การถือศีลอดกับความอดทน
ความอดทน (ซ็อบร์) คือคุณลักษณะประการหนึ่งที่ถูกเน้นย้ำอย่างมากในจริยธรรมอิสลาม มนุษย์ผู้เป็นมุสลิม การดำเนินชีวิตส่วนบุคคลและทางสังคมของตนเอง เขาจะต่อสู้ในหนทางของเป้าหมายต่างๆ และจะต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคขวากหนามอย่างมากมายด้วยเช่นกัน ซึ่งหากปราศจากคุณลักษณะของความอดทน (ซ็อบร์) แล้ว การมีชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งหลาย และการไปถึงยังเป้าหมายต่างๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก ความอดทน (ซ็อบร์) และการมีความอดกลั้น (ตะฮัมมุล) จะช่วยเพิ่มพูนพลังแห่งการยืนหยัดและการต่อสู้ให้แก่มนุษย์ และจะทำให้เจตนารมณ์ของเขาเกิดความเข้มแข็งและมั่นคง สังคมใดก็ตามที่ปราศจากความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์ยาก ย่อมไม่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ไปได้ และไม่สามารถที่จะมีชัยชนะเหนือศัตรูได้ ด้วยกับความอดทนอดกลั้นและการยืนหยัดเท่านั้นที่จะสามารถเผชิญหน้ากับบรรดาผู้อธรรม และสามารถทำลายล้างบรรดานักล่าผลประโยชน์ลงได้
การถือศีลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวันทั้งหลายที่ร้อนจัดและยาวนานของฤดูร้อน จะช่วยเสริมสร้างพลังแห่งความอดทนและการยืนหยัดให้แก่มนุษย์ และจะทำให้ความอดทนอดกลั้นต่อความทุกข์และความยากลำบากกลายเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับมนุษย์ ในฮะดีษบทหนึ่งจากท่านอิมามบากิร (อ) ได้กล่าวว่า : ในวันศุกร์สุดท้ายของเดือนชะอ์บาน ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวคุฏบะฮ์ (เทศนา) ตอนหนึ่งของท่าน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงเดือนร่อมะฎอนในนามเดือนแห่งความอดทน (ซ็อบร์) โดยกล่าวว่า “(เดือนรอมฎอนคือ) เดือนแห่งความอดทน และพึงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริงผลรางวัลของความอดทนนั่นคือสรวงสวรรค์”
และมีคำรายงาน (ริวายะฮ์) จากท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ) เกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษข้อนี้ของการถือศีลอดไว้เช่นเดียวกัน โดยที่ท่านได้กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่ภัยพิบัติและความทุกข์ยากได้มาประสพกับบุคคลหนึ่ง ดังนั้นเขาจงถือศีลอด เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร ทรงตรัสว่า : และพวกเจ้าจงแสวงหาความช่วยเหลือด้วยความอดทน หมายถึง ด้วยการถือศีลอด“
การแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อบรรดาผู้ยากไร้
บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) ได้กล่าวถึงเดือนรอมฎอนไว้ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) และบทดุอาอ์ต่างๆ ว่า “เป็นเดือนแห่งการแสดงออกซึ่งความเห็นอกเห็นใจ (มุวาซาต)”
ผลอันชัดเจนประการหนึ่งที่เกิดจากการถือศีลอด คือการปลุกจิตสำนึกในความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ผู้อ่อนแอและมีความยากจนขัดสน บุคคลที่มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย ไม่เคยสัมผัสกับความทุกข์ยากจากความยากไร้และความหิวโหย เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะหลงลืมจากการนึกถึงคนยากจน การถือศีลอดนี่เองที่จะเป็นสื่อหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากสภาพของความหลงลืมดังกล่าว และจะทำให้พวกเขาได้รำลึกและรับรู้ถึงความทุกข์ยากต่างๆ ของคนยากจน เพื่อว่าพวกเขาจะได้เกิดความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกเอื้ออาทร ให้การแบ่งปันและความช่วยเหลือแก่ผู้ยากจนขัดสนเหล่านั้น
ในฮะดีษบทหนึ่ง มีผู้ถามท่านอิมามฮะซัน อัสการี (อ) ว่า “ทำไมการถือศีลอดจึงถูกกำหนดให้เป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ)” ท่านอิมาม (อ) ได้ตอบว่า “เพื่อว่าคนร่ำรวยจะได้รับรู้ถึงความทุกข์ยากของความหิวโหย และจะได้รำลึกถึงคนยากจน”
ในฮะดีษอีกบทหนึ่งมีเนื้อความว่า : ฮิชาม บินฮะกัม ได้สอบถามท่านอิมามซอดิก (อ) เกี่ยวกับเหตุผลของการถือศีลอด ท่านอิมามซอดิก (อ) ตอบว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้การถือศีลอดเป็นหน้าที่บังคับ ก็เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันและความเห็นอกเห็นใจกันระหว่างคนรวยและคนจน เนื่องจากโดยปกติแล้ว คนรวยไม่เคยได้สัมผัสกับความหิวโหย ที่จะทำให้พวกเขารู้สึกเมตตาสงสารคนจน คนรวยเมื่อเขาต้องการสิ่งใดเขาก็สามารถที่จะจัดหามันมาได้ ด้วยเหตุนี้อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งทรงประสงค์ที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในระหว่างปวงบ่าวของพระองค์ และจะทรงทำให้คนรวยได้ลิ้มรสของความหิวโหยและความทุกข์ยาก เพื่อพวกเขาจะได้เอื้ออาทรต่อผู้ที่อ่อนแอและเมตตาต่อผู้ที่หิวโหย”
ขอขอบคุณเว็บไซต์ เลิฟฮูเซน