การปฏิสัมพันธ์ กับ ญิน
มนุษย์สามารถที่จะติดต่อสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับญินได้หรือไม่? หากมีความสามารถกระทำเช่นนั้นได้ จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับสิ่งนี้อย่างไร?
คำตอบ : คัมภีร์อัลกุรอานได้ยืนยันถึงการดำรงอยู่ของญิน (สิ่งถูกสร้างชนิดหนึ่งของพระเจ้า) และได้ชี้ถึงคุณสมบัติต่างๆ ของมันไว้ ดังต่อไปนี้
ญิน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นจากธาตุไฟ ซึ่งต่างจากมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากธาตุดิน (1)
ญิน มีความรู้ ความเข้าใจ มีการรับรู้และแยกแยะความจริง (สัจธรรม) และความเท็จ (ความหลงผิด) และมีความสามารถทางการพูด ทางตรรกะและการใช้เหตุผล (2)
ญิน มีหน้าที่ (ตักลีฟ) และความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับมนุษย์ (3)
ญิน กลุ่มหนึ่งเป็นผู้ศรัทธาและเป็นคนดี และอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา (กาฟิร) (4)
ญิน มีการฟื้นคืนชีพในปรโลก มีการสอบสวน มีการลงโทษและการตอบแทนการกระทำ (อะมั้ล) (5)
ญิน มีพลังอำนาจในการขึ้นสู่ชั้นฟ้าต่างๆ การล้วงหาความลับและการแอบฟัง แต่ต่อมาภายหลังมันได้ถูกห้ามจากชั้นฟ้าเหล่านั้น (6)
ญิน สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์บางคน และพวกมันจะทำการล่อลวงมนุษย์ทั้งหลายโดยอาศัยความรู้ที่จำกัดที่มีต่อสิ่งเร้นลับสุดยอดบางอย่าง (7)
ในหมู่ ญิน มีญินบางตนจะพบว่ามีพลังอำนาจมาก เช่นเดียวกับที่สามารถพบเห็นได้ในหมู่มนุษย์ (8)
ญิน มีพลังอำนาจที่จะกระทำบางสิ่งบางอย่างให้แก่มนุษย์ตามที่มนุษย์ต้องการได้ [9]
การสร้าง ญิน ขึ้นบนโลกนี้ เกิดก่อนการสร้างมนุษย์ (10)
ในเรื่องราวของท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ในครั้งที่ อิฟรีต (ญินตนหนึ่ง) ได้กล่าวอ้างว่า เขาสามารถที่จะเอาบัลลังก์ของ “บิลกีส” ราชินีแห่งซะบะอ์ (เยเมน) มาให้ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ได้ก่อนที่ท่านจะลุกออกไปจากที่ประชุม (11) ท่านศาสดาสุไลมาน (อ.) ไม่ได้กล่าวหาว่าญินตนนั้นมุสา แม้ในคัมภีร์อัลกุรอานจะไม่ได้กล่าวต่อไปว่า ญินตนนั้นนำเอาบัลลังก์มาหรือไม่ (12)
จากโองการทั้งหมดเหล่านี้สามารถสรุปได้ว่า ญิน คือสิ่งดำรงอยู่ชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องโคมลอยหรือเป็นจินตนาการ เป็นสิ่งดำรงอยู่ที่มีตัวตนที่แท้จริงและเป็นวัตถุ (ธาตุไฟ) ซึ่งมนุษย์สามารถปฏิสัมพันธ์กับมันได้ และมนุษย์บางคนก็ได้ปฏิสัมพันธ์กับมันให้เห็นมาแล้ว แม้ว่าในยุคสมัยต่างๆ นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ระหว่างมนุษย์กับญินจะมีการปฏิสัมพันธ์ต่อกันใน รูปแบบต่างๆ หลากหลายวิธีก็ตาม แต่เราจะสามารถยอมรับได้เพียงวิธีการต่างๆ ที่ถูกกล่าวถึงไว้ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหลายที่น่าเชื่อถือ (มุอ์ตะบัร) ในที่นี้
เราจะขอชี้ถึงวิธีการบางส่วนเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์กับญิน ที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอาน และริวายะฮ์ (คำรายงาน) และคำพูดของบรรดานักวิชาการ
(ก) การขอความคุ้มครองต่อญิน : ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า
وَأَنَّهُ كَانَ رِجَالٌ مِّنَ الْإِنسِ يَعُوذُونَ بِرِجَالٍ مِّنَ الْجِنِّ فَزَادُوهُمْ رَهَقًا
“และแท้จริงมนุษย์บางคนเคยขอความคุ้มครองจากญินบางตน ดังนั้นพวกเขา (ญิน) จึงเพิ่มการทำชั่วให้แก่พวกเขายิ่งขึ้น” (13)
ประเพณีของชาวอาหรับ เป็นเช่นนี้คือ เมื่อใดก็ตามที่พวกเขาไปถึงยังทะเลทรายที่น่ากลัว พวกเขาก็จะขอการคุ้มครองต่อญินที่อยู่ในพื้นที่แห่งนั้น แต่ศาสนาอิสลามห้ามการกระทำสิ่งนี้ และสั่งใช้ให้ขอความคุ้มครองจากผู้ทรงสร้างญินและมนุษย์เพียงเท่านั้น (14)
(ข) การครอบครองญิน : การครอบครองและการใช้ประโยชน์จากญินนั้น แม้จะมีความเป็นไปได้ แต่ทว่าในหมู่ฟุกอฮาอ์ (บรรดานักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับบทบัญญัติของอิสลาม) ยังมีการถกกันอยู่เกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นที่อนุญาตหรือไม่? แต่สิ่งที่มีความแน่นอนและชัดเจนยิ่งนั่นก็คือ การกระทำเช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นจากหนทางหรือวิธีการที่ต้องห้าม (ฮะรอม) ตามศาสนบัญญัติ หรือจะเป็นสาเหตุของการทำร้ายและการทรมานพวกเขา และเช่นเดียวกันนี้จะต้องไม่ใช้ประโยชน์จากพวกเขาสำหรับการทำงานต่างๆ ที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมและเป็นสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม) ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำที่ต้องห้ามตามศาสนบัญญัตินั้น ถือเป็นบาป ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอาศัยสื่ออื่นๆ ก็ตาม (15)
มีผู้ถามท่านอายะตุลลอฮ์อัลอุซมาอะลี คอเมเนอี เกี่ยวกับฮุก่ม (บทบัญญัติ) ว่าด้วยการไปหาบรรดาบุคคลที่ทำการเยียวยารักษา โดยอาศัยวิธีการครอบครองหรือการใช้ประโยชน์จากวิญญาณและญิน เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่าบุคคลเหล่านี้จะกระทำในสิ่งที่เป็นความดีงามเท่านั้น ท่านตอบว่า : การกระทำเช่นนี้ ในตัวมันเองถือว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องกระทำโดยวิธีการที่เป็นที่อนุมัติ (ฮะลาล) ตามศาสนบัญญัติ (16)
แหล่งอ้างอิง :
[1] ซูเราะฮ์อัรเราะห์มาน/อายะฮ์ที่ 15
[2] โองการต่างๆ ของซูเราะฮ์อัลญิน
[3] โองการต่างๆ ของซูเราะฮ์อัลญิน และซูเราะฮ์อัรเราะห์มาน
[4] โองการต่างๆ ของซูเราะฮ์อัลญิน และซูเราะฮ์อัรเราะห์มาน
[5] ซูเราะฮ์อัลญิน/อายะฮ์ที่ 15
[6] ซูเราะฮ์อัลญิน/อายะฮ์ที่ 9
[7] ซูเราะฮ์อัลญิน/อายะฮ์ที่ 6
[8] ซูเราะฮ์อันนัมลุ์/อายะฮ์ที่ 39
[9] ซูเราะฮ์ซะบะอ์/อายะฮ์ที่ 12-13
[10] ซูเราะฮ์อัลฮิจญ์รุ/อายะฮ์ที่ 27
[11] ซูเราะฮ์อันนัมลุ์ / อายะฮ์ที่ 40-30
[12] ตัฟซีร เมาฎูอีย์, อับดุลลอฮ์ ญะวาดี ออมูลี, เล่มที่ที่ 1, หน้าที่ 119
[13] ซูเราะฮ์อัลญิน/อายะฮ์ที่ 6
[14] บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 92, หน้าที่ 148, (อัลมะฮาซิน) :
قَالَ رسول الله (صلى الله عليه وآله) : إِذَا تَغَوَّلَتِ بِكُمُ الْغِيلَانُ فَأَذِّنُوا بِأَذَانِ الصَّلَاةِ
“ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า “เมื่อบรรดาสิ่งที่ไร้ตัวตน (ญิน) ได้ลอบทำร้ายพวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงกล่าวอะซาน ด้วยกับการอะซานของนมาซ”
[15] มินฮาญุซซอลิฮีน, เล่มที่ 2, หน้าที่ 8
[16] เตาฎีฮุลมะซาอิล, (อธิบายเชิงอรรถของท่านอิมามโคมัยนี), เล่มที่ 2, หน้าที่ 980, คำถามที่ 1232
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน