ภารกิจของผู้รอคอย (กออิม) ผู้ดำรงความยุติธรรม
หนึ่งในหน้าที่สำคัญในยุคของการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือความมีสปิริตและจิตวิญญาณของการปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงในสังคม ทุกคนจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม และอุตสาห์พยายามในหนทางของการแก้ไขปรับปรุงและการขัดเกลาสมาชิกของสังคม เพื่อทำให้สังคมและสมาชิกของสังคมมีความพร้อมที่จะยอมรับการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า
وَ لَوْ لَا دَفْعُ اللَّهِ النَّاسَ بَعْضَهُم بِبَعْضٍ لَّفَسَدَتِ الْأَرْض
"และหากว่าอัลลอฮ์ไม่ทรงป้องกันมนุษย์ ซึ่งบางส่วนของพวกเขาด้วยอีกบางส่วนแล้วไซร้ แน่นอนแผ่นดินก็ย่อมเสื่อมเสียไปแล้ว" (1)
ดังนั้นบรรดาผู้รอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ที่ไม่มีความพยายามที่จะช่วยกันแก้ไขปรับปรุงสังคม ความเสื่อมทรามก็จะแผ่ปกคลุมสังคมอย่างกว้างขวาง และความพร้อมของสังคมสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมาม (อ.) ก็จะถูกทำให้ล่าช้าออกไป การปฏิรูปและการแก้ไขปรับปรุงสังคมจะเป็นจริงได้ก็ด้วยการอาศัยการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว กฎเกณฑ์ของการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วนี้ถูกเน้นย้ำไว้อย่างมากในตัวบทต่าง ๆ ของอิสลาม ทั้งในคัมภีร์อัลกุรอานและอัลฮะดีษ
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ได้ชี้ถึงการกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่วว่า เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่สำคัญของบรรดาผู้รอคอย (มุนตะซิร) ท่านได้กล่าวว่า :
"...พระผู้เป็นเจ้าจะทรงถือว่าพวกเขา (ผู้รอคอยการมาของอิมามมะฮ์ดี) ในยุคแห่งการเร้นกาย (ฆ็อยบะฮ์) นั้น เปรียบประหนึ่งผู้ที่ถือดาบต่อสู้กับศัตรูของศาสนา เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) พวกเขาคือผู้ที่มีความจริงใจต่อเราและเป็นชีอะฮ์ที่แท้จริงของเรา พวกเขาจะเรียกร้องเชิญชวนประชาชนมาสู่ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้า ทั้งโดยลับและโดยเปิดเผย" (2)
ในฮะดีษจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ท่านได้กล่าวเช่นนี้ว่า :
المنتظرُ لأمرنا كالمتشحِّطِ بدمه في سبيل الله
"ผู้ที่รอคอยกิจการ (การปกครอง) ของเรานั้น ประดุจดั่งผู้ที่แปดเปื้อนไปด้วยเลือดของตนเองในหนทางของอัลลอฮ์" (3)
ในทัศนะของท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) การรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) คือการรอคอยอำนาจการปกครองของอิสลาม ดังนั้นความพยายามในการจัดเตรียมพื้นฐานไปสู่อำนาจการปกครองดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน และถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) โดยท่านได้กล่าวว่า :
"การรอคอยการคลี่คลายความทุกข์ยาก (การมาของอิมามมะฮ์ดี) คือการรอคอยอำนาจของอิสลาม และจำเป็นที่เราจะต้องอุตสาหะพยายามเพื่อทำให้อำนาจของอิสลามบรรลุความเป็นจริงขึ้นในโลกให้ได้ และพื้นฐานต่างๆ ของการปรากฏขึ้นของมันจะต้องถูกจัดเตรียมขึ้น อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)" (4)
เป้าหมายสูงสุดของการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
ในตรรกะของการรอคอยการมาของรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) (ผู้ช่วยให้รอด) นั้น เป้าหมายสูงสุดของมันคือ การไปถึงจุดสูงสุดของการปฏิบัติตนเป็นบ่าวที่สมบูรณ์ที่สุดของพระผู้เป็นเจ้า และการไปถึงยังโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าต่าง ๆ แห่งความเป็นมนุษย์ เป็นโลกที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม ความเสมอภาค ความสงบสุขและสันติภาพอย่างแท้จริง ภายใต้การปกครองของบรรดาผู้ทรงคุณธรรม (ซฮลิฮีน) ดังที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า :
وَ نُرِیدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِینَ اسْتُضْعِفُوا فِی الْأَرْضِ وَ نَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَ نَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِینَ
"และเราประสงค์ที่จะให้ความโปรดปรานแก่บรรดาผู้ถูกกดขี่ในแผ่นดิน และเราจะบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้นำ และบันดาลให้พวกเขาเป็นผู้สืบทอด (อำนาจการปกครอง)" (5)
และสิ่งนี้จะบรรลุความเป็นจริงได้ในยุคการมาของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) มีผู้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า :
يا ابن رسول اللَّه و من القائم منکم أهل البيت؟
"โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! กออิม (ผู้ดำรงความยุติธรรม) จากพวกท่าน ผู้เป็นอะฮ์ลุลบัยต์นั้นคือใคร?"
ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า :
الرابع من ولدي ابن سيّدة الإماء، يطهّر اللَّه به الأرض من کلّ جور و يقدّسها من کلّ ظلم، [و هو] الذي يشکّ الناس في ولادته و هو صاحب الغيبة قبل خروجه. فإذا خرج أشرقت الأرض بنوره [بنور ربّها] و وضع ميزان العدل بين الناس فلايظلم أحد أحداً
"เขาคือคนที่สี่จากลูกหลานของฉัน เป็นบุตรชายของหัวหน้าของทาสหญิง อัลลอฮ์จะทรงทำให้แผ่นดินสะอาดบริสุทธิ์จากทุกความอธรรมและการกดขี่ เขาคือผู้ซึ่งมวลมนุษย์จะคลางแคลงใจในการถือกำเนิดขึ้นของเขา เขาคือผู้ที่จะมีการเร้นกายก่อนการยืนหยัดต่อสู้ของเขา และเมื่อเขาปรากฏตัวขึ้น แผ่นดินจะเปล่งประกายไปด้วยรัศมีขององค์พระผู้อภิบาลของมัน และตราชูแห่งความยุติธรรมจะถูกวางลงในระหว่างมวลมนุษย์ โดยที่จะไม่มีผู้ใดอธรรมต่อผู้ใดอีก..." (6)
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 251
(2) มะฮ์ดี เมาอูด, หน้า 893
(3) บิฮารุลอันวาร, เล่ม 52, หน้า 123
(4) ซอฮีเฟเย นูร, เล่ม 2, หน้า 198
(5) อัลกุรอาน บทอัลก็อศ๊อศ โองการที่ 5
(6) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 321 – 322