หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ การเสียชีวิตของ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.)
ใครกันหรือที่ไม่ยอมรับว่า บ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ก็คือบ้านของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เกียรติของบ้านของท่านหญิง (ซ.) ก็คือเกียรติของบ้านของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่จะต้องได้รับการเคารพ คำถามนี้ยังคงไร้คำตอบในตลอดระยะเวลาของประวัติศาสตร์! จะมีใครบ้างไหมที่จะเป็นผู้ให้คำตอบนี้? นอกจากหัวใจทั้งหลายที่ถูกเผาไหม้และร้องไห้คร่ำครวญด้วยความเศร้าโศก!
ความอัปยศอดสูที่ถูกประทับลงบนหน้าผากของมุสลิมทั้งมวล ที่พวกเขาได้กระทำเช่นนี้กับบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ภายหลังจากการวะฟาต (เสียชีวิต) ของท่าน
เราจะมาพิจารณาหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์นี้
– ไฟที่เผาประตูบ้าน
บนพื้นฐานของหลักฐานต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ หลังจากการสุมกองฟืนที่ประตูบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) แล้ว ผู้ที่บุกรุกได้จุดไฟกองฟืนนั้น อิบนุชะห์นะฮ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “เราฎ่อตุ้ลมุนาซิร” (หนึ่งในหนังสือของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์) ว่า
إن عمر جاء الی بیت علی لیحرقه علی من فیه
“อุมัรมายังบ้านของอะลีเพื่อที่จะเผามัน พร้อมกับบุคคลที่อยู่ในมัน” (1)
บะลาซุรี กล่าวไว้ในหนังสือ “อันซาบุ้ลอัชร๊อฟ” ว่า
فجاء عمر ومعه فتیلة ، فتلقته فاطمة على الباب.
“อุมัรมาพร้อมกับคบเพลิง โดยฟาฏิมะฮ์ได้พบกับเขาที่ประตูนั้น” (2)
– คำสั่งในการเผา
ชะฮ์ริสตานี นักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้เขียนไว้ในหนังสือ “อัลมิลัล วันนิฮัล” ว่า
و کان یصیح احرقوا دارها بمن فیها و ما کان فی الدار غیر علی و فاطمة و الحسن و الحسین…؛
“และเขา (อุมัร) ตะโกนขึ้นว่า ‘จงเผาบ้านของนางพร้อมทั้งผู้ที่อยู่ในมัน’ ในขณะที่ไม่มีใครอยู่ในบ้านหลังนั้นเลย นอกจากอะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซันและฮุเซน…” (3)
ตามคำพูดของ อับดุลฟัตตาห์ อับดุลมักซูด นักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ อุมัรรู้ดีว่าท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) อยู่ในบ้านหลังนั้น แต่กระนั้นก็ตาม เขาก็ยังคงกระทำการเผาประตูบ้านนั้น อับดุลฟัตตาห์ เขียนไว้ว่า
قالت له طائفة خافت الله و رعت الرسول فی عقبه : یا ابا حفص انّ فیها فاطمة فصاح لا یبالی و ان …؛
ชนกลุ่มที่มีความเกรงกลัวอัลลอฮ์ และเคารพในเกียรติของบุตรีของท่านศาสนทูต พวกเขาได้กล่าวว่า
“โอ้อบาฮัฟศ์! ในบ้านนั้นมีฟาฏิมะฮ์อยู่” เขาตะโกนว่า “ฉันไม่สนใจ แม้ว่าฟาฏิมะฮ์จะในบ้านนั้นก็ตาม (ฉันก็จะเผามัน)…” (4)
ตามคำพูดของนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ผู้นี้ ขั้นต่ำที่สุดของการเคารพเกียรติของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในกรณีที่เกี่ยวกับบุตรีของท่าน นั่นก็คือการให้เกียรติต่อบ้านและเขตหวงห้ามบ้านของท่าน แต่สิ่งนั้นก็ได้ถูกทำลายลง! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามคำพูดที่ชัดเจนของอับดุลฟัตตาห์ กลุ่มชนที่เกรงกลัวพระผู้เป็นเจ้ามิอาจยอมรับต่อการทำลายเกียรติเช่นนี้ได้เลย!
– การยื่นคำขาดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)
ในหลักฐานที่บันทึกไว้โดย บะลาซุรี นักวิชากชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ มีเนื้อความเช่นนี้ว่า
و قالت فاطمة یابن الخطاب اتراك محرقاً علی بابی؟ قال: نعم و ذلك اقوی فیما جاء به ابوك… ؛
ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ได้กล่าวว่า “โอ้อิบนิค็อฏฏ๊อบ! ท่านคิดจะเผาประตูบ้านของฉันกระนั้นหรือ?” เขากล่าวว่า “ใช่! และสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดที่บิดาของเจ้าได้นำมา…” (5)
บนพื้นฐานของคำรายงานจากนักวิชาการชาวอะฮ์ลิซซุนนะฮ์นี้ แม้ภายหลังจากการทั้งท้วงของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) และการรับรู้เป็นอย่างดีถึงสถานะของท่านหญิงในฐานะที่เป็นบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) อุมัรก็ได้ทำการเผาประตูบ้านนั้น!
– เพลิงที่สุมประตูบ้าน
มัสอูดี บันทึกไว้ในหนังสือ “อิษบาตุลวะซียะฮ์” ซึ่งเป็นหนังสืออ้างอิงที่มุอ์ตะบัร (เชื่อถือได้) เล่มหนึ่งของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ว่า
فوجهوا الی منزله فهجموا علیه و احرقوا بابه واستخرجوه منه کرهاً
“ดังนั้นพวกเขา (อุมัรและบรรดาผู้ติดตาม) ได้มุ่งตรงไปยังบ้านของท่านอะลี (อ.) ได้บุกรุกและเผาประตูบ้านหลังนั้น และนำตัวของท่านออกมาบ้านด้วยการบังคับ” (6)
บนพื้นฐานดังกล่าวนี้ การเผาบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) จึงเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ความอัปยศอดสูได้ถูกประทับอยู่บนหน้าผากของมุสลิมผู้ที่ได้ทำการเผาประตูบ้านของบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ทำนองเดียวกันนี้ มุกอติล บินอะฏียะฮ์ ก็ได้กล่าวถึงเพลิงที่ลุกไหม้ประตูบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (ซ.) ไว้ในหนังสือ “มุอ์ตะมัร อุละมาอ์แบกแดด” เช่นกัน (7)
– การกระแทกระหว่างประตูและฝาผนัง
ความอุกอาจและเหตุการณ์อันน่าอดสูที่เกิดขึ้นกับบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) นับเป็นเรื่องที่เจ็บปวดอย่างยิ่ง ที่ปากกาจะต้องเขียนบรรยายรายละเอียดของมันว่า ในขณะที่เพลิงกำลังลุกไหม้ประตูบ้านอยู่นั้น ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) อยู่ข้างหลังประตูนั้น! เราจะขอนำเสนอเพียงตัวบทหลักฐานเดียวจาก บะลาซุรี นักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
انّه حصر فاطمة (سلام الله علیها) فی الباب حتی اسقطت محسناً ؛
“ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ถูกบีบเข้ากับประตู จนกระทั่งนางได้แท้งมุห์ซิน” (8)
ประเด็นนี้ยังมีบันทึกอยู่ในหนังสือ “อิษบาตุลวะซียะฮ์” ของมัสอูดี และในหนังสือ “มุอ์ตะมัร อุละมาอ์แบกแดด” ของมุกอติล บินอะฏียะฮ์ ด้วยเช่นกัน (9)
ในหนังสือ “บิฮารุ้ลอันวาร” ของท่านอัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี นักวิชาการชีอะฮ์ ได้ชี้ถึงจดหมายฉบับหนึ่งของอุมัร อิบนิค็อฏฏ๊อบ ที่ส่งถึงมุอาวิยะฮ์ บุตรของอบีซุฟยาน ซึ่งในจดหมายนั้นเขียนว่า
فرکلت الباب و قد الصقت احشاءها بالباب تترسه و سمعتها و قد صرخت صرخة حسبتها قد جعلت اعلی المدینه اسفلها…؛
“ในขณะที่นาง (ฟาฏิมะฮ์) แนบร่างของนางหลบอยู่กับประตูนั้น ฉันได้ถีบไปที่ประตูอย่างแรง และฉันได้ยินเสียงนางร้องตะโกนกู่ก้อง ซึ่งฉันคิดว่านางได้ทำให้เมืองมะดีนะฮ์ถล่มถลายเสียแล้ว…” (10)
– เรื่องราวของตะปูที่ติดอยู่กับประตู
มุกอติล บินอะฏียะฮ์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มุอ์ตะมัร” ว่า
و لما جاءت فاطمة خلف الباب لترد عمر و حزبه، عصر عمر فاطمة بین الحائط و الباب عصرة شدیدة قاسیة حتی السقطت جنینها و نبت مسمار الباب فی صدرها…
“และเมื่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มาที่หลังประตูเพื่อที่จะขับไล่อุมัรและพวกของเขา อุมัรได้ผลักท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ที่อยู่ระหว่างฝาผนังและประตูอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม จนกระทั่งทารกน้อยในครรภ์ของนางได้แท้ง และตะปูของประตูได้แทงลงไปที่ทรวงอกของนาง” (11)
– อย่าเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
รายละเอียดเกี่ยวกับการเผาและการพังประตูบ้าน การบีบกระแทกระหว่างฝ่าผนังและประตู เรื่องราวของตะปูจากประตูบานนั้น ทั้งหมดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งจากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่ยังไร้คำตอบ ในคำภีร์อัลกุรอานมิได้กล่าวไว้ดอกหรือว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا لا تَدْخُلُوا بُيُوتَ النَّبِيِّ إِلاَّ أَن يُؤْذَنَ لَكُمْ
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! พวกเจ้าอย่าได้เข้าไปในบ้านของศาสดา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตแก่พวกเจ้าเสียก่อน…”
(อัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 53)
เชิงอรรถ
1) เราฎ่อตุ้ลมุนาซิร, อิบนุชะห์นะฮ์ (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 882) เล่มที่ 7 หน้าที่ 164
2) อันซาบุลอัชร๊อฟ, อัลบะลาซุรี (เสียชีวิตในปี ฮ.ศ. 279) เล่มที่ 1 หน้าที่ 252
3) อัลมิลัล วันนิฮัล, ชะฮ์ริซตานี, เล่มที่ 1 หน้าที่ 7
4) อัซซะกีฟะฮ์ วัลคิลาฟะฮ์, อับดุลฟัตตาห์ อับดุลมักซูด, หน้าที่ 14
5) อันซาบุลอัชร๊อฟ, อัลบะลาซุรี, เล่มที่ 1 หน้าที่ 252
6) อิษบาตุลวะซียะฮ์, มัสอูดี, หน้าที่ 155
7) มุอ์ตะมัร อุละมาอ์แบกแดด, มุกอติล บินอะฏียะฮ์, หน้าที่ 181
8) อันซาบุลอัชร๊อฟ, อัลบะลาซุรี, เล่มที่ 2 หน้าที่ 370
9) อ้างอิงจาก “ดิฟาอียาต” ชัยยิดอะลี รอฎี ฆ่อระวี, มะฮ์ดี อิมามี, มุรตะฎอ กอรกัร เขียนโดย มะญีด ฮูชังกี, หน้าที่ 38 – 66
10) บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 30 หน้าที่ 294
11) มุอ์ตะมัร อุละมาอ์แบกแดด, มุกอติล บินอะฏียะฮ์, หน้าที่ 181
ขอบคุณเว็บไซต์islamicstudiesth.com