ความพอเพียงในอิสลาม
หนึ่งในคุณธรรมอันดีงามนั่นคือความพอเพียง (กอนาอะฮ์) ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความสงบมั่น คำว่า “กอนาอะฮ์” ในทางภาษาหมายถึง ความพอเพียงด้วยจำนวนที่เล็กน้อยต่อสิ่งต่างๆ ทางโลก (วัตถุ) อันเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นต่อมนุษย์ (1)
ในสำนวนทางจริยศาสตร์นั้น คือ คุณลักษณะทางด้านจิตใจ (มะละกะฮ์) ที่ทำให้เกิดความพึงพอใจต่อทรัพย์สินในจำนวนน้อยเท่าที่มีความจำเป็น โดยปราศจากการขวนขวายและความทุกข์กังวลที่จะให้ได้มามากกว่าจำนวนที่มีความจำเป็นต่อมัน (2)
โดยสัญชาติญาณทางธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนมีความต้องการความสงบสุขและความสะดวกสบาย และหนึ่งในสิ่งที่จะทำให้บรรลุในเรื่องนี้คือคุณลักษณะทางด้านจริยธรรมอันได้แก่ความพอเพียง (กอนาอะฮ์) ความรู้สึกพอเพียงในสิ่งที่ตนเองได้รับนั้น จะทำให้เขาสัมผัสกับความหวานชื่นของความพึงพอใจ และจะไม่รู้สึกถึงความโลภหลง ความหื่นกระหายและความอยากได้มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงถือว่า ความพอเพียงนั้นก็คือความสุขสบายนั่นเอง โดยที่ท่านกล่าวว่า
القناعة راحة
“ความพอเพียงคือความสุขสบาย” (3)
ท่านอมีรุลมุอ์มินีน (อ.) ถือว่าความสุขสบายเป็นผลมาจากความรู้สึกพอเพียง โดยท่านกล่าวว่า
ثمرة القناعة الراحة
“ผลของความพอเพียงนั่นคือความสุขสบาย” (4)
เช่นเดียวกันนี้ท่านยังได้กล่าวอีกว่า
حرم الحريص القناعة، فافتقد الراحة
“ผู้ที่โลภหลงนั้นถูกหักห้ามจากความพอเพียง ดังนั้นเขาจึงไร้ซึ่งความสุขสบาย” (5)
อย่างไรก็ดี ประเด็นของความพอเพียง (กอนาอะฮ์) นั้นเกี่ยวข้องกับทัศนะคติและมุมมองของเราที่มีต่อโลกนี้ ผู้ใดก็ตามที่มองโลกนี้ในฐานะของสื่อ (วะซีละฮ์) สำหรับการพัฒนาตนไปสู่ความสมบูรณ์ โดยมิได้มองมันในฐานะเป้าหมาย (ฮะดัฟ) แล้ว เขาย่อมจะไม่โลภหลงและหื่นกระหายต่อมัน ตรงข้ามกับผู้ที่โลกนี้กลายเป็นเป้าหมายสำหรับพวกเขา โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปรโลก ในกรณีเช่นนี้พวกเขาจะมีความโลภหลงและไม่รู้จักความพอเพียง และตลอดเวลาพวกเขาจะมีแต่ความวิตกกังวลและไร้ซึ่งความสงบสุข ดังนั้นจิตวิญญาณแห่งความพอเพียงจะทำให้มนุษย์ไม่ยึดติดมากจนเกินควร อันจะทำให้โลกกลายเป็นเป้าหมายในชีวิตของตน
ในความเป็นจริงแล้วปัจจัยต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่มนุษย์นั้น บางครั้งอาจอยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและการเกิดแผ่นดินไหว... และบางครั้งอยู่ในอำนาจการควบคุมของมนุษย์ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องรับรู้ถึงปัจจัยในการควบคุมมันและทำให้เกิดความสงบมั่นโดยสื่อดังกล่าว
มนุษย์ที่ปราศจากความสงบสุขเนื่องมาจากความละโมบและความลุ่มหลงโลกนั้น ด้วยกับความพอเพียง (กอนาอะฮ์) เขาสามารถจะควบคุมความวิตกกังวลของตนเองและทำให้ตนเองเกิดความสงบสุขได้ และจะไปถึงยังชีวิตที่สงบมั่นที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์อัลกุรอานและคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ มีผู้ถามท่านอิมามอะลี (อ.) เกี่ยวกับพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งที่ว่า
فَلَنُحْيِيَنَّهُ حَيَاة طَيِّبَة
“ดังนั้นเราจะทำให้เขามีชีวิตที่ดี”
(อัลกุรอานบทอันนะฮ์ลุ โองการที่ 97)
ท่านกล่าวตอบว่า
هي القناعة
“มันคือความพอเพียง” (6)
เมื่อพิจารณาถึงกรณีที่ว่า คนที่โลภหลงในทรัพย์สินเงินทองจะไม่รู้สึกถึงความพอเพียงต่อมัน ดังนั้นเขาจึงไม่อาจพบกับความสงบมั่นอย่างแน่นอน
ชายผู้หนึ่งได้ร้องทุกข์ต่อท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า “ข้าพเจ้าได้แสวงหาปัจจัยดำรงชีพอย่างต่อเนื่องและได้รับมาในสิ่งต่างๆ ที่ตนเองต้องการ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่รู้สึกพอใจ และตลอดเวลาความละโมบและความโลภหลงกลับเพิ่มมากขึ้นในตัวข้าพเจ้า” จากนั้นเขาขอให้ท่านอิมาม (อ.) ช่วยแนะนำแก่เขา ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า “หากท่านสามารถสร้างความพึงพอใจกับทรัพย์สมบัติจำนวนน้อยที่ทำให้ชีวิตของท่านดำรงอยู่ได้ และทำให้ตัวเองรู้สึกพอเพียงต่อมันได้แล้ว แน่นอนท่านก็จะรู้สึกไร้ความต้องการจากโลกทั้งมวล หากมิฉะนั้นแล้วแม้โลกทั้งมวลนี้จะถูกมอบให้แก่ท่าน ท่านก็จะไม่รู้สึกพอเพียงจากมันได้เลย” (7)
เชิงอรรถ :
[1] อัลมุฟรอดาต, รอฆิบ อิสฟะฮานี, หน้าที่ 685
[2] ญามิอุซซะอาดาต, อันนะรอกี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 102
[3] บิฮารุ้ลอันวาร, มุฮัมมัด บากิร อัลมัจญ์ลิซี, เล่มที่ 74, หน้าที่ 185
[4] ชัรห์ นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, อิบนุอะบิลฮะดีด, เล่มที่ 20, หน้าที่ 296
[5] บิฮารุ้ลอันวาร, มุฮัมมัด บากิร อัลมัจญ์ลิซี, เล่มที่ 68, หน้าที่ 348
[6] ฆุร่อรัลฮิกัมม, อามิดี, หน้าที่ 393
[7] อุซูลุลกาฟี, กุลัยนี, เล่มที่ 3, หน้าที่ 902, แปลภาษาเปอร์เซียโดย ซัยยิดญะวาด มุศฏอฟะวี
แปลและเรียบเรียง : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ