สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นเพียงเงื่อนไขบางส่วนที่จำเป็นต้องรับรู้ มิใช่เงื่อนไขทั้งหมดของการถือศีลอด
การถือศีลอดคือ การละเว้นการกิน การดื่มตั้งแต่ก่อนอะซานศุบฮฺจนถึงอะซานมัฆริบ
เงื่อนไขที่ศีลอดเป็นวาญิบ
๑.ต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ (เด็กผู้ชายต้องมีอายุ ๑๕ ปีบริบูรณ์หรือมีสัญลักษณ์อื่นๆ ส่วนเด็กผู้หญิงต้องมีอายุครบเก้าปีบริบูรณ์)
๒. ต้องมีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์
ศีลอดจึงไม่เป็นข้อบังคับสำหรับคนที่วิกลจริต แม้ว่าอาการวิกลจริตจะเกิดขึ้นชั่วขณะหนึ่งในเวลากลางวันก็ตาม
๓. ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไกล
หมายถึงบุคคลที่มีสถานที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและต้องพักอยู่ ณ สถานที่ของตนไม่น้อยกว่าสิบวัน ดังนั้นผู้ที่เดินทางไกล หรือพำนักอยู่ ณ ที่หนึ่งที่ใดไม่เกินสิบวันเขาจึงไม่สามารถถือศีลอดได้ และนมาซของเขาต้องทำแบบย่อ (นมาซสี่ร่อกะอัตให้ทำแค่สองร่อกะอัต)
แต่กรณีที่จำเป็นต้องเดินทางไกล เขาสามารถเดินทางได้หลังจากอะซานซุฮฺร์ ถือว่าศีลอดไม่เสีย และถ้าเขาสามารถเดินทางกลับมาถึงที่พักของตนได้ก่อนอะซานซุฮฺร์ของวันใหม่เขาสามารถถือศีลอดต่อได้ (กรณีที่ยังไม่ได้กระทำในสิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ศีลอดเสีย)
๔.ต้องไม่เมาหรือหมดสติ
๕.ต้องไม่ใช่ผู้เจ็บป่วย
เพราะการถือศีลอดอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพกรณีที่ไม่สบาย
๖.ต้องไม่มีรอบเดือนหรือมีเลือดหลังจากการคลอดบุตร
ดังนั้น บุคคลใดก็ตามที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กล่าว่าเป็นวาญิบสำหรับเขาต้องถือศีลอด
เงื่อนไขที่ถูกต้องของศีลอด
เงื่อนไขที่ถูกต้องหมายถึง การถือศีลอดของบุคคลที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ถือว่าถูกต้องตามศาสนบัญญัติ
๑.ต้องไม่ใช่คนวิกลจริต
๒.ต้องไม่อยู่ในสภาพที่หมดสติหรือมึนเมา
๓.ต้องไม่เจ็บป่วย
๔.ต้องไม่เป็นผู้เดินทางไกล
๕.ต้องสะอาดปราศจากรอบเดือนหรือเลือดหลังการคลอดบุตร
๖.ต้องไม่อยู่ในสภาพมีญุนูบ (หลังจากอสุจิได้เคลื่อนออกมาแล้วยังไม่ได้อาบน้ำตามศาสนบัญญัติ
๗.ต้องมีอายุถึงวัยบาลิฆ (บรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ)
๘.ต้องเป็นผู้ศรัทธา (มุอ์มิน)
สิ่งที่เป็นสาเหตุทำให้ศีลอดเสีย
หมายถึง ผู้ถือศีลอดคนใดคนหนึ่งได้กระทำในสิ่งดังต่อไปนี้ถือว่า ศีลอดของเขาเสียทันที่ และจะต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนร่อมะฎอนได้ผ่านพ้นไปแล้ว สิ่งที่ทำให้ศีลอดเสียมี ๑๐ ประการดังต่อไปนี้
๑-๒. ตั้งใจกินและดื่ม ไม่ว่าจะมีปริมาณมากหรือน้อยก็ตาม
๓.การร่วมประเวณี ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
๔. เจตนากล่าวเท็จที่พาดพิงไปยังอัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) บรรดาอิมามมะอฺซูม (อ.) รวมไปถึงท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ (อ.) และบรรดาศาสดาทั้งหลาย เช่นกล่าวว่า
อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า..ซึ่งไม่มีอยู่ในอัล-กุรอาน..หรือกล่าวว่า ท่านศาสดา หรือบรรดาอิมามมะอฺซูมสั่งให้ทำ...ซึ่งไม่มีอยู่จริงและไม่มีหลักฐานยืนยันคำพูดนั้น
๕. ตั้งใจดำน้ำโดยให้ศีรษะทั้งหมดอยู่ใต้น้ำ
๖.ตั้งใจให้ฝุ่นละออง หรือควัน หรือไอน้ำที่มีจำนวนมากเข้าไปในลำคอ
๗. ตั้งใจคงสภาพการมีญูนุบ (หมายถึงภายหลังจากได้ร่วมหลับนอนกับภรรยา หรือหลังจากที่อสุจิได้เคลื่อนออกมาแล้วยังไม่ได้อาบน้ำตามศาสนบัญญัติ) หรือแม้แต่จะไม่ตั้งใจคงสภาพดังกล่าวแต่เป็นเพราะหลงลืมถือว่าศีลอดเสียและต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง
๘. การสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง (อิสติมนาอ์) อันเป็นสาเหตุให้อสุจิเคลื่อนออกมา และการสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองของหญิง
๙. การสวนทวารด้วยของเหลวทุกชนิด
๑๐. การตั้งใจอาเจียน
บางประเด็นเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้ศีลอดเสีย
๑.ไม่อนุญาตให้กลืนเศษอาหารที่ติดอยู่ตามซอกฟัน ถ้าหากกลืนลงไปเป็นสาเหตุทำให้ศีลอดเสีย
๒.อนุญาตให้บ้วนปาก ล้างจมูก และชิมอาหารได้แต่จะต้องไม่ลงไปถึงลำคอ
๓.อนุญาตให้กลืนน้ำลายที่ไม่มีเศษอาหาร หรือน้ำลายที่ยังไม่ได้กระทบกับสิ่งอื่นภายนอกปาก
๔.อนุญาตให้ฉีดยา (ต้องไม่ใช่วิตตามิน หรือยาบำรุงที่ทำให้รู้สึกอิ่ม) ยอดยาที่ตาหรือหู
๕.ถ้าลืมไปว่าถือศีลอด และเขาได้กินหรือดื่มถือว่าศีลอดไม่เสียแต่ถ้านึกได้เมื่อใดต้องคายอาหารและเครื่องดื่มนั้นทันที
๖.ไม่อนุญาตให้หลับนอนกับภรรยาในเวลากลางคืน ถ้าหากรู้ว่ามีเวลาไม่พอสำหรับการทำฆุสลฺญินาบะฮฺหรือทำตะยัมมุม
๗.ถ้าอสุจิได้เคลื่อนออกมา และไม่สามารถอาบน้ำญินาบะฮฺก่อนอะซานศุบฮฺได้ ดังนั้นเป็นวาญิบให้ทำตะยัมมุมแทนการอาบน้ำฆุซุล
๘.กรณีที่หญิงหมดรอบเดือนหรือเลือดหลังการคลอดบุตรก่อนอะซานศุบฮฺ จำเป็นต้องรีบทำฆุสลฺ ถ้าหากเธอปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งถึงเวลาอะซาน กฎของเธอเหมือนกับผู้ที่ตั้งใจคงสภาพญินาบะฮฺจนถึงอะซานศุบฮฺ ศีลอดของเธอเสียและต้องถือศีลอดชดใช้ภายหลัง
๙.ถ้าตั้งใจละศีลอดในตอนกลางวัน ถือว่าศีลอดเสียและเขาต้องถืออด (อิมซาก) ไปจนถึงช่วงพระอาทิตย์ตกดิน
บุคคลที่ศีลอดไม่เป็นวาญิบสำหรับเขา
บุคคลที่ศีลอดไม่เป็นวาญิบสำหรับเขา แต่ต้องมีการปฏิบัติอย่างอื่นเพื่อเป็นการชดเชยได้แก่
๑.ชายและหญิงชรา
ถ้าหากทั้งสองไม่สามารถถือศีลอดได้ เนื่องจากความยากลำบาก หรืออาจมีอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น ให้ทั้งสองจ่ายศ่อดะเกาะฮฺทดแทนทุกวันที่ไม่ได้ถือศีลอด เป็นอาหารจำนวน ๓ กิโลกรัม
๒.หญิงที่มีรอบเดือนหรือเลือดหลังการคลอดบุตร
ให้เธอละศีลอดขณะที่เธอได้เห็นเลือด แม้ว่าจะก่อนอะซานมัฆริบเพียงเล็กน้อยก็ตาม และให้ถือศีลอดชดใช้ภายหลังจากเดือนร่อมะฎอนตามจำนวนวันที่ได้ขาดไป
๓.บุคคลที่มีความกระหายอย่างรุนแรง
หมายถึงบุคคลที่กระหายน้ำอย่างรุนแรง และการถือศีลอดเป็นความลำบากอย่างยิ่งสำหรับเขา หรืออาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ดังนั้น ให้เขาบริจาคอาหารจำนวน ๓ กิโลกรัม และต้องถือศีลอดชดใช้ ถ้าหากเขามีความสามารถในภายหลัง
๔.หญิงตั้งครรภ์
การถือศีลอดอาจมีผลกระทบหรือเป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์หรือต่อตัวเธอเอง อนุญาตให้เธอไม่ต้องถือศีลอดได้ แต่ต้องชดใช้ภายหลัง และต้องบริจาคอาหารจำนวน ๓ กิโลกรัมทุกวันตามจำนวนวันที่ขาด
๕.แม่ลูกอ่อนที่มีน้ำนมน้อย
ถ้าหากเธอเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อทารก หรือต่อตัวเธออนุญาตให้เธอไม่ต้องถือศีลอดในช่วงนั้น แต่ต้องถือศีลอดชดใช้ในภายหลังและต้องจ่ายอาหารจำนวน ๓ กิโลกรัม
ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์ ภาคภาษาไทย
source : alhassanain