อรรถาธิบาย ดุอา ประจำวันที่ 7 เดือนรอมฎอน
بسم الله الرحمن الرحيم
اللهمّ اعنّي فیهِ علی صِیامِهِ وقیامِهِ
وجَنّبني فیهِ من هَفَواتِهِ وآثامِهِ
وارْزُقْني فیهِ ذِکْرَك بِدوامِهِ
بتوفیقِك یا هادیَ المُضِلّین.
ความหมาย :
โอ้อัลลอฮ์ โปรดช่วยเหลือข้าฯในการถือศีลอดและการลุกขึ้นกิยาม
โปรดนำข้าฯให้ห่างไกลจากความต่ำทรามและบาปทั้งหลาย
โปรดให้ข้าฯ สัมฤทธิ์ผลต่อการรำลึกถึงพระองค์ตลอดไป
ด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ โอ้พระผู้ทรงชี้นำบรรดาผู้หลงทางทั้งหลาย
คำอธิบาย :
ท่านอยาตุลลอฮ์ มุจญตะบา เตะห์รานี ได้ทำการอรรถาธิบายดุอาประจำวันที่ 7 ของเดือนรอมฎอน ดังนี้
اَللّهُمَّ اَعِنّي فیهِ عَلی صِیامِهِ وَقِیامِهِ
โอ้อัลลอฮ์ โปรดช่วยเหลือข้าฯในการถือศีลอดและลุกขึ้นกิยาม (ทำอะมั้ลในยามดึก)
หากพระองค์ทรงช่วยเหลือ เราก็จะไม่รู้สึกกระหายและหิวในการถือศีลอด โอ้พระองค์โปรดช่วยเหลือข้าฯในการทำอิบาดะห์ในยามค่ำคืนและซะฮัร ในการอ่านดุอาอิฟติตาห์และดุอา อบู ฮัมซะห์ ษุมาลี
ในบางครั้ง มีบางคนหวาดวิตกว่าจะสามารถือศีลอดในเดือนรอมฎอนได้อย่างไรในสภาพที่อากาศร้อนระอุ ? คำตอบที่ดีที่สุด คือ จงวิงวอนขอยังพระองค์ ซึ่งพระองค์จะทรงช่วยเหลืออย่างแน่นอน
นิยามของการถือศีลอด
การถือศีลอดตามรากศัพท์ คือ การหลีกเลี่ยงจากการกิน การดื่มและการกระทำบางอย่างที่ทำให้ศีลอดเป็นโมฆะ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนถึงดงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ประโยชน์ของการถือศีลอด :
ประการแรก : เพื่อมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง (บิฮารุล อันวาร เล่ม 93 หน้า 255 )
ประการที่สอง : เป็นเกราะป้องกันไฟนรก (วะซาอิลุชชีอะห์ เล่ม 7 หน้า 285 )
ประการที่สาม : เป็นปัจจัยที่จะทำให้ดุอาอ์ถูกตอบรับ (บิฮารุล อันวาร เล่ม 93 หน้า 256 )
ประการที่สี่ : สามารถชำระล้างความผิดบาป (ตัฟซีร มุรอฆี เล่ม 2 หน้า 69 )
ประการที่ห้า : มวลมะลาอิกะฮ์จะวิงวอนขอดุอาให้กับผู้ถือศีลอด (บิฮารุล อันวาร เล่ม 93 หน้า 285 )
ประโยคถัดมา :
وَجَنِّبْني فیهِ مِنْ هَفَواتِهِ وَ اثامِهِ
โอ้อัลลอฮ์ โปรดนำข้าฯให้ห่างไกลจากความต่ำทราม และบาปทั้งหลาย
ความอัปยศบังเกิดขึ้นสำหรับบุคคลที่ทำความผิดบาปตลอดทั้งปีและยังกระทำต่อเนื่องจนถึงเดือนรอมฎอน ในเดือนรอมฎอนอวัยวะทุกส่วนของร่างกายจำต้องถือศีลอดด้วย หากเราถือศีลอด แต่กลับทำบาปทางสายตา ปาก หู โกหก นินทา และ.... เหล่านี้เป็นการถือศีลอดของคนทั่วไป แต่บทดุอานี้เรียกร้องให้เราทำการถือศีลอดเฉพาะ นั้นคือ อวัยวะร่างกายทุกส่วนของเราต้องถือศีลอดด้วย
มีฮะดีษ รายงาน เมื่อถือศีลอด หู ตา และผิวหนังของเราก็ต้องถือศีลอดด้วย เราต้องฝึกฝนสิ่งเหล่านี้เพื่อให้ผลของการถือศีลอดสามารถซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณของเรา
ทั้งนี้ยังมีศีลอดอีกระดับหนึ่งหรือประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ศีลอดพิเศษเฉพาะ นั้นคือ ศีลอดของบุคคลที่หัวใจของเขามุ่งหาพระองค์เพียงผู้เดียว ศีลอดของบุคคลที่ไม่ได้เพิกเฉยและละเลยในการรำลึกถึงพระองค์
ประโยคถัดมา :
وَارْزُقْني فیهِ ذِکْرك بدَوامِهِ
โอ้อัลลอฮ์ โปรดให้ข้าฯ สัมฤทธิ์ผลต่อการรำลึกถึงพระองค์ตลอดไป
ซึ่งคำว่า “ซิกร์” ให้ความหมายทั้ง การรำลึกถึงพระองค์ และให้ความหมายทั้งการรำลึกด้วยวาจา ซึ่งในที่นี้หมายถึงการรำลึกพระองค์อยู่เสมอ
มีฮะดีษ รายงานว่า แม้แต่สัตว์ก็ยังมีการรำลึกถึงพระองค์ และเมื่อใดที่สัตว์ไม่ได้รำลึกถึงพระองค์มันก็จะตกเป็นเหยื่อของนายพรานและนักล่า เสียงสัตว์ต่างๆที่เราได้ยินนั้นคือซิกร์ที่พวกเขาได้เอ่ยออกมา แม้แต่ต้นไม้ ภูพาต่างก็มีการกล่าวซิกร์ในรูปลักษณะของมันเองทั้งสิ้น
ประโยคถัดมา :
بِتَوْفیقِك یاهادِی الْمُضِلّینَ
โอ้อัลลอฮ์ ด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ พระผู้ทรงชี้นำบรรดาผู้หลงทางทั้งหลาย
โอ้พระองค์ ผู้ทรงชี้นำทางบรรดาผู้หลงทางทั้งหลาย โปรดให้เตาฟีกแก่ข้าฯ และทรงตอบรับการวิงวอนขอดุอาอ์ในวันที่เจ็ดของข้าฯด้วยเถิด
บทความโดย เชคอิบรอฮีม อาแว