เป้าหมายและคุณค่าของการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ตอนที่ 1
เป็นที่ชัดเจนยิ่งว่า จริยธรรม (อัคลาก) และอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) มีผลกระทบโดยตรงต่อกัน กล่าวคือ ในด้านหนึ่ง จริยธรรมที่ดีงามจะเป็นสื่อนำและช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณในการอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ให้เกิดขึ้นในตัวเรา ในอีกด้านหนึ่ง จากผลที่ชัดเจนและแน่นอนที่สุดของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ก็คือการชำระขัดเกลาจิตใจ (ตะฮ์ซีบุนนัฟซ์) หรือการประดับประดาตนเองด้วยคุณลักษณะต่างๆ ที่สวยงาม และการปลดเปลื้องคุณลักษณะที่ไม่ดีงามออกไปจากตัวของเรา คัมภีร์อัลกุรอานได้ชี้ให้เห็นถึงผลที่ชัดเจนจำนวนมากที่มนุษย์จะได้รับจากการอิบาดะฮ์ต่างๆ อย่างเช่น การนมาซ การถือศีลอดและการจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับและทานอาสา) โดยกล่าวว่า :
اِنَّ الصَّلوةَ تَنْهى عَنِ الْفَحْشاءِ وَ الْمُنْكَرِ
“แท้จริงการนมาซจะยับยั้ง (มนุษย์) จากสิ่งที่น่าเกลียดและความชั่ว” (1)
خُذْ مِنْ اَمْوالِهِمْ صَدَقَةً تُطَهِّرُهُمْ وَ تُزَكّيهِمْ بِها
“(โอ้มุฮัมมัด) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของพวกเขาเป็นทาน (ซะกาต) เพื่อเจ้าจะทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์ และชำระขัดเกลาพวกเขาด้วยทานนั้น” (2)
ท่านชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :
“…ผลของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) คือการหลุดพ้นออกจากขอบเขตจำกัดอันเล็กน้อยของการยึดติดตัวตน การหลุดพ้นออกจากขอบเขตของความทะเยอทะยานและอารมณ์ปรารถนาต่างๆ ที่เป็นความจำกัดและชั่วคราว กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ ผลของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) จะทำมนุษย์หลุดพ้นออกจากวงจรของความมุ่งหวังและความปรารถนาต่างๆ ที่จำกัด ผลของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) คือการพึ่งพิง (ยังพระผู้เป็นเจ้า) คือการตัดความผูกพัน (จากทุกสิ่งทุกอย่าง) ผลของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ในความเป็นจริงก็คือ การที่มนุษย์จะโบยบินและออกจากขอบเขตอันจำกัดของตน ออกจากความหลงตน การบูชาตนเอง ออกจากความมุ่งหวัง ความปรารถนาและสิ่งต่างๆ ที่เป็นเรื่องเล็กน้อยและมีความจำกัด... สภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด มีเกียรติที่สุด สวยงามที่สุดและน่าประทับใจที่สุด คือสภาพของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้าที่เกิดขึ้นกับตัวมนุษย์” (3)
ดังนั้นเป็นสิ่งชัดเจนแล้วว่า ลักษณะที่น่าเกลียดหรือความสวยงามทางจริยธรรมบางประการนั้น ในรูปภายนอกแล้วมีความสัมพันธ์อย่างมากต่ออิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ต่างๆ และเช่นเดียวกันนี้ การระวังรักษามารยาทบางอย่างและปัญหาทางด้านจริยธรรมบางประการเกี่ยวกับอิบาดะฮ์นั้น ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นมากยิ่งขึ้น ซึ่งมันจะประกอบขึ้นเป็นส่วนสำคัญของ “จริยธรรมในการอิบาดะฮ์” ด้วยเช่นกัน
ความหมายของอิบาดะฮ์
“อิบาดะฮ์” คือการแสดงออกถึงความเป็นบ่าวและความต้องการ ณ เบื้องพระพักตร์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง เป็นการอธิบายถึงความต้องการและความปรารถนาในการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์จากพระองค์
ท่านอัฏฏอรีฮี ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์” ว่า :
العبادة : هى غاية الخضوع و التذلل و لذلك لا تحسن الا لله تعالى الذى هو مولى اعظم النعم فهو حقيق بغاية الشكر
คำว่า “อิบาดะฮ์” (ในทางภาษา) หมายถึง การแสดงถึงความนอบน้อมถ่อมตนและการยอมจำนนขั้นสูงสุด ด้วยเหตุนี้เองจึงไม่คู่ควรสำหรับสิ่งอื่นนอกจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นเจ้าของสูงสุดของเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปรานและปัจจัยอำนวยสุข) ทั้งปวง ดังนั้นพระองค์คือผู้ทรงคู่ควรต่อการขอบคุณอย่างสุดซึ้ง” (4)
และท่านยังได้กล่าวอีกว่า :
والعبادة بحسب الاصطلاح هي: المواظبة على فعل المأمور به
“และคำว่า “อิบาดะฮ์” ในสำนวนวิชาการ หมายถึง การระวังรักษาการกระทำต่างๆ ที่เป็นคำสั่ง (จากพระผู้เป็นเจ้า)” (5)
ท่านชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี ได้กล่าวเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของการอิบาดะฮ์ (การนมัสการพระผู้เป็นเจ้า) ว่า :
“การอิบาดะฮ์ต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อที่ว่าประชาชนจะได้ไม่ลืมผู้ที่วางบทบัญญัติ และจะเสริมสร้างสายสัมพันธ์กับพระองค์อยู่ตลอดเวลา พวกเขาจะรำลึกอยู่เสมอว่าพวกเขามีพระผู้เป็นเจ้า และพระองค์จะสอดส่องพวกเขาอยู่ตลอดเวลา และพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงวางบทบัญญัติที่เที่ยงธรรมในระหว่างพวกเขา” (6)
ประเภทของอิบาดะฮ์
ในมุมมองหนึ่งการอิบาดะฮ์สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
การกระทำ (อะมั้ล) บางอย่างซึ่งมีลักษณะของความเป็นอิบาดะฮ์อย่างแท้จริง และจำเป็นต้องกระทำด้วยเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า (กุรบะตัน อิลัลลอฮ์) หากมิเช่นนั้นแล้วจะไม่ถูกต้อง (บาฏิล) เช่น การอาบน้ำฆุซุล การทำวุฎูอ์ การนมาซ การทำฮัจญ์ การจ่ายคุมซ์ ซะกาต (ทานบังคับ) และอื่น ๆ
การกระทำ (อะมั้ล) บางอย่างหากกระทำด้วยเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า (กุรบะตัน อิลัลลอฮ์) แล้ว จะถูกนับว่าเป็นอิบาดะฮ์ และจะได้รับผลรางวัลเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว การสนองตอบค่าใช้จ่าย (นะฟะเกาะฮ์) ให้แก่ครอบครัว เป็นต้น
การละทิ้งและการกระทำ (อะมั้ล) ทุกอย่างเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดและความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในกรณีเช่นนี้ การกระทำทั้งมวลของมนุษย์จะกลายเป็นการอิบาดะฮ์ ดังเช่นที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้สัญญาไว้แก่ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนว่า :
نومکم فیها عبادة و انفاسکم فیها تسبیح
“การนอนหลับของพวกท่านในเดือนนี้คือการอิบาดะฮ์ และลมหายใจของพวกท่านในเดือนนี้คือการสรรเสริญสดุดี (ตัสเบี๊ยะห์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า” (7)
ทำนองเดียวกัน ทุกๆ การกระทำ อย่างเช่น การมองไปยังใบหน้าของผู้รู้ (อาลิม) บิดาและมารดา การเรียนรู้ปัญหาต่างๆ ของศาสนา การคิดใคร่ครวญ การรักษาสิทธิ์ของผู้ศรัทธา การนิ่งเงียบและอื่นๆ ก็ถือว่าเป็นอิบาดะฮ์ด้วยเช่นเดียวกัน (8)
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
ما يَتَقَرَّبُ إِلَىَّ عَبْدى بِمِثْلِ أداءِ مَا افْتَرَضْتُ عَلَيْهِ
“ไม่มีสิ่งใดที่บ่าวคนหนึ่งจะใช้เป็นสื่อในการแสวงหาความใกล้ชิดต่อข้าที่ (ดียิ่ง) เหมือนกับการปฏิบัติตามสิ่งที่ข้าได้กำหนดบังคับเหนือเขา” (9)
ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) ยังได้แบ่งการอิบาดะฮ์ออกเป็น 3 ประเภท ด้วยกับอีกมุมมองหนึ่งคือ
(1) การอิบาดะฮ์เชิงพาณิชย์
(2) การอิบาดะฮ์เนื่องจากความกลัว
(3) การอิบาดะฮ์แบบเสรีชน
โดยที่ท่านได้กล่าวว่า :
إن قوما عبدوا الله رغبة فتلك عبادة التجار، وإن قوما عبدوا الله رهبة فتلك عبادة العبيد، وإن قوما عبدوا الله شكرا فتلك عبادة الأحرار
“แท้จริงชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ด้วยความมุ่งหวัง นั่นคืออิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) แบบพ่อค้า และแท้จริงชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ด้วยความหวั่นเกรง นั่นคืออิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) แบบทาส และแท้จริงชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ด้วยการขอบคุณ นั่นคืออิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) แบบเสรีชน” (10)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวไว้เช่นกันว่า :
العبادة ثلاثة: قوم عبدوا الله عز وجل خوفا فتلك عبادة العبيد، وقوم عبدوا الله تبارك وتعالى طلب الثواب فتلك عبادة الأجراء، وقوم عبدوا الله عز وجل حبا له فتلك عبادة الأحرار، وهي أفضل العبادة
“การเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) มีสามประเภท ชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร เนื่องจากความหวาดกลัว นั่นคือการอิบาดะฮ์ของทาส และชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง เนื่องจากความมุ่งหวังในผลรางวัล นั่นคือการอิบาดะฮ์ของพ่อค้า และชนกลุ่มหนึ่งเคารพภักดีอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติผู้ทรงเกรียงไกร เนื่องจากความรักที่มีต่อพระองค์ นั่นคือการอิบาดะฮ์ของเสรีชน และมันคือการอิบาดะฮ์ที่ประเสริฐที่สุด” (11)
คุณค่าของการอิบาดะฮ์
อิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และการยอมมอบตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้น คือสื่อนำสู่ความยำเกรง (ตักวา) และความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
يا أَيُّهَا النّاسُ اعْبُدُوا رَبَّكُمُ الَّذى خَلَقَكُمْ وَ الَّذينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ
“โอ้หมู่ชนเอ๋ย! จงเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ผู้ซึ่งได้ทรงสร้างพวกท่านขึ้นมา และบรรดาผู้ที่มาก่อนพวกท่าน หวังว่าพวกท่านจะได้ยำเกรง” (12)
ไม่ว่ามนุษย์จะย่างก้าวไปบนเส้นทางของอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) พระผู้เป็นเจ้ามากเท่าใด เขาก็จะกลายเป็นที่รัก ณ พระผู้เป็นเจ้าและมวลมนุษย์ และกลายเป็นผู้ที่มีคุณค่ามากขึ้นเพียงนั้น กล่าวอีกสำนวนหนึ่งก็คือ ในโลกแห่งการสร้างสรรค์ บรรทัดฐานในการกำหนดคุณค่าของมนุษย์ก็คืออิบาดะฮ์และการยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ไม่ว่ามนุษย์จะแสดงออกถึงความอ่อนแอ ความไร้ค่า การเชื่อมความสัมพันธ์ของตนเองต่อพระผู้เป็นเจ้าโดยหนทางของการอิบาดะฮ์มากเท่าใด เขาก็จะได้รับเกียรติศักดิ์ศรีและความเป็นอิสระชนมากขึ้นเพียงนั้น
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : วันหนึ่งท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้เข้ามาหาบรรดาผู้ช่วยเหลือของท่าน ภายหลังจากการสรรเสริญสดุดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและการซอละวาตต่อท่านศาสดาแล้วท่านกล่าวว่า :
یا ایها الناس ان الله ما خلق العباد الا لیعرفوه فاذاعرفوه عبدوه فاذا عبدوه استغنوا بعبادته عن عبادة من سواه
“โอ้หมู่ชนเอ๋ย! พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้สร้างปวงบ่าวของพระองค์ขึ้นมา (เพื่ออื่นใด) นอกจากเพื่อให้พวกเขาทำความรู้จักพระองค์ และเมื่อพวกเขารู้จักพระองค์แล้ว พวกเขาก็จะทำการเคารพภักดีพระองค์ และเมื่อพวกเขาเคารพภักดีพระองค์แล้ว พวกเขาก็จะพอเพียงจากการเคารพภักดีสิ่งอื่นจากพระองค์” (13)
ดังนั้นความลับและคุณค่าของการอิบาดะฮ์จึงอยู่ที่ว่า จะต้องทำให้มนุษย์ไร้ความต้องการและการพึ่งพาสิ่งถูกสร้างทั้งมวล และทำให้เขาดำรงตนอยู่ในความเป็นเสรีชนและความมีเกียรติศักดิ์ศรีขั้นสูงสุดด้วยการผูกสัมพันธ์ตัวเองเข้ากับพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นก็คือความสำเร็จนั้นเอง ดั่งที่ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีนอะลี (อ.) กล่าวว่า :
اَلْعِبادَةُ فَوْزٌ
“
การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าคือความสำเร็จ” (14)
เป้าหมายของการสร้าง ในทัศนะของคัมภีร์อัลกุรอาน
พระผู้เป็นเจ้าทรงมีเป้าหมายที่สำคัญยิ่งในการสร้างมนุษย์ คัมภีร์อัลกุรอานได้แนะนำถึงเป้าหมายที่สำคัญนี้ไว้ โดยกล่าวว่า :
وَ ما خَلَقْتُ الْجِنَّ وَ الاِنْسَ إِلاّ لِيَعْبُدوُنِ
“และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์ขึ้นมา (เพื่ออื่นใด) นอกจากเพื่อให้พวกเขาเคารพภักดีต่อข้า” (15)
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ด้วยกับการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จะสามารถยกระดับสถานะและเกียรติศักดิ์ศรีของตนเองให้เกิดความสูงส่งได้ และเป็นที่ชัดเจนว่า พระผู้เป็นเจ้าไม่มีความต้องการใดๆ ต่อการอิบาดะฮ์ของมนุษย์
ด้วยเหตุนี้เอง นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการสร้างมนุษย์ พระผู้เป็นเจ้าได้เอาคำมั่นสัญญาจากมนุษย์ว่า เขาจะต้องย่างก้าวไปบนเส้นทางของการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งมันคือแนวทางอันเที่ยงตรง (ซิรอฎุ้ลมุสตะกีม) และจะต้องไม่เคารพภักดีสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ ซึ่งนั่นคือแนวทางของมาร (ชัยฏอน) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรง ตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :
ألَمْ أعـْهـَدْ إِلَيـْكـُمْ يـابـَنى ادَمَ أنْ لا تَعْبُدُوا الشَّيْطانَ إِنَّهُ لَكُمْ عَدُوُّمُبينٌ وَ أنِ اعْبُدُونى هذا صِراطٌ مُسْتَقيم
“โอ้ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย! ข้าไม่ได้เอาสัญญาต่อพวกเจ้ามาก่อนหรือว่า พวกเจ้าอย่าเคารพบูชามารร้าย เพราะมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า และพวกเจ้าจงเคารพภักดีข้า นี่คือแนวทางอันเที่ยงตรง” (16)
ในโองการนี้ พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง พร้อมกับการห้ามมนุษย์จากการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) และการเชื่อฟังมารร้าย (ชัยฏอน) ซึ่งพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า เป้าหมายและจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ คือการเคารพภักดีและการเชื่อฟังพระองค์ และพระองค์ทรงอ้างพันธสัญญาและกฎแห่งการสร้างมาเป็นสักขีพยานยืนยันในเรื่องนี้ว่า มนุษย์จะต้องเลือกความเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้าเหนือความเป็นบ่าวของสิ่งอื่นจากพระเจ้า และพระองค์ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลของมัน นั่นก็คือ ความเที่ยงตรงและถูกต้องของแนวทางนี้ (17)
เป้าหมายของการสร้าง ในคำรายงาน (ริวายะฮ์)
ในฮะดีษ (วจนะ) และคำพูดต่างๆ ของบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์ ได้ชี้ให้เห็นถึงเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ว่า คือการเคารพภักดีและการยอมตนของมนุษย์ต่อการเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพ ท่านอะมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) ได้อธิบายถึงระดับต่างๆ ของเตาฮีด (การยอมรับในเอกานุภาพของพระผู้เป็นเจ้า) โดยท่านได้กล่าวว่า :
اَلَّذى خَلَقَ الْخَلْقَ لِعِبادَتِهِ وَ أقْدَرَهُمْ عَلى طاعَتِهِ
“(พระผู้เป็นเจ้า) ผู้ทรงสร้างสิ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการเคารพภักดีพระองค์ และทรงทำให้พวกเขามีความสามารถในการเชื่อฟังพระองค์” (18)
มีชายผู้หนึ่งได้ถามท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาเพื่ออะไร” ท่านตอบว่า :
إِنَّ اللّهَ تـَبـارَكَ وَ تـَعـالى لَمْ يـَخـْلُقْ خـَلْقـَهُ عـَبـَثـاً وَ لَمْ يَتْرُكْهُمْ سُدًى بَلْ خَلَقَهُمْ لاِظْهارِ قُدْرَتِهِ وَ لِيُكَلِّفَهُمْ طاعَتَهُ فَيَسْتَوْجِبُوا بِذلِكَ رِضْوانَهُ، وَ ما خَلَقَهُمْ لِيَجْلِبَ مِنْهُمْ مَنْفَعَةً وَ لا لِيَدْفَعَ بِهِمْ مَضَرَّةً بَلْ خَلَقَهُمْ لِيَنْفَعَهُمْ وَ يُوصِلَهُمْ إِلى نَعيمِ الاَبَدِ
“แท้จริงพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงจำเริญผู้ทรงสูงส่ง มิได้สร้างสิ่งถูกสร้างของพระองค์ขึ้นมาอย่างไร้สาระ และพระองค์มิได้ทรงปล่อยพวกเขาไว้อย่างเดียวดายโดยปราศจากเป้าหมาย แต่ทว่าพระองค์ทรงสร้างพวกเขาขึ้นมาเพื่อที่จะทรงแสดงให้เห็นถึงเดชานุภาพของพระองค์ และเพื่อที่พระองค์จะทรงมอบหมายภาระหน้าที่แก่พวกเขาในการเชื่อฟังพระองค์ ซึ่งด้วยกับสิ่งนั้นจะทำให้พวกเขาได้รับความพึงพอพระทัยจากพระองค์ และพระองค์มิได้ทรงสร้างพวกเขาขึ้นมาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากพวกเขา และมิใช่ว่าเพื่อจะขจัดโทษภัยใดๆ ด้วยสื่อพวกเขา แต่ทว่าพระองค์ทรงสร้างพวกเขาขึ้นมาเพื่อที่พระองค์จะทรงให้คุณประโยชน์แก่พวกเขา และจะทรงทำให้พวกเขาไปถึงยังปัจจัยอำนวยสุขต่างๆ อันเป็นนิรันดร” (19)
ด้วยกับการคิดใคร่ควรเพียงเล็กน้อยในการสร้างตัวเราและโลก เราก็จะพบว่า การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างเราขึ้นมานั้นเนื่องจากความกรุณาและโปรดปรานของพระองค์ ทั้งนี้เนื่องจากพระองค์คือสิ่งสัมบูรณ์ ทรงเดชานุภาพ และทรงไว้ซึ่งความดีงามอย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์ และพระองค์ทรงบริสุทธิ์จากความต้องการทั้งปวง ในอีกด้านหนึ่ง การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งมวลคือความโปรดปรานและความเมตตาจากพระองค์ที่มีต่อสิ่งเหล่านั้น ดังนั้นการขอบคุณพึงมีแด่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเอกะ ที่พระองค์ทรงประทานของขวัญ คือการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า (มะอ์ริฟะตุลลอฮ์) แก่มนุษย์ พระองค์ทรงตรัสไว้ในฮะดีษกุดซีว่า :
كُنْتُ كَنْزاً مَخْفِيّاً فَأحْبَبْتُ أنْ أُعْرَفَ وَ خَلَقْتُ الْخَلْقَ لِكَىْ أُعْرَفَ
“แต่ก่อนข้าเป็นขุมคลังที่ซ่อนเร้น ดังนั้นข้าปรารถนาที่ข้าจะเป็นที่ถูกรู้จัก และข้าได้สร้างบรรดาสิ่งถูกสร้างขึ้นมา เพื่อที่ข้าจะได้ถูกรู้จัก” (20)
ในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ชี้ให้เห็นว่าเป้าหมายของการสร้างนั้น ก็เพื่อการรู้จักพระผู้เป็นเจ้า ทั้งนี้เนื่องจากความรู้และการรู้จัก (มะอ์ริฟะฮ์) คือรากฐานสำคัญของการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) และการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้า
บทสรุป :
การอิบาดะฮ์ หมายถึง ความต่ำต้อยและการแสดงความนอบน้อมถ่อมตนและความอ่อนแอ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพอย่างสมบูรณ์ และสภาพเช่นนี้ไม่คู่ควรต่อสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้นที่ทรงบริสุทธิ์จากทุกข้อบกพร่องและข้อตำหนิทั้งมวล
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า สาเหตุของการอิบาดะฮ์เกิดจาก 3 สาเหตุ คือ ความหวั่นกลัวจากไฟนรก หรือความมุ่งหวังในสวนสวรรค์ หรือด้วยเหตุผลของความรักและความผูกพันที่บ่าวมีต่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งสาเหตุที่สามนี้ประเสริฐเหนือทั้งหมด
คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้างมนุษย์ว่า เพื่อการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) เพื่อการสรรเสริญขอบคุณต่อพระผู้สร้างผู้ทรงสูงส่ง เป็นการเตือนมนุษย์จากการเคารพภักดีสิ่งอื่นจากพระผู้เป็นเจ้า และอย่าได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางของมารร้าย (ชัยฏอน) และอย่าเชื่อฟังปฏิบัติตามมัน
ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ได้แนะนำเช่นกันว่า เป้าหมายของการสร้างมนุษย์ขึ้นมาก็เพื่อการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) และการยอมตนเป็นบ่าวของพระผู้เป็นเจ้า เพื่อว่าด้วยกับการกระทำดังกล่าวจะทำให้มนุษย์รอดพ้นจากทางแห่งความหลงผิดและความเบี่ยงเบน
เชิงอรรถ :
(1) อัลกุรอาน บทอัลอังกะบูต โองการที่ 45
(2) อัลกุรอาน บทอัตเตาบะฮ์ โองการที่ 103
(3) ฟัลซะฟะฮ์ อัคลาก (ปรัชญาจริยศาสตร์), ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, หน้าที่ 121-122
(4) มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 92
(5) มัจญ์มะอุลบะห์ร็อยน์, เล่มที่ 3, หน้าที่ 95
(6) ฮะดัฟ ซินเดกี (เป้าหมายแห่งชีวิต) ชะฮีดมุเฏาะฮ์ฮะรี, หน้าที่ 16
(7) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 96, หน้าที่ 356
(8) ดูเพิ่มเติมจาก มีซานนุลฮิกมะฮ์, มุฮัมมะดี เรย์ ชะฮ์รี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 16-21
(9) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 78
(10) ชัรห์ ฆุร่อรุลฮิกัม, ออมะดี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 578
(11) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 1, หน้าที่62
(12) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 21
(13) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 5, หน้าที่ 314
(14) ชัรห์ ฆุร่อรุลฮิกัม, ออมะดี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 25
(15) อัลกุรอาน บทอัซซาริยาต โองการที่ 56
(16) อัลกุรอาน บทอัซซาริยาต โองการที่ 60-61
(17) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, เล่มที่ 18, หน้าที่ 424-427
(18) มุสตัดร็อก ซะฟีนะตุลบิฮาร, เล่มที่ 7, หน้าที่ 49
(19) อิละลุชชะรอเอี๊ยะอ์, เชคซุดูก, หน้าที่ 9
(20) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, เล่มที่ 22, หน้าที่ 394
บคความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ