อิมามริฎอ (อ.) คือ ผู้ทรงความรู้แห่งวงศ์วานของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
หนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดและละเอียดอ่อนที่สุดในการที่เราจะรู้จักบรรดาอิมาม (อ.) ของชีอะฮ์ นั่นก็คือ การพิจารณาดูถึง "อัลก๊อบ" (القاب) หรือ "สมญานาม" อันเป็นนามเฉพาะที่ถูกขนานนามสำหรับท่านเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ที่ได้รับสมญานามว่า "ซัยยิดุชุฮะดาอ์" (หัวหน้าแห่งบรรดาผู้ที่สละชีพเพื่อพระเจ้า)เนื่องจากการพลีชีพของท่านเพื่อรักษาหลักคำสอนหรือแนวทางของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เอาไว้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง คือท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ที่ได้รับสมญานามว่า "บากิรุ้ลอุลูม" (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งศาสตรา) เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานวิชาการต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) อิมามแต่ละท่านจะมีสมญานามเฉพาะของท่าน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงบทบาทและสถานภาพที่สำคัญของพวกท่านที่มีต่ออิสลามและประชาคมอิสลาม ถึงแม้ว่าในเนื้อหาต่างๆ ทางศาสนาจะกล่าวถึงอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ทั้งหมดในฐานะ
« کلّهم نور واحد» (ทุกท่านเหล่านั้น คือนูร (รัศมี) หนึ่งเดียวกัน) ดังเช่นที่เราได้อ่านใน “ซิยาเราะฮ์ ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์” ที่กล่าวว่า
أَنَّ أَرْوَاحَكُمْ وَ نُورَكُمْ وَ طِينَتَكُمْ وَاحِدَةٌ طَابَتْ وَ طَهُرَتْ بَعْضُهَا مِنْ بَعْضٍ خَلَقَكُمُ اللَّهُ أَنْوَارًا
“แท้จริงรูห์ (ดวงวิญญาณ) ของพวกท่าน นูร (รัศมี) ของพวกท่าน ธรรมชาติของพวกท่าน คือหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะอาดและบริสุทธิ์ที่มาจากกันและกันอัลลอฮ์ทรงสร้างพวกท่านขึ้นมาเป็นนูรที่หลากหลาย”
สมญานามของท่านอิมามริฎอ (อ.)
หนึ่งในสมญานามของท่านอิมามริฎอ (อฺ) คือ “ผู้ทรงความรู้แห่งวงศ์วานของศาสดามุฮัมมัด” (ซ็อลฯ) เป็นสมญานามที่ท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ได้กล่าวถึงท่านตั้งแต่ก่อนที่ท่านจะถือกำเนิดขึ้นมาสู่โลกนี้ ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) บิดาของท่าน ได้กล่าวกับลูกๆ ของท่านว่า
هذا اخوكم على بن موسى عالم آل محمد(ص) فاسالوه عن اديانكم و احفظوا مايقول لكم، فانى سمعت ابى جعفر بن محمد غير مرة يقول لى انّ عالم آل محمّد لفى صلبك، و لیتنى ادركته، فانّه سمىّ امیر المۆمنین علىّ علیه السّلام
“อะลี บินมูซา พี่ชายของพวกเจ้าผู้นี้ คือ “อาลิม อาลิมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)”
(ผู้รู้แห่งวงศ์วานของมุฮัมมัด) ดังนั้นพวกเจ้าจงถามเขาเกี่ยวกับศาสนาของพวกเจ้า และจงจดจำสิ่งที่เขาจะบอกกล่าวแก่พวกเจ้า เพราะแท้จริงฉันได้ยินอิมามซอดิก (อ.) บิดาของฉัน ไม่ใช่แค่เพียงครั้งเดียว ซึ่งท่านได้กล่าวว่า แท้จริงผู้รู้แห่งวงศ์วานของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) (อาลิม อาลิมุฮัมมัด) จะอยู่ในไขสันหลัง (เชื้อสาย) ของเจ้า โอ้อนิจจาเอ๋ย! ฉันน่าจะได้อยู่พบกับเขา และแท้จริงเขาจะถูกเรียกด้วยชื่อเดียวกับท่านอมีรุ้ลมุอฺมินีนอะลี (อ.)” (1)
เครื่องยืนยันถึงความรู้ที่สูงส่งของท่านอิมามริฎอ (อ.)
สิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันและพิสูจน์ถึงความรู้อันสูงส่งของท่านคือ คำสารภาพของนักวิชาการและปวงปราชญ์ในยุคสมัยของท่านอิมามริฎอ (อ.) เอง ตัวอย่างเช่น มัรฮูมเชคซุดูก ได้กล่าวว่า “ที่ใดก็ตามที่มะอ์มูน (บุตรของฮอารูน อัรอชีด ผู้ปกครองแห่งวงศ์อับบาซียะฮ์) คาดคิดว่าจะมีผู้รู้และนักวิชาการที่มีความสามารถจะโต้เถียงและถกทางด้านวิชาการกับท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้ เขาก็จะเชื้อเชิญผู้รู้และนักวิชาการคนนั้นมายังที่ชุมนุมของเขา และขอให้เขาทำการถกเถียงทางด้านวิชาการกับท่านอิมาม เกี่ยวกับกรณีนี้ เขามีความพยายามอย่างมากที่จะทำให้บรรดานักวิชาการและนักคิดจากสำนักคิดและกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ให้เอาชนะท่านอิมามริฎอ (อ.) ให้ได้ในการถกเถียงทางด้านวิชาการต่างๆ (ที่เขาจัดขึ้น) เนื่องจากความอิจฉาริษยาและความเป็นศัตรูที่แฝงอยู่ในจิตใจของเขาที่มีต่อท่านอิมาม แต่ทว่าในทุกๆ การชุมนุมโต้เถียงและการถกทางวิชาการที่หนักหน่วงและมีความซับซ้อนนั้น ท่านอิมามริฎอ (อ.) สามารถเอาชนะบรรดานักวิชาร่วมสมัยทุกคนได้ และท้ายที่สุดฝ่ายตรงข้ามของท่านจะต้องยอมรับสารภาพถึงความประเสริฐ ความเหนือกว่า ความมีความรู้ที่มากมาย และความเชี่ยวชาญของท่านอิมามริฎอ (อ.) และยกย่องเทิดทูนในการพิสูจน์หลักฐานและการให้เหตุผลที่แข็งแกร่งของท่าน” (2)
อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี ได้อ้างคำพูดจากอบุศศ็อลต์ ฮะระวี (เสียชีวิต ฮ.ศ. 236) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่โดเด่นคนหนึ่งในยุคสมัยของท่านอิมามริฎอ (อ.) เขาได้กล่าวเช่นนี้ว่า
ما رأیت اعلم من علىّ بن موسى الرّضا علیه السّلام و لا رآه عالم الّا شهد له بمثل شهادتى
"ฉันไม่เคยเห็นใครที่จะมีความรู้มากไปกว่าท่านอะลี อิบนิมูซา อัรริฎอ (อ.) และไม่มีผู้รู้คนใดที่ได้พบเห็นท่าน นอกจากจะให้การเป็นสักขีพยาน เช่นเดียวกับที่ฉันให้การเป็นสักขีพยาน" (3)
ในหนังสืออะอ์ยานุชชีอะฮ์ ได้กล่าวว่า : เมื่อมะอ์มูนได้เชิญกลุ่มหนึ่งจากบรรดาอุละมาอ์ (นักวิชาการศาสนา) บรรดาฟุกอฮาอ์ (นักนิติศาสตร์อิสลาม) และบรรดามุตะกัลลิมีน (นักเทววิทยา) มาร่วมในมัจญ์ลิส (ที่ประชุม) ทางวิชาการ แต่กระนั้นก็ตาม ท่านอิมามก็สามารถเอาชนะและตอบปัญหาต่างๆ ของพวกเขาเหล่านั้นได้ จนทุกคนต้องยอมรับในความเหนือกว่าของท่านในด้านวิชาการ (4)
วัตถุประสงค์ของมะอ์มูนจากการจัดให้มีการชุมนุมถกเถียงทางด้านวิชาการ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีหลายความเชื่อ แต่จะขอชี้ในที่นี้เพียงประเด็นเดียว คือ เป้าหมายในการจัดให้มีการชุมนุมถกเถียงทางด้านวิชาการดังกล่าว ก็เพื่อที่จะทำลายสถานภาพทางด้านความรู้และวิชาการ และการสร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงให้แก่ท่านอิมามริฎอ (อ.) เนื่องจากประชาชนมีความรัก ความผูกพันและความชื่นชมในตัวท่านมาก และมะอ์มูนเกรงกลัวว่าจะนำไปสู่ความสั่นคลอนในอำนาจการปกครองและตำแหน่งค่อลีฟะฮ์ของตนเอง เหตุผลในเรื่องนี้ ก็คือคำพูดของมะอ์มูนเองที่มีต่อ “สุไลมาน มัรวะซี” ที่กล่าวว่า “เป้าหมายของฉันจากการจัดชุมนุมถกเถียงทางวิชาการนั้นไม่ใช่อื่นใด นอกเสียจากต้องการให้เจ้าปิดหนทางแก่เขา (หมายถึงอิมามริฎอ (อ.)” (5)
พยานหลักฐานอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือคำพูดของท่านอิมามริฎอ (อ.) ที่ท่านได้พยากรณ์ล่วงหน้าไว้แล้วเกี่ยวกับความสำนึกเสียใจและความอับอายของมะอ์มูนที่จะต้องเกิดขึ้น นับตั้งแต่ก่อนที่การอภิปรายและการถกเถียงทางวิชาการกับบรรดานักวิชาการศาสนาต่างๆ ที่จะถูกจัดขึ้น โดยท่านได้กล่าวกับ “นูฟิลีย์” ว่า “โอ้นูฟิลีย์เอ๋ย! เจ้าอยากรู้ไหมว่า เมื่อใดที่มะอ์มูนจะรู้สึกเสียใจ” นูฟิลีย์กล่าวว่า “ครับ ผมอยากทราบ” ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “ในช่วงเวลาที่ฉันจะพิสูจน์เหตุผลและอ้างอิงหลักฐานต่อชาวคัมภีร์เตารอต (โตราห์) โดยใช้คัมภีร์เตารอตของพวกเขา ต่อชาวคัมภีร์อินญีล (ไบเบิล) โดยใช้คัมภีร์อินญีลของพวกเขา ต่อชาวคัมภีร์ซะบูร โดยใช้คัมภีร์ซะบูร ต่อผู้เคารพบูชาดวงดาว โดยใช้วิธีการและภาษาฮิบรูของพวกเขา ต่อพวกบูชาไฟ โดยใช้วิธีการและภาษาเปอร์เซียของพวกเขา และต่อชาวโรมันโดยใช้วิธการของพวกเขา โดยที่ฉันจะบีบบังคับให้พวกเขายอมรับคำพูดของตนเอง เมื่อนั้นมะอ์มูนจะต้องตระหนักว่า เขาได้เลือกทางผิดแล้ว และเขาจะต้องรู้สึกเสียใจอย่างแน่นอน” (6)
สิ่งที่ตอกย้ำถึงเหตุผลและวัตถุประสงค์ข้อนี้ก็คือ ตราบจนถึงช่วงก่อนการเป็นชะฮีด (เสียชีวิต) ของท่านอิมามริฎอ (อ.) นั้น ตำหนักของมะอ์มูน กลายเป็นสถานที่จัดชุมนุมถกเถียงทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อการชุมนุมเหล่านี้ประสบความล้มเหลวและไม่สามารถทำลายสถานภาพและเกียรติของท่านอิมาม (อ.) ลงได้ มะอ์มูนจึงคิดหาทางกำจัดท่านอิมาม และในที่สุดเขาก็ได้วางยาพิษท่านอิมาม (อ.)
ผลของการจัดชุมนุมถกเถียงทางด้านวิชาการ การอภิปรายและการถกทางวิชาการเหล่านี้ ได้นำไปสู่ผลสรุปที่สำคัญสี่ประการคือ
1) เป็นสาเหตุทำให้สถานภาพและความยิ่งใหญ่ทางด้านวิชาการและความรู้ของท่านอิมาม (อ.) เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สาธารณชนมากยิ่งขึ้น
2) กลายเป็นสื่อนำไปสู่ความอับอาย ความตกต่ำและความอัปยศอดสูของมะอ์มูน ต่อหน้าบรรดานักวิชาการและผู้รู้ของลัทธิศาสนาทั้งหลาย
3) เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสัจจริง สิทธิอันชอบธรรมและความคู่ควรของท่านอิมามริฎอ (อ.) ต่อตำแหน่งความเป็นผู้ปกครองและผู้ชี้นำประชาชาติมุสลิม การฉกชิงอย่างไร้ความชอบธรรมในตำแหน่งการเป็นผู้ปกครอง (คิลาฟะฮ์) ของมะอ์มูน
4) ทำให้นักวิชาการและผู้รู้ของลัทธิศาสนาทั้งหลายได้ประจักษ์ถึงสถานะอันสูงส่งของศาสนาอิสลามและความสมบูรณ์ของบทบัญญัติต่างๆ ของอิสลาม
เชิงอรรถ :
(1) อะอ์ลามุลวะรอ เล่มที่ 2 หน้าที่ 64; บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 49 หน้าที่ 100
(2) อุยูนุ อัคบาร อัรริฎอ เล่มที่ 1 หน้าที่ 152
(3) มะฟาตีฮุนนะญาฮ์ ฟี มะนากิบี่ อาลิ อะบา หน้าที่ 179
(4) อะอ์ยานุชชีอะฮ์ เล่มที่ 4 หน้าที่ 99–100
(5) ซีเระฮ์ พีชวอยอน หน้าที่ 512–513
(6) อุยูนุ อัคบาริรริฎอ เล่มที่ 1 หน้าที่ 316
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน