สุนทรพจน์ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) ภาค 2 ตอนที่ 1
จากมักกะฮ์ถึงกัรบะลาอ์ : คำตอบที่ให้กับ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์
คำเสนอแนะที่สาม เป็นคำเสนอแนะของน้องชายของท่าน คือ มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ที่ต้องการให้อิมาม (อ.) เลิกล้มการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก ซึ่งเรื่องราวมีดังต่อไปนี้
มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ เดินทางมาถึงนครมักกะฮ์ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะประกอบพิธีฮัจญ์และเพื่อพบกับท่านอิมามฮูเซน (อ.) ตามคำรายงานของท่านอัลลามะฮ์ฮิลลี่ (รฎ.) ท่านอยู่ในสภาพเจ็บป่วยอย่างรุนแรง (1) ในช่วงค่ำคืนก่อนการเดินทางของท่านอิมาม เขาได้มาพบกับท่านอิมาม (อ.) และกล่าวกับท่านว่า
“โอ้พี่ชายที่รัก ท่านเองย่อมประจักษ์เป็นอย่างดีถึงความบิดพลิ้ว และการเป็นผู้ทำลายสัญญาของชาวกูฟะฮ์ที่มีต่อบิดาของท่านคืออะลี (อ.) และต่อพี่ชายของท่านคือฮาซัน (อ.) ข้าพเจ้าเกรงว่าประชาชนเหล่านั้นจะทำลายสัญญาที่มีต่อท่านเช่นเดียวกัน ดังนั้นเป็นการดีกว่าที่ท่านจะไม่เดินทางไปยังแผ่นดินอิรัก และท่านควรจะพำนักอยู่ในนครมักกะฮ์ต่อไป เพราะว่าท่านเป็นผู้มีเกียรติ เป็นที่เคารพรักของประชาชนมากกว่าบุคคลใดในเมืองนี้และในฮะรัมของพระผู้เป็น เจ้าแห่งนี้”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบว่า “สิ่งที่น่าหวาดกลัวที่สุด ก็คือการที่ยาซีดจะสังหารฉันในฮะรอมของพระผู้เป็นเจ้าด้วยกลอุบาย และด้วยสาเหตุนี้เกียรติแห่งบ้านของพระผู้เป็นเจ้าจะถูกทำลาย”
มุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ เสนอแนะอีกว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่ดีกว่าหรือที่ท่านจะมุ่งหน้าเดินทางไปเมืองเยเมนหรือ สถานที่อื่นๆ ที่มีความปลอดภัย แทนการเดินทางไปแผ่นดินกัรบะลาอ์”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “คำเสนอแนะและทัศนะของเจ้า ฉันจะรับไว้พิจารณา”
แต่ทว่าเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้น ฮูเซน บินอะลี (อ.) เริ่มขบวนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินอิรัก เมื่อข่าวการเดินทางไปถึงหูของมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ ท่านได้รีบเร่งมาหาอิมาม และจับเชือกร้อยจมูกอูฐของท่านอิมามไว้พร้อมกับกล่าวว่า “โอ้พี่จ๋า ท่านไม่ได้สัญญาดอกหรือเมื่อคืนนี้ ว่าจะนำข้อเสนอของข้าพเจ้าไปพิจารณา”
ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “ใช่แล้ว ทว่าหลังจากที่เราแยกกันแล้ว ท่านศาสนทูตได้มาเข้าฝันฉัน โดยกล่าวกับฉันว่า ฮูเซนเอ๋ย เจ้าจงออกเดินทางเถิด เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นเจ้าถูกสังหาร”
มุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ เมื่อได้ยินคำพูดดังกล่าวของท่านอิมาม (อ.) ท่านจึงกล่าวขึ้นว่า “แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ และแท้จริงยังพระองค์เท่านั้นที่เราจะคืนกลับ”
หลังจากนั้นเขาได้ถามถึงเหตุผลที่ท่านนำเอา สตรีและเด็กๆ ร่วมเดินทางไปด้วย ในสถานการณ์ที่เปราะบางและน่าหวั่นวิตกเช่นนี้ ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “อัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นพวกเธอในสภาพของผู้ที่ตกเป็นเชลย” (2)
ฮูเซน บินอะลี (อ.) ถูกบังคับสู่การเป็นชะฮีดกระนั้นหรือ
เป็นไปได้ว่า จากคำตอบภายนอกของท่านอิมามที่มีต่อมุฮัมมัด ฮานาฟียะฮ์ ที่ว่า “อัลลอฮ์ทรงประสงค์” และจากคำตอบของท่านที่มีต่อท่านหญิงอุมมุซาละมะฮ์และต่อท่านหญิงซัยนับ (อ.) จากประโยคคำพูดต่างๆ ในทำนองนี้ ทำให้คิดไปได้ว่า การเดินทางของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) การถูกสังหารของท่าน รวมทั้งการตกเป็นเชลยของบรรดาเด็กๆ และสตรี ตามเนื้อหาของคำพูดทั้งหลาย มันคือสิ่งที่ถูกกำหนด และเป็นสิ่งที่จะต้องดำเนินไปตามความประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้นการถูกสังหารของท่านอิมาม (อ.) ย่อมเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะท่านอยู่ในฐานะของการถูกบังคับ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความคิดเช่นนี้มันได้ปรากฏให้เห็นอยู่จำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งในหมู่พี่น้องชีอะฮ์บางคนก็มีความคิดเช่นนี้ เมื่อมีการพูดคุยและถกเถียงกันในประเด็นการเป็นชะฮาดัตของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาพากันกล่าวว่า “สำหรับประเด็นของท่านอิมาม (อ.) และแบบอย่างของท่านนั้นแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ เพราะความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าเป็นเช่นนั้น คือ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะเห็นท่านถูกสังหาร”
ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า หากเจตนา ความประสงค์ และการกำหนด (ตักดีร) ของอัลลอฮ์ในประเด็นนี้มีความหมายดั่งที่มันได้ปรากฏขึ้นในความนึกคิดของ บุคคลกลุ่มดังกล่าว
ประการแรก : การเป็นชะฮาดัตของท่านอิมามฮูเซน (อ.) จะไม่มีคุณค่าและความสำคัญอะไรมากนัก การเคลื่อนขบวนและการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อีกทั้งต้องอาศัยความอดทนและความมั่นคงที่เด็ดเดี่ยวเหนือธรรมชาติ (ซึ่งมิเพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่บรรดาชาวฟ้ายังเกิดความหวาดผวาและวิตกกังวล) จะต้องกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าน้อยยิ่งไปกว่าการเป็นชะฮาดัตและการพลีชีวิต ของสามัญชน ผู้ซึ่งยอมรับการชะฮาดัตโดยการตัดสินใจของตนเอง เพราะสามัญชนผู้นั้นเลือกหนทางดังกล่าวด้วยอำนาจและความประสงค์ของตนเอง ในขณะที่อิมามฮูเซน (อ.) ต้องถูกบังคับและถูกกำหนดให้เลือกเอาหนทางแห่งการเป็นชะฮาดัตนี้ และท่านมิอาจคัดค้านหรือเบี่ยงเบนออกจากความประสงค์และการกำหนดของพระผู้ เป็นเจ้าไปได้
ประการที่สอง : ไม่เป็นการสมควรที่เราจะตำหนิหรือประณามบรรดาทหารแห่งกูฟะฮ์ และบรรดาอาชญากรที่ได้ทำการสังหารอิมาม (อ.) อย่างมากมายถึงเพียงนั้น เพราะการถูกสังหารของอิมาม (อ.) เป็นเพราะความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ามิใช่หรือ! และทุกคนที่ถูกสังหารจะต้องมีผู้ทำการสังหาร โดยสรุปแล้ว เมื่อผู้ถูกสังหารถูกบังคับและถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นผู้ทำการสังหารก็ย่อมที่จะถูกบังคับและถูกกำหนดโดยพระผู้เป็นเจ้าให้ กระทำการดังกล่าวเช่นเดียวกัน
คำตอบ : จุดเริ่มและสาเหตุที่ก่อให้เกิดคำถามข้างต้น หรือกล่าวให้ชัดเจนลงไปก็คือ จุดกำเนิดของแนวคิดและคำกล่าวอ้างนี้ก็คือ บุคคลเหล่านั้นได้หลงลืมไปจากความหมายที่กว้างขวางของคำว่า “อัล อิรอดะฮ์” (ความต้องการ) “อัล มะซียะฮ์” (ความประสงค์) และ “อัตตักดีร” (การกำหนด) และคำอื่นๆ ที่ได้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งในคำพูดของท่านอิมาม (อ.) แทนที่พวกเขาจะให้ความหมายที่เป็นไปตามความประสงค์ของผู้พูด พวกเขากลับใช้มันไปในความหมายอื่นๆ และตีความออกไปอย่างผิดๆ
คำอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ : ความประสงค์และการกำหนดของอัลลอฮ์ บางครั้งอาจจะเป็นไปในเชิงของการสร้างสรรค์ที่ตายตัว (ตักวีนี) แต่บางครั้งเป็นไปในเชิงของภารกิจหน้าที่ (ตัชรีอี) สำหรับการกำหนดหรือความประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์ที่ตายตัวของพระผู้เป็นเจ้า นั้น ดังที่ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้ว มันเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบข่ายของอำนาจการเลือกจากปวงบ่าวทั้งหลาย มนุษย์จะเป็นผู้ถูกบังคับและไม่มีหนทางหลีกเลี่ยงออกไปจากความประสงค์ดัง กล่าวได้เลย ตัวอย่างเช่น การเกิด การตายของมนุษย์ การสร้างโลกและชั้นฟ้า และอื่นๆ
ส่วนความประสงค์ในเชิงภารกิจหน้าที่ทางบท บัญญัติ ก็คือการที่พระผู้เป็นเจ้าได้มองเห็นการกระทำหรือการละทิ้งการกระทำหนึ่งๆ ว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมและมีประโยชน์ และพระองค์ทรงประสงค์ที่จะให้กิจการดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ พระองค์ก็จะออกคำสั่งให้ปฏิบัติมัน และสิ่งใดก็ตามที่พระองค์เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม พระองค์ก็จะออกคำสั่งห้ามและให้ละทิ้งมัน ซึ่งเป็นไปตามความประสงค์ของพระองค์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการกำหนดหรือความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า รวมทั้งคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของพระองค์จะเป็นไปในลักษณะเช่นนั้น แต่พระองค์ทรงมอบอำนาจในการเลือกปฏิบัติหรือการละทิ้งกิจการดังกล่าวให้เป็น ไปตามความปรารถนาและความประสงค์ของแต่ละบุคคล ตัวอย่างเช่น ภารกิจหน้าที่แห่งบทบัญญัติได้แก่การถือศีลอด การนมาซ การประกอบพิธีฮัจญ์และการญิฮาด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ต่อความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์มีความต้องการที่จะให้ภารกิจดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ หากความประสงค์และการกำหนดดังกล่าวไม่มีอยู่ พระองค์ก็จะไม่ออกคำสั่งใช้ ในทำนองเดียวกัน เมื่อความประสงค์และความต้องการของพระผู้เป็นเจ้าบังเกิดขึ้นว่าจะต้อง ละทิ้งสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย พระองค์ก็จะสั่งห้ามการปฏิบัติมัน มิเช่นนั้นพระองค์ก็ย่อมไม่ออกคำสั่งห้าม เพียงแต่ว่าความประสงค์และความต้องการประเภทนี้ของพระองค์จะไม่เกิดขึ้นหรือ สัมพันธ์ไปยังกิจการใดๆ โดยตรงและปราศจากสื่อกลาง แต่มันจะต้องเป็นไปในลักษณะที่ด้านหนึ่งคือความประสงค์และความต้องการของ พระองค์ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง กิจการดังกล่าวจะได้รับการปฏิบัติได้หรือไม่ พระองค์ได้ปล่อยให้เป็นการเลือกอย่างเสรีตามความต้องการของปวงบ่าวทั้งหลาย
ตัวอย่างของข้อเท็จจริงดังกล่าว ปรากฏให้เห็นในคัมภีร์อัลกุรอานด้วยลักษณะเช่นนี้คือ
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบัญชาให้ปฏิบัติด้วยความ ยุติธรรม และความดีงาม และการเกื้อกูลแก่ญาติสนิท และพระองค์ทรงห้ามสิ่งที่น่ารังเกียจ จากความชั่วร้ายและการละเมิด พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้สำนึก”
(บทอัลนะห์ลุ โองการที่ 90)
ตามเนื้อหาของอายะฮ์ข้างบนนี้ อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงปรารถนาที่จะให้เกิดความยุติธรรม คุณธรรมความดีและการเกื้อกูลแก่ญาติพี่น้อง และทรงประสงค์ที่จะให้ทำลายรากเง้าแห่งความชั่วร้าย ความน่ารังเกียจและการละเมิดทั้งหลายในหมู่มนุษย์ แต่ตามที่ปรากฏในอายะฮ์นี้ พระองค์ทรงแสดงความประสงค์ของพระองค์ออกมาในรูปของคำสั่งใช้และการห้าม โดยพระองค์ปล่อยให้กิจการเหล่านั้นปรากฏขึ้นจากอำนาจของมนุษย์เอง และให้เป็นไปตามความปรารถนาและความต้องการของพวกเขา และบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่จะเลือกปฏิบัติตามความต้องการและ เจตนารมณ์ของพระผู้เป็นอย่างเป็นอิสระ พวกเขามีอิสระที่จะเลือกปฏิบัติโดยไม่มีการบังคับใดๆ ต่อพวกเขา ในการเลือกที่จะตามหนทางหนึ่งใดจากทั้งสองนี้
อัลลอฮ์ (ซบ.) ภายใต้การสั่งใช้และทรงสั่งห้ามนั้น พระองค์ต้องการเพียงแค่เชิญชวนพวกเขาไปสู่การเลือกเอาหนทางที่ถูกต้องด้วย การตักเตือนและการชี้แนะเท่านั้น “พระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้า เพื่อพวกเจ้าจะได้สำนึก” เมื่อเราเข้าใจถึงความต้องการและความประสงค์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ทั้งสองประการอย่างชัดเจนแล้ว ให้เราย้อนกลับมาเข้าสู่ประเด็นหลักของเรา
ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้พิจารณาจากสภาพเงื่อนไขต่างๆ ในเวลานั้น ท่านมองเห็นว่าท่านจะต้องปฏิบัติตามคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าที่ว่า “การสู้รบได้ถูกบัญญัติให้เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือพวกเจ้า” (3) ซึ่งนั้นหมายความว่า ท่านต้องก้าวเข้าสู่สนามแห่งศึกสงคราม
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ด้วยการปกครองและการดำรงอยู่ในอำนาจของยาซีด บรรดามุสลิมจะต้องพบกับความอัปยศ และจงอ่านฟาติฮะห์เพื่อเป็นการอำลาต่ออิสลาม” ดังนั้นเมื่อถึงขั้นต้องอ่านฟาติฮะห์เพื่อเป็นการอำลากับทุกสิ่งทุกอย่างที่ มีส่วนสัมพันธ์กับตัวท่าน ท่านจึงจำเป็นต้องทำกุรบาน (ยอมพลีชีพ) ของท่าน ของบรรดามิตรสหายและบรรดาลูกหลานของท่าน เพื่อเป็นการให้ชีวิตใหม่แก่อิสลาม ซึ่งกำลังจะถูกถอนรากถอนโคนออกไป และเพื่อเป็นการชุบชีวิตแก่อัลกุรอาน ซึ่งกำลังถูกหลงลืมไปจากมวลมุสลิม
และนี่คือข้อเท็จจริงที่ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้แสดงออกให้เห็นในคำพูดประโยคที่ว่า “แท้จริงอัลลอฮ์ทรงปรารถนาที่จะเห็นฉันถูกสังหาร และเห็นบรรดาสตรีต้องตกเป็นเชลย”
ใช่แล้ว! นี่คือความต้องการและเป็นความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และเป็นการกำหนดของพระองค์ ส่วนฮูเซน (อ.) คือผู้ที่ได้รับคำบัญชาให้ปฏิบัติมัน ซึ่งเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่และเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อันก้องโลกเกี่ยว กับความเด็ดเดี่ยวนี้ บางครั้งได้รับการสนับสนุนและตอกย้ำจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยการนอนหลับฝันเห็นท่านด้วย
ฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้เลือกการเป็นชะฮาดัตอย่างอิสระ
เราได้ประจักษ์ถึงคุณค่าแห่งความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว และความยิ่งใหญ่ของขบวนการการต่อสู้ของท่านอิมามฮูเซน (อ.) มากยิ่งขึ้น เมื่อเราได้รับรู้ว่าท่านนั้นไม่เพียงแต่มิได้ถูกบังคับให้ต้องเลือกการเดิน ทางของตนเอง เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์ตายตัวของพระผู้เป็นเจ้า แต่ท่านได้เลือกทางเดินดังกล่าวนี้อย่างอิสระตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยเจตนารมณ์ของท่านเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ท่านยังยืนหยัดอย่างมั่นคงบนหนทางของตนจวบจนกระทั่งการเป็นชะฮาดัตของท่าน ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ท่านจะล้มเลิกและหันเหออกจากมัน นั้นก็คือ การที่บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิและหัวหน้ากลุ่มชนทั้งหลาย ต่างได้หยิบยกเหตุผลและข้ออ้างต่างๆ ที่น่ารับฟัง เพื่อเป็นการหยุดยั้งการเดินทางสู่แผ่นดินอิรักของท่านอิมามในครั้งนี้
แต่ท่านได้ทำให้ข้อเสนอแนะทั้งหลายต้องกลาย เป็นหมัน และทำให้แผนการทั้งมวลที่ถูกวางไว้โดยคนบางคนต้องพังพินาศ แม้ว่าบรรดามิตรสหายและศัตรู ทั้งที่เยาว์วัยและแก่ชรา บรรดาผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งหมดเหล่านั้นต่างมองเห็นปั้นปลายการเดินทางในครั้งนี้ของท่าน ว่าจะต้องจบลงด้วยกับความพินาศและการพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด พวกเขาได้มองเห็นถึงหนทางที่ท่านอิมามเลือกว่าสุดท้ายจะต้องสิ้นสุดลงด้วย การถูกสังหารของท่านและลูกหลานของท่าน บรรดาเด็กๆ และสตรีซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของท่านจะต้องตกระกำลำบากและกลายเป็นเชลยใน ที่สุด แต่กระนั้นก็ตาม ท่านได้ยืนหยัดอย่างเด็ดเดี่ยวและมั่นคง ซึ่งตรงข้ามกับความคิดและคำเสนอแนะเหล่านั้น พร้อมกันนั้นท่านยังได้กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยในอนาคตเกี่ยวกับการเดิน ทางด้วยความรอบรู้และความเข้าใจ ว่ามันเป็นความประสงค์และเป็นเจตนาของอัลลอฮ์ที่จะได้เห็นฉันถูกสังหาร
ใช่แล้ว! ฮูเซน บินอะลี (อ.) ถูกบัญชาให้ปฏิบัติตามภารกิจดังกล่าวในสภาการณ์และเงื่อนไขที่เป็นการเฉพาะ นี้ คำบัญชาแห่งพระผู้เป็นเจ้าและเจตนารมณ์ของพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับข้อเสนอแนะของมนุษย์ทั้งหลาย ก็คือการก้าวเข้าสู่สนามแห่งการทำศึกสงคราม และจะต้องยืนหยัดเผชิญหน้ากับเหล่าศัตรูที่มีความเข้มแข็งและทรงอำนาจ ทั้งๆ ที่ตนเองนั้นปราศจากซึ่งกำลังพลที่เพียงพอในการต่อสู้ และปั้นปลายอันเป็นธรรมชาติของสงครามที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน ทางด้านภายนอกก็คือการพ่ายแพ้ ดังที่พวกเขาทั้งหมดได้คาดการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ แต่สำหรับผลทางด้านภายในของมันที่จะปรากฏในเวลาอันยาวนานนั้น ก็คือสิ่งที่อิมามฮูเซน (อ.) ได้เขียนไว้ในคำสั่งเสียของท่านในช่วงการเดินทางออกจากนครมะดีนะฮ์นั่นเอง
“แท้จริงฉันออกมาเพื่อแสวงหาการปรับปรุงแก้ไขในหมู่ประชาชาติของท่านตา (ซ็อลฯ) ของฉัน” ข้าพเจ้าย้ำว่า อิมามก็เหมือนกับบุคคลอื่นๆ ที่ถูกมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมีอิสระในการเลือกเดินตามแนวทางดังกล่าว และในทุกๆ ขณะท่านก็สามารถที่จะหันเหออกจากแนวทางของท่านได้ และเป็นเรื่องง่ายดายที่ท่านจะล้มเลิกประวัติศาสตร์ทั้งหมดนี้ไปด้วยการหยุด นิ่งของท่าน แต่ท่านอิมาม (อ.) กลับไม่กระทำเช่นนั้น นั่นเป็นเพราะท่านคือ “ฮูเซน” ซึ่งเป็นอิมาม (ผู้นำ) อีกทั้งเป็นแบบอย่างสำหรับชาวโลกทั้งมวล
การเป็นชะฮาดัตที่ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้านั้นจะมีคุณค่าอะไร
อีกคำถามหนึ่งที่ได้หยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับ ประเด็นนี้ นั่นก็คือ การเป็นชะฮาดัตของท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ที่ถูกพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าดังกล่าวนั้น ได้กล่าวไปแล้วในคำถามแรก การเป็นชะฮาดัตของท่านอิมาม (อ.) บนพื้นฐานที่ได้กล่าวไปแล้ว จึงดูเหมือนไม่มีคุณค่าและความดีงามอะไรมากนัก
คำตอบโดยสรุปสำหรับคำถามข้อนี้คือ : ใช่แล้ว! พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ว่าฮูเซน บินอะลี (อ.) จะต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำบัญชาอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเจตจำนงและการเลือกตัดสินใจด้วยตัวของท่านเอง และพร้อมยอมพลีทุกสิ่งทุกอย่างในหนทางของพระองค์ และท่านจะไม่กระทำสิ่งใดที่เป็นการขัดแย้งต่อกฎเกณฑ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงมีการบอกกล่าวแก่ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) ให้ได้รับทราบตั้งแต่แรก แต่ทว่าการรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับเหตุการณ์แห่งกัรบะลาอ์นั้น ไม่มีผลอะไรเลยแม้แต่น้อยในการบีบบังคับหรือลิดรอนอำนาจในการตัดสินใจของ ท่านอิมามฮูเซน (อ.)
ตัวอย่างเช่น หากเราจะปฏิบัติตามคำสั่งหนึ่งของพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเจตจำนงและการเลือกของตนเอง เช่น เราจะนมาซหากพระผู้เป็นเจ้าจะบอกข่าวการกระทำของเรา ซึ่งพระองค์ทรงรอบรู้อยู่ก่อนแล้ว และบอกให้ศาสนทูตได้รับรู้ การบอกข่าวดังกล่าวจะมีผลต่อเจตจำนงและการทำนมาซของเรากระนั้นหรือ และความรอบรู้ของพระผู้เป็นเจ้าประกอบกับการแจ้งให้ท่านศาสนทูตรับรู้นั้น มันจะเป็นตัวบั่นทอนเจตจำนงและอำนาจแห่งการเลือกของเราให้หมดไปกระนั้นหรือ หามิได้! มันไม่เป็นเช่นนั้นอย่างแน่นอน
สรุปว่า ความรู้และการบอกกล่าวล่วงหน้าของพระผู้เป็นเจ้า จะไม่เป็นสาเหตุและตัวแปรไปสู่การกระทำใดๆ ได้เลย แต่มันเป็นเพียงการบอกข่าวให้รับรู้ความจริงที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเจตจำนงและการตัดสินใจอย่างอิสระของมนุษย์คนหนึ่ง หรือในทางกลับกัน เป็นการบอกข่าวให้รู้ถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ซึ่งมันจะไม่สามารถปรากฏรูปในเชิงปฏิบัติได้หากปราศจากเจตจำนงและการตัดสิน ใจของบุคคลผู้นั้น
ความรู้ที่ประกอบไปด้วยการแสดงและการประกาศ ให้รู้ถึงการปฏิบัติภารกิจหนึ่ง และการเป็นผู้รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่มิได้ถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในตัว ของท่านอิมามฮูเซนเพียงเท่านั้น แต่ทว่าในประเด็นของบรรดาอัมบิยาอ์และเอาลิยาอ์ท่านอื่นๆ ก็เช่นกัน พระผู้เป็นเจ้าทรงรอบรู้ถึงตัวตนของพวกท่านว่าในอนาคตจะเป็นผู้ปฏิบัติ ภารกิจต่างๆ ด้วยเจตจำนงเสรีและการเลือกของตนเอง เรื่องราวทั้งหมดหรือบางส่วนของมัน พระองค์ทรงบอกกล่าวให้บรรดาศาสนทูตทั้งหลายได้รับรู้ และได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว การเป็นผู้สละโลกของพวกท่านเหล่านั้น ในฐานะของการกำหนด (ตักดีร) และความประสงค์ (มะซียะฮ์) ของพระองค์
“และหลังจากที่พระองค์ได้ทรงกำหนดเงื่อนไขของความสมถะสำหรับพวกเขา ในระดับต่างๆ แห่งการดำเนินชีวิตในดุนยาอันไม่จีรังยังยืน อีกทั้งเป็นสิ่งประดับอันจอมปลอมของมัน ดังนั้น พวกเขาได้ตกลงปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวที่ให้ไว้กับพระองค์ และพระองค์ทรงประจักษ์แจ้งถึงความซื่อสัตย์ของพวกเขาต่อสัญญาดังกล่าว ดังนั้น พระองค์จึงตอบรับพวกเขาด้วยการกล่าวรำลึกอันสูงส่ง และด้วยการสรรเสริญพวกเขาไว้อย่างแจ่มแจ้ง (ในคัมภีร์ของพระองค์)” (4)
คำตอบที่มีต่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และอัมร์ บินสะอีด
เป็นไปตามการรายงานของ ฏอบารีย์ และ อิบนิกะซีร โดยอ้างสายสืบไปยังอิมามซัจญาด (อ.) ว่า มีบุคคลสี่คนที่ได้เสนอแนะให้ท่านอิมามฮูเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก และยืนกรานอย่างหนักแน่นในข้อเสนอนี้ นั่นก็คืออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร โดยหลังจากการเคลื่อนขบวนของท่านอิมาม (อ.) ออกจากนครมักกะฮ์ไปแล้ว เขาได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งส่งตามไป โดยบุตรชายสองคนของเขาคืออูนและมุฮัมมัด เนื้อความในจดหมายมีดังนี้
“ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เมื่อท่านได้รับจดหมายฉบับนี้ของข้าพเจ้า ขอให้ท่านหยุดยั้งการเดินทางของท่านที่กำลังดำเนินอยู่ และกลับสู่นครมะดีนะฮ์เถิด เพราะข้าพเจ้าเกรงว่าด้วยสาเหตุของการเดินทางของท่านในครั้งนี้ท่านจะต้อง ถูกสังหาร และลูกหลานของท่านจะต้องถูกปราบอย่างสิ้นซาก และด้วยการถูกสังหารของท่านผู้ซึ่งเป็นธงแห่งธรรม และเป็นที่มุ่งหวังของบรรดามุสลิม รัศมีของพระผู้เป็นเจ้าจะต้องดับลง ท่านจงอย่าได้รีบเร่งการเดินทางของท่านเลย เพราะข้าพเจ้าเองก็กำลังจะติดตามท่านไปด้วยเช่นกัน” (5)
อับดุลลอฮ์ อิบนิญะอ์ฟัร พร้อมผู้ร่วมเดินทางคือยะฮ์ยา ได้มาถึงยังคาราวานของท่านอิมาม (อ.) ที่อยู่นอกเมืองมักกะฮ์ และมอบจดหมายประกันความปลอดภัยฉบับดังกล่าว
อับดุลลอฮ์แสดงความต้องการของตนเองและของยะ ฮ์ยา บินซะอีดต่อท่านอิมาม พร้อมกับขอร้องให้ท่านเลิกล้มความตั้งใจที่จะเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบอับดุลลอฮ์และยะฮ์ยา บินซะอีดว่า “แท้จริงฉันฝันเห็นท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในความฝัน ครั้งนี้ฉันถูกบัญชาให้ปฏิบัติภารกิจสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งฉันจะต้องปฏิบัติมันให้ลุล่วงไป ไม่ว่ามันจะเป็นผลร้ายต่อฉันหรือว่าจะเป็นผลดีต่อฉันก็ตาม”
อับดุลลอฮ์ ขอร้องให้ท่านอิมาม (อ.) ให้ความกระจ่างมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความฝันและภารกิจที่ท่านได้กล่าวถึงมัน ซึ่งท่านอิมาม (อ.) ก็ได้ตอบเขาไปว่า “ฉันยังมิได้บอกกล่าวให้กับผู้ใดได้รับรู้ถึงความฝันนี้ และฉันจะไม่บอกมันแก่ผู้ใดจนกว่าฉันจะกลับไปพบกับพระผู้อภิบาลของฉัน”
ในเนื้อความของจดหมายข้างต้นก็เช่นกัน ท่านอิมาม (อ.) ได้เขียนโต้ตอบจดหมายประกันความปลอดภัยของอัมร์ บินซะอีด โดยมีใจความว่า
“แท้จริงบุคคลที่เรียกร้องเชิญชวนสู่อัล ลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจ ผู้ทรงเกรียงไกร และประกอบคุณงามความดี และได้กล่าวว่า แท้จริงฉันเป็นส่วนหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ยอมสวามิภักดิ์ เขาจะไม่แสดงความเป็นศัตรูต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ และแน่แท้ฉันคือผู้เชิญชวนสู่การมีศรัทธามั่น สู่คุณธรรมความดีและการผูกสัมพันธ์ ดังนั้นหลักประกันแห่งความปลอดภัยที่ดีที่สุด คือหลักประกันแห่งความปลอดภัยของอัลลอฮ์ และในวันกิยามะฮ์อัลลอฮ์จะไม่ทรงให้ความปลอดภัยแก่บุคคลที่ไม่มีความยำเกรง แก่เราในโลกนี้ เราวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้ประทานความยำเกรงแก่เราในโลกนี้ อันจะเป็นสาเหตุนำเราสู่ความปลอดภัยของพระองค์ในวันกิยามะฮ์ และหากจุดประสงค์ของท่านในการเขียนจดหมายประกันความปลอดภัยนี้ เพื่อการผูกมิตรไมตรีและแสดงถึงคุณธรรมที่มีต่อฉันแล้ว ท่านก็จะได้รับรางวัลที่ดีงามทั้งในโลกนี้และโลกหน้า วัสลาม”
เป็นไปตามการรายงานของบาลาซารีย์ ของฏ็อบรีย์ และของอิบนิซุบัยร์ เมื่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และยะฮ์ยา บินซะอีด สิ้นหวังในข้อเสนอแนะของตน ทั้งสองจึงมุ่งหน้ากลับสู่นครมักกะฮ์ อัมร์ บินซะอีดก็เช่นเดียวกัน เมื่อเขาหมดหวังจากหนทางแห่งความผูกพันดังกล่าว เขาได้ออกคำสั่งแก่น้องชายของตนเป็นครั้งที่สอง ให้เดินทางไปพบฮูเซน บินอะลีอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับกองกำลังติดอาวุธ และจงบังคับให้เขากลับมาให้ได้ เมื่อกลุ่มชนดังกล่าวมาถึงยังคาราวานของท่านอิมาม (อ.) พวกเขาเกิดความขัดแย้งกันเองในประเด็นที่ว่า จะพูดดีหรือไม่พูดดี และใครจะเป็นคนพูด และพวกเขาก็ทำร้ายกันเองด้วยแซ่ม้า ยะฮ์ยาและสหายของเขาไม่สามารถอดทนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวได้ จึงเดินทางกลับสู่นครมักกะฮ์
ประเด็นที่น่าสนใจจากคำพูดของท่านอิมาม (อ.)
จากคำตอบของท่านอิมาม (อ.) ที่มีต่ออับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร และในการตอบจดหมายของอัมร์ บินซะอีด มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ ซึ่งเป็นการดีที่เราจะชี้ให้เห็นถึงประเด็นดังกล่าวคือ
คำตอบของฮูเซน บินอะลี (อ.) ที่มีต่ออับดุลลอฮ์ : ท่านได้ชี้ให้เห็นถึงภาระหน้าที่อย่างหนึ่งที่ถูกเสนอแก่ท่านโดยศาสนทูต (ซ็อลฯ) ในโลกแห่งความฝัน จึงเป็นความจำเป็นที่ท่านจะต้องปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้ลุล่วงไป แม้ว่ามันจะต้องจบลงด้วยอันตรายที่จะมาประสพกับตัวท่านก็ตาม ท่านตอกย้ำถึงภารกิจและคำสั่งที่เป็นความลับดังกล่าวว่า ท่านมิได้บอกกล่าวให้บุคคลใดรับรู้มาก่อน จนกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของท่าน ท่านก็มิได้เปิดเผยให้ใครได้รับรู้
ภารกิจสำคัญที่ว่านี้คืออะไร : มันคือการญิฮาดและการเป็นชะฮาดัตของท่านอิมามฮูเซน (อ.) และการตกเป็นเชลยของบรรดาสตรีและลูกหลานของท่าน ในหนทางแห่งพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ? และสิ่งต่างๆ ที่ท่านอิมาม (อ.) กล่าวกับมุฮัมมัด บินฮานาฟียะฮ์ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากนครมะดีนะฮ์ และตลอดระยะทางจากนครมะดีนะฮ์จนกระทั่งการเป็นชะฮาดัตของท่าน บางครั้งท่านจะกล่าวในลักษณะเป็นนัย และบางครั้งจะกล่าวด้วยคำพูดที่ชัดเจน สิ่งดังกล่าวมันคือภาระหน้าที่และเป็นคำบัญชาการลับประเภทใดกันที่ทำให้ท่าน อิมาม (อ.) กล่าวถึงมันอย่างหนักแน่นเช่นนั้น และเป็นเหตุทำให้ความมุ่งหวังของอับดุลลอฮ์ต้องหลายเป็นความสิ้นหวัง ซึ่งทำให้เขาต้องปิดปากและมุ่งหน้ากลับสู่นครมะดีนะฮ์ ทั้งๆ ที่ได้ใช้ความพยายามและความอุตสาหะอย่างเต็มที่แล้ว และเราทราบได้อย่างไรถึงคำสั่งดังกล่าวในเมื่อท่านอิมามเองได้กล่าวว่า “และฉันจะไม่บอกกล่าวถึงภารกิจอันนี้แก่ผู้ใด จนกว่าฉันจะกลับไปพบกับพระผู้อภิบาลของฉัน”
คำตอบที่มีต่อจดหมายประกันความปลอดภัย : ท่านอิมาม (อ.) เริ่มต้นชี้ให้เห็นอย่างเป็นนัยถึงแผนงานของท่านว่า เป็นการเรียกร้องเชิญชวนสู่อัลลอฮ์ หลังจากนั้นท่านได้กล่าวกับอัมร์ บินซะอีด ด้วยคำกล่าวอันละเอียดอ่อนว่า “ในวันกิยามะฮ์ บุคคลที่ได้รับหลักประกันแห่งความปลอดภัยจากพระผู้เป็นเจ้า คือผู้ที่ยืนหยัดขึ้นเพื่อปฏิบัติตามภารกิจของตนที่ได้รับมอบหมายบนโลกนี้ อันเป็นสาเหตุมาจากความเกรงกลัวและความยำเกรงต่อพระองค์”
อย่างไรก็ตาม การที่ท่านใช้ “อิน อัชชัรฏียะฮ์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประโยคเงื่อนไข ซึ่งมีความหมายว่า “หากว่า” มันเป็นการเปิดเผยให้เห็นถึงเป้าหมายหลักและสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในหัวใจของ ท่าน เพราะในฐานะของดุอาอ์ (การวิงวอนขอ) การนำเอาประโยคเงื่อนไข “หากว่า” เข้าไปใช้นั้น มันจะมีความหมายเป็นคำถาม การแสดงการตำหนิและการประณาม
การสนทนากับฟัรซะดัก
เพื่อให้อิมามฮูเซน (อ.) เลิกล้มความตั้งใจในการเดินทางสู่แผ่นดินอิรัก เป็นคำเสนอแนะของฟัรซะดัก นักกวีผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของอาหรับ ในขณะที่ท่านอิมาม (อ.) เดินทางออกจากนครมักกะฮ์มุ่งสู่แผ่นดินอิรัก ฟัรซะดักก็เดินทางมายังนครมักกะฮ์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์เช่นกัน เขาได้มาพบกับคาราวานของท่านอิมามฮูเซน (อ.) นอกเมืองมักกะฮ์ เขาจึงไต่ถามถึงเรื่องราวการเดินทางของท่าน ท่านอิมามได้ตอบคำถามดังกล่าว แล้วเราจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์การพบปะกันในครั้งนี้มานำเสนอโดย ละเอียด ซึ่งท่านมัรฮูม
เชคมุฟีด ได้อ้างรายงานโดยตรงมาจากตัวของฟัรซะดักเอง (6)
ฟัรซะดักได้เล่าว่า ในปี ฮ.ศ. 60 ฉันเดินทางมุ่งสู่นครมักกะฮ์พร้อมกับมารดาของฉันเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ เมื่อฉันมาถึงเขตของฮะรัม (แผ่นดินมักกะฮ์) ฉันจับบังเหียนอูฐของมารดาของฉันและจูงมันไปยังคาราวานของท่านฮูเซน (อ.) ซึ่งกำลังออกจากนครมักกะฮ์มุ่งหน้าไปยังแผ่นดินอิรัก ฉันรีบกระวีกระวาดที่จะเข้าไปพบท่าน
หลังจากให้สลามและแสดงความเคารพต่อท่าน ฉันได้กล่าวท่านว่า “โอ้ บุตรของศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ข้าพเจ้าขอพลีพ่อแม่เพื่อท่าน เพราะอะไรทำให้ท่านต้องรีบเร่งออกจากพิธีฮัจญ์” ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า “หากฉันไม่รีบเร่ง ฉันอาจถูกจับกุมตัวไปอย่างแน่นอน”
ฟัรซะดักได้กล่าวต่อไปว่า ท่านอิมามถามฉันว่า “เจ้าเป็นใคร” ฉันตอบว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งจากชาวอาหรับ” ฟัรซะดักกล่าวเสริมว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านอิมามมิได้ถามอะไรจากฉันมากไปกว่านี้เลย ในการทำความรู้จักกับฉัน
หลังจากนั้นท่านถามถึงทัศนะของประชาชน (ชาวอิรัก) เกี่ยวกับสถานการณ์ในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร ฉันตอบท่านไปว่า “ท่านถามมันกับผู้ที่มีความรู้ (เกี่ยวกับมัน) อยู่พอดี แท้จริงหัวใจของประชาชนนั้นอยู่กับท่าน แต่ทว่าดาบของพวกเขานั้นจะทำการเชือดเฉือนท่าน และการกำหนดชะตากรรมทั้งหลายนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์จะทรงทำให้บรรลุในสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวตอบฉันเช่นนี้ว่า “เจ้าพูดถูกต้องแล้ว กำหนดทั้งหลายอยู่ในอำนาจของอัลลอฮ์ และในทุกๆ วัน พระองค์ทรงดำเนินภารกิจ หากกำหนดทั้งหลายได้เกิดขึ้นตามที่เราปรารถนาและพึงพอใจ เราก็ขอสรรเสริญสดุดีต่ออัลลอฮ์บนความโปรดปรานทั้งหลายของพระองค์ พระองค์คือผู้ทรงให้ความช่วยเหลือในการขอบคุณพระองค์ แม้ว่ากำหนดนั้นจะกีดขวางความมุ่งหวังของผู้ซึ่งมีเจตนาบริสุทธิ์และมีหัวใจ ที่ยำเกรงก็ตาม แต่ก็ไม่อาจทำให้เขาล่วงละเมิด (ออกไปจากหนทางอันถูกต้อง)” (7)
ฟัรซะดักกล่าวว่า เมื่อคำพูดของท่านอิมาม (อ.) ดำเนินมาถึงตรงนี้ ฉันกล่าวจึงกล่าวว่า “ใช่แล้ว คำพูดของท่านนั้นถูกต้อง ขออัลลอฮ์ทรงประทานสิ่งที่ท่านพึงปรารถนาด้วยเถิด” และฉันก็ถามปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับพิธีฮัจญ์รวมทั้งปัญหาอื่นๆ หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) ตอบคำถามเหล่านั้นแก่ฉัน เราได้แยกจากกัน ณ ที่แห่งนั้น
สองประเด็นที่น่าสนใจ
จากคำกล่าวข้างต้นของท่านอิมาม (อ.) เราได้รับรู้ในสองประเด็นที่น่าสนใจและมีคุณค่า
ปัญหาเกี่ยวกับความรอบรู้ : ดังที่เราได้ชี้แจ้งไปแล้วหลายต่อหลายครั้งว่า ถึงแม้เราจะไม่กล่าวอ้างถึงประเด็นที่เกี่ยวกับ “ความรอบรู้แห่งความเป็นอิมามัต” ที่มีอยู่ในตัวของท่าน
อิมาม (อ.) ก็ตาม ท่านก็ยังคงมีความรอบรู้เป็นอย่างดีเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในแผ่นดินอิรัก และเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ได้รับรู้มาจากหนทางปกติทั่วไป และท่านดำเนินการแผนการของท่านต่อไปด้วยความรอบรู้ที่สมบูรณ์ดังกล่าว ประเด็นเหล่านี้สำหรับบุคคลธรรมอย่างเช่นฟัรซะดักก็สามารถรับรู้ได้เช่นกัน ดังที่เขาได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า “บรรดาหัวใจของประชาชนอยู่กับท่าน แต่คมดาบทั้งหลายของพวกเขานั้นจะเชือดเฉือนท่าน”
ปัญหาทางด้านจริยธรรม : เป็นปัญหาของความบริสุทธิ์ใจและการพึ่งพิงยังอัลลอฮ์ (ซบ.) การเดินทางของท่านในครั้งนี้กระทำไปเพื่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายและเป็น ภารกิจแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นการไปถึงยังเป้าหมายและเจตนารมณ์ทางจิตวิญญาณ มิใช่เป็นการกระทำเพื่อชัยชนะทางด้านภายนอกเพียงอย่างเดียว ท่านฮูเซน บินอะลี (อ.) ได้วางรากฐานการเดินทางของท่านให้เป็นไปตามคำพูดของตนเองที่ว่า “และหากกำหนด (ของอัลลอฮ์) ได้กีดขวางความมุ่งหวัง (ของเรา) แล้ว บุคคลที่มีความตั้งใจ (เหนียต) ที่บริสุทธิ์ และหัวใจของเขามีความยำเกรง เขาก็จะไม่ก่อการละเมิดแต่ประการใด”
เชิงอรรถ :
(1) ซะฟีนะตุ้ล บิฮาร เล่มที่ 1 หน้าที่ 322 และเนื่องจาความเจ็บป่วยอันรุนแรงนี้เอง ที่ทำให้ท่านไม่สามารถเดินทางไปแผ่นดินอิรักร่วมกับท่านอิมาม (อ.) ได้
(2) อัล ลุฮูฟ หน้าที่ 56
(3) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 216
(4) ช่วงต้นๆ ของดุอาอ์นุดบะฮ์
(5) อิรชาร เชคมุฟีด หน้าที่ 219, อัล บิดายะฮ์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 167, ตารีค อิบนิอะซากิร หน้าที่ 202, แต่ อิบนิอะซีร รายงานว่า ส่วนแรกที่เป็นคำตอบแก่อับดุลลอฮ์ บินญะอ์ฟัร เป็นในรูปของจดหมาย
(6) แม้ว่าฏ็อบรีย์จะกล่าวว่าสถานที่พบปะกันคือ “ซอฟาฮ์” และได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ตัซกิรอตุล ฮุฟฟาซ” เล่มที่ 1 หน้าที่ 33 ว่าเป็นที่ “ซาตุลอะรัก” และคำถามของฟัรซะดักก็มีความแตกต่างกัน แต่คำตอบของท่านอิมาม (อ.) เหมือนกันดังเช่นในตัวบทนี้ และเนื่องจากเราเห็นว่าทัศนะของท่านเชคมุฟีด ตามรูปการแล้วมีความถูกต้องมากกว่า เราจึงอ้างอิงเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ไปยังบทที่มีอยู่ในหนังสือ “อิรชาด”
(7) อันซาบุ้ล อัชรอฟ เล่มที่ 3 หน้าที่ 164, ฏ็อบรีย์ เล่มที่ 7 หน้าที่ 272, กามิล อิบนิอะซีร เล่มที่ 3 หน้าที่ 276, อิรชาด เชคมุฟีด หน้าที่ 218, มักตัล คอวาริซมีย์ เล่มที่ 1 หน้าที่ 223, อัล บิดายะฮ์ เล่มที่ 8 หน้าที่ 166
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน