มารยาทต่อพระผู้เป็นเจ้า
การขัดเกลาและการยกระดับจิตใจเป็นภาระที่จำเป็นสำหรับมวลมุสลิมทั้งหลายที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ในบทนี้ขอนำเสนอวิธีการปฏิบัติตัวเพื่อหวังในความใกล้ชิด..ประเด็นที่นำเสนอ คือ ...มารยาท
สิ่งจำเป็นที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษนั่นคือ มารยาทต่อพระผู้เป็นเจ้าและในทุกๆ อริยาบทของตนเอง มีนักปราชญ์ผู้รู้ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งนามว่าซัยยิด ฮะซัน กอฎีย์ ฏ่อบาฏ่อบาอี ตับรีซีย์ ได้เตือนเสมอว่าให้รักษามารยาทที่ดีกับพระผู้เป็นเจ้า และมั่นตรวจสอบจิตใจและการกระทำของตนเองเสมอๆ
ท่านศาสดาอีซา (อ.) กล่าวว่า “จงอย่าพูดว่าความรู้อยู่ ณ ฟากฟ้าและใครจะมีความสามารถไปนำเอาความรู้นั้นมาได้ หรือพูดว่าความรู้นั้นอยู่ที่ก้นบึ่งของพื้นโลก และใครจะมีความสามารถลงไปที่ก้นบึ้งใจกลางโลกเพื่อนำเอาความรู้นั้นมา ทว่าความรู้นั้นอยู่ที่หัวใจบริสุทธิ์ทั้งหลายของพวกท่าน มาสิ จงเข้ามาหาพระผู้อภิบาลของเราด้วยมารยาทที่สง่างามของผู้ที่มีความซื่อสัตย์เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รับเอาความรู้ที่แท้จริงจากพระองค์อันเป็นความรุ้ที่แผ่ปกคลุมท่านตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า”
ท่านอิมามญะวาด (อ.) กล่าวว่า “เมื่อใดที่ท่านทำการเปรียบเทียบคนสองคนว่าใครจะดีกว่า ฉะนั้นคนที่มีมารยาทมากกว่า ณ พระผู้เป็นเจ้าเขาคือคนที่ดีกว่า ได้มีผู้ถามว่า โอ้บุตรของท่านศาสดาการมีมารยาทกับมนุษย์ด้วยกันสามารถมองเห็นและรู้ได้ แต่การมีมารยาทกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นอย่างไร ?”
ท่านอิมาม(อ.) ได้ตอบว่า “เขาผู้นั้นจะอ่านอัลกุรอานเป็นนิจสิน และสำรวมตนเสมือนได้ถูกประทานกุรอานลงมายังเขาโดยตรง และเขาจะทำการเล่าหะดีษของพวกเราเหมือนที่พวกเราได้พูดไว้ และเขาจะเรียกหาพระผู้เป็นเจ้าโดยปราศจากความต้องการสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ (และสำนึกตัวคลอดเวลาว่าเขาเป็นหนี้บุญคุณพระองค์)[๑]
ริวายะฮฺได้กล่าวว่าอัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในคัมภีร์บางเล่มของพระองค์ว่า.. “โอ้ปวงบ่าวทั้งหลายของฉัน มันเป็นการสมควรหรือที่เวลาสูเจ้าพูดกับฉัน เจ้ากลับหันซ้ายแลขวาไปสนใจคนอื่น ในขณะที่ถ้าหากผู้อยู่ใต้ปกครองของเจ้าแสดงพฤติกรรมคล้ายกับที่เจ้าแสดงต่อข้า เจ้าจะสนใจเขาไหม หรือเจ้าจะปล่อยเขาไปตามยะถากรรม...?
โอ้ปวงบ่าวของฉัน ยามที่สูเจ้าสนทนากับพี่น้องของสูเจ้า เจ้าให้ความสนใจและรักษามารยาทในการสนทนากับพวกเขาเป็นอย่างดี แต่กับฉันเจ้ากลับแสดงมารยาทเสมือนไม่แยแสต่อข้า เจ้าเป็นบ่าวประเภทไหนกันหรือ บ่าวที่ดีจะแสดงพฤติกรรมกับนายของเขาเฉกเช่นนี้หรือ” [๒]
การมีมารยาทกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นอย่างไรจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
มารยาทกับพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นผลพวงที่เกิดมาจาก การมีมารยาทกับท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอหฺลุลบัยตฺ (อ.) ของท่านในความเป็นจริงก็คือ การปฏิบัติไปตามคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า การมีความอดทนอดกลั้นต่อการทดสอบ และอุปสรรคปัญหาต่างๆ นั่นเอง ดังมารยาทของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) กับการทดสอบมีขึ้นกับท่าน
อนึ่ง ท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ถูกทดสอบด้วยโรคภัยที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ตามเนื้อตัวของท่านมีแต่แผลผลุพอง เน่าเฟะและมีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลทั่วไปหมด เป็นที่รังเกียจของสังคมทั่วไป
وَأَيُّوبَ إِذْ نَادَى رَبَّهُ أَنِّي مَسَّنِيَ الضُّرُّ وَأَنتَ أَرْحَمُ الرَّاحِمِينَ
“และจงรำลึกถึงเรื่องราวของอัยยูบ เมื่อเขาได้ร้องเรียกพระผู้อภิบาลของเขาว่า แท้จริงความทุกข์ยากและการทดสอบได้ประสบแก่ข้าพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ทรงเมตตายิ่งในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย”[๔]
คำพูดของท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ได้แสดงให้เห็นมารยาทที่ดีงามกับพระผู้เป็นเจ้าสองประการดังนี้..
ประการที่หนึ่ง ท่านศาสดาอัยยูบไม่ได้กล่าวว่า (انّك امسيتني بالضرّ) “โอ้อัลลอฮฺ พระองค์ได้ทำให้ฉันได้ประสบกับความทุกข์ยากและการทดสอบ” ทว่าท่านได้กล่าวว่า “แท้จริงความทุกข์ยากและการทดสอบได้ประสบแก่ข้าพระองค์”
ประการที่สอง ท่านศาสดาอัยยูบไม่ได้กล่าวว่า (ارحمني) “โอ้อัลลอฮฺ โปรดเมตตาฉัน” ทว่าท่านได้กล่าวเป็นนัยยะว่า “พระองค์เป็นผู้ทรงเมตตายิ่งในหมู่ผู้เมตตาทั้งหลาย”
สาเหตุที่ท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) กล่าวเป็นนัยยะกับอัลลอฮฺ เป็นเพราะว่าท่านต้องการรักษาตำแหน่งของการอดทนในการทอสอบและความทุกข์ยากที่ประสบกับท่าน
เช่นเดียวกันเรื่องราวของท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ด้วยเหตุที่ท่านรักษามารยาทกับพระผู้เป็นเจ้าท่านจึงได้กล่าวว่า
وَإِذَا مَرِضْتُ فَهُوَ يَشْفِينِ “และเมื่อฉันป่วยพระองค์ทรงให้ฉันหายป่วย”[๕] ท่านศาสดา (อ.) ไม่ได้กล่าวว่า....
(اذا مرضتني) “เมื่อพระองค์ได้ทำให้ฉันป่วยแล้วพระองค์ทรงทำให้ฉันหายป่วย”
ท่านศาสดาอัยยูบ (อ.) ได้กล่าวในอีกที่หนึ่งว่า “أَنِّي مَسَّنِيَ الشَّيْطَانُ بِنُصْبٍ وَعَذَابٍ” “ชัยฏอนมารร้ายได้ทำให้ฉันได้ประสบความเหนื่อยยาก และทุกข์ทรมาน” [๖] เนื่องจากว่าชัยฏอนเป็นผู้ผลักดันให้มนุษย์ไปทำในสิ่งที่ไม่ดีเสมอ และเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ต้องตกระกำลำบากทนทุกข์ทรมานทั้งโลกนี้และโลกหน้า
คำพูดของท่านศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ได้กล่าวมานั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงมารยาทในการสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ ในสภาพเช่นใดก็ตามควรจะมีมารยาทในการพูดเสมอ
ท่านศาสดาอาดัม (อ.) กับภรรยาของท่านเช่นกันรักษามารยาทในการสนทนากับพระผู้เป็นเจ้าเสมอท่านได้ กล่าวว่า..
قَالاَ رَبَّنَا ظَلَمْنَا أَنفُسَنَا وَإِن لَّمْ تَغْفِرْ لَنَا وَتَرْحَمْنَا لَنَكُونَنَّ مِنَ الْخَاسِرِينَ
“เขาทั้งสองได้กล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของเรา พวกเราได้อธรรมแก่ตัวของพวกเราเอง และถ้าพระองค์ไม่ทรงอภัยโทษแก่พวกเรา และเมตตาแก่พวกเราแล้ว แน่นอนพวกเราต้องกลายเป็นพวกที่ขาดทุน”[๗]
ในทางตรงกันข้ามอิบลีส มารร้าย เมื่อรู้ตัวว่าได้ถูกขับออกจากสวรรค์เนรมิตร มันไม่เคยรักษามารยาทอีกต่อไปเลย อัล-กุรอานกล่าวว่า..
قَالَ فَبِمَا أَغْوَيْتَنِي لأَقْعُدَنَّ لَهُمْ صِرَاطَكَ الْمُسْتَقِيمَ
“มันกล่าวว่า ด้วยเหตุที่พระองค์ได้ทรงให้ฉันตกอยู่ในความหลงผิด แน่นอนฉันจะนั่งขวางกั้นพวกเขา อยู่บนทางอันเที่ยงตรงเพื่อกลั่นแกล้งพวกเขา”[๘]
มารยาทในดุอาของอิมามอลี (ดุอากุเมล)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้แสดงให้เราเห็นว่ามารยาทในการพูดกับพระผู้เป็นเจ้านั้นควรจะพูดอย่างไร ดังที่ได้ประจักษ์แล้วในดุอาอฺกุเมลเช่นบางประโยคของดุอาอฺกล่าวว่า..
يَا مَوْلاَيَ فَكَيْفَ يَبْقَى فِي الْعَذَابِ وَ هُوَ يَرْجُو مَا سَلَفَ مِنْ حِلْمِكَ
โอ้ ผู้เป็นนายของข้าฯ จะให้เขาอยู่ในสถานลงโทษต่อไปได้อย่างไร ขณะที่เขามีความหวังในความเมตตาปรานีจากพระองค์
أَمْ كَيْفَ تُؤْلِمُهُ النَّارُ وَ هُوَ يَأْمُلُ فَضْلَكَ وَ رَحْمَتَكَ
หรือจะให้ไฟนรกเผาไหม้เขา ขณะที่เขามีความหวังในความโปรดปรานและความการุณย์จากพระองค์
أَمْ كَيْفَ يُحْرِقُهُ لَهِيبُهَا وَ أَنْتَ تَسْمَعُ صَوْتَهُ وَ تَرَى مَكَانَهُ
หรือพระองค์จะปล่อยให้เปลวไฟนรกแผดเผาเขา ขณะที่พระองค์ทรงได้ยินเสียงร่ำร้องของเขา และรู้สถานที่พำนักของเขา
أَمْ كَيْفَ يَشْتَمِلُ عَلَيْهِ زَفِيرُهَا وَ أَنْتَ تَعْلَمُ ضَعْفَهُ
หรือพระองค์จะปล่อยให้กัมปนาทผลาญพร่าคนที่พระองค์ทรงตระหนักถึงความ อ่อนแอของเขา
أَمْ كَيْفَ يَتَقَلْقَلُ بَيْنَ أَطْبَاقِهَا وَ أَنْتَ تَعْلَمُ صِدْقَهُ
หรือพระองค์จะผลักไสเขาลงสู่เหวนรก ขณะที่พระองค์ทราบดีถึงความจริงใจและความบริสุทธิ์ใจของเขา
أَمْ كَيْفَ تَزْجُرُهُ زَبَانِيَتُهَا وَ هُوَ يُنَادِيكَ يَا رَبَّهْ
หรือพระองค์จะให้เปลวไฟนรกทำร้ายผู้ที่เรียกหาพระองค์ ซึ่งเขาได้ร้องเรียกพระองค์ว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน
أَمْ كَيْفَ يَرْجُو فَضْلَكَ فِي عِتْقِهِ مِنْهَا فَتَتْرُكُهُ (فَتَتْرُكَهُ) فِيهَا
เป็นไปได้อย่างไรขณะที่เขามีความหวังในความโปรดปรานีของพระองค์ แต่พระองค์ได้กักขังและละทิ้งให้เขาอยู่ที่นั้น
هَيْهَاتَ مَا ذَلِكَ الظَّنُّ بِكَ وَ لاَ الْمَعْرُوفُ مِنْ فَضْلِكَ
เป็นไปมิได้ ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า มิมีผู้ใดเชื่อว่าพระองค์เป็นเยี่ยงนั้น (ปราศจากความเมตตา) หรือแม้แต่เกียรติคุณของพระองค์ก็มิมีข้อกังขาดังกล่าว
.................
เชิงอรรถ
[๑] อิรชาดุล กุลูบ ดัยลัมมีย์ หมวดที่ ๔๙ บาบอะดะบุ มะอัลลอฮฺ
[๒] อิรชาดุล กุลูบ ดัยลัมมีย์ หมวดที่ ๔๙
[๓] เล่มเเดิม
[๔] อันบิยาอฺ/๘๓
[๕] ชุอฺ รอ/๘๐
[๖] ศ็อด/๔๑
[๗] อะอฺรอฟ/๒๓
[๘] อะอฺรอฟ/๑๖
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัชชีอะฮ์