บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ โองการที่ 101 บทอัตเตาบะฮ์
โองการนี้ กล่าวถึง กลุ่มชนผู้สับปลับทั้งในและนอกเมืองมะดีนะฮ์ และกล่าวถึงการลงโทษอันแสนสาหัสแก่พวกเขา โองการกล่าวว่า
وَمِمَّنْ حَوْلَكُم مِنَ الأَعْرَابِ مُنَافِقُونَ وَمِنْ أَهْلِ الْمَدِينَةِ مَرَدُوا عَلَى النِّفَاقِ لَاتَعْلَمُهُمْ نَحْنُ نَعْلَمُهُمْ سَنُعَذِّبُهُم مَرَّتَيْنِ ثُمَّ يُرَدُّونَ إِلَى عَذَابٍ عَظِيمٍ
คำแปล :
101. และส่วนหนึ่งจากผู้ที่พำนักอยู่รอบ ๆ สูเจ้าที่เป็นอาหรับชนบทนั้น เป็นพวกสับปลับ และในหมู่ชาวมะดีนะฮ์เช่นกันมีผู้ดื้อรั้นในความสับปลับ เจ้าไม่รู้จักธาตุแท้ของพวกเขาหรอก แต่เรารู้จักพวกเขาดี เราจะลงโทษพวกเขาสองครั้งในไม่ช้านี้ (ลงโทษทางโลกกับลงโทษขณะเสียชีวิต) หลังจากนั้นพวกเขาจะถูกส่งไปสู่การลงโทษอันยิ่งใหญ่ต่อไป
คำอธิบาย :
ผู้สับปลับชาวมะดีนะฮ์
อัลกุรอาน กล่าววิพากษ์ในเชิงเรียกร้องให้พิจารณาการกระทำของบรรดาผู้สับปลับ (มุนาฟิกีน) และกลุ่มชนทั้งหลายของพวกเขาโดยกล่าวว่า “และส่วนหนึ่งจากผู้ที่พำนักอยู่รอบ ๆ สูเจ้าที่เป็นอาหรับชนบทนั้น เป็นพวกสับปลับ”
หมายความว่า สูเจ้าไม่เพียงแต่เอาใจใส่พฤติกรรมของผู้สับปลับที่อยู่ในเมืองเท่านั้น ทว่าจะต้องตั้งสติอยู่ตลอดเวลาและจะต้องระวังพวกสับปลับที่อยู่นอกเมืองด้วย สูเจ้าต้องระวังพฤติกรรมและกิจกรรมที่อันตรายยิ่งของพวกเขาเสมอ
1. จากโองการเข้าใจได้ว่าพวกสับปลับนั้น ตัดขาดจากสัจธรรมนานานแล้ว พวกเขามีความชำนาญในกิจกรรมของตนอีกทั้งมีการฝึกฝนอยู่เสมอ จุดประสงค์ของคำว่า «مَرَدُوا» มาจากรากศัพท์ของคำว่า «مرد»،หมายถึงความเลยเถิด ความระหกระเหิน และความแปลกหน้า ซึ่งตามรากศัพท์เดิมหมายถึง ความเปลือยเปล่าหมดจด หรือโสด ดังนั้น เด็กหนุ่มที่ใบหน้าของเขาหนวดเครายังไม่ขึ้นนั้นเรียกว่า «أمرد»หมายถึง ผู้ที่มีใบหน้าเกลี้ยงเกลาหมดจด
นักตัฟซีรบางคนและนักอักษรศาสตร์กล่าวว่า คำๆ นี้หมายถึง การฝึกฝน เช่น ตาจญ์อุรูซ และกอมูซ กล่าวว่า การฝึกฝน เป็นหนึ่งในความหมายของคำๆ นี้
2. โองการได้กล่าวถึง กลุ่มมุนาฟิกีน ทั้งในและนอกเมืองมะดีนะฮฺ พร้อมกับได้เรียกร้องให้บรรดามุสลิมระวังบุคคลทั้ง 2 กลุ่มนี้ไว้ให้ดี และอย่าได้เผอเรอกลุ่มผู้สับปลับที่อยู่นอกเมืองเด็ดขาด ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่ากลุ่มผู้สับปลับในเมืองนั้นมีความช่ำชองและมีความชำนาญในงานของพวกเขา ที่สำคัญมีอันตรายมากกว่ากลุ่มสับปลับนอกเมือง
3. จุดประสงค์ที่กล่าวว่า ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่รูจักธาตุแท้ของพวกสับปลับ เป็นการรู้จักโดยความรู้ทั่วไปแบบสามัญชน มิเช่นนั้นแล้วจะแปลกอะไร ถ้าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จะรู้จักพวกเขาโดยผ่านขบวนการของวะฮ์ยู หรือการแจ้งข่าวอย่างลับให้รู้จักพวกสับปลับเหล่านั้นว่าเป็นใคร
4. จุดประสงค์ของ “การลงโทษอันยิ่งใหญ่” หมายถึงการลงโทษในวันแห่งการฟื้นคืนชีพเพื่อรับการตัดสิน แต่ส่วนการลงโทษ 2 ครั้ง ตามที่โองการได้ระบุเอาไว้ บรรดานักตัฟซีรได้กล่าวว่าอาจเป็นไปได้ในสองลักษณะ กล่าวคือ ตามการตีความแรก จุดประสงค์คือ ความลำบากทางสังคมที่บรรดาพวกสับปลับจะได้รับบนโลกนี้ และการลงโทษที่พวกเขาจะได้รับขณะเสียชีวิต แต่ถ้าตามการตีความที่สอง จุดประสงค์หมายถึงการ ความเสียใจหรือความคับแค้นใจภายในของพวกสับปลับ เนื่องจากบรรดามุสลิมได้รับชัยชนะเหนือพวกเขา
บทเรียนจากโองการ :
1. สูเจ้าต้องระวังพวกสับปลับทั้งในและนอกเมือง
2. ผู้สับปลับในเมืองมีอันตรายมากยิ่งกว่าผู้สับปลับภายนอกเมือง
3. ผู้สับปลับจะได้รับโทษทัณฑ์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า