ความเศร้าโศกเสียใจต่อการถูกสังหารของท่านอิมามฮุเซน (อ.)
ความร้ายแรงและความใหญ่หลวงของโศกนาฏกรรมและความอธรรมที่เกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) นั้น ทำให้การร่ำไห้และการแสดงความเศร้าโศกเสียใจได้อยู่เคียงคู่กับนามชื่อของท่านอิมามฮุเซน (อ.) เสมอมา ทำนองเดียวกัน คุณลักษณะของความเป็นเสรีชน ความกล้าหาญ การพิทักษ์ปกป้องศาสนาและคุณค่าต่างๆ ของอิสลาม ก็ถูกผสมผสานอยู่กับนามชื่อของท่าน
ความใหญ่หลวงและความหนักหน่วงของเหตุการณ์นี้ ส่งผลกระทบและได้สร้างความเจ็บปวดแก่มุสลิมทั้งมวล แม้แต่บรรดาทวยเทพ (มะลาอิกะฮ์) ที่รายล้อมอยู่รอบบัลลังก์ (อะรัช) ของพระผู้เป็นเจ้า และผู้ที่อาศัยอยู่ในฟากฟ้าและแผ่นดินทั้งหลาย ต่างได้รับผลกระทบจากความหนักหน่วงของเหตุการณ์ดังกล่าว
ในบทซิยาเราะฮ์อาชูรอที่เราอ่านกันอยู่เป็นประจำได้กล่าวว่า :
وَجَلَّتْ وَعَظُمَتِ الْمُصيبَةُ بِكَ عَلَيْنا وَعَلى جَميعِ اَهْلِ الإسْلامِ وَجَلَّتْ وَعَظُمَتْ مُصيبَتُكَ فِي السَّماواتِ عَلى جَميعِ اَهْلِ السَّماواتِ
“ความทุกข์ทรมาน (และการสูญเสีย) ที่เกิดขึ้นกับท่านนั้น หนักหน่วงและใหญ่หลวงยิ่งนักสำหรับพวกเราและสำหรับผู้ที่ยอมรับอิสลามทั้งมวล ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และสำหรับชาวฟากฟ้าทั้งมวล” (1)
ในทำนองเดียวกัน ในเนื้อหาส่วนแรกๆ ของบทซิยาเราะฮ์มุฏละเกาะฮ์ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า :
وَاقْشَعَرَّتْ لَهُ اَظِلَّةُ الْعَرْشِ، وَبَكى لَهُ جَميعُ الْخَلائِقِ وَبَكَتْ لَهُ السَّماواتُ السَّبْعُ وَالاَْرَضُونَ السَّبْعُ
“ร่มเงาทั้งหลายของอะรัช (บัลลังก์) ได้สั่นสะเทือน เนื่องจาก (การถูกสังหารของ) ท่าน และสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหมดได้ร่ำไห้ต่อท่าน และชั้นฟ้าทั้งเจ็ดและแผ่นดินทั้งเจ็ดได้ร่ำไห้ต่อท่าน” (2)
ในเนื้อหาส่วนนี้เราจะมาพิจารณาประวัติความเป็นมาของการแสดงความเศร้าโศกเสียใจและการหลั่งน้ำตาให้กับการถูกสังหารของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ซึ่งสามารถพิจารณาได้ใน 3 ส่วนด้วยกันคือ :
การร่ำไห้ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก่อนการถือกำเนิด (วิลาดัต) ของท่าน
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) เราจะพบว่าบรรดาศาสดาของพระผู้เป็นเจ้า นับเป็นเวลาหลายพันปีก่อนหน้าการถือกำเนิดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่พวกท่านเมื่อได้รับฟังเรื่องราวโศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลา พวกท่านต่างร้องไห้และเศร้าโศกเสียใจกับการถูกอธรรมและมุซีบัต (ความทุกข์ทรมานและการสูญเสีย) ที่เกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในริวายะฮ์บทหนึ่งได้กล่าวว่า ในช่วงที่ญิบรออีล (อ.) ได้สอนถ้อยคำต่างๆ ให้กับท่านศาสดาอาดัม (อ.) เพื่อทำการเตาบะฮ์ (สารภาพผิดและขอลุแก่โทษ) ต่ออัลลอฮ์ และเมื่ออาดัม (อ.) ได้วิงวอนขอต่ออัลลอฮ์โดยผ่านสื่อ (ตะวัซซุล) นามชื่อของบุคคลทั้งห้า (คือมุฮัมมัด อะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซันและฮุเซน) แต่เมื่อกล่าวถึงนามชื่อของฮุเซน หัวใจของอาดัม (อ.) ต้องแตกสลาย และน้ำตาของท่านได้ไหลริน
อาดัม (อ.) ได้กล่าวกับญิบรออีล (อ.) ว่า “โอ้ญิบรออีล! ทำไมเมื่อฉันกล่าวนามชื่อที่ห้า หัวใจของฉันได้แตกสลาย และน้ำตาของฉันได้ไหลรินออกมา?” ญิบรออีล (อ.) กล่าวว่า “จะมีมุซีบัต (ความทุกข์ยากและเคราะห์กรรม) เกิดขึ้นกับเขา โดยที่มุซีบัตทั้งมวลจะกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับมัน… เขาจะถูกสังหารอย่างคนแปลกหน้า เดียวดายและไร้ผู้ช่วยเหลือ”
ญิบรอีล (อ.) ได้เล่าบางส่วนจากมุซีบัต (ควาทุกข์ยากและเคราะห์กรรม) ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้อาดัม (อ.) ได้รับฟัง จนกระทั่งทั้งสองได้ร่ำไห้เสียใจแต่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) เหมือนแม่ที่สูญเสียลูกรักของตน
فَبَکَى آدَمُ وَ جَبْرَئِیلُ بُکَاءَ الثَّکْلَى
“แล้วอาดัมและญิบรออีลก็ร้องไห้ เหมือนกับการร้องไห้ของแม่ผู้ที่สูญเสียลูก” (3)
เมื่ออัลลอฮ์ได้เล่าเรื่องราวการถูกอธรรมของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้แก่ศาสดามูซา (อ.) ได้รับรู้ และได้กล่าวถึงเหตุการณ์การเป็นชะฮีดของท่าน การถูกควบคุมตัวเป็นเชลยของบรรดาเด็กๆ และสตรีของท่าน และการที่บรรดาศัตรูได้เสียบศีรษะของบรรดาชะฮีดไว้บนปลายหอกและนำพาไปยังเมืองต่างๆ ทำให้มูซา (อ.) ต้องร้องไห้ (4)
ท่านศาสดาซะกะรียา (อ.) ก็เช่นกัน เมื่ออัลลอฮ์ทรงเล่าเรื่องราวบางส่วนจากโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ให้กับซะกะรียาได้รับฟัง ริวายะฮ์ได้รายงานไว้ว่า :
فلما سمع بذلك زكريا عليه السلام لم يفارق مسجده ثلاثة ايام و منع فيهن الناس من الدخول عليه و اقبل على البكاء و النحيب و كان يرثيه
“เมื่อซะกะรียาได้ยินเรื่องราวดังกล่าว เขาไม่ออกจากที่นมาซของตนเป็นเวลาถึงสามวัน และในช่วงวันเหล่านั้นเขาได้ห้ามประชาชนเข้าพบ และเขาได้เข้าสู่การร่ำไห้คร่ำครวญและร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง และกล่าวรำพึงรำพันต่อท่านฮุเซน (อ.) (5)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ท่านเล่าว่า : อีซาบุตรของมัรยัม (อ.) พร้อมด้วยฮะวารียูน (สาวกของนบีอีซา) ได้เดินทางผ่านแผ่นดินกัรบะลา อีซา (อ.) ได้เริ่มร้องไห้ ทำให้บรรดาฮะวารียูนได้ร้องไห้ตามท่านด้วย โดยที่ทั้งหมดไม่รู้สาเหตุ เมื่อฮะวารียูนได้ถามถึงสาเหตุการร้องไห้จากท่านศาสดาอีซา (อ.) เขากล่าวว่า :
هذه أرض یقتل فیها فرخ الرسول أحمد و فرخ الحره الطاهره البتول شبیه امی
“นี่คือแผ่นดินที่บุตรของศาสนทูตอะห์มัด (ซ็อลฯ) และบุตรของฟาฏิมะฮ์ (อ.) สตรีผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์เหมือนกับแม่ของฉัน จะถูกสังหารในมัน” (6)
การร้องไห้แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ภายหลังจากการถือกำเนิด
ภายหลังจากการถือกำเนิดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็เช่นกัน นับจากช่วงเริ่มแรกของการถือกำเนิดและภายหลังจากนั้น เมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ได้รับรู้เรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านเหล่านั้นต่างร่ำไห้แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.)
- การร่ำไห้ของท่านศาสทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) : ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งได้กล่าวว่า : หลังจากการถือกำเนิดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้ยังบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และท่านได้กล่าวกับอัสมาอ์ บินติอุมัยซ์ ว่า “โอ้อัสมาอ์ จงนำบุตรชายของฉันออกมาเถิด” อัสมาอ์ได้วางท่านอิมามฮุเซน (อ.) ลงบนผ้าขาวและอุ้มออกไปยังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านได้อะซานลงในหูขวาและอิกอมะฮ์ลงในหูซ้ายของทารกน้อย จากนั้นได้โอบกอดเขาไว้ในอ้อมกอดและร้องไห้
อัสมาอ์ได้ถามเกี่ยวกับสาเหตุของการร้องไห้ ท่านกล่าวว่า “ฉันร้องไห้เนื่องจากลูกชายคนนี้ของฉัน” อัสมาอ์กล่าวว่า “ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งจะถือกำเนิดกระนั้นหรือ?” (แทนที่ท่านจะดีใจ แต่ทำไมท่านจึงต้องเศร้าโศกเสียใจ) ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
تقتلُه الفئةُ الباغية من بعدي! لا أنالَهمُ الله شفاعتي
“กลุ่มชนที่อธรรมภายหลังจากฉันจะสังหารเขา อัลลอฮ์จะไม่ให้พวกเขาได้รับชะฟาอะฮ์ (การอนุเคราะห์) ของฉัน”
จากนั้นท่านได้กล่าวว่า :
يا أسماء، لا تُخبرينّ فاطمة؛ فإنّها حديثُ عهدٍ بولادته
“โอ้อัสมาอ์เอ๋ย! อย่างบอกเรื่องนี้กับฟาฏิมะฮ์ เพราะนางเพิ่งจะให้กำเนิดเขา” (7)
- การร้องไห้ของท่านอิมามอะลี (อ.) : อิบนุอับบาส เล่าว่า : ฉันอยู่ร่วมกับท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ในเส้นทางมุ่งสู่สงครามซิฟฟีน เมื่อไปถึงนัยนาวา (กัรบะลา) ท่านได้กล่าวกับฉันด้วยเสียงดังว่า “โอ้อิบนิอับบาส! เจ้ารู้จักสถานที่นี้ไหม?” เขาตอบว่า “ไม่รู้จัก” ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า :
لو عرفته کمعرفتی لم تکن تجوزه حتی تبکی کبکائی
“หากเจ้ารู้เรื่องราวของสถานที่นี้ เหมือนดั่งที่ฉันรู้แล้ว เจ้าจะไม่ผ่านมันไป จนกว่าเจ้าจะร้องไห้เหมือนกับที่ฉันร้องไห้”
จากนั้นท่านได้ร่ำไห้อย่างยาวนาน จนกระทั่งน้ำตาไหลรินจากใบหน้าและเคราลงสู่หน้าอกของท่าน ทำให้ฉันได้ร้องไห้ไปพร้อมกับท่าน ในสภาพเช่นนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รำพึงรำพันว่า :
أوه أوه ، مالي ولآل أبي سفيان ؟ مالي ولآل حرب حزب الشيطان وأولياء الكفر ؟ صبراً يا أبا عبدالله ، فقد لقي أبوك مثل الذي تلقى منهم
“โอ้ย โอ้ย ! อะไรได้เกิดขึ้นกับฉันและกับลูกหลานของอบูซุฟยานหรือ! อะไรได้เกิดขึ้นกับฉันและกับลูกหลานของฮัรบ์ พลพรรคแห่งมารและหมู่สหายแห่งการปฏิเสธ (กุฟร์) กระนั้นหรือ? จงอดทนเถิด โอ้อบาอับดิลลาฮ์! แท้จริงพ่อของเจ้าก็จะได้พบเหมือนกับสิ่งที่เจ้าจะได้พบจากพวกเขา” (8)
- การร่ำไห้เสียใจของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) : เมื่อท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้บอกข่าวการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ความทุกข์ทรมานและการสูญเสีย (มุซีบัต) ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับท่านให้ได้รับรู้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้ร่ำไห้อย่างรุนแรง จากนั้นท่านถามว่า “โอ้พ่อจ๋า! เหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด?” ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ไม่มีฉัน ไม่มีเจ้าและอะลีอยู่แล้ว” ท่านหญิง (อ.) ได้ร้องไห้รุนแรงยิ่งขึ้นและถามว่า “โอ้พ่อจ๋า! จะมีใครร้องไห้ให้กับเขาไหม? และจะมีใครแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อเขาไหม?” ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
يا فاطمة إنّ نساء أمّتي يبكين على نساء أهل بيتي, ورجالهم يبكون على ولدي الحسين وأهل بيته, ويجدّدون عليه العزاء جيلاً بعد جيل, فإذا كان يوم القيامة أنت تشفعين للنساء وأناأشفع للرجال وكلّ من يبكي على ولدي الحسين أخذنا بيده وأدخلناه الجنّة
“โอ้ฟาฏิมะฮ์! แท้จริงบรรดาสตรีของประชาชาติของฉัน จะร้องไห้ให้แก่บรรดาสตรีของอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน และเหล่าบุรุษของพวกเขาก็จะร้องไห้ให้แก่เหล่าบุรุษของอะฮ์ลุลบัยต์ของฉัน พวกเขาจะรณรงค์และแสดงความเศร้าโศกเสียใจจากชนรุ่นหนึ่งไปสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง ในทุกๆ ปี ดังนั้นเมื่อวันกิยามะฮ์มาถึง เจ้าจะให้การอนุเคราะห์ (ชะฟาอะฮ์) ต่อบรรดาสตรี และฉันจะให้การชะฟาอะฮ์ (อนุเคราะห์) ต่อเหล่าบุรุษและทุกคนจากพวกเขา ที่ได้ร้องไห้ต่อความทุกข์โศกที่มาประสบกับฮุเซน (อ.) เราจะจูงมือของเขาและนำเขาเข้าสู่สวรรค์”
จากนั้นท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
يا فاطِمَةُ! كُلُّ عَيْنٍ باكِيَهٌ يَوْمَ الْقيامَةِ اِلاّ عَيْنٌ بَكَتْ عَلى مُصابِ الْحُسَينِ فَاِنِّها ضاحِكَةٌ مُسْتَبْشِرَةٌ بِنَعيمِ الْجَنّةِ
“โอ้ฟาฏิมะฮ์เอ๋ย! ทุกๆ ดวงตาจะร้องไห้ในวันกิยามะฮ์ ยกเว้นดวงตาที่ร้องไห้ต่อสิ่งที่ประสบกับฮุเซน เพราะแท้จริงมันจะยิ้มเริงร่า และได้รับข่าวดีเกี่ยวกับสิ่งอำนวยสุขแห่งสวรรค์” (9)
การร้องไห้แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หลังจากการเป็นชะฮีด
เหตุการณ์ที่เรื่องราวของมันได้ถูกเล่าขานแก่ปวงศาสดาและเอาลิยาอุลลอฮ์ (หมู่มิตรของพระผู้เป็นเจ้า) นับจากช่วงเริ่มต้นของการสร้าง (คิลเกาะฮ์) แน่นอนยิ่งว่า เรื่องราวที่แม้แต่ก่อนที่จะเกิดขึ้นจริงยังทำให้หัวใจทั้งหลายต้องเจ็บปวด และดวงตาทั้งหลายต้องหลั่งน้ำตาด้วยการร่ำไห้นั้น ในที่สุดมันก็ได้เกิดขึ้นจริงในวันอาชูรอ ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 61 มันได้ก่อให้เกิดเปลวไฟที่รุ่มร้อนขึ้นในหัวใจและจิตวิญญาณทั้งหลาย การแสดงความไว้อาลัยและความเศร้าโศกเสียใจที่ควบคู่กันไปกับการเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับความเป็นเสรีชน การพิทักษ์เกียรติศักดิ์ศรี อุดมคติและความเชื่อด้วยชีวิต
ความลุ่มลึกและความใหญ่หลวงของโศกนาฏกรรมแห่งกัรบะลานั้นถึงขั้นที่ว่า พิธีการไว้อาลัยแสดงความเศร้าโศกเสียใจ การร้องไห้และการมะอ์ตัม (ตีอกชกตัว) แด่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่านได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่วันอาชูรอ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและขยายวงกว้างขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน และจะยังคงดำเนินสืบต่อไปจวบจนถึงกาลอวสานของโลก เนื่องจากตามวจนะ (คำพูด) ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า :
اِنَّ لِقَتْلِ الْحُسَيْنِ عليه السّلام حَرارَةً فى قُلُوبِ الْمُؤ منينَ لا تَبْرَدُ اَبَداً
“แท้จริงสำหรับการสังหารฮุเซนนั้น คือความรุ่มร้อนที่อยู่ในหัวใจของบรรดาผู้ศรัทธา ที่จะไม่มอดดับลงตลอดไป” (10)
ในที่นี้จะชี้ถึงบางตัวอย่างของการร้องไห้และการแสดงความเศร้าโศกเสียใจต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ภายหลังจากการเป็นชะฮีดของท่านอิมาม (อ.)
- แม้แต่ศัตรูก็ร้องไห้ให้กับท่าน : เมื่อสายตาของบรรดาสตรีผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มองเห็นเรือนร่างของบรรดาชะฮีด พวกเธอได้ส่งเสียงร่ำไห้คร่ำครวญ ในช่วงเวลานั้นเองท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้รำพึงรำพันและร่ำไห้ด้วยเสียงที่โศกเศร้าว่า :
وامحمداه! صلى عليك مليك السماء هذا حسين مرمل بالدماء مقطع الأعضاء وبناتك سبايا
“โอ้ท่านศาสดามุฮัมมัด! ขอผู้ทรงอภิสิทธิ์แห่งฟากฟ้าได้โปรดประทานพรแด่ท่าน นี่คือฮุเซน ผู้เปรอะเปื้อนไปด้วยทราย กลิ้งเกลือกอยู่กับกองเลือด ในสภาพที่อวัยวะร่างกายถูกสับเป็นชิ้นๆ บรรดาลูกหลานและสตรีของท่านถูกจับเป็นเชลย”
ท่านหญิงซัยนับ (อ.) ได้รำพึงรำพันเกี่ยวกับเรื่องราวอันเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพี่ชายของท่านและบรรดาชะฮีดคนอื่นๆ และร่ำไห้คร่ำครวญถึงขั้นที่มีรายงานว่า :
فابکت والله کل عدو وصدیق
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์! นางได้ทำให้ทุกคน ทั้งศัตรูและมิตรต้องร้องไห้” (11)
- การแสดงความเศร้าโศกเสียใจและมะอ์ตัมในตำหนักของยะซีด : หลังจากที่คาราวานของเชลยศึกถูกนำตัวไปยังเมืองกูฟะฮ์และไปยังเมืองชาม ด้วยกับการกล่าวปราศรัย (คุฏบะฮ์) ต่างๆ ในการเปิดโปงความชั่วร้ายของบนีอุมัยยะฮ์และยะซีด โดยท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) และท่านหญิงซัยนับ (อ.) ทำให้สถานการณ์ในเมืองชามพลิกผัน บรรยากาศของความไม่พอใจและการต่อต้านอำนาจการปกครองของบนีอุมัยยะฮ์ได้ถูกจุดขึ้น ยะซีดไม่มีหนทางอื่นนอกจากจำเป็นต้องแสดงความรู้สึกเสียใจและสำนึกผิด ในสถานการณ์เช่นนี้เอง บรรดาสตรีของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้จัดพิธีไว้อาลัยและมะอ์ตัมขึ้นในเมืองชาม จนกระทั่งว่า แม้แต่สตรีของบนีอุมัยยะฮ์เองก็เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย และพิธีกรรมนี้ได้ดำเนินต่อเนื่องถึงสามวัน
ในหนังสือ “ตารีคฏ็อบรี” ได้บันทึกไว้เช่นนี้ว่า :
فخرجن حتی دخلن دار یزید فلم تبق من آل معاویه امراه الا استقبلتهن تبکی و تنوح علی الحسین، فأقاموا علیه المناحه ثلاثا
“… แล้วพวกนางก็ได้ออกไป จนกระทั่งเข้าสู่บ้านของยะซีด จากนั้นไม่มีสตรีคนใดจากวงศ์วานของมุอาวิยะฮ์ เว้นแต่ได้ออกมาต้อนรับสตรีเหล่านั้น นางได้ร้องไห้คร่ำครวญต่อฮุเซน (อ.) และพวกเขาได้จัดพิธีไว้อาลัยแด่ท่านเป็นเวลาสามวัน” (12)
นี่คือตัวอย่างเพียงส่วนหนึ่งของการไว้อาลัย การแสดงความเศร้าโศกเสียใจ และการร่ำไห้ต่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) และบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลา ซึ่งยังมีตัวอย่างอีกมากมายอย่างเช่น จากท่านหญิงรุบาบ ภรรยาของท่านอิมามฮุเซน (อ.) และจากบรรดาอิมาม (อ.) ที่ได้มีการจัดพิธีไว้อาลัยขึ้น
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซิยารัตอาชูรอ
(2) ซิยารัตมุฏละเกาะฮ์ อิมามฮุเซน (อ.), มะฟาติฮุลญินาน
(3) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 245
(4) มะอาลิซซิบฏ็อยน์, เล่มที่ 1, หน้า 186
(5) อัลอิห์ติยาฏ, เล่มที่ 3, หน้า 529
(6) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 253
(7) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 43, หน้า 239
(8) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 252
(9) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้า 292, 293
(10) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 10, หน้า 318
(11) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 58-59 และในหนังสือ “อัลกามิล ฟิตตารีค” ของอิบนุอะซีร, เล่มที่ 4, หน้า 81, ก็รายงานไว้ด้วยสำนวนที่ใกล้เคียงกัน
(12) ตารีคฏ็อบรี, เล่มที่ 4, หน้า 353 ; บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 45, หน้า 142
ที่มา : มัจญ์ลิซอาชูรอ 1438 ณ มัสยิดซอฮิบุซซะมาน (อ.)
โดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน