คำถาม
คุณเชื่อหรือไม่ว่าการซิยารัตอิมามฮุเซน บิน อลี (หลานนบี) เปรียบเสมือนการซิยารัตอัลลอฮ์ ณ อะรัช? (ดู: อัลมะซ้าร, เชคมุฟี้ด,หน้า 51)
คำตอบโดยสังเขป
ท่านฮุเซน บิน อลี (อิมามที่สามของชีอะฮ์) ได้รับฐานะภาพอันสูงส่งจากอัลลอฮ์เนื่องจากมีเป้าหมาย วัตรปฏิบัติ การเสียสละ และความอดทนต่อโศกนาฏกรรมต่างๆในหนทางของพระองค์ อัลลอฮ์จึงทรงประทานผลบุญแก่ท่านมากมาย ความยิ่งใหญ่ที่ท่านได้รับในโลกนี้มีมากมายถึงขั้นที่มีการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางไปซิยารัต(เยี่ยมเยียน)ท่าน โดยผู้ซิยารัตก็จะได้รับอานิสงส์เป็นผลบุญมหาศาล ตัวอย่างของผลบุญดังกล่าวปรากฏอยู่ในฮะดีษที่เชคมุฟี้ดและท่านอื่นๆรายงานอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ท่านอิมามศอดิก(อ.)เคยกล่าวไว้ว่า "...และผู้ใดที่ซิยารัตกุโบรของอิมามฮุเซนในวันอาชูรอ ประหนึ่งว่าเขาได้ซิยารัตพระองค์ ณ อะรัช"
ทั้งนี้ มีฮะดีษทำนองนี้กล่าวถึงการซิยารัตกุโบรนบี(ซ.ล.)เช่นกัน อิมามริฏอ(อ.)กล่าวถึงความหมายของการซิยารัตอัลลอฮ์ว่า "เนื่องจากไม่สามารถจะเห็นและเยี่ยมเยียนอัลลอฮ์โดยตรงได้ อัลลอฮ์จึงกำหนดให้การซิยารัตนบี(ซ.ล.)ประหนึ่งการซิยารัตพระองค์เอง"
อย่างไรก็ดี การซิยารัตอิมามฮุเซน(อ.)คือปัจจัยที่ช่วยพิทักษ์เจตนารมณ์สูงสุดของท่าน ซึ่งก็คือการคงไว้ซึ่งศาสนาของอัลลอฮ์และคำสอนของอัลกุรอานนั่นเอง
คำตอบเชิงรายละเอียด
อิสลามเป็นศาสนาแห่งศีลธรรม ทุกผลบุญที่อัลลอฮ์สัญญาว่าจะประทานให้ ล้วนเป็นการตอบแทนคุณงามความดีที่มนุษย์กระทำทั้งสิ้น ทั้งนี้ก็เพราะพระองค์คือผู้ทรงยุติธรรมสูงสุดในการประทานรางวัล และไม่ทรงละเมิดผลตอบแทนของผู้ใด[1] ยิ่งมนุษย์ทำความดีด้วยความบริสุทธิ์ใจเพียงใด และยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากเท่าใด ก็จะได้รับผลบุญ ณ พระองค์เพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ
ด้วยเหตุนี้เอง บรรดานบีและอิมาม(อ.)จึงได้รับฐานันดรศักดิ์ที่สูงส่ง ณ พระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านฮุเซน บิน อลี(อ.) ผู้เป็นอิมามท่านที่สามของชีอะฮ์ ซึ่งได้รับความโปรดปรานพิเศษจากพระองค์นั้น มิได้เป็นเพราะท่านเป็นหลานของท่านนบี(ซ.ล.) แต่เกิดจากการที่ท่านมีเจตนารมณ์ คุณลักษณะ ความประพฤติอันงดงาม กอปรกับความอดทนต่ออุปสรรคนานัปการที่ต้องเผชิญในหนทางแห่งภารกิจพิทักษ์อิสลามและกุรอาน
ท่านฮุเซน บิน อลี (อ.) ต่อกรกับยะซีดและพลพรรคเพราะท่านมีจุดประสงค์เพื่ออัลลอฮ์ หาไช่เพราะกิเลส ปัจจุบันเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า หากท่านอิมามฮุเซน(อ.)มิได้ยืนหยัดต่อต้านการบิดเบือนครั้งแล้วครั้งเล่าของบนีอุมัยยะฮ์ อิสลามก็คงเหลือเพียงชื่อเท่านั้น เนื่องจากบนีอุมัยยะฮ์จะสกัดกั้นมิให้แก่นแท้ของอิสลามตกทอดถึงรุ่นเรา ความเสียสละที่อุดมไปด้วยปัญญาและความรักของท่านอิมามฮุเซนช่วยให้อิสลามรอดพ้นจากเงื้อมมือของบนีอุมัยยะฮ์ในที่สุด[2]
อีกมุมหนึ่ง ท่านอิมามฮุเซน(อ.)ทราบดีว่าท่านไม่รอดชีวิตอย่างแน่นอน ทราบดีว่าศัตรูกระหายโลหิตของท่าน และทราบดีว่าชาวกูฟะฮ์ประพฤติกับพ่อและพี่ชายของท่านเช่นไร แต่กระนั้น ท่านก็พร้อมจะเสียสละตนเอง เครือญาติ บุตรหลานและมิตรสหาย ท่านยินดีที่จะรับลิขิตของพระองค์เพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม และยอมสละเลือดพลีให้แก่ศาสนาด้วยความเต็มใจ
แม้ว่าบรรดานบีและเอาลิยาอ์ของพระองค์หลายท่านยอมพลีชีวิตเพื่อหนทางของพระองค์มาแล้ว แต่ไม่มีกรณีใดที่เทียบเท่าโศกนาฏกรรมของท่านอิมามฮุเซนได้ ไม่ว่าในแง่จำนวนผู้เสียชีวิต วิธีสังหารโหด พฤติกรรมทรามต่อศพ ตลอดจนการปล้นสดมภ์และจับสตรีและเด็กเป็นเชลยศึกโดยกองทัพยะซีด
อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า "เราจะประทานรางวัลแก่ผู้อดทนโดยปราศจากการคำนวนนับ"[3]
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีโศกนาฏกรรมใด และมีการอดทนใดที่จะยิ่งใหญ่กว่าโศกนาฏกรรมของอิมามฮุเซนเล่า? ความปวดร้าวและการอดทนที่ท่านมี ล้วนเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากซึ่งผลประโยชน์แอบแฝงใดๆทั้งสิ้น
จากปัจจัยข้างต้น คิดว่าพระองค์น่าจะตอบแทนท่านอิมามฮุเซนอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับการอดทนของท่าน และเหมาะแก่ความเอื้ออาทรของพระองค์ในฐานะจ้าวแห่งสากลจักรวาล?
ด้วยเหตุนี้เองที่พระองค์ตอบแทนท่านอย่างมหาศาล อาทิเช่น ประทานศักดิ์ศรีและเกียรติยศในโลกนี้ ถึงขั้นที่รณรงค์ให้ผู้คนเยี่ยมเยียน(ซิยารัต)กุโบรของท่าน โดยพระองค์สัญญาว่าจะประทานผลบุญมหาศาลสำหรับการนี้ ตัวอย่างเช่นผลบุญที่รายงานโดยเชคมุฟี้ดและท่านอื่นๆอย่างเป็นเอกฉันท์ว่า ท่านอิมามญะฟัร ศอดิก(อ.)กล่าวว่า "... และผู้ใดที่เยี่ยมเยียนกุโบรของท่านอิมามฮุเซน(อ.)ในวันอาชูรอ เสมือนว่าได้เข้าเฝ้าอัลลอฮ์ ณ อะรัชของพระองค์"[4]
เรื่องนี้มิไช่เรื่องเหลือเชื่อ เนื่องจากฮะดีษที่มีเนื้อหาคล้ายกันนี้ปรากฏในกรณีการเยี่ยมเยียนกุโบรนบี(ซ.ล.)เช่นกัน ท่านอิมามญะฟัร ศอดิก(อ.)กล่าวว่า "ผู้ใดที่เยี่ยมเยียนศาสนทูตของอัลลอฮ์(ซ.ล.) เสมือนได้เข้าเฝ้าพระองค์ ณ อะรัช"[5]
ท่านอิมามริฎอ(อ.)อธิบายความหมายของการเยี่ยมเยียนอัลลอฮ์ว่า "เนื่องจากไม่สามารถจะเห็นและเยี่ยมเยียนอัลลอฮ์ได้ อัลลอฮ์จึงกำหนดให้การเยี่ยมเยียนนบีเทียบเท่ากับการเยี่ยมเยียนพระองค์"[6]
อย่างไรก็ดี การซิยารัตอิมามฮุเซน(อ.)คือปัจจัยที่ช่วยพิทักษ์เจตนารมณ์สูงสุดของท่าน ซึ่งก็คือการคงไว้ซึ่งศาสนาของอัลลอฮ์และคำสอนของอัลกุรอานนั่นเอง
[1] อาลิ อิมรอน, 171 أَنَّ اللَّهَ لا یُضیعُ أَجْرَ الْمُؤْمِنینَ"؛ توبه ،:"120إِنَّ اللَّهَ لا یُضیعُ أَجْرَ الْمُحْسِنینَ
[2] คัดจากคำถามที่ 4218 (เลขที่ในเว็บ 4456) ระเบียน: "การกระทำของอิมามฮุเซน(อ.)ในวันอาชูรอเกิดจากปัญญาหรือความรัก?"
[3] อัซซุมัร, 10 قُلْ یا عِبادِ الَّذینَ آمَنُوا اتَّقُوا رَبَّکُمْ لِلَّذینَ أَحْسَنُوا فی هذِهِ الدُّنْیا حَسَنَةٌ وَ أَرْضُ اللَّهِ واسِعَةٌ إِنَّما یُوَفَّى الصَّابِرُونَ أَجْرَهُمْ بِغَیْرِ حِساب
[4] جَعْفَرُ بْنُ مُحَمَّدِ بْنِ قُولَوَیْهِ فِی الْمَزَارِ عَنْ جَعْفَرِ بْنِ مُحَمَّدِ بْنِ عَبْدِ اللَّهِ الْمُوسَوِیِّ عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ نَهِیکٍ عَنِ ابْنِ أَبِی عُمَیْرٍ عَنْ زَیْدٍ الشَّحَّامِ عَنْ جَعْفَرِ بْنِ مُحَمَّدٍ ع قَالَ مَنْ زَارَ الْحُسَیْنَ ع لَیْلَةَ النِّصْفِ مِنْ شَعْبَانَ غَفَرَ اللَّهُ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ وَ مَا تَأَخَّرَ وَ مَنْ زَارَهُ یَوْمَ عَرَفَةَ کَتَبَ اللَّهُ لَهُ أَلْفَ حَجَّةٍ مُتَقَبَّلَةٍ وَ أَلْفَ عُمْرَةٍ مَبْرُورَةٍ وَ مَنْ زَارَهُ یَوْمَ عَاشُورَاءَ فَکَأَنَّمَا زَارَ اللَّهَ فَوْقَ عَرْشِهِ.
[5] ตะฮ์ซีบุ้ลอะห์กาม,เล่ม 6,หน้า 3 3 قاْلِ الصَّادِقِ ع مَنْ زَارَ رَسُولَ اللَّهِ ص کَمَنْ زَارَ اللَّهَ فَوْقَ عَرْشِهِ ؛ وسائل الشیعة ج : 14 ص : 335،حدیث 19340، وَ عَنْ عِدَّةٍ مِنْ أَصْحَابِنَا عَنْ سَهْلِ بْنِ زِیَادٍ عَنْ مُحَمَّدِ بْنِ الْحُسَیْنِ عَنْ مُحَمَّدِ بْنِ إِسْمَاعِیلَ عَنْ صَالِحِ بْنِ عُقْبَةَ عَنْ زَیْدٍ الشَّحَّامِ قَالَ قُلْتُ لِأَبِی عَبْدِ اللَّهِ ع مَا لِمَنْ زَارَ رَسُولَ اللَّهِ ص قَالَ کَمَنْ زَارَ اللَّهَ فَوْقَ عَرْشِهِ الْحَدِیثَ
[6] - ید، [التوحید] ن، [عیون أخبار الرضا علیه السلام ] لی، [الأمالی للصدوق ] الْهَمْدَانِیُّ عَنْ عَلِیٍّ عَنْ أَبِیهِ عَنِ الْهَرَوِیِّ قَالَ قُلْتُ لِعَلِیِّ بْنِ مُوسَى الرِّضَا ع یَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ مَا تَقُولُ فِی الْحَدِیثِ الَّذِی یَرْوِیهِ أَهْلُ الْحَدِیثِ أَنَّ الْمُؤْمِنِینَ یَزُورُونَ رَبَّهُمْ مِنْ مَنَازِلِهِمْ فِی الْجَنَّةِ فَقَالَ ع یَا أَبَا الصَّلْتِ إِنَّ اللَّهَ تَبَارَکَ وَ تَعَالَى فَضَّلَ نَبِیَّهُ مُحَمَّداً ص عَلَى جَمِیعِ خَلْقِهِ مِنَ النَّبِیِّینَ وَ الْمَلَائِکَةِ وَ جَعَلَ طَاعَتَهُ طَاعَتَهُ وَ مُبَایَعَتَهُ مُبَایَعَتَهُ وَ زِیَارَتَهُ فِی الدُّنْیَا وَ الْآخِرَةِ زِیَارَتَهُ فَقَالَ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ مَنْ یُطِعِ الرَّسُولَ فَقَدْ أَطاعَ اللَّهَ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อิสลามเควสท์