ไทยแลนด์
Saturday 23rd of November 2024
0
نفر 0

ทำไมมนุษย์จึงกลัวความตาย

ทำไมมนุษย์จึงกลัวความตาย

ทำไมมนุษย์จึงกลัวความตาย


มนุษย์เราต่างดำเนินชีวิตอยู่บนโลกนี้เพียงแค่ช่วงระยะเวลาที่แสนสั้น (70-80 ปี โดยเฉลี่ย) จากนั้นเขาจะต้องตาย ไม่มีมนุษย์คนใดสามารถหลีกหนีจากความตายไปได้ อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า :


كُلُّ نَفْسٍ ذائِقَةُ الْمَوْتِ


“ทุกๆชีวิตจะต้องได้ลิ้มรสความตาย” (1)

 

إِنَّ الْمَوْتَ الَّذِي تَفِرُّونَ مِنْهُ فَإِنَّهُ مُلَاقِيكُمْ

 

“แท้จริงความตายที่พวกท่านหลบหนีนั้น มันจะมาพบกับพวกเจ้าอย่างแน่นอน” (2)

 

ความตาย คืออะไร?


     การตายของมนุษย์มิใช่เป็นการสูญสลายหรือดับสูญ แต่มันคือการเคลื่อนย้ายสถานที่จากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง วิญญาณ (รูห์) ของมนุษย์ได้อาศัยอยู่ในเรือนร่างแห่งวัตถุนี้เพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง และภายหลังจากความตาย วิญญาณดังกล่าวก็ยังคงสภาพอยู่โดยไม่สูญสลายไปแต่อย่างใด ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์(ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

مَا خُلِقْتُمْ لِلْفَنَاءِ بَلْ خُلِقْتُمْ لِلْبَقَاءِ وَ إِنَّمَا تُنْقَلُونَ مِنْ دَارٍ إِلَى دَار

 

“พวกท่านทั้งหลายมิได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการดับสูญ แต่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการคงอยู่ และแท้จริงพวกท่านทั้งหลายจะถูกเคลื่อนย้ายจากที่พำนักหนึ่งไปสู่อีกที่พำนักหนึ่ง” (3)
     ในฮะดีษ (วจนะ) อีกบทหนึ่ง ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :

 

أنَّ الدُنْيا سِجْنُ المُؤْمِنِ وَجَنَّةُ الكَافِرِ. وَالْمَوْتُ جِسْرُ هَؤُلاءِ إِلى جَنّاتِهِمْ، وَجِسْرُ هَؤُلاءِ إَلى جَحيمِهِمْ

 

“แท้จริงดุนยา (โลกนี้) คือคุกของผู้ศรัทธาและเป็นสวรรค์ของผู้ปฏิเสธศรัทธา และความตายนั้นเปรียบประดุจดังสะพานของพวกเขาเหล่านี้ (ผู้ศรัทธา) ที่ทอดไปสู่สวรรค์ของพวกเขา และสะพานของพวกเหล่านั้น (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) ที่ทอดไปสู่นรกของพวกเขา” (4)

 

     ฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ได้เปรียบเทียบความตายว่า เป็นเสมือนดังสะพานที่ทอดสำหรับการข้ามผ่านจากดุนยา (โลกนี้) ไปสู่อาคิเราะห์ (โลกหน้า)

 

     ท่านอิมามฮุเซน(อ.) ก็เช่นเดียวกัน ในวันอาชูรอ ขณะที่การสู้รบได้รุนแรงอย่างหนัก ท่านได้อธิบายให้เหล่าสาวกของท่านได้รับรู้ถึงเนื้อแท้ (ฮะกีกัต) ของความตายว่า มันคือ “สะพาน” ที่บรรดามิตรของท่านจะข้ามผ่านไป และเคลื่อนย้ายไปสู่สรวงสวรรค์ ส่วนบรรดาเหล่าศัตรูจะข้ามผ่านไปเพื่อเข้าสู่ไฟนรกและการลงโทษอันแสนเจ็บปวดของอัลลอฮ์ โดยท่านกล่าวว่า :

 

صَبْراً بني الكِرامِ، فَما المَوْتُ إِلا قَنْطَرَةٌ تَعْبُرُ بِكُمُ عن البُؤْسِ والضُرِّ إلى الجنانِ الواسعةِ والنِعَم الدائِمة، فأيُّكُمْ يَكْرَهُ أَنْ يَنْتَقِلَ مِنْ سِجْنٍ إِلى قَصْرٍ، وَهؤلاءِ أَعْدَاؤُكُمْ كَمَنْ يَنْتَقِلُ مِنْ قَصْرٍ إِلى سِجْنٍ وَعَذابٍ أَليمٍ

 

“จงอดทนเถิด โอ้ ปวงผู้มีเกียรติทั้งหลาย ความตายนั้นมิใช่สิ่งอื่นใด นอกจากประดุจดังสะพานที่จะนำพวกท่านข้ามผ่านจากความลำบากและความทุกข์ยาก ไปสู่สวรรค์อันกว้างใหญ่และความบรมสุขอันเป็นนิรันดร บุคคลใดจากพวกท่านรังเกียจกระนั้นหรือที่จะเคลื่อนย้ายจากคุกไปสู่ปราสาท และความตายสำหรับบรรดาศัตรูของพวกท่านนั้น มิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากประหนึ่งดังบุคคลที่เคลื่อนย้ายจากปราสาทไปสู่คุกและการลงโทษอันแสนเจ็บปวด” (5)

 

ทำไมเราจึงกลัวความตาย?


      ในเมื่อความตายนั้นมิใช่การดับสูญ แต่เป็นการเคลื่อนย้ายสถานที่พำนักจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง ดังนั้นทำไมเราจึงต้องกลัวความตาย ต่างพยายามหลีกหนีจากความตายและไม่อยากให้วันนั้นมาถึง สาเหตุและต้นกำเนิดของความกลัวดังกล่าวคืออะไร?


      หากเราได้พิจารณาดูโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอาน และริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากบรรดามะฮ์ซูม (อ.) เราจะพบว่าสาเหตุของการกลัวความตายนั้นมีหลายประการ ซึ่งสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้


1.ความรักและความลุ่มหลงในดุนยา (โลกนี้)

 

     อัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ตรัสว่า :

 

زُيِّنَ لِلنَّاسِ حُبُّ الشَّهَوَاتِ مِنْ النِّسَاءِ وَالْبَنِينَ وَالْقَنَاطِيرِ الْمُقَنْطَرَةِ مِنْ الذَّهَبِ وَالْفِضَّةِ وَالْخَيْلِ الْمُسَوَّمَةِ وَالْأَنْعَامِ وَالْحَرْثِ ذَلِكَ مَتَاعُ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا وَاللَّهُ عِنْدَهُ حُسْنُ الْمَآبِ

 

“ความลุ่มหลงในความใคร่ต่างๆ อันได้แก่บรรดาสตรี ลูกๆ และบรรดาทรัพย์สมบัติอันก่ายกองจากทองคำ เงิน ม้าฝีเท้าจัด ปศุสัตว์และไร่สวน ได้ถูกประดับประดาสำหรับมวลมนุษย์ นั่นเป็นสิ่งอำนวยสุขชั่วคราวของชีวิตทางโลกนี้ แต่ ณ ที่อัลลอฮ์นั้นคือสถานที่กลับคืนที่งดงามยิ่ง” (6)

 

     สำหรับผู้ที่หมกมุ่นอยู่กับสิ่งต่างๆเหล่านี้ ย่อมไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความตาย และเขามองเห็นว่าความตายเป็นตัวทำลายความสุขของเขาและตัดความสัมพันธ์ของเขาจากสิ่งต่างๆ ที่พวกเขารักใคร่ผูกพันลงอย่างสิ้นเชิง


     ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า มีชายคนหนึ่งมาถามท่านอะบูซัรว่า  :

 

 يَا أَبَا ذَرٍّ مَا لَنَا نَكْرَهُ الْمَوْتَ
 

"โอ้อบูซัร อะไรหรือที่ทำให้เรารังเกียจความตาย?"

 

لِأَنَّكُمْ عَمَرْتُمُ الدُّنْيَا وَ أَخْرَبْتُمُ الْآخِرَةَ ، فَتَكْرَهُونَ أَنْ تُنْقَلُوا مِنْ عُمْرَانٍ إِلَى خَرَابٍ

 

"เพราะพวกท่านทำนุบำรุงโลกนี้ของพวกท่าน และในขณะเดียวกันพวกท่านได้ทำลายปรโลกของพวกท่าน  ดังนั้นพวกท่านจึงรังเกียจที่จะย้ายจากที่พำนักที่มีความเจริญไปสู่ที่พำนักที่เป็นซากปรักหักพัง" (7)

 

     ศาสนาอิสลามถือว่าโลกนี้คือทางผ่าน หรือเป็นเพียงสถานที่ที่มนุษย์จะขวนขวายความดี และเตรียมเสบียงเพื่อมุ่งหน้า สู่โลกอันเป็นนิรันดรแห่งอาคิเราะฮ์ (ปรโลก) คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :

 

وَلَدَارُ الْآخِرَةِ خَيْرٌ لِّلَّذِينَ اتَّقَوْا ۗ أَفَلَا تَعْقِلُونَ
 

“ขอยืนยัน สถานที่พำนักแห่งโลกนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดีเลิศสำหรับบรรดาผู้ยำเกรง และพวกเจ้าไม่ใช้สติปัญญาไตร่ตรองดอกหรือ?”(8)

 

      ดังนั้นสำหรับมุสลิมผู้ศรัทธานั้นจำเป็นต้องละทิ้งดุนยาอันไม่จีรังยั่งยืนนี้ การละทิ้งดังกล่าวไม่ใช่เหมือนกับการละทิ้งสิ่งของต่างๆ ที่ไร้ประโยชน์ แต่เป็นการละทิ้งจากการยึดติดและการมีหัวใจผูกพันต่อมัน อันจะเป็นเหตุทำให้เราต้องหลงลืมพระเจ้าและชีวิตในปรโลก


2.ความเข้าใจผิดพลาดที่ว่าความตายนั้นคือ การดับสูญและการพินาศ

 

     ในขณะที่ฟิตเราะฮ์ (สัญชาตญาณ) ของมนุษย์นั้น มีความรักและความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ต่อไปเป็นนิจนิรันดร ดังนั้นมนุษย์จึงไม่อยากตายและหวาดกลัวความตาย แต่ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ความตาย” นั้นที่แท้จริงมันคือการเคลื่อนย้ายจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ใช่การดับสูญหรือความพินาศแต่อย่างใด


3.การทำบาปอย่างมากมาย และความกลัวการลงโทษเนื่องจากการกระทำบาปเหล่านั้น

 

     เมื่อเรารู้ดีว่าเราไม่อาจหลีกหนีจากความตายได้ ดังนั้นจำเป็นที่เราทุกคนจะต้องเตรียมพร้อมตนเองสำหรับการเผชิญหน้ากับความตาย เราจะต้องตระเตรียมเสบียงให้พร้อมสำหรับการมุ่งหน้าไปสู่ชีวิตในโลกใหม่ ด้วยการสร้างความดีงามและการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของศาสนาอย่างครบถ้วน

 

     มีผู้หนึ่งถามท่านศาสนทูตของงอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า :

 

أَىُّ الْمُؤْمِنِينَ أَكْيَسُ

“ใครคือผู้ศรัทธาที่ฉลาดที่สุด?”

 

     ท่านตอบว่า

 

أَكْثَرُهُمْ ذِكْرًا لِلْمَوْتِ ، وَأَشَدُّهُمُ اسْتِعْدَادًا لَهُ

 

“บุคคลที่รำลึกถึงความตายมากที่สุดและเตรียมพร้อมตนเองอย่างเข้มงวดที่สุดสำหรับความตายในหมู่พวกเขา” (9)

 

     มีผู้หนึ่งถามท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า :

 

مَا الِاسْتِعْدَادُ لِلْمَوْتِ

 

“อะไรคือการเตรียมพร้อมตนสำหรับความตาย?”

 

     ท่านตอบว่า :

 

أَدَاءُ الْفَرَائِضِ وَ اجْتِنَابُ الْمَحَارِمِ وَ الِاشْتِمَالُ عَلَى الْمَكَارِمِ ثُمَّ لَا يُبَالِي أَنْ وَقَعَ عَلَى الْمَوْتِ أَوِ الْمَوْتُ وَقَعَ عَلَيْهِ وَ اللَّهِ لَا يُبَالِي ابْنُ أَبِي طَالِبٍ أَنْ وَقَعَ عَلَى الْمَوْتِ أَوِ الْمَوْتُ وَقَعَ عَلَيْهِ

 

“คือการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ที่ถูกกำหนด การหลีกห่างจากบรรดาสิ่งต้องห้าม และการประคับประคองตนด้วยจริยธรรมอันสูงส่ง จากนั้นเขาจะไม่ใส่ใจว่าเขาจะถูกนำไปเผชิญกับความตาย หรือว่าความตายจะมาประสบกับเขา” (10)

 

      ด้วยเหตุนี้จำเป็นที่เราทุกคนจะต้องตรวจสอบตนเองว่าวันนี้เราได้เตรียมพร้อมสำหรับการกลับไปพบอัลลฮ์แล้วหรือยัง? เราหลีกห่างจากสิ่งที่ต้องห้ามทั้งหลาย (มะฮะริม) แล้วหรือยัง? เราปฏิบัติตนอยู่ในความดีงามและการงานที่มีเกียรติทั้งหลาย (มะการิม) มากน้อยเพียงใด?

 

      คัมภีร์อัลกุรอานได้เตือนเราให้คอยตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมสำหรับการกลับคืนไปสู่พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง โดยกล่าวว่า :

 

يَاأَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَلْتَنْظُرْ نَفْسٌ مَا قَدَّمَتْ لِغَدٍ وَاتَّقُوا اللَّهَ إِنَّ اللَّهَ خَبِيرٌ بِمَا تَعْمَلُونَ

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด และแต่ละชีวิตจงพินิจดูในสิ่งที่ได้กระทำล่วงหน้าไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ (หมายถึงวันโลกหน้า) และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงตระหนักยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้าประพฤติ” (11)

 

      คุณลักษณะประการหนึ่งของผู้ศรัทธานั้น คือการตรวจสอบตนเองอยู่เป็นนิจ พร้อมกันนั้นเขาจะต้องพัฒนาตนเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่าและสู่ความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในทุกๆ วัน ท่านศาสนทูตของอัลลฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

 

حَاسِبُوا أَنْفُسَكُمْ قَبْلَ أَنْ تُحَاسَبُوا وَ زِنُوهَا قَبْلَ أَنْ تُوزَنُوا وَ تَجَهَّزُوا لِلْعَرْضِ الْأَكْبَر

 

“ท่านทั้งหลายจงตรวจสอบตนเองก่อนที่ท่านจะถูกตรวจสอบ และจงชั่งตนเองก่อนที่ท่านจะถูกนำไปชั่ง และจงเตรียมตนให้พร้อมสำหรับอุบัติการณ์อันยิ่งใหญ่ (หมายถึงวันกิยามะฮ์)" (12)

 

       ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า :

 

لَیسَ مِنّا مَن لَم یُحاسِبْ نَفسَهُ فی کُلِّ یَومٍ فَإنْ عَمِلَ حَسَناً استَزادَ اللهَ و إنْ عَمِلَ سیّئاً اسْتَغفَرَ اللهَ مِنهُ و تابَ اِلَیهِ

 

“มิใช่ส่วนหนึ่งจากเรา บุคคลที่มิได้ตรวจสอบตนเองในทุกๆ วัน ดังนั้นหากเขาได้ประพฤติดี เขาก็จะขอให้อัลลอฮ์ทรงเพิ่มพูนความดีนั้น และจะสรรเสริญขอบคุณพระองค์ แต่ถ้าหากเขาได้ประพฤติชั่ว เขาก็จะขออภัยโทษและสารภาพผิดต่อพระองค์” (13)

 

       หากเราทุกคนสามารถปฏิบัติตนได้เช่นนี้อย่างสมบูรณ์ แน่นอนยิ่งว่าความตายนั้นย่อมจะเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับเขา และไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวใดๆ สำหรับเขายิ่งไปกว่านั้นเขาจะกลายเป็นผู้ที่ถวิลหาความตาย เพราะสำหรับผู้ศรัทธาที่แท้จริงแล้ว ความตายคือสะพานที่จะนำพาเขาไปพบกับชีวิตใหม่ที่ดีกว่า เป็นชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความผาสุกไพบูลย์และเป็นชีวิตที่นิรันดร

 

เชิงอรรถ :

 

1).อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 185

2).อัลกุรอานบทอันนิซาอ์ โองการที่ 78

3).บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 6 , หน้าที่ 249

4).บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 44 , หน้าที่ 297

5).บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 44 , หน้าที่ 297

6).อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 14

7).อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 458

8).อัลกุรอานบทยูซุฟ โองการที่ 109

9).บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 6 , หน้าที่ 126

10).อุยูนุลอัคบาร อัรริฎอ , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 297

11).อัลกุรอานบทอัลฮัชร์ โองการที่ 18

12).วะซาอิลุชชีอะฮ์ , เล่มที่ 16 , หน้าที่ 99

13).อุซูลุลกาฟี , เล่มที่ 4 , หน้าที่ 191


เรียงเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

0
0% (نفر 0)
 
نظر شما در مورد این مطلب ؟
 
امتیاز شما به این مطلب ؟
اشتراک گذاری در شبکه های اجتماعی:

latest article

เตาฮีด ...
ชื่อและสายตระกูลของซุฟยานี
มุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ...
ซากีนะฮ์(อ.) ...
ความสำคัญของเพื่อนบ้าน
...
ที่มาของตัฟซีรอัลกุรอานของ ...
...
...
ฆอดีรคุม ...

 
user comment