ไทยแลนด์
Thursday 12th of December 2024
0
نفر 0

วารีบำบัดในคัมภีร์อัลกุรอาน



วารีบำบัดในคัมภีร์อัลกุรอาน

 

ท่านผู้อ่านผู้มีเกียรติบางท่านเมื่อได้เห็นหัวข้อของบทความนี้อาจจะรู้สึกแปลกใจเล็กน้อยว่า “น้ำ” ก็มีคุณสมบัติในการบำบัดโรคได้ด้วยหรือ?

 

     ความประหลาดใจและสงสัยของท่านจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น เมื่อได้รับรู้ถึงคำกล่าวอ้างที่ว่าคัมภีร์อัลกุรอานซึ่งเป็นสิ่งที่ให้แสงสว่างแก่ความมืดมนทั้งมวลก็ยอมรับ และยังได้ชี้ให้เห็นโดยนัยถึงความถูกต้องของสิ่งดังกล่าวนี้

 

     ก่อนที่จะวิเคราะห์ตรวจสอบและอธิบายถึงมุมมองของคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับเรื่องนี้ จำเป็นที่จะต้องชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาและประวัติที่มาของการบำบัดโรคด้วยน้ำหรือ "วารีบำบัด" นี้โดยสังเขป

 

อะไรคือ "การบำบัดด้วยน้ำ"

 

     ในการให้คำจำกัดความง่ายๆ ก็คือ ทุกๆ การเยียวยาและการรักษาโรคโดยใช้น้ำนั้น จะถูกเรียกว่า "ไฮโดรเทอราปี” (Hydrotherapy) หรือ "วารีบำบัด"

 

     ในปัจจุบันนี้การบำบัดโรคด้วยน้ำเป็นวิธีการใหม่ที่ผ่านการทดลองอย่างได้ผล และได้รับการรับรองในการรักษาโรคบางอย่าง การบำบัดโรคด้วยวิธีนี้มีปรัชญาที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามภูมิปัญญาโดยธรรมชาติของปรากฏการณ์ของโลกแห่งการสร้างสรรค์

 

     การบำบัดรักษาด้วยน้ำ เป็นวิธีการรักษาที่มีพื้นฐานอยู่บนธรรมชาติ (ธรรมชาติบำบัด) และหลักการของความสะอาด เป็นการรักษาความสะอาดร่างกายอย่างสมบูรณ์จากสารพิษทั้งมวล และปัจจัยต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดความเจ็บป่วย และความเจ็บป่วยจะถูกเยียวยารักษาโดยวิธีการแบบธรรมชาติอย่างแท้จริงโดยปราศจากการใช้ยาเคมีบำบัดหรือการผ่าตัดรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคต่างๆ ที่ไม่มีทางเยียวยารักษาให้หายได้ ตัวอย่างเช่นโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) ซึ่งทางการแพทย์ทั่วไปได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าโรคชนิดนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมโปรดดูที่เว็บไซต์ : งานวิจัย – การบำบัด "ชะฟากัร" ภายใต้การควบคุมดูแลของ ดร.ญะลาลียอน)

 

     เพื่อที่จะเยียวยารักษาความเจ็บป่วยทางกายภาพของท่านศาสดาฮัยยูบ (อ.) คัมภีร์อัลกุรอานได้ใช้ให้ท่านกระทืบเท้าของท่านลงบนพื้นดิน ทันใดนั้นก็มีตาน้ำไหลออกมาจนทำให้ท่านสามารถใช้น้ำนั้นชำระล้างร่างกายและดื่ม จนในที่สุดร่างกายของท่านก็ได้รับการเยียวยาจนหายเป็นปกติ

 

มุมมองของวิชาการแพทย์ในปัจจุบัน

 

     "ไฮโดรเทอราปี” (Hydrotherapy) หรือ "วารีบำบัด" โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงวิธีการอย่างหนึ่งของการเยียวยารักษา โดยที่ในวิธีการดังกล่าวนี้จะมีการการเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ และการออกกำลังกายในน้ำด้วยรูปแบบเฉพาะที่ได้จัดเตรียมไว้ หลักการขั้นพื้นฐานของการเยียวยารักษาด้วยวิธีนี้คือการทำให้ร่างกายรู้สึกเบาและผ่อนคลายในขณะที่แช่อยู่ในน้ำ

 

      ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่ผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อและอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยกำลังเพียงเล็กน้อย ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากแรงเสียดทานของข้อต่อต่างๆ ได้ลดน้อยลงนี่เองที่จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดน้อยลงเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวอื่นๆ และที่นอกเหนือไปจากนี้ เนื่องจากน้ำมีคุณสมบัติที่ทำให้เกิดความกระชุ่มกระชวยและความเบิกบานใจ จึงช่วยเสริมสร้างความอยากที่จะฝึกฝนและทำการเคลื่อนไหวต่างๆ ซ้ำ (ดู : บทความการฝึกวารีบำบัด)

 

      ดร.ฮะซัน ญะลาลียอน เป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้ทำให้วิธีการบำบัดด้วยน้ำนี้เป็นที่แพร่หลายในอิหร่าน ท่านได้เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ "วารีบำบัด หนทางสู่สุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ทางด้านร่างกายและจิตใจ" โดยกล่าวว่า

 

      "น้ำนั้นมีความจำเป็นต่อสิ่งถูกสร้างทั้งมวล และเลือดซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับชีวิตของมนุษย์ก็ประกอบไปด้วยน้ำ 70 เปอร์เซ็นต์ และเกลือแร่ชนิดต่างๆ อีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะสังเกตได้ว่าน้ำนั้นเป็นรากฐานของชีวิต และด้วยน้ำเช่นเดียวกันที่มีคุณประโยชน์ในการเยียวยารักษาโรค ทั้งนี้เนื่องจากในยาเคมีทั้งหลายนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาแคปซูล เซรุ่มชนิดต่างๆ และยาฉีดทั้งหลาย ล้วนแล้วแต่จะต้องมีส่วนประกอบจากน้ำในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง หรือแม้แต่พืชชนิดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติเป็นยาสมุนไพร รากฐานของพืชเหล่านั้นก็มาจากน้ำ และวิธีการบำบัดอื่นๆ อย่างเช่นการบำบัดด้วยดอกไม้ การบำบัดด้วยโคลน การบำบัดด้วยสมุนไพร การรักษาโรคโดยใช้สารธรรมชาติ (Homeopathy) และการรักษาโรคด้วยสี ทั้งหมดนี้ก็ต้องพึ่งพาอาศัยน้ำทั้งสิ้น และน้ำก็มีส่วนร่วมอยู่ในวิธีการบำบัดเหล่านั้น นอกเหนือไปจากสิ่งที่กล่าวไปแล้วทั้งหมดนั้น และน้ำที่ปราศจากการประกอบกับสิ่งใดนั้น โดยลำพังตัวมันเองก็มีบทบาทสำคัญในการเยียวยารักษาโรคต่างๆ ที่ร้ายแรงได้ และเป็นวิธีการเดียวสำหรับการทำความสะอาดสารพิษและสิ่งสะสมต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก และวารีบำบัดนี้เป็นวิธีการใหม่อย่างหนึ่งและมีผลอย่างสูงในการเยียวยารักษาโรค"

 

ประวัติความเป็นมาของ "การบำบัดด้วยน้ำ"

 

       การเยียวยารักษาและบำบัดด้วยน้ำ เป็นวิธีการที่ถูกยอมรับและเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์นับจากหลายศตวรรษที่ผ่านมา และกลายเป็นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชนอันเกิดจากประสบการณ์และการใช้ประโยชน์จากน้ำแร่ การบำบัดด้วยน้ำนั้นมีประวัติอันยาวนานในสมัยกรีก โรมันและจีน จากศตวรรษที่ 18 การใช้ประโยชน์จากน้ำได้กลายเป็นที่แพร่หลายในทางการแพทย์ และกลายเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปในนาม "ไฮโดรเทอราปี” (Hydrotherapy) หรือ "วารีบำบัด" และในศตวรรษที่ 19 คลีนิกวารีบำบัดแห่งแรกได้เปิดขึ้นในยุโรป

 

      ต่อมาในศตวรรษที่ 20 คุณสมบัติของน้ำและการบำบัดด้วยน้ำร้อนและเย็นได้ถูกพิสูจน์ ผลการวิจัยต่างๆ ได้ชี้ให้เห็นว่า น้ำนั้นเป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพมากและเป็นสิ่งที่ชัดเจนในการบำบัดความเจ็บป่วยบางอย่าง และกระทั่งว่ามันสามารถถอนรากถอนโคนอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและปวดข้อต่างๆ ช่วยเยียวยารักษาความผิดปกติทางกายภาพ เร่งระยะเวลาในการฟื้นฟูกระดูกอันเกิดจากกระทบกระทั่ง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกล้ามเนื้อ กระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อที่เสื่อมสภาพ เร่งการไหลเวียนของหลอดเลือดในเส้นเลือด และบรรเทาความเจ็บป่วยต่างๆ ทางจิต เป็นต้น

 

วิธีการต่างๆ ของ "การบำบัดด้วยน้ำ"

 

     "ไฮโดรเทอราปี” (Hydrotherapy) หรือ "วารีบำบัด" สามารถกระทำได้หลายวิธี ซึ่งวิธีที่แพร่หลายมากที่สุดได้แก่

 

    งดการรับประทานอาหารทุกประเภทและการดื่มน้ำบริสุทธิ์สำหรับช่วงเวลาที่ถูกกำหนดเฉพาะ


    การอาบน้ำและชำระร่างกายในน้ำ
    การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายบางอย่างในน้ำ
    ในบางวิธีใช้ฝักบัวโดยอาศัยการฉีดของน้ำผ่านรูเล็กๆ ของมัน น้ำจะไปสัมผัสกับอวัยวะและส่วนต่างๆ ของร่างกายด้วยแรงดันของน้ำนั้น ซึ่งจะเป็นสื่อช่วยในกระตุ้นเส้นประสาท การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ และทำให้เลือดในหลอดเลือดแดงไหลเวียนได้สะดวก

 

คัมภีร์อัลกุรอานกับ "ไฮโดรเทอราปี” (วารีบำบัด)

 

     เรื่องเล่าจากเรื่องราวของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ถึงวิธีการบำบัดดังกล่าวโดยนัย เรื่องราวโดยสังเขปมีดังนี้คือ

 

     ท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สมบัติ ลูกๆ และปัจจัยอำนวยสุขในชีวิตมากมาย ท่านจะกล่าวสรรเสริญสดุดีและขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่เป็นเนืองนิตย์ ชัยฏอน (ซาตานมารร้าย) ได้ทูลกล่าวต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า ที่พระองค์ทรงพบว่าอัยยูบเป็นผู้ขอบคุณนั้นเนื่องจากเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) อันมากมายที่พระองค์ทรงประทานให้กับเขา หากเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) เหล่านั้นถูกเอาคืนไปจากเขาแล้ว แน่นอนยิ่งเขาก็คงจะไม่ใช่บ่าวที่ขอบคุณอีกต่อไป

 

     พระผู้เป็นเจ้าจึงอนุญาตให้ชัยฏอน (มารร้าย) พิชิตเหนือชีวิตทางวัตถุของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) เริ่มต้นนั้นเขาได้ทำให้ทรัพย์สิน ฝูงแกะและไร่สวนต่างๆ ของท่านศาดาอัยยูบ (อ.) ประสบกับภัยพิบัติและความเสียหาย แต่สิ่งนั้นก็มิได้ส่งผลใดๆ ต่อท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) เลยแม้แต่น้อย หลังจากนั้นชัยฏอน (มารร้าย) ได้พิชิตเหนือร่างกายของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) จนเป็นเหตุทำให้ท่านประสบกับความเจ็บป่วยและต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยนั้นจนถึงขั้นต้องนอนอยู่กับที่นอน แต่กระนั้นก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้การขอบคุณของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ลดน้อยถอยลงไปได้เลย

 

      เนื่องจากท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ได้ผ่านการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้านี้ไปได้ด้วยดี พระองค์ทรงทำให้เนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ต่างๆ ของพระองค์กลับคืนมาสู่ท่านอีกครั้งหนึ่ง และสุขภาพร่างกายของท่านก็กลับมาเป็นปกติ (พิจารณาดูใน : ตัฟซีรนะมูเนฮ์ ในการอธิบายอัลกุรอานโองการที่ 43 ของบทซ๊อด) และด้วยเหตุดังกล่าวนี้เองพระองค์จึงทรงบัญชาแก่ท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ว่า

 

ارْكُضْ بِرِجْلِكَ هَذَا مُغْتَسَلُ بَارِدٌ وَ شَرَاب

 

     “เจ้าจงใช้เท้าของเจ้ากระทืบพื้นดินเถิด (เมื่อเขาได้กระทำเช่นนั้น พลันก็มีตาน้ำพวยพุ่งออกมา แล้วเราได้กล่าวกับเขาว่า) นี่คือน้ำเย็นเพื่อใช้ในการอาบและการดื่ม (เจ้าจงอาบน้ำนั้นและจงดื่มมันเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยของเจ้า)”

 

(อัลกุรอานบทซ๊อด โองการที่ 42)

 

     นักภาษาศาสตร์ได้ให้ความหมาย คำว่า “มุฆตะซัล” (مُغْتَسَلُ) ไว้สองความหมายคือ
1) น้ำที่ใช้ชำระล้าง 2) สถานที่ชำระล้าง

 

ประเด็นที่หนึ่ง

 

     การอธิบายถึงน้ำด้วยคุณลักษณะว่า " بَارِدٌ" (เย็น) สามารถชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติและผลในทางบำบัดโรคของน้ำเย็น ดังเช่นการค้นพบต่างๆ ทางการแพทย์ในปัจจุบันก็ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ไว้เช่นเดียวกัน

 

ประเด็นที่สอง

 

     คำว่า " شَرَاب " (เครื่องดื่ม) ยังสามารถทำให้เข้าใจได้ว่า นอกจากการว่ายน้ำและการกระแทกเท้าในน้ำเย็นแล้ว การดื่มน้ำก็สามารถเป็นยารักษาโรคสำหรับความเจ็บป่วยทางร่างกายและผิวหนังบางอย่างได้

 

 

เขียนโดย : ชุกูรี (ผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มศาสนาและแนวคิดของเว็บไซต์ติบยาน)

แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
...
ปรัชญาการละหมาดในอิสลาม
...
กะรอมะฮ์ ...
ฮิดายะฮ์ (การชี้นำ)ในอัลกุรอาน
จากมักกะฮ์สู่มะดีนะฮ์ ...
ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
...
อารอฟาต ดินแดนแห่งการดุอาอ์

 
user comment