หนึ่งในสี่จากเป้าหมายของการทำสงครามในทัศนะของอิสลาม นั่นคือการญิฮาด (ต่อสู้) เพื่อดับไฟแห่งฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์ที่เลวร้าย) ซึ่งโองการที่ 39 ในอัลกุรอาน บทอัลอันฟาล ได้ชี้ให้เห็นในเรื่องนี้ โดยที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า
وَقَاتِلُوهُمْ حَتَّى لاَ تَكُونَ فِتْنَةٌ وَیَكُونَ الدِّینُ كُلُّهُ للهِ فَإِنِ انتَهَوْا فَإِنَّ اللهَ بِمَا یَعْمَلُونَ بَصِیرٌ
“และพวกเจ้าจงต่อสู้กับพวกเขา จนกระทั่งไม่มีฟิตนะฮ์ (วิกฤติการเคารพบูชาเจว็ดและการไร้ซึ่งเสรีภาพ) ใดๆ และศาสนา (การเคารพภักดี) ทั้งมวล เป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์เพียงเท่านั้น โดยถ้าหากพวกเขายุติ (พฤติกรรมและการกระทำที่เลวร้ายของเขา) แน่นอนอัลลอฮ์นั้นทรงเห็นสิ่งที่พวกเขากระทำ”
ฟิตนะฮ์คืออะไร?
คำว่า “ฟิตนะฮ์” ปรากฏอยู่ใน 30 โองการ (อายะฮ์) ของคัมภีร์อัลกุรอาน จากการศึกษาตรวจสอบทั้ง 30 โองการนี้ ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “ฟิตนะฮ์” ในคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมี 5 ความหมายที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจะชี้ให้เห็นดังต่อไปนี้ คือ
1. การกดขี่ข่มเหงและการทรมาน : จากแหล่งอ้างอิงทางประวัติศาสตร์กล่าวว่า ในช่วงยุคอดีตที่ผ่านมามีกษัตริย์ที่โหดร้ายผู้หนึ่งที่ชอบกดขี่และทรมานบรรดาผู้ศรัทธา ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวนี้ เขาได้ขุดร่องหลุมต่างๆ จำนวนมาก และบรรจุไฟไว้ในหลุมเหล่านั้นจนเต็ม เขาได้บัญชาให้นำบรรดาผู้ศรัทธาเข้ามาใกล้ๆ ร่องหลุมเหล่านั้น เพื่อบังคับให้พวกเขาปฏิเสธและเลิกราจากการการศรัทธามั่นต่อพระผู้เป็นเจ้า และผู้ที่ยังยืนกรานและมั่นคงอยู่ในความเชื่อของตนโดยไม่ยอมสยบต่อกษัตริย์ พวกเขาก็จะถูกโยนลงไปในกองไฟ กษัตริย์ผู้นี้และผู้ที่อยู่รอบข้างเขา เป็นผู้ที่ถูกรู้จักกันในนาม "อัซฮาบุลอุคดูด" หมายถึง ชาวร่องหลุม (1) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงชี้ให้เห็นถึงชนกลุ่มนี้ไว้ในโองการที่ 10 ของซูเราะฮ์อัลบุรูจญ์ โดยตรัสว่า
إِنَّ الَّذِینَ فَتَنُوا الْمُؤْمِنِینَ وَالْمُؤْمِنَاتِ ثُمَّ لَمْ یَتُوبُوا فَلَهُمْ عَذَابُ جَهَنَّمَ وَلَهُمْ عَذَابُ الْحَرِیقِ
“แท้จริงบรรดาผู้ที่ข่มเหงมวลศรัทธาชนทั้งชายและหญิง หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่สารภาพผิด แน่นอนพวกเขาจะต้องไดรับการลงโทษในนรก และพวกเขาจะต้องได้รับการลงโทษจากไฟนรกที่เผาไหม้”
ดังนั้น หนึ่งในความหมายของคำว่า “ฟิตนะฮ์” ก็คือ การกดขี่ข่มเหงและการทรมาน
2. การทดสอบ : ความหมายนี้ ถูกใช้ในโองการที่ 15 ของอัลกุรอานบทอัตตะฆอบุน โดยที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า
إِنَّمَا أَمْوَالُكُمْ وَأَوْلاَدُكُمْ فِتْنَةٌ وَاللهُ عِنْدَهُ أَجْرٌ عَظِیمٌ
“อันที่จริงทรัพย์สมบัติของพวกเจ้า และลูกๆ ของพวกเจ้านั้นคือการทดสอบ และอัลลอฮ์ ณ พระองค์นั้นคือรางวัลตอบแทนอันยิ่งใหญ่”
ในวันกิยามะฮ์ (ชาติหน้า) มนุษย์จะถูกสอบถามเกี่ยวกับทรัพย์สมบัติในสองกรณี คือ
(ก) เจ้าได้รับมันมาจากหนทางใด (ข) เจ้าได้ใช้จ่ายมันไปในเรื่องใด (2)
บรรดาลูกๆ หรือหลานก็เป็นแหล่งแห่งการทดสอบอีกประการหนึ่งที่ว่า เราอบรมเลี้ยงดูลูกๆ ของเราดีหรือไม่? หรือเราเราปล่อยปะละเลยพวกเขาให้อยู่ตามยถากรรมของพวกเขา และเราได้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง? ความโชคดีพึงมีแด่บรรดาผู้ที่ผ่านการทดสอบเหล่านี้มาได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
3. การลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้า: อีกความหมายหนึ่งของคำว่า “ฟิตนะฮ์” คือ การลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า ประเด็นดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในโองการที่ 25 ของกุรอานบทอัลอันฟาล โดยที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า
وَاتَّقُوا فِتْنَةً لاَ تُصِیبَنَّ الَّذِینَ ظَلَمُوا مِنْكُمْ خَاصَّةً وَاعْلَمُوا أَنَّ اللهَ شَدِیدُ الْعِقَابِ
“และพวกเจ้าจงเกรงกลัวการลงโทษ (ฟิตนะฮ์) ซึ่งมันจะไม่ประสบกับเฉพาะบรรดาผู้อธรรมจากพวกเจ้าเพียงเท่านั้น (แต่มันจะครอบคลุมทุกคน เนื่องจากการที่พวกเขานิ่งเฉยไม่ห้ามปรามความชั่ว) และพวกเจ้าจงรู้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงเป็นผู้ลงโทษที่รุนแรงยิ่ง”
ตามโองการนี้ การลงโทษของพระผู้เป็นเจ้ามิได้เกิดเฉพาะกับบรรดาผู้อธรรมและคนชั่วเพียงเท่านั้น ทว่าจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มองดูการกดขี่ข่มเหงและการกระทำความชั่วต่างๆ ของบรรดาผู้อธรรมโดยที่พวกเขาไม่ได้ทำหน้าที่ในการห้ามปรามความชั่วด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีการลงโทษจะไม่ครอบคลุมถึงบรรดาผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาของตน และที่กล่าวกันว่า “เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นแล้วมันจะเผาไหม้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่แห้งหรือเปียก” สำนวนคำพูดเช่นนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) ของพระผู้เป็นเจ้า
สรุปในที่นี้ก็คือ “ฟิตนะฮ์” ในโองการนี้ หมายถึงการลงโทษ (อะซาบ) ของพระผู้เป็นเจ้าความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์)
4.อีกความหมายหนึ่งของคำว่า “ฟิตนะฮ์” นั้นก็คือ ความทุกข์ยาก (มุซีบะฮ์) ซึ่งความหมายนี้มีปรากฏอยู่ในอัลกุรอานบทอัลฮัจญ์ โองการที่ 11 โดยที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสว่า
وَمِنَ النَّاسِ مَنْ یَعْبُدُ اللهَ عَلَى حَرْف فَإِنْ أَصَابَهُ خَیْرٌ اطْمَأَنَّ بِهِ وَإِنْ أَصَابَتْهُ فِتْنَةٌ انقَلَبَ عَلَى وَجْهِهِ خَسِرَ الدُّنْیَا وَالاْخِرَةَ ذَلِكَ هُوَ الْخُسْرَانُ الْمُبِینُ
“และมนุษย์บางคนเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์บนชายขอบ (ของศาสนาหรือเพียงปลายลิ้นของพวกเขา) โดยที่หากมีความดีงามหนึ่งมาประสบกับเขา เขาก็จะรู้สึกมั่นใจต่อพระองค์"
และหากมีความทุกข์ยากหนึ่งมาประสบกับเขา เขาก็จะหันหน้าของเขากลับ (ไปสู่การปฏิเสธ คนลักษณะนี้) เขาจะพบกับความขาดทุนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นั่นคือความขาดทุนอันชัดแจ้ง”
ในพิธีงานศพซึ่งบางครั้งอาจจะมีผู้กล่าวกับญาติของผู้เสียชีวิตว่า "ขอให้ครั้งนี้เป็นความเศร้าโศกครั้งสุดท้ายของท่านน่ะ" คำพูดเช่นนี้เป็นคำพูดที่ไร้เหตุผลและเลื่อนลอย และเมื่อคิดให้ดีแล้ว ความหมายของมันก็จะเป็นเช่นนี้ว่า ตัวท่านนั้นจะตายก่อนเครือญาติใกล้ชิด คนรู้จัก มิตรสหายและผู้ร่วมงานของท่านทุกคน โดยที่ท่านจะไม่ต้องเศร้าโศกและเสียใจต่อการจากไปของคนใดจากพวกเขาอีก ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง ในตลอดช่วงเวลาของการดำเนินชีวิตนั้น คนเราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหา อุปสรรค ความทุกข์โศกและความทุกข์ยากต่างๆ นานัปการ จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ได้กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งบางกรณีของสิ่งเหล่านั้นคือการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้า และหากเรายืนหยัดอย่างมั่นคงและไม่ยอมจำนนต่อปัญหา อุปสรรคและความทุกข์ยากต่างๆ แล้ว เราจะได้รับผลรางวัลตอบแทน ณ พระผู้เป็นเจ้า
สรุปตรงจุดนี้ก็คือ หนึ่งในความหมายของคำว่า “ฟิตนะฮ์” คือความทุกข์ยากและการสูญเสีย
5.ความเสียหายอันใหญ่หลวง
ความหมายนี้มีปรากฏอยู่ในอัลกุรอานบทอัลอันฟาล โองการที่ 73 โดยที่พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
وَالَّذِینَ كَفَرُوا بَعْضُهُمْ أَوْلِیَاءُ بَعْض إِلاَّ تَفْعَلُوهُ تَكُنْ فِتْنَةٌ فِى الاَْرْضِ وَفَسَادٌ كَبِیرٌ
“และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นพวกเขาต่างเป็นมิตรสนิท (ที่คอยคุ้มครองช่วยเหลือ) ซึ่งกันและกัน หากพวกเจ้าไม่กระทำสิ่งนั้น (คือการอุปถัมภ์ค้ำจุนซึ่งกันและกันแล้ว) แน่นอนที่สุดวิกฤตการณ์และความเสียหายอันใหญ่หลวงจะต้องเกิดขึ้นในแผ่นดิน”
ตามโองการนี้บรรดามุสลิมจะต้องยืนเผชิญหน้ากับความเลวร้ายและความเสียหาย อันดับแรกพวกเขาจะต้องห้ามปรามความชั่วด้วยวาจาที่ดีงาม ต่อจากนั้นจะต้องกระทำการทางด้านวัฒนธรรม และหากไม่สามรถที่จะยับยั้งความชั่วร้ายและความเสียหายด้วยสันติวิธีใดๆ ได้แล้ว จำเป็นที่พวกเขาจะต้องใช้กำลังบีบบังคับและต่อสู้กับศัตรู
คำว่า “ฟิตนะฮ์” ในโองการที่เราจะพูดถึงนี้อยู่ในความหมายของ “ความเสียหายที่ใหญ่หลวง” ( فساد كبیر) และฟิตนะฮ์ในความหมายของความเสียหายนี้เป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงยิ่งกว่าการฆ่า ดังเช่นที่ในอัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 191 ได้กล่าวว่า
وَالْفِتْنَةُ أَشَدُّ مِنَ الْقَتْلِ
“และฟิตนะฮ์ (การสร้างความเสียหาย) นั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการฆ่า”
และในอัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 217 ก็ได้ชี้ให้เห็นในเรื่องนี้ว่า
وَالْفِتْنَةُ أَكْبَرُ مِنَ الْقَتْلِ
“และฟิตนะฮ์ (การสร้างความเสียหาย) นั้นเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าการฆ่า”
ฟิตนะฮ์ (ความเสียหายและวิกฤตการณ์) ที่บรรดาศัตรูได้ก่อขึ้นในประเทศอิรัก อัฟกานิสถานและประเทศอิสลามอื่นๆ และได้ทำลายความมั่นคงและความสงบสุขของสังคมลงไปนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่อันตรายและร้ายแรงยิ่งกว่าการเข่นฆ่าและการสังหาร
บุคคลสองกลุ่มที่จะสร้างความเสียหายอย่างมากมายให้เกิดขึ้นกับความมั่นคงและความสงบสุขของสังคม และในความเป็นจริงแล้วพวกเขากำลังจะก่อความเสียหาย (ฟะซาด) และสร้างวิกฤตการณ์ที่เลวร้าย (ฟิตนะฮ์) นั้นก็คือ : กลุ่มแรกคือผู้ที่สร้างข่าวลือและแพร่ข่าวเท็จ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือพวกคนเลวและอันธพาล ซึ่งเป็นผู้บั่นทอนและทำลายความมั่นคงและความสงบสุขทางสังคม ในอัลกุรอานบทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 60 เละ 61ได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้ โดยที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า
لَّئِنْ لَّمْ یَنْتَهِ الْمُنَافِقُونَ وَالَّذِینَ فِى قُلُوبِهِمْ مَّرَضٌ وَالْمُرْجِفُونَ فِى الْمَدِینَةِ لَنُغْرِیَنَّكَ بِهِمْ ثُمَّ لاَ یُجَاوِرُونَكَ فِیهَا إِلاَّ قَلِیلا * مَّلْعُونِینَ أَیْنَمَا ثُقِفُوا أُخِذُوا وَقُتِّلُوا تَقْتِیلا
“แน่นอนหากพวกกลับกลอก (มุนาฟิกีน) และบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีโรค และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในเมืองมะดีนะฮ์ไม่ยุติ (การกระทำที่เลวทรามของพวกเขา) แน่นอนที่สุด เราจะให้เจ้ามีอำนาจเหนือพวกเขา แล้วหลังจากนั้นพวกเขาจะไม่พำนักอยู่ร่วมกับเจ้าอีกใน (เมืองมะดีนะฮ์) เว้นแต่เพียงช่วงเวลาเล็กน้อยเท่านั้น พวกเหล่านั้นถูกสาปแช่งไม่ว่าพวกเขาจะถูกพบ ณ แห่งหนใด ก็จะถูกจับกุมและถูกสังหารอย่างทารุณ”
บุคคล 2 กลุ่มที่สร้างวิกฤต (ฟิตนะฮ์) และความเสียหายในเมืองมะดีนะฮ์
1. มุนาฟิกีน (พวกกลับกลอก) : ซึ่งงานของพวกเขาคือการสร้างข่าวลือและแพร่ข่าวเท็จ โดยที่บางครั้งพวกเขาจะกล่าว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เสียชีวิตแล้ว” และบางทีพวกเขาก็จะแพร่ข่าวเท็จว่า “ศัตรูได้บุกโจมตีนครมะดีนะฮ์และจับกุมตัวท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ไปแล้ว” (3)
2. คนชั่วและอันธพาล : ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนน้อย แต่พวกเขาก็สามารถที่จะทำลายความสงบสุขและความมั่นคงของสังคมลงได้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาคอยดักซุ่มในมุมมืดของยามค่ำคืนเพื่อกลั่นแกล้งและทำร้ายและทำอนาจารต่อบรรดาสตรีและเด็กสาวชาวมุสลิมในช่วงที่เดินทางกลับจากการนมาซมัฆริบและอีซาที่มัสยิดนะบะวี (4) ดูเหมือนว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยตัวมันเองเสมอ ในวันนี้ก็เช่นกัน บุคคลทั้งสองกลุ่มนี้คือศัตรูหลักของความสงบสุขทางสังคม
คัมภีร์อัลกุรอานได้แจ้งเตือนอย่างรุนแรงไปยังบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ โดยกล่าวว่า “หากพวกที่แพร่ข่าวลือและพวกอันธพาลไม่ยุติในการสร้างความเสียหายและก่อไฟฟิตนะฮ์แล้ว ดังนั้นเจ้าก็จงประกาศสงครามกับพวกเขาเถิด แล้วต่อจากนั้นก็จงขับไล่พวกเขาออกไปจากเมือง และที่ใดก็ตามที่เจ้าพบเจอพวกเขาก็จงสังหารพวกเขาอย่างเจ็บปวดเถิด”
คัมภีร์อัลกุรอานได้เผชิญหน้าและตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการก่อฟิตนะฮ์และการสร้างความเสียหายทางสังคม เพราะเหตุว่าจะทำให้การดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมเช่นนี้เกิดความยากลำบากอย่างมาก และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง เพื่อที่จะได้มาซึ่งความสงบสุขทางสังคมหรือการพิทักษ์รักษามันไว้นั้น จำเป็นต้องยอมเสียสิ่งแลกเปลี่ยนไม่ว่าจะด้วยราคาใดๆ ก็ตาม กระทั่งว่า ด้วยเหตุดังกล่าวนี้อิสลามได้ออกคำสั่งอนุญาตให้ทำสงครามกับบรรดาผู้ที่ทำลายความสงบสุขทางสังคมได้
บรรดาผู้สร้างฟิตนะฮ์ระดับโลก
เป็นที่น่าเสียใจ! เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในโลกที่มีพวกที่ชอบสร้างฟิตนะฮ์และแสวงหาฟิตนะฮ์อยู่จำนวนไม่ใช่น้อย ทว่ายิ่งไปกว่านั้น กงล้อแห่งชีวิตของบรรดารัฐบาลผู้ล่าอาณานิคมนั้นจะหมุนไปบนแกนของการสร้างฟิตนะฮ์และความเสียหาย (ฟะซาด) นี้ กล่าวกันว่าในยุคสมัยอดีตที่ผ่านมา มีบุคคลหนึ่งได้เป็นผู้ว่าราชการของจังหวัดหนึ่งซึ่งอาหารและปัจจัยดำรงชีพของเขานั้นได้มาจากหนทางของการสร้างความเสียหาย (ฟะซาด) และการก่อฟิตนะฮ์ต่างๆ ชายหนุ่มผู้มีคุณธรรมผู้หนึ่งถูกส่งตัวไปจากรัฐบาลกลางเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจของจังหวัดนั้น เจ้าหน้าที่หนุ่มไฟแรงผู้นี้ได้ทุ่มเทความอุตสาหพยายามทั้งวันทั้งคืนอย่างไม่หยุดหย่อน และสามารถปราบปรามบรรดาผู้สร้างฟิตนะฮ์ พวกก่อความเสียหาย บรรดานักเลงและอันธพาลทั้งหมดของจังหวัดนั้นได้ โดยจับกุมและคุมขังพวกเขาไว้ในเรือนจำ และทำให้ความสงบสุขกลับคืนมาสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นเขาได้เดินทางไปพบกับผู้ว่าราชการของจังหวัดนั้นเพื่อที่จะรายงานในเรื่องดังกล่าว
หลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับฟังคำรายงานของเขาแล้ว แทนที่จะแสดงความชื่นชมและขอบคุณในความอุตสาหพยายามและความเหนื่อยยากของเขา กลับกล่าวว่า “ท่านทำเลวมาก! หากประชาชนอยู่ในความสงบสุขและไม่มีการทะเลาะวิวาท ความขัดแย้งและวิกฤติการณ์ต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น พวกเขาก็จะไม่มาหาเรา และผลก็คือว่าเราก็จะไม่มีรายได้ใดๆ”
ใช่แล้ว! ผู้แสวงหาฟิตนะฮ์บางคนจะได้รับประโยชน์จากการสร้างฟิตนะฮ์ (วิกฤตการณ์) ต่าง ๆ ของตนเอง และสนองตอบปัจจัยดำรงชีพของตัวเองโดยวิธีการดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาจะใช้สื่อสารมวลชนทั้งหมดของตนที่มีอยู่ทั่วโลก ปลุกกระแสและสร้างข่าวอึกกระทึกคึกโคมโจมตีสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ทั้งๆ ที่สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านนั้นคือผู้ให้การสนับสนุนสันติภาพ ความสงบสุข และมุ่งที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีงามกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่พวกเขากล่าวหาว่าอิหร่านมีเจตนาที่จะยึดครองและครอบงำประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อว่าด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ พวกเขาจะสามารถขายอาวุธต่างๆ ที่มีราคาแพงลิบลิ่วของตนเองให้กับประเทศเพื่อนบ้านของอิหร่าน
บรรดามุสลิมจะต้องตื่นขึ้น และจะต้องทำความรู้จักกับบรรดาผู้แสวงหาฟิตนะฮ์และผู้สร้างฟิตนะฮ์ และทำให้พวกเขาออกไปจากแถวของหมู่มิตรสหายของตนเอง และจะต้องรวมตัวและผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันกับหมู่มิตรและกลุ่มประเทศอิสลาม และทำลายแผนการต่างๆ ของพวกสร้างฟิตนะฮ์ทั้งหลายให้หมดไป (5)
ที่มา :
1) ดูคำอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในหนังสือตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่มที่ 26 หน้า 337
2) ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านกล่าวว่า “ในวันชาติหน้า เท้าของบ่าวคนใดจะยังไม่ก้าวไปจนกว่าเขาจะถูกสอบสวนเกี่ยวกับสี่ประการคือ : จะถูกสอบสวนเกี่ยวกับอายุขัยของเขา ว่าเขาได้ใช้มันไปในหนทางใด เกี่ยวกับความหนุ่มแน่นของเขา ว่าได้ใช้มันไปในหนทางใด และเกี่ยวกับทรัพย์สินของเขา ว่าได้รับมันมาจากหนทางใด และได้ใช้จ่ายมันไปในหนทางใด และเกี่ยวกับความรักที่มีต่อเรา “อะฮ์ลุลบัยต์” (พยอเม่ กุรอาน เล่มที่ 6 หน้า 176
3) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่มที่ 17 หน้า 426
4) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่มที่ 17 หน้า 426
5) จะถูกถามจากท่าน (อาซ ตู มีโพรซัน) มะการิม ชีราซี
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ