ) ในวัย 9 ขวบ

 

จากหลักฐานที่มีรายงานมาทั้งฮะดีษและบันทึกประวัติศาสตร์ คอลีฟะฮ์ จากตระกูลบนีอับบาส ( ราชวงศ์ อับบาซียะฮ์ ) นั้นได้ทำการทารุณกรรม กดขี่ขมเหงและสังหาร อะฮ์ลุลบัยต์ (อ) วงศ์วานของท่านศาสดาผู้บริสุทธิ์มากมายกว่าราชวงศ์ บนีอุมัยยะฮ์ เสียอีก

 

"บนีอุมัยยะฮ์" นั้นจะใช้กำลังอาวุธ และความรุนแรงป่าเถื่อนสร้างความชอบธรรมในการปกครองให้กับตนเอง จึงทำให้อันตรายของพวกเด่นชัดขึ้นในสายตาของประชาชน แต่ทว่าพวก "บนีอับบาส" นั้นจะใช้เล่ห์เหลี่ยมกลโกงเป็นตัวนำ โดยใช้นโยบาย " ใบมีดอาบน้ำผึ้ง " ขจัดฝ่ายตรงข้าม ดังนั้นความรู้สึกในสายตาประชาชนจึงเห็นว่าพวกนี้เป็นอันตรายไม่มากนัก

 

หนึ่งในนั้นก็คือ "คอลีฟะฮ์ อัลมะอ์มูน" จาก บนีอับบาส ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สังหาร ท่านอิมาม อลี อัลริฏอ (อ) อิมามท่านที่แปดจาวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ด้วยการวางยาพิษ และหลังจากนั้นก็ได้วางแผนชั่วร้ายด้วยการจัดอภิเษกสมรส "อุมมุล ฟัฏล์" ลูกสาวของตนให้กับท่าน อิมาม มุฮัมมัด อัลญะวาด(อ) แต่อีกด้านหนึ่งก็พยายามที่จะทำลายภาพลักษณ์ของท่านอิมาม ญะวาด (อ) ตลอดเวลา ซึ่งในแต่ละครั้งผลลัพธ์ของมันก็สร้างความมึนงงให้แก่เขาทุกครั้ง

 

ครั้งหนึ่ง คอลีฟะฮ์ มะอ์มูน ต้องการที่จะทำลายความเชื่อมั่นของบรรดาชีอะฮ์ ในตัวของท่านอิมาม ญะวาด (อ) ให้หมดลง เนื่องจากว่าในขณะนั้นซึ่งท่านอิมามญะวาด (อ) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมาม (ผู้นำ) ประชาชาติมุสลิม ท่านอิมามญะวาด (อ) มีอายุได้เพียง 9 ขวบเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นแห่งยุคของการมีอิมามที่อยู่ในวัยเด็ก

 

ด้วยเหตุนี้แผนการณ์ทำลายอิมามญะวาด (อ) จึงถูกจัดขึ้น โดยการจัดให้มีการถกประลองความรู้ในเรื่องศาสนาขึ้น และคอลีฟะฮ์ มะอ์มูน ได้เชิญบรรดาอาลิมอุลามาอ์ ผู้รู้ จากทุกสารทิศมาในงานนี้อย่างมากมาย หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "กอฏี ยะฮ์ยา บินอักษัม" ผู้คงแก่เรียน ที่มีความรู้ และมีไหวพริบชึ้นสูง ซึ่งได้ถูกตระเตรียมไว้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

 

 

หลังจากที่ทุกคนมาพร้อมกันแล้ว "กอฏี ยะฮ์ยา บินอักษัม" ได้กล่าวกับ คอลีฟะฮ์ อัลมะอฺมูน ว่า "โอ้ อะมีรุลมุอฺมินีน อนุญาตให้ฉันถาม อะบูญะอ์ฟัร มุฮัมมัด ญะวาดได้หรือไม่?"

คอลิฟะฮ์ อัลมะอฺมูน กล่าวว่า "เจ้าจงขออนุญาตจากตัวเขาเองก็แล้วกัน"

ยะฮ์ยา บิน อักษัม จึงหันไปทางท่านอิมามญะวาด (อ) แล้วถามขึ้นว่า "ท่านจะนุญาตให้ฉันถามได้หรือไม่?"

ท่านอิมาม ญะวาด (อ) กล่าวว่า "จงถามมาเถิดในสิ่งที่ท่านอยากถามฉัน"

กอฏี ยะฮ์ยา จึงถามขึ้นว่า "ฮุกุ่ม (บทบัญญัติ) ได้ทำการล่าสัตว์ของผู้ที่ครองเอี๊ยะฮ์รอม (ใส่ชุดสำหรับทำพิธีฮัจญ์) แล้วนั้น มีอย่างไรบ้าง?"

 

ท่านอิมาม ญะวาด (อ) ได้ตอบทันควันว่า "ท่านหมายถึงในกรณีใดหรือ? อาธิเช่น เขาได้ทำการล่าในเขต หรือนอกเขตของฮาร๊อม?, ผู้ที่ล่าสัตว์เป็น อาลิม หรือ ญาฮิล?, ผู้ล่าสัตว์ทำกระทำด้วยเจตนา หรือความเผอเรอ?, ผู้ล่าสัตว์ บาลิฆ บรรลุนิติภาวะหรือไม่?, เป็นการปฏิบัตครั้งแรก หรือปฏิบัติหลายครั้งแล้วในเขตฮาร๊อม?, สัตว์ที่ถูกล่าเป็น สัตว์เล็ก หรือสัตว์ใหญ่?, เป็นสัตว์ปีก หรือสัตว์สี่เท้า?, เขาล่าสัตว์ในตอนกลางวัน หรือกลางคืน?, อยู่ในเอี๊ยะฮ์รอมของฮัจญ์ หรืออุมเราะฮ์?, และหลังจากกระทำแล้วเขาสำนึกผิดหรือไม่? "

 

คำถามข้อปลีกและย่อยรายละเอียดต่างๆ ที่ท่านอิมามญะวาด (อ) ถามกลับไป ทำให้ "ยะฮ์ยา บินอักษัม" ถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก ตอบไม่ถูกว่าจะเป็นกรณีไหนดี เขาเองนึกไม่ถึงว่าท่านอิมามญะวาด (อ) ซึ่งมีอายุแค่วัย 9 ขวบ จะมีความรู้ในข้อปลีกย่อยของปัญหาอย่างมากมายเช่นนี้

 

และในบางรายงานนั้นมีบันทึกว่าท่านอิมามญะวาด (อ) ได้ถาม "ยะฮ์ยา บินอักษัม" กลับไปในข้อปลีกย่อยถึง 40 กรณีด้วยกัน ว่าหมายถึง อันไหนกันแน่!! และหลังจากนั้นท่านอิมามญะวาด (อ) ก็ได้อธิบายอย่างละเอียดให้ อิบนุ อักษัม ในทุกกรณีด้วยเช่นกัน มิได้ถามกลับอย่างเดียว

 

คอลีฟะฮ์ มะอ์มูน จึงได้กล่าวว่า "โอ้ บุตรของศาสดาคราวนี้ท่านถามเขาบ้างเถิด" ท่านอิมาม ญะวาด (อ) จึงได้ถามว่า จงฟังเรื่องดังต่อไปนี้ให้ดี แล้วตอบฉันว่า "สตรีคนนี้คือใคร?"

"ตอนเช้า ชายคนหนึ่งได้มองไปยังหญิงสาวคนหนึ่งทว่าการมองของเขาเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม)"

"ตอนสายๆ หญิงสาวคนนั้นก็เป็นที่อนุญาต (ฮะลาล) สำหรับเขา"

"ตอนเที่ยง หญิงสาวคนนั้นก็เป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับเขา"

"ตอนบ่ายคล้อย หญิงสาวคนนั้นก็เป็นที่อนุญาต (ฮะลาล) สำหรับเขา"

"เมื่อตอนดวงอาทิตย์ตกดิน หญิงสาวคนนั้นกลายเป็นที่ต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับเขา"

"พอตกตอนดึกหญิงสาวคนนั้นเป็นที่อนุญาต (ฮะลาล) สำหรับเขา"

"ในเวลาเที่ยงคืนหญิงสาวคนนั้นเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) อีกครั้งสำหรับเขา"

"แต่พอเวลาล่วงเข้าเวลานมาซ ซุบฮ์ หญิงสาวคนนั้นก็กลับเป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล) สำหรับเขาเหมือนเดิม"

อิบนุ อักษัม ได้ตอบอย่างทันทีว่า "ขอสาบานต่อพระผู้ทรงเป็นเอกะ ทั้งคำตอบ และสาเหตุของมันนั้นฉันไมรู้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่ถ้าหากเป็นไปได้ขอให้ท่านได้อธิบายแก่พวกเราด้วย"

 

ท่านอิมาม ญะวาด (อ) จึงได้ตอบและอธิบายให้พวกเขาฟังว่า "สตรีนางนั้น คือ ทาสหญิงของชายคนหนึ่ง"

"การมองเธอจึงเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับชายคนนั้น"

"แต่พอตอนสายๆ ชายคนนั้นก็ได้ซื้อเธอมา จึงทำให้เธอเป็นที่อนุญาต (ฮะลาล) สำหรับเขา"

"พอตอนเที่ยงเขาก็ได้ปล่อยทาสหญิงคนนั้นของเขาให้เป็นอิสระ เธอจึงเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับเขา"

"ในตอนบ่ายคล้อยชายคนนั้นก็ได้ขอเธอแต่งงาน หญิงสาวคนั้นจึงเป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล) อีกครั้งสำหรับเขา"

"แต่พอดวงอาทิตย์ตกดินเขาได้ทำการ "ซิฮาร" ต่อภรรยาของเขา (คือการกล่าวของสามีแก่ภรรยาของตนเองว่า "ก้นของเธอนั้นเหมือนกับของพี่สาวน้องสาวหรือมารดาของฉัน" บทบัญญัตในกรณีดังกล่าวภรรยาจะเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสามี จนกว่าจะมีการจ่ายกัฟฟาเราะฮ์ (ค่าปรับ) เสียก่อนเท่านั้น) การร่วมหลับนอนกับนางจึงเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับเขา"

"แต่พอตอนดึกเขาได้ทำการจ่าย "กัฟฟาเราะฮ์" (ค่าปรับที่กล่าว "ซิฮาร") นางจึงที่อนุมัติ (ฮะลาล) สำหรับเขาอีกครั้ง"

"เมื่อถึงเที่ยงคืนเขาก็ได้ทำการ "ฏอลาก ริจญ์อี" (การหย่าร้างที่สามารถกลับมาอยู่ด้วยกันได้ก่อนที่จะครบกำหนดอิดดะฮ์ โดยไม่ต้องอ่านนิกะฮ์ใหม่) นางจึงเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) สำหรับเขา"

"ทว่าเมื่อเข้าเวลานมาซซุบฮ์เขาได้คืนดี และกลับมาหานาง นางจึงเป็นสิ่งอนุญาต (ฮะลาล) อีกครั้งสำหรับเขา"

เมื่ออิมามญะวาด (อ) ได้ตอบ และอธิบายจนจบ คอลีฟะฮ์ มะอ์มูน ก็ได้พูดขึ้นเพื่อเป็นการแก้หน้าให้กับตัวเอง และพรรคพวกว่า "พวกท่านเห็นหรือยังว่า ทำไมฉันจึงต้องการให้ลูกสาวของฉัน แต่งงานกับเขา ถึงแม้ว่าอายุของเขายังน้อยอยู่ก็ตาม หรือว่าในหมู่พวกท่านมีใครสามารถตอบคำถามแบบนี้ได้บ้างไหม"

 

ทุกคนจึงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ไม่มีใครในหมู่พวกเราที่จะตอบปัญหาเช่นนี้ได้แน่นอน"

มะอ์มูนจึงได้กล่าวว่า "ความวิบัติจะมีแด่พวกท่าน!! ไม่รู้ดอกหรือว่าไม่มีใครจะมาเทียบเคียงในความรู้ความประเสริฐ และความสูงส่งกับ "อะฮ์ลุลบัยต์" ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ได้ ถึงแม้พวกเขาจะอยู่ในวัยเด็กก็ตาม"

 

แปลและเรียบเรียงโดย เชคอะลี ฟารุก

ขอขอบคุณเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์ออนไลน์

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
...
...
...
อัรบาอีน ...
มนุษย์เรามีหน้าที่อะไรบ้าง ...
จริยธรรมของอิมามมูซา กาซิม (อ.)
ชีวประวัติอิมามมุฮัมมัด อัล ...
อิมามะฮ์ ...
...

 
user comment