วิธีการรู้จักอิมาม
สามารถรู้จักอิมามได้ 2 ทางกล่าวคือ
1. ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นอิมามตามพระบัญชา ของอัลลอฮฺ (ซบ.)
2. อิมามท่านก่อนได้แนะนำอิมามท่านถัดมาหลังจากท่าน
อิมามผู้นำ 12 ท่านของชีอะฮฺได้ถูกแนะนำไว้ทั้ง 2 วิธีกล่าวคือ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แต่งตั้งอิมามและแนะนำให้ประชาชาติรู้จักด้วยตัวท่านเองตามริวายะฮฺที่กล่าวมา ประกอบกับอิมามทุกท่านก่อนที่จะจากไป ท่านจะแนะนำอิมามท่านต่อมาหลังจากท่าน เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนเกิดความสับสน
ขอนำเสนอฮะดีษที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวถึงสถานภาพของอิมามภายหลัง จากท่าน 1 ฮะดีษเพื่อเป็นตัวอย่าง ซึ่งจะเห็นว่าท่านศาสดาไม่ได้สิ้นสุดอยู่แค่ประกาศ แต่งตั้งท่านอะลี ให้เป็นอิมามเท่านั้น ทว่าท่านได้แนะนำอยู่เสมอว่าภายหลังจากท่านจะมีอิมาม หรือเคาะลิฟะฮฺอีก 12 ท่านเพื่อปกป้องศาสนา และเชิดชูเกียรติยศของอิสลามให้สูงส่ง
ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า
“ศาสนาอิสลามที่มั่นคงจะไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะมีเคาะลิฟะฮฺ 12 ท่าน”
“ศาสนาอิสลามที่ยิ่งใหญ่จะไม่มีวันสิ้นสุด จนกว่าจะมีเคาะลิฟะฮฺ 12 ท่าน”
กล่าวว่าริวายะฮฺที่บ่งบอกถึงเคาะลิฟะฮฺ 12 ท่าน เป็นริวายะฮฺที่เชื่อได้ทั้งชีอะฮฺ และซุนนะฮฺ และมีบันทึกอยู่ในตำราที่เชื่อได้ของอะฮฺลิซซุนนะฮฺ
จากฮะดีษที่กล่าวมาจะพบว่าความยิ่งใหญ่ ความอยู่รอด และศักดิ์ศรีของอิสลาม จะดำรงสืบต่อไปขึ้นอยู่กับเคาะลิฟะฮฺทั้ง 12 ท่าน และไม่อาจจะเป็นผู้อื่นไปได้ นอกจากอิมามทั้ง 12 ท่านที่ชีอะฮฺได้ยึดถือ ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวกุเรช และเป็นลูกหลาน ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทั้งสิ้น เนื่องจากเคาะลิฟะฮฺที่มาจากเชื้อสายของอะมะวียฺ และอับบาซียฺไม่ได้ทำให้อิสลามยิ่งใหญ่ และมีเกียรติแต่อย่างใด อีกทั้งยังได้ทำให้อิสลาม เสื่อมเสียชื่อเสียงอีกต่างหาก ประกอบกับจำนวน 12 ไม่ตรงกับจำนวนเคาะลิฟะฮฺ ทั้งสองเชื้อสาย ด้วยเหตุนี้คำว่า เคาะลิฟะฮฺ 12 ท่าน จึงหมายถึงอิมาม 12 ท่าน ตามที่ชีอะฮฺมีความเชื่อ
อิมาม 12 ท่านที่ชีอะฮฺมีความเชื่อตามหลักการได้แก่
1. ท่านอิมามอะมีรุลมุอฺมินีน อะลี บิน อะบีฏอลิบ (อ.) ประสูติ 10 ปีก่อนการบิอฺซัต (แต่งตั้งท่านมุฮัมมัดให้เป็นศาสดา) ชะฮีด ปี ฮ.ศ.ที่ 40 ฝังอยู่ ณ สุสานที่เมือง นะญัฟอัชรอฟ ประเทศอีรัก
2. ท่านอิมามฮะซัน บิน อะลี (อ.) มีฉายานามว่า มุจตะบา ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 3 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 50 ฝังอยู่ ณ สุสานญันนะตุลบะกีอฺ เมืองมะดีนะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
3. ท่านอิมามฮุซัยนฺ บิน อะลี (อ.) มีฉายานามว่า ซัยยิดุชชุฮะดา ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 4 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 61 ฝังอยู่ ณ สุสานเมือง กัรบะลา ประเทศอิรัก
4. ท่านอิมามอะลี บิน ฮุซัยนฺ (อ.) มีฉายานามว่า ซัยนุลอาบิดีน ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 38 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 94 ฝังอยู่ ณ สุสานญันนะตุลบะกีอฺ เมืองมะดีนะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
5. ท่านอิมามมุฮัมมัด บิน อะลี (อ.) มีฉายานามว่า บากิรุลอุลูม ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 57 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 114 ฝังอยู่ ณ สุสานญันนะตุลบะกีอฺ เมืองมะดีนะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
6. ท่านอิมามญะอฺฟัร บิน มุฮัมมัด (อ.) มีฉายานามว่า ซอดิก ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 83 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 148 ฝังอยู่ ณ สุสานญันนะตุลบะกีอฺ เมืองมะดีนะฮฺ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
7. ท่านอิมามมูซา บิน ญะอฺฟัร (อ.) มีฉายานามว่า อัลกาซิม ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 128 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 183 ฝังอยู่ ณ สุสานเมืองกาซิเมน ประเทศอิรัก
8. ท่านอิมามอะลี บิน มูซา (อ.) มีฉายานามว่า อัรริฏอ ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 148 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 203 ฝังอยู่ ณ สุสานเมืองโคราซาน (มะชัด) ประเทศอิหร่าน
9. ท่านอิมามมุฮัมมัด บิน อะลี (อ.) มีฉายานามว่า ญะวาด ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 195 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 220 ฝังอยู่ ณ สุสานเมืองกาซิเมน ประเทศอิรัก
10. ท่านอิมามอะลี บิน มุฮัมมัด (อ.) มีฉายานามว่า ฮาดี ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 212 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 254 ฝังอยู่ ณ สุสานเมืองซามัรรอ ประเทศอิรัก
11. ท่านอิมามฮะซัน บิน อะลี (อ.) มีฉายานามว่า อัซการียฺ ประสูติ ปี ฮ.ศ. ที่ 232 ชะฮีด ปี ฮ.ศ. ที่ 260 ฝังอยู่ ณ สุสานเมืองซามัรรอ ประเทศอิรัก
12. ท่านอิมามมุฮัมมัด บิน ฮะซัน (อ.) ถูกรู้จักในนามของ อิมามฮุจญัต หรืออิมามมะฮฺดียฺ (ขอให้อัลลอฮฺ (ซบ.) โปรดให้ท่านปรากฏกายโดยเร็วด้วยเถิด) ท่านเป็นอิมามที่ 12 มีชีวิตอยู่ตราบจนถึงปัจจุบันในสภาพที่เร้นกายตามพระบัญชา ของอัลลอฮฺ (ซบ.) และจะปรากฏกายอีกครั้งตามพระประสงค์ของพระองค์ ซึ่งเป็นไป ตามสัญญาที่อัล-กุรอานได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺ นูร/54, เตาบะฮฺ/33, ฟัตฮฺ/28, ซอฟ/9, และฮะดีซมุตะวาติร ที่กล่าวว่าอิสลามจะปกครองทั่วแผนดิน
ชีวประวัติของบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) บันทึกอยู่ในตำราประวัติศาสตร์ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากตำราเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจที่จะนำมากล่าวในหนังสือที่มี ความจำกัดในเนื้อหาสาระ ส่วนประเด็นที่กล่าวว่า ท่านอิมามมะฮฺดียฺ (อ.) ยังมีชีวิตอยู่ ตราบจนถึงปัจจุบันเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า ที่ทรงทำให้โลกไม่ปราศจาก เหตุผลของพระองค์ ส่วนรายระเอียดและเหตุผลจะนำเสนอในข้อต่อไป
ความรักที่มีต่อครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นข้อบังคับเหนือมุสลิมทุกคน ตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทั้งอัล-กุรอานและฮะดีซได้เน้นไว้อย่างมาก เช่น โองการที่ กล่าวว่า
قُل لَّا أَسْأَلُكُمْ عَلَيْهِ أَجْرًا إِلَّا الْمَوَدَّةَ فِي الْقُرْبَى
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ฉันมิได้ขอร้องค่าตอบแทนใด ๆ เพื่อการนี้ เว้นแต่เพื่อ ความรักในเครือญาติสนิท”
จุดประสงค์ของคำว่า กุรบา หมายถึงลูกหลานสนิทของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไม่ใช่ของผู้อื่น ด้วยเหตุผลที่ว่าท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นผู้ขอร้อง
ความรักที่มีต่อลูกหลานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นอกจากจะเป็นความสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นสาเหตุนำไปสู่ความใกล้ชิด และเป็นการลอกเรียนแบบวิถีชีวิตของมนุษย์ผู้สมบูรณ์ อีกต่างหาก ทำให้ตัวเรามีความสมบูรณ์เหมือนกับพวกเขาฮะดีซมุตะวาติรจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า
“ความรักที่มีต่อลูกหลานของฉันเป็นสัญลักษณ์ของอีมาน (ความศรัทธา) ส่วนการเป็นศัตรูกับพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ของพวกปฏิเสธ (กาฟิร)”
“บุคคลใดก็ตามรักอะฮฺลุลบัยตฺ เท่ากับได้รักอัลลอฮฺ และเราะซูล และบุคคลใด เกลียดชังหรือเป็นศัตรูกับพวกเขา เท่ากับเกลียดชังและเป็นศัตรูกับอัลลอฮฺ และเราะซูล”
ความรักที่มีต่ออะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) เป็นความจำเป็นของศาสนา ไม่อนุญาตให้สงสัย หรือมีความคลางแคลงใจ มุสลิมทุกกลุ่มมีความเห็นพ้องต้องกัน ยกเว้นพวก นะวาซิบ หมายถึงพวกที่เกลียดชัง และด่าว่าอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้ เป็นมุสลิม
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์