ไทยแลนด์
Thursday 26th of December 2024
0
نفر 0

จงอย่าสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

จงอย่าสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

 

    ในคัมภีร์อัลกุรอานมีโองการจำนวนมากที่ห้ามเราไม่ให้ท้อแท้และสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า และในคำรายงาน (ริวายะฮ์) จำนวนมากจากท่านศาสดาและอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) ก็กล่าวถึงในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน

 

      ในโองการของคัมภีร์อัลกุรอาน อย่างเช่น พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า

 

قُلْ یا عِبادِیَ الَّذینَ أَسْرَفُوا عَلى أَنْفُسِهِمْ لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ یَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمیعاً إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحیمُ

 

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) โอ้ปวงบ่าวของข้า ผู้ที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง (ด้วยการประพฤติชั่ว) พวกเจ้าอย่าได้สิ้นหวังในพระเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งปวง แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (1)

 

      และตัวอย่างจากคำรายงาน (ริวายะฮ์) อย่างเช่นคำรางานบทนี้ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

 

یَبْعَثُ اللَّهُ الْمُقَنِّطِینَ یَوْمَ الْقِیَامَةِ مُغَلَّبَةً وُجُوهُهُمْ یَعْنِی غَلَبَةَ السَّوَادِ عَلَى الْبَیَاضِ فَیُقَالُ لَهُمْ هَۆُلَاءِ الْمُقَنِّطُونَ مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ تَعَالَی

 

“อัลลอฮ์จะทรงทำให้ผู้สิ้นหวังฟื้นคืนชีพขึ้นในวันชาติหน้า ในสภาพที่ใบหน้าของพวกเขาจะถูกพิชิต กล่าวคือ ความดำคล้ำได้พิชิตเหนือความขาวผ่องของมัน ต่อจากนั้นจะมีผู้กล่าวขึ้นว่า พวกเหล่านี้คือพวกที่สิ้นหวังจากพระเมตตาของอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง (ในขณะมีชีวิตอยู่บนโลก)” (2)


ทว่าความสิ้นหวังนี้คืออะไรและขอบเขตของมันคืออะไร?

      

ความท้อแท้และความสิ้นหวัง คือสภาพหนึ่งที่จะยับยั้งมนุษย์จากการขับเคลื่อนไปสู่สิ่งที่ตนเองมุ่งหวัง สิ่งมุ่งหวังซึ่งก่อนหน้านี้ความปรารถนาและความคาดหวังที่จะได้รับมันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาอุตสาห์พยายามที่จะไปถึงมัน และเขาทำให้เกิดการเคลื่อนไหวออกมาจากตัวเองแม้จะเล็กน้อยก็ตาม แต่มาบัดนี้ด้วยเหตุผลต่างๆ ทำให้ความคาดหวังของเขาหมดไป ความพยายามและการเคลื่อนไหวที่เคยมีไม่เหลืออยู่อีกแล้วสำหรับเขา สภาพดังกล่าวนี้ก็คือความท้อแท้และความสิ้นหวัง ตอนนี้กลับเป็นว่ามันได้ล่องลอยออกไปจาก กลายเป็นความผิดหวังเข้ามาแทน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในกรณีต่างๆ มากมาย


ประเภทของความสิ้นหวังในโองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ (คำรายงาน)

      

โองการอัลกุรอานและริวายะฮ์ ได้แบ่งประเภทของความสิ้นหวังออกเป็น 2 ประเภท คือ ความสิ้นหวังที่น่าสรรเสริญและความสิ้นหวังที่น่าตำหนิ
ความสิ้นหวังที่น่าสรรเสริญ

       

ความสิ้นหวังที่น่าสรรเสริญ คือความสิ้นหวังต่อผู้อื่นจากพระผู้เป็นเจ้า กล่าวคือมนุษย์จะต้องเชื่อมั่นว่า พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้นที่ทรงเป็นแหล่งที่มาของความดีงามทั้งปวงในโลก และจะต้องมอบหัวใจไว้กับพระองค์ จะต้องสิ้นหวังต่อผู้อื่นจากพระองค์ เขาจะต้องเชื่อมั่นว่าหากจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นจากผู้อื่น นั่นก็เกิดจากการอนุมัติและพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะเพียงเท่านั้น ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า

 

الیأس ممّا فی ایدى النّاس عزّ للمۆمن

 

“การสิ้นหวัง (และการตัดความหวัง) จากสิ่งที่อยู่ในมือของมนุษย์ คือเกียรติศักดิ์ศรีของผู้ศรัทธา” (3)


ความสิ้นหวังที่น่าตำหนิ

      

ความสิ้นหวังที่น่าตำหนิ คือความสิ้นหวังจากความกรุณาและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งและทรงอภิบาลโลกและจักรวาล ซึ่งความสิ้นหวังที่น่าตำหนินี้ยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ


ก. ความสิ้นหวังต่อการอภัยโทษของพระผู้เป็นเจ้า

     

ความหมายหรือตัวอย่างที่คุ้นเคยและเห็นได้ชัดเจนที่สุดสำหรับความสิ้นหวังประเภทนี้ก็คือ การที่บุคคลหนึ่งมีความมั่นใจว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไม่อภัยโทษให้เขาอีกแล้ว และเขาจะต้องเข้าสู่นรกอย่างแน่นอน

     

เมื่อพิจารณาถึงคำอธิบายที่กล่าวไปทั้งหมด โองการที่ 53 ของซูเราะฮ์(บท)อัซซุมัร ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น หมายถึงความสิ้นหวังประเภทนี้ ความสิ้นหวังที่ผู้สิ้นหวังซึ่งด้วยกับการกระทำความชั่วต่างๆ มากมายของเขา จนในที่สุดความหวังต่อการอภัยโทษจากพระผู้เป็นเจ้าก็หมดสิ้นลง โดยเขาคาดคิดว่า พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งคงจะไม่อภัยโทษให้เขาอีกแล้ว และเขาจะต้องเป็นชาวนรกอย่างแน่นอน

     

โองการอัลกุรอานได้กล่าวโดยตรงต่อบุคคลกลุ่มนี้ โดยผ่านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า “โอ้ปวงบ่าวของข้าผู้ที่อธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง (ด้วยการประพฤติชั่ว) พวกท่านอย่าได้สิ้นหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงอภัยความผิดทั้งหลายทั้งปวง แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

     

ผลที่อันตรายยิ่งของความสิ้นหวังเช่นนี้ ก็คือการหยุดการวิงวอน การภาวนา การแสดงความเสียใจ สำนึกผิดและการขออภัยโทษต่อพระผู้เป็นเจ้า การปล่อยชีวิตของตนให้จมปักอยู่ในค่ายกลของชัยฎอน (มารร้าย) ความสิ้นหวังต่อการอภัยโทษของพระผู้เป็นเจ้าจะเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ละทิ้งการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยสิ้นเชิง และจะย่างก้าวเข้าสู่หุบเหวแห่งความหายนะและความหลงทางอย่างรวดเร็ว และในที่สุดจะนำพาตนเองลงสู่ก้นบึ้งของไฟนรก

     

จากตัวอย่างในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่ให้มนุษย์ทุกคนมีทั้งความกลัว (เคาฟ์) และความหวัง (รอญาอ์) อยู่ในตัวเอง ก็เพื่อจะยับยั้งมนุษย์จากความสุดโต่งในด้านนี้

     

การมีความกลัวก็เพื่อที่ว่ามนุษย์จะได้ไม่กลายเป็นผู้ที่หลงลำพองต่อการกระทำ (อะมั้ล) และการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีพระเจ้า) ของตนเอง ทั้งนี้เนื่องจากความหลงลำพองคือโรคร้ายทางจิตวิญญาณอย่างหนึ่งที่เป็นอันตรายยิ่ง ความหลงลำพองเปรียบได้ดังเชื้อโรคที่จะทำให้ร่างกายของอาบิด (ผู้ทำการเคารพภักดีพระเจ้า) และมุญาฮิด (นักต่อสู้ในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) เกิดความอ่อนแอ และกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางเขาจากการแสดงความเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้าเหมือนในอดีตที่เคยเป็น

 

      การมีความหวังก็เช่นกัน เพื่อที่ว่ามนุษย์จะได้ตระหนักอยู่ตลอดเวลาในทุกสภาพการณ์ว่า เขาคือบ่าวของพระองค์ และพระองค์คือผู้ทรงเมตตาเหนือบรรดาผู้เมตตาทั้งหลาย (أَرْحَمُ الرَّاحِمین  (4 หากเขาสำนึกผิดอย่างทันท่วงทีและหันกลับมาสู่พระองค์ แก้ไขปรับปรุงความผิดพลาดต่างๆ ที่ผ่านมา แน่นอนพระองค์จะทรงเปิดอ้อมอกแห่งความเมตตาของพระองค์ต้อนรับเขา

 

فَمَنْ تابَ مِنْ بَعْدِ ظُلْمِهِ وَ أَصْلَحَ فَإِنَّ اللَّهَ یَتُوبُ عَلَیْهِ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَحیمٌ

 

“ดังนั้นผู้ใดสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวหลังจากการอธรรมของตน และแก้ไขปรับปรุง แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงอภัยโทษแก่เขา เพราะแท้จริงอัลลอฮ์ คือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” (5)

 

       และเพื่อที่พระองค์จะทรงอธิบายถึงความเป็นผู้ทรงเมตตาเป็นที่สุด (ارحم الراحمین) และการเป็นผู้ให้อภัยอย่างมากมายของพระองค์ในรูปที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อที่จะทรงทำหัวใจของผู้ที่กำลังยืนอยู่บนปากหุบเหวแห่งความสิ้นหวังรู้สึกอบอุ่นในความหวัง ดังนั้นพระองค์ทรงตรัสว่า

 

 

لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ إِنَّ اللَّهَ یَغْفِرُ الذُّنُوبَ جَمیعاً

 

“พวกเจ้าอย่าได้สิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์จะทรงอภัยความผิดทั้งปวง” (6)


ข. ความสิ้นหวังต่อการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์และบรรลุระดับต่างๆ ที่สูงยิ่งขึ้นของความมนุษย์

 

      ความสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้ามิได้จำกัดเฉพาะการสิ้นหวังต่อการอภัยโทษความผิดบาปเพียงเท่านั้น แต่ทว่าครอบคลุมถึงความสิ้นหวังต่อการประทานความสำเร็จ (เตาฟีก) ที่เพิ่มพูน และการชี้นำที่เป็นพิเศษด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาและการยกระดับความสมบูรณ์ (กะม้าล) ของมนุษย์ไม่อาจจะเป็นไปได้ นอกจากความกรุณาและความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า

 

      

ท่านอัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี (ร.ฮ.) ได้อรรถาธิบายโองการนี้

 

وَ لَوْ لا فَضْلُ اللَّهِ عَلَیْكُمْ وَ رَحْمَتُهُ ما زَكى مِنْكُمْ مِنْ أَحَدٍ أَبَداً وَ لكِنَّ اللَّهَ یُزَكِّی مَنْ یَشاءُ وَ اللَّهُ سَمیعٌ عَلیمٌ

 

“และหากมิใช่เพราะความโปรดปรานของอัลลอฮ์และความเมตตาของพระองค์ที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ได้ตลอดไป แต่ทว่าอัลลอฮ์จะทรงชำระขัดเกลาผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ให้สะอาดบริสุทธิ์ และอัลลอฮ์คือผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง” (7)

 

       ท่านเขียนว่า : พระองค์ทรงตรัสว่า “หากมิใช่เพราะความโปรดปรานของอัลลอฮ์และความเมตตาของพระองค์ที่มีต่อพวกเจ้าแล้ว ก็จะไม่มีผู้ใดในหมู่พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ได้ตลอดไป” ความหมายนี้สติปัญญาก็บ่งชี้ถึงมันด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่จะประทานความดีงามและความสำเร็จนั้น มีเพียงพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์ยิ่งพระองค์เดียวเท่านั้น คำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้ย้ำในทำนองเดียวกันนี้ พระองค์ยังทรงตรัสไว้ในโองการอื่นอีกว่า

 

بِیَدِكَ الْخَیْرُ

“ความดีงามทั้งปวงนั้นอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์เพียงเท่านั้น” (8)

 

      

และพระองค์ยังทรงตรัสอีกว่า

 

ما أَصابَكَ مِنْ حَسَنَةٍ فَمِنَ اللَّهِ

 

“สิ่งที่เป็นความดีงามใดก็ตามที่ได้มาประสบกับเจ้า ดังนั้นมันมาจากอัลลอฮ์” (9) (10)

 

      

ด้วยเหตุนี้เอง ใครก็ตามที่สิ้นหวังต่อการไปให้ถึงความสมบูรณ์ (กะม้าล) ในขั้นต่างๆ และการได้รับพระกรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า เขาจะเข้าอยู่ในกลุ่มผู้ซึ่งสิ้นหวังในความเมตตาของอัลลออ์ ความเหมือนกันของบุคคลกลุ่มนี้กับบุคคลที่สิ้นหวังต่อการอภัยโทษของพระผู้เป็นเจ้านั้นก็คือ ขาดแรงบันดาลใจ บุคคลทั้งสองนี้ได้สูญเสียแรงบันดาลใจของตนเองลงอย่างหมดสิ้น ทั้งสองได้ละมือจากความพยายามของตน และนี่คือผลที่เลวร้ายประการหนึ่งของความสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงเตือนมนุษย์ให้ระวังจากสิ่งนี้

 

وَ لا تَیْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ إِنَّهُ لا یَیْأَسُ مِنْ رَوْحِ اللَّهِ إِلاَّ الْقَوْمُ الْكافِرُونَ

 

“และพวกเจ้าอย่าท้อแท้สิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริงไม่มีผู้ใดท้อแท้สิ้นหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮ์ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ” (11)

      

ดังนั้นจงอย่าสิ้นหวังในความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างเด็ดขาด เดชานุภาพของพระองค์อยู่เหนือปัญหาอุปสรรคและความยากลำบาทั้งปวง ทั้งนี้เนื่องจากเฉพาะผู้ปฏิเสธ ผู้ไร้ศรัทธาเพียงเท่านั้นที่ไม่เชื่อมั่นในเดชานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจึงสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ (12)

    

ด้วยเหตุนี้ความสิ้นหวังจากความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ในการไปถึงซึ่งระดับขั้นต่างๆ ของความสมบูรณ์ (กะม้าล) และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และสถานะตำแหน่งที่สูงส่งกว่า ทั้งหมดเหล่านี้คือตัวอย่างที่น่าตำหนิของความสิ้นหวังที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงห้ามไว้

    

สิ่งที่ควรกล่าวถึง ณ ที่นี้ก็คือ การปลดเปลื้องตนออกจากบ่วงแห่งความท้อแท้และความสิ้นหวังนั้น มิได้หมายความว่าเราจะเข้าไปติดกับดักของการมีความหวังที่ล้มๆ แล้งๆ ที่เป็นความเพ้อฝันอีก ความท้อแท้สิ้นหวังนั้นคือสิ่งที่น่าตำหนิ เนื่องจากมันจะเป็นเสมือนเบรกที่หยุดยั้งมนุษย์จากการเคลื่อนไหวและการขับเคลื่อนไปในเส้นทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฏ็อลมุสตะกีม) ส่วนความความหวังที่ล้มๆ แล้งๆ เป็นความเพ้อฝันที่ขาดความอุตสาห์พยายามและการขับเคลื่อนไปในทิศทางดังกล่าว ซึ่งก็คือสิ่งที่ถูกตำหนิ เนื่องจากมันคือการหยุดนิ่งและการเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง (ซิรอฎ็อลมุสตะกีม)

    

เพื่อที่จะเป็นเช่นซัลมาน ฟาริซี เพื่อที่จะไปถึงยังความเป็นอบูซัร ฆิฟารี และเพื่อที่จะบรรลุสู่ตำแหน่ง «مِنّا اهل البیت» (ส่วนหนึ่งจากเราชาวอะฮ์ลิลบัยต์) (13) จึงไม่มีคำว่าสายเกินไป และเส้นทางก็ไม่เคยถูกปิด จำเป็นที่จะต้องอุตสาห์พยายาม จงมอบหมาย (ตะวักกุล) ต่อพระผู้เป็นเจ้า และจงแสวงหาสื่อนำ (ตะวัซซุล) ผ่านบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ ผู้บริสุทธิ์ (อ.) เพื่อนำพาตนเองเข้าใกล้จุดมุ่งหมายที่มุ่งหวังให้ได้มากที่สุด.

 

แหล่งอ้างอิง

 

(1) อัลกุรอาน บท อัซซุมัร โองการที่ 53
(2) อันนะวาดิร รอวันดี หน้าที่ 18
(3) อัลกาฟี เล่มที่ 2 หน้าที่ 148
(4) อัลกุรอาน บทยูซุฟ โองการที่ 64
(5) อัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 39
(6) อัลกุรอาน บทซุมัร โองการที่ 53
(7) อัลกุรอาน บทอันนูร โองการที่ 21
(8) อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 26
(9) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 79
(10) ตัฟซีร อัลมีซาน เล่มที่ 15 หน้าที่ 93
(11) อัลกุรอาน บท ยูซุฟ โองการที่ 87
(12) ตัฟซีรนะมูเนะฮ์ เล่มที่ 10 หน้าที่ 57
(13) ชี้ถึงคำรายงานบทหนึ่งของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า


سَلْمَانُ مِنَّا أَهْلَ الْبَیْت
 

“ซัลมานคือส่วนหนึ่งจากเราอะฮ์ลุลบัยต์” (อุยูน อัคบาริร ริฎอ (อ.) เล่มที่ 2 หน้าที่ 64) ซึ่งคำรายงานนี้ แสดงให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งของท่านซัลมาน

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
กำเนิดจักรวาล
"ฝน"ในอัลกุรอาน
ทำไมเราต้องทำนมาซด้วย?
น้ำผึ้งในอัลกุรอานและฮะดีษ
ท่านอะบูฏอลิบ คือ ใคร
ความเป็นพี่น้องในอิสลาม
คุตบะฮ์ชะอ์บานียะฮ์ ...
อาลัมบัรซัค ...
มหัศจรรย์ 7 ประการของศาสดาอีซา ...

 
user comment