คุณธรรมนำชีวิต
การขัดเกลาจิตใจตนเองถือว่าเป็นการกระทำที่ได้รับการเน้นย้ำไว้อย่างมากมายในแทบทุกศาสนาและทุกนิกาย จะต่างกันก็ตรงเป้าหมายและขั้นตอนต่างๆของการขัดเกลาจิตใจ
อิสลามเป็นหนึ่งในศาสนาที่สอนและกล่าวเน้นถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว อีกทั้งมีการนำเสนอรูปแบบและวิธีการต่างๆ มากมาย ทั้งนี้ จุดประสงค์ก็เพื่อโน้มนำมนุษย์ให้ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้าให้มากที่สุด ขณะเดียวกันให้ออกห่างจากพระเจ้าจอมปลอม และอารมณ์ใฝ่ต่ำที่เกิดจากอำนาจกิเลสของตนเอง
ณ ตรงนี้ขอนำเสนอการกระทำบางอย่างที่นำมนุษย์ไปสู่การขัดเกลาตนเองเพื่อยกระดับจิตใจ อันเป็นผลจากคำสอนของอิมามผู้บริสุทธิ์ และจากกระทำของผู้รู้และนักปราชญ์ทั้งหลายที่ประสบความสำเร็จในหนทางนี้ อาทิเช่นท่านอายะตุลลอฮฺ อาริฟ ชัยค์ ฮะซันซอเดะฮฺ ออโมลีย์
๑. ให้ครองวุฎู (น้ำนมาซ) ตลอดเวลา ท่านดัยละมีย์ ได้เล่าจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ว่า พระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า “ใครก็ตามที่ได้ทำให้วุฏูของตนเสีย และไม่ได้ทำวุฎูใหม่ เท่ากับได้ดูถูกฉัน
ใครก็ตามตามที่ได้ทำให้วุฏูของตนเสีย และได้ทำวุฎูใหม่ ถ้าเขาไม่ได้ทำนมาซอย่างน้อย ๒ ระกะอัตเท่ากับได้ดูถูกฉัน
ใครก็ตามตามที่ได้ทำให้วุฏูของตนเสีย และได้ทำวุฎูใหม่ พร้อมกับทำนมาซ ๒ ระกะอัต แต่ไม่ยอมขอดุอาอฺจากฉัน เท่ากับได้ดูถูกฉัน
ใครก็ตามตามที่ได้ทำให้วุฏูของตนเสีย และได้ทำวุฎูใหม่ พร้อมกับทำนมาซ ๒ ระกะอัต ขอดุอาอฺในสิ่งที่ตนปารถนาทั้งโลกนี้และโลกหน้า ถ้าฉันไม่ตอบรับดุอาอฺของเขา ถือว่าฉันดูถูกเขา และฉันพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลกไม่เคยประสงค์จะดูถูกผู้อื่น”
แน่นอนยิ่งโอ้พี่น้องของฉัน แท้จริงวุฎูนั้นเป็นนูรฺ(รัศมี) การทำให้ตัวเรามีวุฎูอยู่ตลอดเวลา จะทำให้ตัวของเรามีนูรฺรัศมี จิตใจสะอาดผ่องแผ้วเสมอ และเป็นสาเหตุทำให้ใกล้ชิดกับโลกอันบริสุทธิ์แห่งพระผู้เป็นเจ้า และพึงสังวรไว้เถิดว่าการกระทำเช่นนี้ มีบะร่อกัต (ความจำเริญ) และเป็นประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จของบรรดานักปราชญ์ที่ทรงเกียรติทั้งหลาย
ดังนั้นโอ้ผู้ขัดเกลาทั้งหลายสิ่งจำเป็นที่ท่านต้องปฏิบัติคือ
๑. ท่านต้องปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ให้เป็นนิจสิน
๒. ท่านจงอดทนสูง ตั้งมั่นและมีขันติธรรมตลอดเวลา
หลังจากนมาซเสร็จเรียบร้อยแล้วจงวิงวอนขอในสิ่งที่คงทนถาวร และมีความจำเริญทั้งโลกนี้และโลกหน้า และจงวิงวอนขอต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว อย่าได้คาดหวังต่อผู้อื่น จงสนทนากับพระองค์ด้วยความรู้สึกที่ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจเช่นพูดว่า “โอ้ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพระองค์ไม่มีผู้ใดที่สามารถตั้งความหวังกับเขาได้นอกจากพระองค์ โปรดเอื้ออำนวยแก่ปวงบ่าวที่เขายังไม่ได้ลิ้มรสความรักในพระองค์”
เพราะผู้ที่ได้ลิ้มรสในความรักของพระองค์เขาไม่สามารถปันหัวใจไปให้คนอื่นได้ ยิ่งไปกว่านั้นจิตใจของเขาจะไม่ปรารถนาใครอื่นนอกจากพระองค์ ทุกสิ่งคือขุมพลังแห่งการเปิดเผยพระนามอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ฉะนั้นเมื่อเขาได้เข้าถึงยังแก่นแห่งอาตมันสากลของพระองค์ แน่นอนว่าสิ่งที่เป็นบริวารรายล้อมพระองค์ เขาก็ย่อมจะได้รับไปโดยปริยาย
เรื่องราวของลัยลากับมัจนูนย่อมสะท้อนภาพของความรักได้เป็นอย่างดี ซึ่งฝ่ายหนึ่งได้เป็นบ้าไปเพราะความรักที่มีต่อลัยลา อันเป็นความรักที่ไม่จีรังและไม่สมหวัง แต่อย่างไรก็ตาม มัจนูนก็เป็นบ้าเพราะความรักนั้น เพราะเขาไม่สามารถปันใจไปรักหญิงอื่นได้ ขณะที่ความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นความรักที่ไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด เป็นความรักที่จีรังถาวร ผู้ที่รักพระองค์จึงยอมพลีทุกอย่างเพื่อผู้เป็นที่รักของเขา เพียงเพื่อหวังว่า ให้เขานั้นได้ใกล้ชิดกับผู้เป็นที่รักดุจดังเช่นเหตุการณ์การพลีชีพแห่งกัรฺบะลา เป็นการพลีบนความรักที่มีต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นที่รักของเหล่าลูกหลานศาสดา
ทำไมเราจึงมักหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่ใช่แก่น เป็นเพียงเปลือกและองค์ประกอบภายนอกเท่านั้น จิตใจของมนุษย์ทำไมจึงมุ่งมั่นอยู่กับสรวงสวรรค์ ทุกคนอยากได้สัมผัส อยากได้เข้าไปและพำนักอยู่ในนั้นตลอดไป ทำไมเราจึงไม่ใส่ใจต่อพระผู้สร้างสรวงสวรรค์ผู้เป็นแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง
ดังนั้นเมื่อท่านทำนมาซเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ลงสุญูดด้วยจิตใจที่นอบน้อม พร้อมทั้งกล่าวว่า
اَللَّهُمَّ ارْزُقْنِي حَلاَوَةً ذِكْركَ وَلَقائك والحُُضُوْرُ عِنْدَ كَ..
“โอ้อัลลอฮฺ โปรดประทานความหวานชื่นในการรำลึกถึงพระองค์ การได้พบกับพระองค์ และความนบนอบต่อพระองค์ แก่ข้าฯเถิด”
๒. หลีกเลี่ยงการรับประทานมากเกินไป อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า وكُلُواْ وَاشْرَبُواْ وَلاَ تُسْرِفُواْ إِنَّهُ لاَ يُحِبُّ الْمُسْرِفِينَ
ความว่า “จงกินและจงดื่ม แต่จงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย”[๑]
โอ้ศรัทธาชนทั้งหลายไม่ต้องสงสัยเลยว่า การรับประทานมากเป็นเหตุทำให้หัวใจต้องทำงานหนักผิดปรกติ จิตวิญาณห่อเหี่ยวไม่กระตือรือร้น และน้ำหนักตัวเพิ่มโดยใช่เหตุ แต่พึงรู้ไว้ว่า ความหิวเป็นคุณสมบัติพิเศษสำหรับผู้ศรัทธา (มุอฺมิน)
ท่านยะห์ยา บินมุอาซ ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “หากมลาอิกะฮฺทั้งเจ็ดชั้นฟ้าผู้ให้ชะฟาอัตใครสักคน รวมทั้งบรรดาศาสดาอีก ๑๒๔,๐๐๐ ท่าน และคัมภีร์ทั้งหมดของพระองค์ร่วมเป็นสื่อที่เพื่อให้เขาละทิ้งอารมณ์ใฝ่ต่ำและยอมรับกฏเกณฑ์ต่างๆของอัลลอฮฺ เขาก็จะยังไม่อ่อนข้อและยอมรับคำบัญชาของพระองค์ แต่หากใช้ความหิวโหยเป็นสื่อ เขาจะยอมรับอย่างง่ายดายและปฏิบึติตามอย่างเคร่งครัด[๒]
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ท้องของคนเรา เมื่อรับประทานมาก มันจะสร้างความอึดอัดและความเหนื่อยหน่าย ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดของปวงบ่าวในการแสดงความเคารพภักดีคือ ช่วงเวลาที่ท้องของเขาว่างเว้นจากอาหาร และช่วงเวลาที่แย่ที่สุดของปวงบ่าว ในการแสดงความเคารพภักดีคือ ช่วงเวลาที่ท้องของเขาเต็มไปด้วยอาหาร”[๓]
๓. หลีกเลี่ยงการพูดมาก ท่านเชคฏูซีย์ได้เล่าหะดีษบทหนึ่งที่มาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า “นอกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺแล้ว จงอย่าพูดมาก เพราะการพูดมากโดยที่ไม่ใช่การรำลึกถึงอัลลอฮฺจะเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจแข็งกระด้าง และคนที่มีหัวใจแข็งกระด้างคือคนที่ห่างไกลอัลลอฮฺมากที่สุด”[๔]
ท่านเชคกุลัยนีย์ ได้เล่าหะดีษของท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่าท่านอิมามได้กล่าวว่า “ท่านศาสดาอีซา (อ.) ได้กล่าวว่า นอกจากการรำลึกถึงอัลลอฮฺแล้ว ไม่ควรพูดมาก เพราะการพูดมากที่ไม่ใช่การรำลึกถึงอัลลอฮฺ จะทำให้จิตใจแข็งกระด้าง แม้ว่าเขาคนนั้นจะไม่รู้ตัวก็ตาม”[๕]
.............
เชิงอรรถ
[๑] ซูเราะฮฺ อะอฺรอฟ/ ๓๒
[๒] กูวะตุลกุลูบ อบูฏอลิบ มักกีย์ พิมพ์ที่อียิปต์ หน้าที่ ๒๑๕
[๓] บิฮารุลอันวาร ๖๖/๓๓๖
[๔] อัล-อะมาลีเขคฏูซีย์ หะดีษที่ ๑
[๕] อุศูลกาฟีย์ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๑๑๔
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัชชีอะฮ์