ไทยแลนด์
Monday 25th of November 2024
0
نفر 0

ชีวประวัติอิมามอะลี (อ.)

1. คำนำ 2. การถือกำเนิด 3. ในวัยเด็ก
ชีวประวัติอิมามอะลี (อ.)

1.      คำนำ

 

2.      การถือกำเนิด

 

3.      ในวัยเด็ก

 

4.      การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอะลี (อ.)

 

5.      อะลี (อ.) เป็นคนแรกที่ช่วยเหลือศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

6.       อะลี (อ.) หลังการอพยพ

 

7.       อะลี (อ.) บุตรเขยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

8.       เฆาะดิรคุม

 

9.       อะลี (อ.) หลังการสิ้นชีพท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

10.  เคาะลิฟะฮฺอิมามอะลี (อ.)

 

11.  ชะฮาดัตอิมามอะลี (อ.)

 

 

คำนำ

มนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตลอดอายุขัยของเขาย่อมพานพบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายในชีวิต และเผชิญกับอุปสรรคปัญหานานัปการแตกต่างกันออกไป ปกติแล้วคนเราเมื่อเผชิญกับปัญหาจะทำให้เกิดความอ่อนแอ และไร้ความสามารถ แต่ทุกคนก็จะพยายามทำทุกวิธีทาง ไม่ว่าการขอความช่วยเหลือ หรือคำแนะนำจากคนรู้จักเพื่อให้ตนรอดพ้นจากปัญหานั้น และเมื่อเขาได้รับแบบอย่าง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการแบบใด เขาก็จะปฏิบัติตามและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้ปัญหาและความเจ็บปวดของตนกลับสู่สภาพปกติ

 

และหนึ่งในแบบอย่างอันจำเริญยิ่งนี้คือ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อัล-กุรอานแนะนำท่านศาสดาด้วยนามดังกล่าวว่า แน่นอน เราะซูลของอัลลอฮฺคือ แบบฉบับอันดีงามสำหรับสูเจ้า สำหรับผู้ที่หวัง (จะพบ) อัลลอฮฺ และวันปรโลก[1]

 

นอกจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แล้ว ถ้าต้องการหาแบบอย่างของคนอื่นหรือตัวแทนของท่านศาสดาแล้วละก็ คงไม่มีบุคคลใดที่มีความเหมาะสมเกินไปจาก นายแห่งผู้มีความสำรวมตนทั้งหลายนั่นคือ อะลี (อ.) ช่างเป็นความสวยงามอย่างยิ่ง ถ้าหากเราต้องการเจริญรอยตามจริยธรรม และแบบอย่างที่ดีงามของท่าน สมควรเข้าใจวิถีชีวิตส่วนตัวของท่านบ้างเล็กน้อย

 

การถือกำเนิด

 

ท่านอะลี (อ.) เป็นบุตรคนเดียวของตระกูลฮาชิมี ทั้งบิดาและมารดาเป็นบุตรหลานที่มาจากตระกูลฮาชิมีด้วยกัน บิดาของท่านคือ อบูฏอลิบ บุตรของอับดุลมุฏ็อลลิบ บุตรของฮาชิม บุตรของอับดุลมะนาฟ มารดาของทานคือ ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บตรีของอะซัด บุตรของฮาชิม บุตรของอับดุลมะนาฟ

 

ตระกูลฮาชิมเป็นตระกูลที่มีเกียรติ และมีศีลธรรมจรรยาสูงส่งในหมู่กุเรช เป็นที่ยอมรับของคนเผ่าต่าง ๆ ในหมู่อาหรับด้วยกัน คุณลักษณะเด่นประการอื่นของตระกูลฮาชิมคือ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญ และมีความเมตตา และยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในเกียรติยศที่สูงส่งของตระกูลฮาชิมคือ การมีอะลี (อ.) เป็นลูกหลานของตระกูล

 

ฟาฏิมะฮฺ บุตรีของอะซัด ขณะที่นางเริ่มเจ็บครรภ์ นางเดินไปยังมัสญิดอัล-ฮะรอม เอามือเกาะผนังอัล-กะอฺบะฮฺพรางกล่าวว่า โอ้ข้าแต่พระองค์ ข้าฯศรัทธาต่อบรรดาศาสดาของพระองค์ บรรดาคัมภีร์ต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงประทานลงมา และศรัทธาต่อคำพูดของปู่ทวดของฉันอิบรอฮีม ผู้สร้างบ้านหลังนี้ [2]และด้วยสิทธิ์ของทารกน้อยที่อยู่ในครรภ์ ขอพระองค์โปรดให้ทารกน้อยนี้คลอดอย่างง่ายดายด้วยเถิด หลังจากนั้นไม่นานผนังอัล-กะอฺบะฮฺทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ได้ร้าวออก ต่อหน้าต่อตาของ อับบาซ บุตรของอับดุลมุฏ็อลลิบ และยะซีด บุตรของตะอัฟ และฟาฏิมะฮฺเดินเข้าไปในอัล-กะอฺบะฮฺทางรอยร้าวนั้น ท่านหญิงได้เป็นแขกของอัลลอฮฺอยู่ในกะอฺบะฮฺ สถานที่จำเริญที่สุดบนโลกนี้นานถึง  3 วัน และในวันที 13 เราะญับ ปีช้าง นางก็คลอดทารกน้อยออกมา[3] หลังจากนั้นบุตรีของอะซัดได้ออกมาทางเก่าที่แยกออกอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับพูดว่า[3] ฉันได้ยินเสียงกระซิบจากมิติหนึ่งว่า ให้ตั้งชื่อเด็กน้อยคนนี้ว่า อะลี

 

ในวัยเด็ก

อะลี (อ.) อยู่กับบิดามารดาจนกระทั่งอายุได้ 3 ขวบ พระเจ้าประสงค์ให้อะลีเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ ทรงมอบให้ศาสดาเป็นผู้อบรมสั่งสอนอะลีในทางอ้อม ตั้งแต่วันแรกที่ออกจากกะอฺบะฮฺ จนกระทั่งในปีหนึ่งมักกะฮฺเกิดแห้งแล้งอย่างหนัก อบูฏอลิบ ลุงของท่านศาสดาต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างหนัก เนื่องจากมีบุตรหลายคน ค่าใช้จ่ายจึงมากไปตามลำดับ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ปรึกษากับอับบาซลุงของท่าน และตกลงกันว่าให้เอาบุตรของอบูฏอลิบไปดูแลคนละคน เพื่อแบ่งเบาภาระของอบูฏอลิบ และอับบาซได้นำญะอฺฟัรไปดูแล ส่วนศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้นำอะลีไปดูแล[4]] ด้วยเหตุท่านอะลี (อ.) จึงอยู่ในการดูแลของท่านศาสดาอย่างสมบูรณ์ ท่านใกล้ชิดกับท่านศาสดาดุจเงาตามตัว ถึงขนาดที่ว่า เมื่อใดที่ท่านศาสดาออกนอกเมือง ไม่ว่าจะไปภูเขา หรือทะเลทราย จะต้องนำเอาอะลี (อ.)ไปด้วยทุกครั้ง

 

อิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงเวลาเหล่านั้นว่า แน่นอน ฉันเคยติดตามท่านศาสดาเหมือนลูกอูฐติดตามรอยเท้าของแม่ ท่านได้มอบจริยธรรธรรมทางด้านวิชาการแก่ฉันทุกวัน ท่านสั่งสอนให้ฉันเชื่อฟังปฏิบัติตาม ท่านจะขึ้นไปที่ถ้ำฮิรอทุกปี ซึ่งมีฉันเพียงคนเดียวที่เห็นท่าน ในเวลานั้นยังไม่มีผู้ใดเข้าร่วมขบวนการอิสลาม นอกเหนือจากท่านศาสดา ท่านหญิงเคาะดิญะฮฺ และฉันเท่านั้น ฉันเห็นรัศมีแห่งวะฮฺยู และฉันได้สูดดมกลิ่นหอมของสภาวะการเป็นศาสดา

 

เมื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แต่งตั้งให้ท่านมุฮัมมัดเป็นศาสนทูตมายังชาวโลกทั้งหลาย พระองค์ทรงมีบัญชาให้ท่านตักเตือนบรรดาเครือญาติชั้นใกล้ชิด ท่านสั่งให้อะลีตระเตรียมอาหารสำหรับแขกจำนวน 40 คน และสั่งให้เชิญชวนญาติของท่านมาพบกับท่าน ซึ่งในจำนวนบุคคลเหล่านั้นมีอบูฏอลิบ ฮัมซะฮฺ อับบาซ และอบูละฮับ

 

การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอะลี (อ.)

ไม่เป็นที่คลางแคลงใจว่าความใส่ใจ และการล่วงหน้าในกิจการงานย่อมเป็นความดี และความพิเศษอย่างหนึ่ง พระเจ้าทรงเชิญชวนไว้ในหลายโองการเกี่ยวกับการล่วงหน้าในกิจการงาน จงแข่งขันกันในความดี ไม่ว่าสู้เจ้าอยู่หนใด อยู่อัลลอฮฺ จะทรงนำสูเจ้ามาปรากฏทั้งหมด[5]

 

หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตแล้ว ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นบุคคลแรกที่ศรัทธาต่อท่าน และคำสอนที่ท่านนำมาเผยแผ่ ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นความประเสริฐประการหนึ่งของอะลี อิบนิอบิลฮะดีด กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พึงสังวรไว้เถิดว่าในหมู่นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักศาสนศาสตร์ฝ่าย มุอฺตะซิละฮฺ เห็นพร้องต้องกันว่า อะลี บุตรของอบูฏอลิบ เป็นบุคคลแรกที่เข้ารับอิสลาม และศรัทธาต่อท่านศาสดา

 

อะลี (อ.) เป็นคนแรกที่ช่วยเหลือศาสดา (ซ็อล ฯ)

หลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รับการแต่งตั้งแล้ว พระเจ้าทรงมีบัญชาให้ท่านเผยแผ่อย่างลับ ๆ เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นทรงมีบัญชาให้ประกาศเชิญชวนสังคมทั่วไป ในการดำเนินการทั้งหมดท่านศาสดาได้มอบหมายให้อะลี เป็นผู้ดำเนินการเชิญชวนสมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่ และมีเพียงท่านเท่านั้นที่ร่วมเป็นร่วมตายกับท่านศาสดาในการแนะนำอิสลามให้สมาชิกครอบครัวได้รับรู้

 

ท่านอะลี (อ.) กล่าวถึงงานเลี้ยงในวันนั้นว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า โอ้ลูกหลานของอับดุลมุฏ็อลลิบเอ๋ย ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า แท้จริงฉันไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีคนหนุ่มในหมู่อาหรับคนใด นำเรื่องราวมาบอกแก่เพื่อนพ้องของเขาเหมือนกับที่ฉันนำมาบอกแก่พวกท่าน แน่นอนฉันได้นำสิ่งที่ดีงามที่มีค่าที่สุดทั้งในโาลกนี้และปรโลก มาบอกแก่พวกท่าน พระผู้อภิบาลของฉันทรงมีบัญชาแก่ฉันว่า ให้เชิญชวนพวกท่านมายังคำสอนของพระองค์ แล้วท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถามแขกที่อยู่ในงานว่า มีใครบ้างในหมู่พวกท่านที่จะช่วยเหลือฉัน ปฏิบัติภารกิจครั้งยิ่งใหญ่นี้ เพื่อเขาจะได้เป็นพี่น้อง เป็นทายาท และเป็นตัวแทนของฉันในหมู่พวกท่าน ในที่นั้นไม่มีผู้ใดตอบคำถามท่านศาสดา ผู้คนทั้งหมดต่างนิ่งเงียบ ขณะที่ฉันเป็นคนอายุน้อยที่สุดในหมู่พวกเขา ฉันลุกขึ้นและกล่าวว่า โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ ฉันจะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านในกิจการดังกล่าว ท่านศาสดากล่าวถามเช่นนั้นถึง 3 ครั้ง และทุกครั้งก็มีเพียงฉันเท่านั้นเป็นผู้ตอบรับ ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า โอ้ลูกหลานของอับดุลมุฏ็อลลิบเอ๋ย จงรู้ไว้เถิดว่า อะลีคือพี่น้องของฉัน ทายาทของฉัน และเป็นตัวแทนของฉันในหมู่พวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงเชื่อฟัง และปฏิบัติตามเขา

 

เกียรติยศอีกประการหนึ่งของท่านอะลี (อ.) คือ ท่านเป็นผู้ทำลายแผนการของบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเทียมพระเจ้า ที่คิดวางแผนลอบสังหารท่านศาสดา ด้วยความกล้าหาญสมบูรณ์ ในครั้งนั้นท่านได้นอนแทนที่ท่านศาสดา เพื่อปูทางให้ท่านศาสดาอพยพไปยังมะดีนะฮฺ

 

อะลี (อ.) หลังการอพยพ

หลังจากที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และอะลี อพยพไปยังมะดีนะฮฺเรียบร้อยแล้ว มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่จะกล่าวถึง ณ ที่นี้เป็นหนึ่งในความประเสริฐทั้งหลายของท่านอะลี (อ.)

 

1.    อะลี (อ.) คือนักต่อสู้ผู้เสียสละ และเป็นราชสีห์แห่งสนามรบ ท่านเข้าร่วมสงครามทั้งสิ้น 26 ครั้ง จากจำนวนสงครามทั้งหมด 27 ครั้ง เพียงครั้งเดียวที่ไม่ได้ร่วมคือ สงครามตะบูก เนื่องจากท่านศาสดามีคำสั่งให้ดูแลเมืองมะดีนะฮฺ สิ่งนี้ถือว่าเป็นเกียรติยศอันสูงส่ง และเป็นความประเสริฐของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

2.    อะลี (อ.) เป็นผู้จดบันทึกวะฮฺยู (อัล-กุรอาน) คัมภีร์อัล-กุรอานดั่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามีศาสตร์มากมายที่ถูกอธิบายโดยอัล-กุรอาน ทั้งประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฉันทลักษณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้เขียนจดหมายส่งไปเชิญชวนกษัตริย์และสุลต่านทั้งหลายให้เข้ารับอิสลาม ท่านเป็นผู้แบ่งแยกโองการมักกียะฮฺ และมะดะนียะฮฺออกจากกัน ดัวยเหตุนี้เอง จึงเรียกท่านว่าเป็นผู้บักทึกและเป็นนักท่องจำอัล-กุรอาน

 

ในช่วงนี้เองท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ออกคำสั่งให้ทุกคนอ่านสัญญาแสดงความเป็นพี่น้องกัน และท่านได้สัญญาเป็นพี่น้องกับท่านอะลี (อ.)  ท่านกล่าวว่า เจ้าเป็นพี่น้องของฉันทั้งโลกนี้และโลกหน้า ฉันขอสาบานด้วยนามของพระเจ้าที่ทรงแต่งตั้งฉัน..

 

ฉันได้เลือกเจ้าเป็นพี่น้องของฉัน ซึ่งเป็นพี่น้องกันทั้งโลกนี้และโลกหน้า[6]

 

อะลี (อ.) บุตรเขยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

อุมัร อบูบักร์ ได้ปรึกษากับ สะอฺด บิน มะอาซ หัวหน้าเผ่าเอาซ์ว่า ไม่มีใครมีความเหมาะสมกับฟาฏิมะฮฺเหมือนกับอะลี ฉะนั้น วันหนึ่งขณะที่อะลีกำลังตบแต่งสวนของอันซอรคนหนึ่งและให้น้ำต้นไม้อยู่นั้น ได้ปรึกษาและสนับสนุนให้อะลีไปสู่ขอฟาฏิมะฮฺ อิมามอะลี (อ.) เดินทางมายังบ้านของศาสดา (ซ็อล ฯ) เมื่อมาถึง เกียรติยศของท่านศาสดาทำให้ท่านไม่กล้ากล่าวสิ่งใดออกมา จนกระทั่งท่านศาสดาเข้าใจเจตนารมณ์ของอะลี อะลีจึงได้เอ่ยขึ้นว่า ท่านเห็นสมควรหรือไม่ที่จะยกฟาฏิมะฮฺให้แต่งงานกับฉัน

 

หลังจากท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) ตอบตกลง พิธีแต่งงานจึงได้เริ่มขึ้น อะลีจึงกลายเป็นบุตรเขยของศาสดาอย่างสมเกียรติ

 

เฆาะดิรคุม

ปีฮิจญเราะฮฺศักราชที่ 10 ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เดินทางไปฮัจญฺครั้งสุดท้าย  ท่านรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะถึงวาระสุดท้ายของอายุขัย ท่านต้องการจะวางพื้นฐานพื้นฐานภารกิจการงานต่าง ๆ ให้แก่ตัวแทนของท่าน และทายาทของท่านนั้นคือ อะลี บุตรของอบูฏอลิบ

 

ก่อนหน้านั้น บรรดาสาวกมักได้ยินท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวเสมอว่า อะลีอยู่กับสัจธรรม และสัจธรรมอยู่กับอะลี , ฉันเป็นนครแห่งความรู้และอะลีคือประตูของมัน

 

ญาบิร บิน อับดุลลอฮฺ อันซอรีย์กล่าวว่า พวกเราไม่เคยรู้ว่าผู้ใดเป็นพวกกลับกลอก เว้นแต่เมื่อพวกเขามีความโกรธเกลียดต่ออะลี

 

เนื่องจากบรรดาสาวกเคยได้ยินท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า โอ้ประชาชนทั้งหลาย ฉันขอสั่งเสียพวกท่านว่า ให้รักพี่น้องของฉันผู้เป็นบุตรของลุงของฉันคนนี้ อะลี บุตรของอบูฏอลิบ เพราะจะไม่มีใครรักเขา นอกจากผู้ศรัทธา และจะไม่มีเกลียดเขานอกจากพวกกลับกลอก

 

วันที่ 18 เดือนซุลฮิจญฺ เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เดินทางกลับจาการบำเพ็ญฮัจญฺครั้งสุดท้าย พร้อมกับบรรดามุสลิมจำนวน 100,000 กว่าคน ญิบรออีลได้นำวะฮฺยูลงมายังท่านศาสดา ให้ประกาศสาส์นให้จบสิ้น[7]

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงหยุดพัก ณ สถานที่แห่งหนึ่งกลางทะเลทรายนามว่า เฆาะดิรคุม เป็นเวลาซุฮฺริพอดี หลังจากนมาซเสร็จสิ้น ท่านขึ้นมิมบัร กล่าวเทศนาต่อบรรดามุสลิมว่า

 

โอ้ประชาชนทั้งหลาย ใกล้แล้วที่ฉันจะกลับคืนสู่พระเจ้า ซึ่งฉันได้ตอบรับแล้ว และฉันคงต้องไปจากพวกท่าน ฉันมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ พวกท่านเองก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ พวกท่านคิดอย่างไรเกี่ยวกับฉัน

 

บรรดามุสลิมทั้งหมดกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า เราขอปฏิญาณว่าท่านได้ทำหน้าที่ประกาศ และต่อสู้ดิ้นรน ท่านได้ทำหน้าที่ตักเตือนสั่งสอนอย่างสมบูรณ์แล้ว ขอให้อัลลอฮฺ โปรดประทานความดีงามตอบแทนท่านด้วย

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวต่ออีกว่า พวกท่านปฏิญาณมิใช่หรือว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ และมุฮัมมัดเป็นบ่าว และเป็นศาสนทูตของพระองค์ สวรรค์ของพระองค์เป็นสัจธรรม นรกของพระองค์เป็นสัจธรรม ความตายเป็นสัจธรรม การฟื้นคืนชีพเป็นสัจธรรม วันอวสานของโลกจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยไม่มีข้อสงสัยใด ๆ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงให้ผู้ที่อยู่ในสุสานฟื้นคืนชีพ

 

พวกเขาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ใช่ พวกเราปฏิญาณเช่นนั้นจริง

 

ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวต่ออีกว่า โอ้ อัลลอฮฺ ทรงเป็นพยานเถิด เวลานั้นท่านจับมืออะลีชูขึ้น และกล่าวว่า โอ้ประชาชนทั้งหลายแท้จริงอัลลอฮฺคือนายของฉัน และฉันคือนายของผู้ศรัทธา ฉันมีอำนาจเหนือชีวิตของพวกเขายิ่งกว่าตัวของพวกเขาเอง ดังนั้น ผู้ใดที่ฉันเป็นผู้ปกครองของเขา อะลีก็เป็นผู้ปกครองของเขาด้วย ท่านกล่าวประโยคนี้ซ้ำถึง 3 ครั้งด้วยกัน หลังจากนั้นท่านกล่าวว่า โอ้ อัลลอฮฺ โปรดเป็นผู้คุ้มครองผู้ซึ่งจงรักภักดีต่อเขา และโปรดเป็นศัตรูกับผู้ที่เป็นศัตรูกับเขา แท้จริงฉันได้ละทิ้งสิ่งสำคัญที่หนักยิ่งสองประการไว้ในหมู่พวกท่าน นั้นคือคัมภีร์แห่งอัลลอฮฺ และทายาทแห่งครอบครัวของฉัน

 

บรรดามุสลิมได้มองไปที่ท่านศาสดา ขณะชูมือของท่านอะลีผู้เป็นทายาทและเป็นตัวแทนของท่านขึ้นเหนือศีรษะ บรรดาสาวกและมุสลิมทั้งหลาย ต่างเข้าไปแสดงความยินดี และให้สัตยาบันกับท่านอะลีกันอย่างถ้วนหน้า โดยกล่าวว่า ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน โอ้ผู้ปกครองของบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหญิงและชาย

 

อะลี (อ.) หลังการสิ้นชีพท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จากไปเหตุการณ์ได้ผันแปรเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ บนเงื่อนไขที่ไมเคยคาดคิดกันมาก่อน ฟาฏิมะฮฺ (อ.) บุตรีสุดที่รักยิ่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ถูกกลั่นแกล้ง และถูกทำร้ายจิตใจจนกระทั่งเสียชีวิตในระยะอันสั้นหลังจากการจากไปของท่านศาสดาเพียง 75 วันเท่านั้น ท่านอะลี (อ.) ถูกกีดกันออกจากสังคมการเมืองและศาสนา ท่านต้องเก็บตัวอยู่ภายในบ้านนานถึง 25 ปีเต็ม ท่านไม่ได้เข้าร่วมสงคราม ไม่ได้กล่าวเทศนาต่อประชาชนอย่างเป็นทางการ ดาบของท่านไม่ได้ถูกชักออกจากฝัก ท่านได้แต่อบรมสั่งสอนส่วนตัวแก่สาวกบางท่าน

 

สิ่งที่ท่านอิมามได้กระทำในช่วงเวลาดังกล่าวคือ

 

1.      แสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้าในเกียรติวศของท่านอะลี (อ.)

 

2.      อธิบายอัล-กุรอาน ปัญหาศาสนา ข้อบัญญัติ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกับยุคสมัย 23 ปีของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ)

 

3.      ตอบปัญหาความคลางแคลงใจเกี่ยวศาสนา ของต่างศาสนิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รู้และนักวิชาการชาวยิวทั้งหลาย

 

4.      อธิบายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอิสลาม

 

5.      แก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับเคาะลิฟะฮฺ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จนกระทั่งอุมัรกล่าวหลายต่อหลายครั้งว่า ถ้าหากไม่มีอะลีอุมัรต้องพินาศแน่นอน

 

6.      ให้การอบรมสั่งสอนสาวกที่เฉพาะเจาะจง ทั้งด้านการปฏิบัติและจริยธรรมชั้นสูง เพื่อการพัฒนาจิตใจ

 

7.    ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้า และครอบครัวที่ปราศจากผู้นำ ถึงขั้นที่ว่าท่านลงมือทำสวนเอง และเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กกำพร้า และอุทิศในหนทางของพระเจ้า

 

เคาะลิฟะฮฺอิมามอะลี (อ.)

สมัยที่ท่านอะลี (อ.) ดำรงตำแหน่งมีสงครามใหญ่ ๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง เช่น สงครามซิฟฟีน สงครามยะมัล และสงครมนะฮฺระวาน ซึ่งแต่ละสงครามเป็นปรากฏการที่เฉพาะตัว สาเหตุหลักของสงครามคือ ความยุติธรรมของท่านอะลี กับความริษยาที่เกิดจากฝ่ายตรงข้าม

 

อะลีประกาศจุดยืนตั้งแต่วันแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งทางการเมือง  ท่านประกาศอย่างชัดเจนว่าจะสถาปนาความเสมอภาคและความเที่ยงธรรม ท่านประกาศว่าจะนำสิทธิต่าง ๆ กลับไปสู่ตำแหน่งที่ตั้งเดิมของมัน และจะให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

 

แน่นอนว่าประชาชนเคยได้รับความอยุติธรรมมาตลอดระยะเวลา 25 ปี แห่งการปกครองของบรรดาเคาะลิฟะฮฺรอชิดีน การถืออภิสิทธิ์ต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาล ที่ถูกเก็บรวบรวมอยู่กับสาวกบางส่วน และบุคคลในตระกูลอุมัยยะฮฺ ขณะที่มุสลิมส่วนใหญ่ต้องดำรงชีวิตด้วยความคับแค้น ในฐานะของผู้ด้อยโอกาส

 

คนร่ำรวยบางส่วนทีมีผลประโยชน์ และเคยมีอภิสิทธิ์ต่างเกรงกลัวต่อความยุติธรรมของอะลี (อ.)  ดังนั้น พวกเขาจึงสร้างสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อต่อต้านอำนาจทีมาในรูปแบบใหม่ พวกเขาได้จุดชนวนสงครามภายในให้เกิดขึ้น ดังนั้น สงครามยะมัล หรือสงครามอูฐที่เมืองบัซเราะฮฺจึงเป็นสงครามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในสมัยการปกครองของท่านอะลี หลังจากนั้นสงครมซิฟฟีน และสงครามนะฮฺระวาน ก็เกิดตามมา ด้วยเหตุผลดังกล่าว

 

ชะฮาดัตอิมามอะลี (อ.)

หลังจากพวกเคาะวาริจญ์ประสบความพ่ายแพ้ในสงครามนะฮฺรอวอน พวกเขาได้จัดประชุมขึ้น ซึ่งมีอิบนุมุลญิม ฮัจญาด บุตรของอับดุลลอฮฺ และอุมัร บุตรของบักร์ ตะมีมี เพื่อหารือกันในเรื่องการวางแผนการณ์สังหารท่านอิมามอะลี (อ.) มุอาวิยะฮฺ อัมร์ บุตรของ อาซ โดยตกลงให้อิบนิมุลญิม เป็นผู้ลงมือสังหารท่านอะลี (อ.) ถ้าสามารถสังหารสามคนนี้ได้มุสลิมจะได้รู้หน้าที่ของตนว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป

 

และค่ำของวันที่ 19 เดือนรอมฎอน ฮิจเราะฮฺศักราชที่ 40 อิบนิมุลญิมร่วมกับสหายอีกสองสามคน นั่งในมัสญิดกูฟะฮฺ คืนนั้นท่านอิมามอะลีเป็นแขกของบุตรสาว ท่านรู้ดีว่าเช้ามืดของวันนี้อะไรจะเกิดขึ้น ท่านบอกกับบุตรสาวถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น อุมมุกุลซูม บอกให้ท่านพาญุอฺดะฮฺ ไปมัสญิดดัวย

 

ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า เราไม่อาจหลีกหนีกฎเกณฑ์ของพระเจ้าได้ หลังจากนั้นท่านได้คาดสายรัดคล้ายเข็มขัดอย่างแน่นหนา ขณะเดินไปมัสญิดท่านรำพันอยู่ตลอดเวลาว่า เจ้าจงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับความตาย เพราะความตายจะมาพบกับท่าน เวลานั้นความตายจะครอบงำเจ้า จงอย่ากลัวและโวยวาย

 

อิบนิมุลญิมฟันลงศีรษะของท่านอิมามอย่างรุนแรง ขณะที่ท่านกำลังนั่งอยู่ในช่องมะฮฺรอบ เลือดบริสุทธิ์ของท่านไหลแดงฉานเปียกชุ่มทั่วใบหน้า และช่องมะฮฺรอบ[8] เวลานั้นท่านอุทานออกมาว่า ฉันประสบชัยชนะแล้ว โอ้ พระผู้อภิบาลแห่ง อัล-กะอฺบะฮฺ หลังจากนั้นท่านได้อ่านโองการที่ 55 บท ฏอฮาว่า จากแผ่นดินเราได้บังเกิดพวกเจ้า และ ณ แผ่นดินนั้นเราจะให้พวกเจ้ากลับคืนไป และจากแผ่นดินนั้น เราจะให้พวกเจ้ากลับออกมาอีกครั้งหนึ่ง[10]

 

ประชาชนต่างได้ยินพระสุรเสียงจากฟากฟ้าดังกึกก้องว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ รากฐานแห่งทางนำได้ถูกสังหารแล้ว บัดนี้ ผู้ที่สมรวมตนที่สุดต่อพระเจ้า ในมวลผู้สำรวมตนทั้งหลายได้ถูกสังหารแล้ว ด้วยน้ำมือของคนชั่วที่สุดในบรรดาที่ชั่วร้ายทั้งหลาย

 

ท่านอิมามอะลี (อ.) ขณะที่กำลังจะสิ้นใจท่านสั่งเสียประชาชน บุตรหลาน และคนใกล้ชิดท่านว่า ฉันขอแนะนำพวกเจ้าให้สำรวมตนที่สุด จงปฏิบัติภารกิจให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และจงคิดปรับปรุงแก้ไขในหมู่มุสลิมด้วยกัน จงอย่างลืมเด็กกำพร้า จงอย่าลืมสิทธิของเพื่อนบ้าน จงนำอัล-กุรอานเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิต จงให้เกียรตินมาซเนื่องจากเป็นเสาหลักของศาสนา

 

อิมาม (อ.) สิ้นชีวิตเมื่อวันที่ 21 เดือนรอมฎอน ขณะที่ท่านมีอายุ 63 ปี เท่ากับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านอิมามฮะซันเป็นผู้สำเร็จโทษ ฆาตกร ตามหลักการศาสนา หลังจากนั้นนำร่างบริสุทธิ์ของท่านอะลีไปฝังที่นะญัฟอัชรอฟ ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่เยี่ยมคารวะของมวลมุสลิมผู้รักใคร่และถวิลหาสัจธรรม

 

อ้างอิง

[1] อัล-กุรอานซูเราะฮฺ อัล-อะฮฺซาบ  21

[2] อ้างแล้วเล่มเดิม (บิฮารุลอันวาร เล่ม 35 หน้า 18)

[3] ออฟตอฟวิลายะฮฺ หน้า 19 (อัลเคาะรอญิอฺ วัลญะรอญิอฺ  เล่ม 1 หน้า 171 ลำดับที่ 1)

[4] ฟุรูฆวิลายะฮฺ หน้า 86

[5] อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ  168 (มุซตัดร็อก อัล ฮากิม เล่ม 3 หน้า 14 , อิซตีอาบ เล่ม 3 หน้า 35)

[6] ฟุรูฆวิลายะฮฺ หน้า 37, (ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม เล่ม 1 หน้า 136)

[7] อ้างแล้วเล่มเดิม

[8] ฟุรูฆวิลายะฮฺ หน้า 697 , บิฮารุลอันวาร คัดลอกมาจาก อัลมาลี เล่ม 9 หน้า 650

 

ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์


source : alhassanain
0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

...
ทำไมอิสลามห้ามดื่มสุรา
บทเรียนจากตัฟซีรเนะฮ์มูเนะฮ์ ...
อิมามฮะซัน อัสการีย์(อ) ...
อิมามอะลี ...
"ฝน"ในอัลกุรอาน
ชีวประวัติท่านฮัมซะฮ์ บิน ...
หลักปฏิบัติในอิสลาม ...
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม
ความพอเพียงในอิสลาม

 
user comment