บทบาทอันสำคัญยิ่งของแม่
ครอบครัวคือ ศูนย์กลางในการขัดเกลาและเจียระไนความสามารถและศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน ธรรมชาติของบุตรธิดา และเพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิผลสูงสุด กุรอานจึงได้แบ่งหน้าที่ของบิดาและมารดาบนพื้นฐานของความแตกต่างกันในทางสรีระและจิตใจของทั้งสองเพศ
กล่าวคือ กุรอานได้กำหนดให้สามีเป็นผู้ค้ำจุนและปกป้องครอบครัว เนื่องจากศักยภาพทางธรรมชาติที่เพศชาติมีอยู่ อาทิเช่น ความกำยำล่ำสัน, ความแข็งกร้าวและความอุตสาหะ และกำหนดให้ภรรยาทำหน้าที่แม่ผู้ให้การอบรมบ่มนิสัยบุตร เนื่องจากความรัก, ความอ่อนโยนและความอดทนของนาง ดังที่กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “และ แม่ต้องให้ลูกของนางดื่มนมสองปีเต็ม (นี่) สำหรับผู้ประสงค์จะให้ช่วงการดื่มนมครบถ้วนสมบูรณ์ และภาระหน้าที่สำหรับผู้มีลูก (คือผู้เป็นพ่อ) นั้นคือ (การจัดหา) อาหารและเครื่องนุ่งห่มของนางอย่างเหมาะสม (ในระหว่างนั้น) ไม่มีผู้ใดต้องแบกรับภาระเกินความสามารถของตน ทั้งแม่และพ่อไม่มีสิทธิสร้างความเสียหายแก่ลูกของตน...” 1
ในโลกปัจจุบันซึ่งเป็นโลกที่การทำงานนอกบ้านได้พรากลูกออกจากอ้อมอกแม่ นั้น สัจธรรมที่ว่าไม่มีสิ่งใดแทนที่นมแม่ได้ และไม่มีสถานที่ใดที่จะทดแทนความรักและไออุ่นจากอ้อมอกแม่ได้นั้น ยิ่งมีความชัดเจนมากขึ้นกว่ายุคสมัยใดๆ
นอกจากวิวรณ์แห่งฟากฟ้าแล้ว ผลงานศึกษาวิจัยทางวิชาการก็ได้ยืนยันถึงสัจธรรมข้อนี้ไว้เช่นกัน ดังที่ ดร.Benyamin Spock นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กชาวอเมริกันได้ถือว่า การเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่ทำให้สตรีวิตกกังวลต่อการสูญเสียทรวดทรงและความสวยงามของตน และหนีจากความเบื่อหน่ายของการนั่งจับเจ่าอยู่ในบ้านด้วยการทำงานนอกบ้าน นั้น ไม่อาจเป็นข้ออ้างที่เพียงพอในการละเลยของครอบครัวและผู้เป็นแม่ต่อการดูแล บุตรได้ เขาได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า “ในขณะที่ตั้งตารอคอยสังคมที่ มีมนุษยธรรมมากขึ้นนั้น ข้าพเจ้าหวังว่าจะมีชายหญิงที่รู้สึกว่าการดูแลเด็กๆ และบ้านช่องนั้น อย่างน้อยที่สุดก็มีความสำคัญและเป็นเรื่องน่าพึงพอใจเท่าๆ กันกับกิจกรรมอื่นๆ และไม่ว่าหญิงหรือชายคนใดจะต้องไม่จินตนาการไปว่า เขาต้องรู้สึกผิดและอับอายในการเลือกทางนี้” 2
แม่ตัวอย่าง
ภรรยาของอิมรอนผู้เป็นมารดาของมัรยัม (อ)
กุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของมารดาของท่านหญิงมัรยัม (อ) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะที่นางตั้งครรภ์ไว้ว่า “(จง รำลึกถึง) เมื่อครั้งที่ภรรยาของอิมรอนได้กล่าวว่า พระผู้อภิบาล ฉันขอบนต่อพระองค์ซึ่งสิ่งที่อยู่ใจครรภ์ของฉันให้เป็นไท (ที่อุทิศถวายเพื่อรับใช้บ้านของพระองค์) ขอได้ทรงโปรดรับจากฉันด้วยเถิด แท้จริง พระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้” 3
แน่นอนที่สุด สตรีที่ศรัทธามั่นในพระผู้เป็นเจ้าและมีเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์และสูงส่งเช่น นี้ ย่อมจะต้องใช้ชีวิตที่เพียบพร้อมไปด้วยความยำเกรงและการเคารพภักดี อย่างบริสุทธิ์ใจต่อพระผู้เป็นเจ้า และประคองตนอยู่ในความสะอาดทั้งภายนอกและภายใน อันมีผลโดยตรงต่อทารกของนางตลอดช่วงเวลาของการอุ้มครรภ์ และหลังคลอดนางก็ได้พยายามเลี้ยงดูลูกน้อยอย่างดีที่สุด พร้อมกับมอบเธอให้อยู่ในการดูแลและการอภิบาลโดยสมบูรณ์ของพระผู้อภิบาล “เมื่อ นางได้คลอดเธอ นางกล่าว พระผู้อภิบาล ฉันได้คลอดเขาเป็นเพศหญิง แต่อัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งที่นางได้คลอด และบุตรชายนั้นไม่เหมือนบุตรหญิง (ในการทำหน้าที่รับใช้บ้านของพระองค์) ฉันได้ตั้งชื่อเธอว่ามัรยัม และฉันขอมอบเธอและลูกของเธอให้อยู่ในการคุ้มครองของพระองค์ให้พ้นจาก (การกระซิบกระซาบของ) มารที่ถูกขับไล่”4จนกระทั่งมัรยัมได้บรรลุสู่ความสมบูรณ์จากตักของมารดา และกลายเป็นสตรีที่บริสุทธิ์และได้รับเลือกจากพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด 5
การกล่าวถึงแรงบันดาลใจและเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของมารดาของมัรยัม (อ) ในขณะตั้งครรภ์ และการมอบหมายทารกของนางหลังคลอดให้อยู่ในความดูแลของพระผู้อภิบาลในสอง โองการข้างต้นนั้น เพื่อชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมของตัวเด็กตั้งแต่ในช่วงของการเป็นตัวอ่อนในครรภ์ และหลังคลอด อาทิเช่น ความคิด, จินตนาการ, ความโศกเศร้า, พฤติกรรมและการปฏิบัติของผู้เป็นแม่ รวมทั้งการบริโภคอาหาร, ความสะอาด, การหย่านมและการให้การศึกษานั้น มีผลโดยตรงต่อการก่อรูปของบุคคลิภาพในอนาคตของทารก ซึ่งวจนะต่างๆ ของมะอฺศูมีน (อ) ที่เกี่ยวกับมารยาทและเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่าง สามีและภรรยา และที่เกี่ยวข้องกับผลของน้ำ, อากาศ, อาหาร และสภาวะทางจิตใจของแม่ในขณะตั้งครรภ์และในขณะให้นมที่มีต่อลูก รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยทางวิชาการต่างยืนยันถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้เช่น กัน ดังที่ ดร.Benyamin Spock ได้กล่าวไว้ว่า “ก่อนคลอด มนุษย์มิใช่แต่เพียงเจริญเติบโต, บริโภคอาหาร และมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นในครรภ์มารดาเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์ร่วมกับแม่ในทุกๆ กิจกรรมความเคลื่อนไหวของนางด้วยเช่นกัน” 6
มัรยัม มารดาของศาสดาอีซา (อ)
โองการต่างๆ ของกุรอานที่กล่าวถึงท่านหญิงมัรยัม (อ) ในฐานะบุตรสาวของอิมรอน หรือในฐานะมารดาของศาสดาอีซา (อ) หรือในลักษณะที่เป็นเอกเทศอื่นๆ นั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับการสาธยายถึงคุณลักษณะเฉพาะตัว, จุดเด่นในด้านพฤติกรรม, การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน, จรรยามารยาท, การเป็นผู้ได้รับเลือกสรรค์, ความบริสุทธิ์, การเลือกสถานที่สำหรับเคารพภักดีพระผู้อภิบาลซึ่งเป็นสถานที่ที่สูงส่งที่ สุดเป็นที่พำนัก และการบริโภคอาหารสวรรค์ซึ่งเป็นอาหารที่บริสุทธิ์ที่สุดของท่านหญิงมัรยัม (อ) ทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถสรุปสาระสำคัญจากประมวลโองการดังกล่าวได้ดังต่อไปนี้
ประการแรก ความสัจจริง ความบริสุทธิ์ และการเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าโดยบริสุทธิ์ใจ ทำให้ท่านหญิงมัรยัม (อ) มีความเหมาะสมสำหรับการเป็นมารดาของบุตรที่ยิ่งใหญ่เยี่ยงศาสดาอีซา อัลมะสีห์ (อ)
ประการที่สอง การถือกำเนิดของบุตรเยี่ยงอีซา (อ) จากตักของมารดาเยี่ยงท่านหญิงมัรยัม (อ)นั้น ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของแม่ในการอบรมลูกตลอดช่วงเวลาของการเป็นตัวอ่อนในครรภ์ และหลังคลอด และยังชี้ให้เห็นถึงผลของสภาวะจิตใจ, จริยามารยาท และความศรัทธาของแม่ต่อลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของลูก เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การสาธยายถึงความศรัทธา, จริยธรรมและแบบแผนการดำเนินชีวิตของท่านหญิงมัรยัม (อ) ในโองการต่างๆ ดังที่กล่าวถึงข้างต้น ย่อมขาดความจำเป็นและเหตุผลที่เหมาะสมอย่างแน่นอน
โองการหนึ่งที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงบทบาทในการอบรมและคุณลักษณะทาง จริยธรรมและทางศาสนาของท่านหญิงมัรยัม (อ) ที่มีผลต่อการก่อรูปของบุคลิกภาพของอีซา (อ) ได้แก่โองการที่ ๗๕ ของบทอัลมาอิดะฮฺที่ว่า “อัล มะสีห์ บุตรของมัรยัมเป็นเพียงศาสนทูต (ของอัลลอฮฺ) คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้าเขาก็ได้มีศาสนทูตคนอื่นๆ มาแล้ว แม่ของเขาเป็นหญิงที่มีความสัจจริง ทั้งสองบริโภคอาหาร (เยี่ยงสามัญชน เช่นนี้แล้ว พวกเจ้าจะกล่าวอ้างว่าทั้งสองเป็นพระเจ้าได้อย่างไร?)” 7
มิติหนึ่งของการที่กุรอานได้เน้นถึงความเป็น “ผู้สัจจริง” ของท่านหญิงมัรยัม (อ) ในโองการนี้ ได้แก่การประกาศว่าคุณลักษณะเฉพาะของอีสา (อ) ส่วนหนึ่งนั้น เป็นผลมาจากความเป็น “ผู้สัจจริง” ของมารดาของท่านเอง
มารดาของศาสดามูซา (อ)
การถือกำเนิดของมูซา (อ) ในช่วงเวลาที่ฟิรอูนออกคำสั่งให้ตัดคอทารกชายทุกคนที่อาจจะกลายเป็นผู้โค่นบังลังก์ของตนในอนาคต ทำให้มารดาของทารกน้อยมูซาวิตกกังวลและพยายามหาทางปกป้องชีวิตของลูกน้อย จนกระทั่งพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงดลใจนางว่า “จงให้นมเขาดื่ม และเมื่อเจ้ากลัวแทนเขา ก็จงวางเขาลงในแม่น้ำ (ไนล์) และจงอย่ากลัวและอย่าโศกเศร้า เพราะเราจะนำเขากลับมายังเจ้า และให้เขาเป็นศาสนทูตคนหนึ่งอย่างแน่นอน (ครั้นเมื่อมารดาของมูซากลัวว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับเขา นางจึงวางเขาซึ่งอยู่ในหีบลงในแม่น้ำตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ) แล้วบริวารของฟิรอูนก็ได้เก็บเขาขึ้นมา (จากน้ำ) อันยังผลให้เขากลายเป็นศัตรูและที่มาของความข่มขื่นของพวกเขาในที่สุด”8
ในเหตุการณ์ข้างต้นมีประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
ประการแรก วิวรณ์และการดลใจของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมารดาของมูซา (อ) ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า แผนการและกุศโลบายทั้งหมดของพระผู้เป็นเจ้าได้ถูกรับรู้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และจะนำสู่การปฏิบัติโดยมารดาของมูซา (อ) ด้วยความกล้าหาญอันเกิดจากความศรัทธาอันแก่กล้าของนาง
ประการที่สอง การกำหนดให้ทารกน้อยมูซาปฏิเสธการดูดนมจากเต้านมของหญิงอื่น เป็นสาเหตุให้ท่านได้กลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาอีกครั้งหนึ่งนั้น9 ย่อมชี้ให้เห็นว่าการอบรม, เลี้ยงดู และการให้อาหารแก่ศาสดามูซา (อ) นั้นจะต้องเกิดขึ้นด้วยมือของมารดาของท่านเองเท่านั้น ซึ่งสิ่งนี้ก็คือการเผยให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทในการอบรมของแม่ที่มีผล ต่อการกำหนดทิศทางชีวิตของลูกในอนาคต และการนำเสนอแบบอย่างที่ประสบความสำเร็จของแม่นั่นเอง
บทสรุป
ผู้ที่คุ้นเคยกับบรรทัดฐานในการประเมินคุณค่าสิ่งต่างๆ ของอิสลามย่อมจะตระหนักดีว่า อิสลามและสารธรรมของกุรอานได้เทอดเกียรติและฐานันดรของทุกคนที่มีบทบาทในการสอนและอบรมให้เหนือกว่าผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ กรณีที่สำคัญที่กุรอานทำการสรรเสริญแม่ทั้งหลายก็คือ กรณีต่างๆ ที่พวกนางมีบทบาทในการอบรมและขัดเกลาบุตรของตนนั่นเอง อาทิเช่น กุรอานได้สั่งให้ปฏิบัติดีต่อบิดามารดาไว้ในเจ็ดบท (ซูเราะฮฺ) ซึ่งล้วนเป็นคำสั่งที่ควบคู่กันกับการศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้าและความเป็นเอ กะของพระองค์ซึ่งเป็นรากฐานหลักของโลกทัศน์แบบอิสลามทั้งสิ้น
กุรอานได้แยกกล่าวถึง “แม่” ไว้ต่างหากในสองบท10 จากจำนวนเจ็ดบทดังกล่าว โดยได้สาธยายถึงความลำบาก, ความทุกข์ทรมาน และการอดหลับอดนอนเพื่อเลี้ยงดูและฟูมฟักบุตรของตนในขณะตั้งครรภ์และในช่วง ให้นม และด้วยเหตุนี้เอง จึงเทิดเกียรติและฐานันดรของแม่เหนือกว่าพ่อ ทั้งยังกำหนดสิทธิที่มากกว่าของแม่ที่จะต้องได้รับจากลูกอีกด้วย
ในบทอัลอิสรออฺ โองการที่ ๒๔ กุรอานได้รวมเอาการปฏิบัติดีต่อบิดามารดาไว้ในประมวลข้อบังคับทางศาสนา และได้เพิ่มเติมในท้ายโองการว่า ลูกๆ จะต้องกล่าวรำลึกถึงบทบาทในการฟูมฟักและอบรมของบิดามารดาในขณะปลีกวิเวก เพื่อขอพรต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า “ข้าแต่พระผู้อภิบาล ได้ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสอง เช่นที่ทั้งสองได้อภิบาลฉันเมื่อยังเยาว์”
การเจาะจงเลือกกล่าวถึงเฉพาะบทบาทในการเลี้ยงดูอบรมของบิดามารดาดังกล่าว ย่อมชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ในด้านหนึ่ง การกระทำและพฤติกรรมทั้งหมดของบิดามารดาย่อมมีผลในด้านการอบรมทั้งสิ้น และในอีกด้านหนึ่งนั้น การอบรมที่ควรค่าต่อการสรรเสริญและรำลึกถึงของบิดามารดานั่นเองที่ทำให้บุตร ได้รับการเจียระไนให้เป็นกัลยาณชนและผู้ถวิลหาแต่พระผู้เป็นเจ้าดังกล่าว
เชิงอรรถ
1. บทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ ๒๓๓
2. Benyamin Spock, โภชนาการ, การอบรม และการดูแลเด็ก, อะหฺมัด มีรอาบิดีนี ผู้แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๑, เตหะราน, ปีที่พิมพ์ ๑๓๖๒, หน้า ๕๔๙
3. บทอาลิอิมรอน โองการที่ ๓๕
4. บทอาลิอิมรอน โองการที่ ๓๖
5. โปรดดู บทอาลิอิมรอน โองการที่ ๔๒
6. Benyamin Spock, โภชนาการ, การอบรม และการดูแลเด็ก, อะหฺมัด มีรอาบิดีนี ผู้แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๑, เตหะราน , ปีที่พิมพ์ ๑๓๖๒, หน้า ๕๔๓
7. บทอัลมาอิดะฮฺ โองการที่ ๗๕
8. บทอัลเกาะศ็อศ, โองการที่ ๗-๘
9. โปรดดู โองการที่ ๑๒ ของบทอัลเกาะศ็อศ
10. ดังปรากฏในบทลุกมาน โองการที่ ๑๔ ว่า “และ เราได้กำชับมนุษย์เกี่ยวกับพ่อแม่ของเขา แม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขาเพลียแล้วเพลียเล่า และช่วงเวลาการดื่มนมจนหย่านมของเขานั้นมีกำหนดสองปี (ใช่แล้ว เราได้กำชับเขาว่า) จงขอบคุณฉันและพ่อแม่ของเจ้า เพราะว่ายังฉันคือการกลับคืน (ของทุกสิ่ง)” และในบทอัลอะอฺรอฟ โองการที่ ๑๕ ว่า “และ เราได้สั่งมนุษย์ให้ปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ของเขา แม่ของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด และช่วงเวลาการอุ้มครรภ์และการหย่านมของเขานั้นรวมสามสิบเดือน...”
บทความโดย
Saleh
ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามิคโฮมเพจ