ซุฟยานี ศัตรูหมายเลข 1 ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
ซุฟยานีจะปรากฏตัวในเดือนร่อญับ และยะมานีและคุรอซานีจะยืนหยัดขึ้นต่อสู้ในเดือนเดียวกันนี้ ต่อจากนั้นในเดือนรอมฎอนเสียงประกาศจากฟากฟ้าจะถูกได้ยิน
ซุฟยานีหลังจากความพ่ายแพ้ในอิรักและฮิญาซแล้ว จะกลับสู่แผ่นดินชาม (ซีเรีย) และปาเลสไตน์ เพื่อที่จะทำการสู้รบในสงครามที่ใหญ่ที่สุดของตนกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) หมายถึงสงครามใหญ่ในการพิชิตอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่มีความยาวบทหนึ่งที่ได้รับรายงานมาจากท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า : หลังจากที่กองกองทัพของซุฟยานีได้ถูกธรณีสูบในบัยดาอ์ หลังจากที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้ปรากฏตัวในเมืองกูฟะฮ์ของอิรัก ท่านจะนำกองทัพของตนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินชาม (ซีเรีย) และจะตั้งค่ายพักใน “มะร่อญุลอัซรออ์” พื้นที่หนึ่งในดามัสกัส ซุฟยานีก็ได้นำกองกำลังของตนออกจากแผ่นดินชามและดามัสกัสและล่าถอยไปยังทิศทางของปาเลสไตน์
การแนะนำสัญญาณต่างๆ ที่แน่นอนของการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ทั้งหมดที่เกี่ยวกับสัญญาณการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.) นั้นได้มีการกล่าวถึงห้าสัญญาณไว้เป็นการเฉพาะและเป็นกรณีพิเศษ ความสำคัญของสัญญาณทั้งห้าประการนี้สามารถรับรู้ได้จากจำนวนมากมายของบรรดาริวายะฮ์ที่เกี่ยวข้องกับมันและการกล่าวถึงมันไว้อย่างเป็นเอกเทศ ในหนังสือ “กะมาลุดดีน” เชคซอดูก ได้บันทึกคำรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ไว้ซึ่งท่านกล่าวว่า :
قَبْلَ قِيَامِ الْقَائِمِ خَمْسُ عَلَامَاتٍ مَحْتُومَاتٍ الْيَمَانِيُّ وَ السُّفْيَانِيُّ وَ الصَّيْحَةُ وَ قَتْلُ النَّفْسِ الزَّكِيَّةِ وَ الْخَسْفُ بِالْبَيْدَاء
“ก่อนการยืนหยัดขึ้นต่อสู้ของกออิม (มะฮ์ดี) นั้น จะมีสัญญาณที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ ยะมานี ซุฟยานี เสียงประกาศจากฟากฟ้า การถูกสังหารของซุฟยานี และธรณีสูบในบัยดาอ์” (1)
ซุฟยานี สัญญาณที่แน่นอนประการแรก
ซุฟยานีจะปรากฏตัวในเดือนร่อญับ และยะมานีและคุรอซานีจะยืนหยัดขึ้นต่อสู้ในเดือนเดียวกันนี้ ต่อจากนั้นในเดือนรอมฎอนเสียงประกาศจากฟากฟ้าจะถูกได้ยิน และการถูกสังหารของนัฟซุซะกียะฮ์จะเกิดขึ้นในเดือนซุลฮิจญะฮ์ และในเดือนมุฮัรร็อม เหตุการณ์การปรากฏกาย (ซุฮูร) และการยืนหยัดต่อสู้ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ก็จะเกิดขึ้น ดังนั้นในแง่ของเวลาแล้ว ซุฟยานีจึงเป็นสัญญาณที่แน่นอนประการแรกของการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ซึ่งจะเกิดขึ้นในเดือนร่อญับ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวไว้ในฮะดีษมุอ์ตะบัร (เชื่อถือได้) บทหนึ่งว่า :
إِنَ أَمْرَ السُّفْيَانِيِ مِنَ الْأَمْرِ الْمَحْتُومِ وَ خُرُوجَهُ فِي رَجَبٍ
“แท้จริงเรื่องของซุฟยานีนั้นเป็นเรื่องที่แน่นอนตายตัว และการปรากฏตัวของเขาจะเกิดขึ้นในเดือนร่อญับ” (2)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ในการอธิบายถึงบุคคลผู้นี้โดยส่วยใหญ่แล้วจะใช้คำสองคำ คือ “ซุฟยานี” และ “อิบนุ อากิละติลอักบาด” (บุตรของสตรีผู้กินตับ) (3) และจากอีกด้านหนึ่ง ในบางคำรายงานจากบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกถามเกี่ยวกับชื่อของซุฟยานี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าซุฟยานีนั้นไม่ใช่ชื่อจริงของเขา โดยรวมแล้วริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้กล่าวถึงชื่อของซุฟยานีไว้แปดชื่อ ห้าชื่อถูกกล่าวถึงโดยผู้อื่นที่ไม่ใช่บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) และเพียงสามชื่อที่ถูกกล่าวถึงโดยบรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) และท่ามกลางคำรายงาน (ริวายะฮ์) ทั้งสามนี้ สองคำรายงานมาจากแหล่งอ้างอิงของพี่น้องอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ และมีเพียงรายงานเดียวที่กล่าวถึงชื่อของซุฟยานีว่า “อุษมาน” ซึ่งมีปรากฏในแหล่งอ้างอิงของชีอะฮ์ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถชี้ชัดเกี่ยวกับชื่อจริงของซุฟยานีได้ และแน่นอนการรับรู้ถึงชื่อจริงของซุฟยานีก็ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก บรรดาอิมามมะอ์ซูม (อ.) ให้ความสำคัญต่อการกระทำของเขาและการพิชิตเหนือห้าพื้นที่ในแผ่นดินชามมากกว่าการให้ความสำคัญและการรู้จักชื่อจริงของเขา และโดยส่วนใหญ่แล้วจะให้ความสำคัญที่จะอธิบายถึงฉายานามและสายตระกูลของเขาที่สิบไปถึงวงศ์วานของ “อบูซุฟยาน” โดยใช้คำว่า “ซุฟยานี”
ระยะเวลาระหว่างการปรากฏตัวของซุฟยานี กับการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ได้กล่าวว่า ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) จะปรากฏกาย (ซุฮูร) และยืนหยัดต่อสู้ปีที่เป็นเลขคี่ในวันอาชูรอ ของเดือนมุฮัรรอม ในคำรายงานบทหนึ่ง ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :
يَقُومُ الْقَائِمُ فِي وَتْرٍ مِنَ السِّنِين
“กออิม (มะฮ์ดี) จะยืนหยัดขึ้นต่อสู้ในปีที่เป็นเลขคี่” (4)
และในอีกด้านหนึ่ง การปรากฏตัวของซุฟยานีนั้นจะเกิดขึ้นก่อนการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) เป็นระยะเวลาหกเดือน ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ซุฟยานีจะปรากฏตัวในเดือนร่อญับในปีที่เป็นเลขคู่
บางริวายะฮ์ (คำรายงาน) ได้ชี้ให้เห็นว่าซุฟยานีจะปรากฏตัวขึ้นพร้อมกับยะมานีและคุรอซานี ในปีเดียวกันและช่วงเวลาเดียวกัน ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
خُرُوجُ الثَّلَاثَةِ السُّفْيَانِيِّ وَ الْخُرَاسَانِيِّ وَ الْيَمَانِيِّ فِي سَنَةٍ وَاحِدَةٍ فِي شَهْرٍ وَاحِدٍ فِي يَوْمٍ وَاحِدٍ وَ لَيْسَ فِيهَا رَايَةٌ أَهْدَى مِنْ رَايَةِ الْيَمَانِيِّ لِأَنَّهُ يَدْعُو إِلَى الْحَق
“การปรากฏตัวของบุคคลสามคน คือ ซุฟยานี คูรอซานีและยะมานี จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน ในเดือนเดียวกันและในวันเดียวกัน และท่ามกลางทั้งสามนั้นไม่มีธง (กองกำลัง) ใดที่จะนำทางได้ (ชัดเจน) ยิ่งไปกว่าธงของยะมานี เนื่องจากเขาจะเรียกร้องเชิญชวนไปสู่สัจธรรม” (5)
การโจมตีของกองทัพซุฟยานียังอิรักและซาอุดีอาระเบีย
การทำลายล้างของกองทัพซุฟยานี ซึ่งจะครอบคลุมทั่วพื้นที่ดามัสกัสในประเทศซีเรียไปจนถึงแบกแดดในประเทศอิรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซุฟยานีจะทุ่มเทความพยายามเป็นพิเศษสำหรับการทำลายเมืองกูฟะฮ์ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางรัฐบาลโลกของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และเมืองมะดีนะฮ์ซึ่งเป็นเมืองของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มุฟัฎฎ็อล อิบนุอุมัร สาวกคนหนึ่งของท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้รายงานคำพูดของท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านได้อ้างถึงคำบอกเล่าของทหารคนหนึ่งของซุฟยานีแก่ชาวโลก (ซึ่งเกิดขึ้นในวันดังกล่าว) โดยที่เขาจะกล่าวว่า :
كُنْتُ وَأَخِي فِي جَيْشِ السُّفْيَانِيِّ وَخَرَّبْنَا الدُّنْيَا مِنْ دِمَشْقَ إِلَى الزَّوْرَاءِ وَتَرَكْنَاهَا جَمَّاءَ وَ خَرَّبْنَا الْكُوفَةَ وَخَرَّبْنَا الْمَدِينَةَ
“ฉันและน้องชายของฉันอยู่ในกองทัพของซุฟยานี และเราได้ทำลายโลกจากดามัสกัสไปจนถึงเซารออ์ (แบกแดด) และเราได้ละออกไปจากมันพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และเราได้ทำลายเมืองกูฟะฮ์และเมืองมะดีนะฮ์” (6)
เป้าหมายของกองทัพซุฟยานีในการบุกซาอุดิอาระเบีย
กองทัพของซุฟยานีได้ออกเดินทางจากมะดีนะฮ์มุ่งสู่นครมักกะฮ์ โดยมีเป้าหมายที่จะทำสงครามกับฝ่ายสัจธรรม ทำการสังหารท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ผู้เป็นข้อพิสูจน์ (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์ ทำลายอาคารกะอ์บะฮ์และเข่นฆ่าประชาชน ณ สถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น ในคำรายงานบทหนึ่งที่เกิดจากการสนทนาของบะชี (หนึ่งในทหารของกองทัพของซุฟยานีที่รอดพ้นจากธรณีสูบ) กับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้เผยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงเจตนาของกองทัพที่ถูกธรณีสูบนี้ โดยเขาได้กล่าวว่า :
نُرِيدُ إِخْرَابَ الْبَيْتِ وَ قَتْلَ أَهْلِهِ
“เราประสงค์ที่จะทำลายบัยตุลลอฮ์และเข่นฆ่าชาวมักกะฮ์” (7)
แต่ทว่าเมื่อพวกเขามีเจตนาที่จะโจมตีนครมักกะฮ์และทำลายอาคารกะอ์บะฮ์ กองทัพของซุฟยานีก็จะถูกธรณีสูบในพื้นที่ “บัยดาอ์” ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างนครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์
حَتَّى إِذَا نَزَلُوا الْبَيْدَاءَ وَ هُوَ جَيْشُ الْهَمَلَاتِ خُسِفَ بِهِم
“จนกระทั้งเมื่อกองทัพแห่งความหายนะ (กองทัพซุฟยานี) ได้ลงมายังบัยดาอ์ (ระหว่างมักกะฮ์และมะดีนะฮ์) ธรณีได้สูบพวกเขา (ด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮ์)” (8)
ขั้นตอนการก่อจลาจลของซุฟยานี
การเคลื่อนไหวของซุฟยานีจะถูกดำเนินการในสามขั้นตอนคือ :
สงครามและการเข่นฆ่าในช่วงหกเดือนแรกในแผ่นดินชาม (ซีเรีย)
การรุกรานและการทำสงครามของเขาในอิรักและฮิญาซ
และในที่สุดเขาจะล่าถอยจากการขยายอำนาจในอิรักและฮิญาซ เมื่อเผชิญหน้ากับกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และถอยร่นไปยังแผ่นดินชาม (ซีเรีย) และสร้างแนวรักษาความปลอดภัยร่วมกับพันธมิตรโรมัน เพื่อรับมือกับกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
สงครามซุฟยานีในดินแดนชามและซีเรีย
ริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ เกี่ยวกับซุฟยานี ได้ชี้ให้เห็นถึงสงครามต่างๆ ในช่วงหกเดือนแรกของเขา สงครามเหล่านี้จะเป็นสงครามภายในของเขากับ “อับเกาะอ์” และ “อัศฮับ” และต่อจากนั้นจะเป็นสงครามกับกองกำลังต่างๆ ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิมที่ขัดแย้งกับเขา จนกระทั้งเขาจะสามารถพิชิตเหนือแผ่นดินชามได้อย่างเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อพิจารณาถึงลักษณะของขบวนการการเคลื่อนไหวของเขาแล้ว เป็นธรรมชาติที่ว่าหกเดือนดังกล่าวนี้จะเต็มไปด้วยการปฏิบัติการทางทหารที่เข้มข้นจนกระทั่งเขาจะสามารถทำให้อำนาจการปกครองของตนเกิดความมั่นคง และสามารถจัดเตรียมกองกำลังขนาดใหญ่ของตนสำหรับการทำสงครามต่างๆ อย่างกว้างขวางในเก้าเดือนข้างหน้า ตามริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ชัยชนะขั้นสุดท้ายของสงครามในแผ่นดินชามจะเป็นของซุฟยานี การพิชิตแผ่นดินชามของซุฟยานีจะทำให้เขาเกิดความเข้มแข็งและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และเมื่อเขาเกิดความมั่นใจในอำนาจของตนที่มีเหนือแผ่นดินชามแล้ว เขาจะเปิดฉากปฏิบัติการต่างๆ ที่สำคัญนอกเขตพรมแดนของตน มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ซึ่งท่านกล่าวว่า :
فَأَوَّلُ أَرْضٍ تَخْرَبُ، أَرْضُ الشَّامِ ثُمَّ يَخْتَلِفُونَ عِنْدَ ذَلِكَ عَلَى ثَلَاثِ رَايَاتٍ رَايَةِ الْأَصْهَبِ وَ رَايَةِ الْأَبْقَعِ وَ رَايَةِ السُّفْيَانِي
“แผ่นดินแห่งแรกที่จะถูกทำลายคือแผ่นดินชาม (ซีเรีย) ต่อจากนั้น ณ ที่แห่งนั้นสามกองทหาร ได้แก่ กองทหารของอัลอัศฮับ กองทหารของอัลอับเกาะอ์และกองทหารของซุฟยานีจะเกิดความขัดแย้งกัน” (9)
และในหนังสือตัฟซีร “อัลอัยยาชี” ได้มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่สงครามต่างๆ ในดินแดนชามได้ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น ในดินแดนส่วนอื่นๆ และในประเทศอาหรับทั้งหลายก็จะเกิดสงคราม ความวุ่นวายและความขัดแย้งด้วยเช่นกัน
وَهِيَ سَنَةُ اخْتِلَافٍ فِي كُلِّ أَرْضٍ مِنْ أَرْضِ الْعَرَب
“และมันคือปีของความขัดแย้งในทุกๆ แผ่นดินจากแผ่นดินอาหรับ” (10)
สงครามก็อรกีซียา (Qarqisiya หรือ Circesium) และความปลอดภัยของชาวชีอะฮ์
ในช่วงเก้าเดือนสุดท้ายของการปกครองของซุฟยานี เขาจะก่อสงครามใหญ่ต่างๆ ที่สำคัญที่สุด นั้นคือสงครามใน “ก็อรกีซียา” (Circesium) และหลังจากนั้นคือการก่ออาชญากรรมต่างๆ ของเขาในอิรัก
يَمُرُّ جَيْشُهُ بِقِرْقِيسِيَاءَ فَيَقْتَتِلُونَ بِهَا فَيُقْتَلُ بِهَا مِنَ الْجَبَّارِينَ مِائَةُ أَلْف
“กองทัพของเขา (ซุฟยานี) จะผ่านมาถึงเมืองก็อรกีซียา แล้วจะทำสงครามในที่แห่งนั้น โดยที่บรรดาผู้กดขี่นับแสนคนจะถูกฆ่าตายในที่แห่งนั้น” (11)
แต่ในช่วงปีเหล่านั้น ความสงบสุขและความปลอดภัยจะถูกทำลายไปจากประเทศอิรัก ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่ยืดยาวบทหนึ่งว่า
قَبْلَ قِيَامِ الْقَائِم … شُمُولِ أَهْلِ الْعِرَاقِ خَوْفٌ لَا يَكُونُ لَهُمْ مَعَهُ قَرَار
“ก่อนการยืนหยัดขึ้นต่อสู้ของกออิม (อิมามมะฮ์ดี) นั้น … ความหวาดกลัวจะปกคลุมเหนือชาวอิรัก และจะไม่มีความสงบสุขใดๆ สำหรับพวกเขา” (12)
สงครามในแผ่นดินอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) และความปราชัยของซุฟยานี
ซุฟยานีหลังจากพ่ายแพ้ในอิรักและฮิญาซแล้ว จะกลับสู่แผ่นดินชาม (ซีเรีย) และปาเลสไตน์ เพื่อที่จะทำการสู้รบในสงครามที่ใหญ่ที่สุดของตนกับท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) หมายถึงสงครามใหญ่ในการพิชิตอัลกุดส์ (เยรูซาเล็ม) ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ที่มีความยาวบทหนึ่งที่ได้รับรายงานมาจากท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า : หลังจากที่กองกองทัพของซุฟยานีได้ถูกธรณีสูบในบัยดาอ์ หลังจากที่ท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) ได้ปรากฏตัวในเมืองกูฟะฮ์ของอิรัก ท่านจะนำกองทัพของตนมุ่งหน้าสู่แผ่นดินชาม (ซีเรีย) และจะตั้งค่ายพักใน “มะร่อญุลอัซรออ์” พื้นที่หนึ่งในดามัสกัส ซุฟยานีก็ได้นำกองกำลังของตนออกจากแผ่นดินชามและดามัสกัสและล่าถอยไปยังทิศทางของปาเลสไตน์ ท่านอิมามบากิร (อ.) ได้กล่าวว่า :
ثُمَّ يَسِيرُ حَتَّى يَأْتِيَ الْعَذْرَاءَ هُوَ وَ مَنْ مَعَهُ وَ قَدْ أُلْحِقَ بِهِ نَاسٌ كَثِيرٌ وَ السُّفْيَانِيُّ يَوْمَئِذٍ بِوَادِي الرَّمْلَةِ حَتَّى إِذَا الْتَقَوْا وَ هُوَ يَوْمَ الْإِبْدَالِ
“ต่อจากนั้นท่าน (อิมามมะฮ์ดี) จะเดินทางไปจนกระทั่งท่านและผู้ที่อยู่ร่วมกับท่านจะมาถึงมะร่อญุลอัซรออ์ และประชาชนจำนวนมากก็เข้าร่วมสมทบกับท่าน และในวันนั้นซุฟยานี (หลังจากล่าถอยออกจากอิรัก) จะอยู่ในเขตพื้นที่อัรร็อมละฮ์ จนกระทั้งในที่สุดทั้งสองกองทัพได้เผชิญหน้าต่อสู้กัน และวันนั้นจะเป็นวันแห่งการเปลี่ยนแปลง”(13)
อย่างไรก็ตาม กองทัพโรมัน (ชาวตะวันตก) จะเคลื่อนกำลังพลเข้ามาในพื้นที่ร็อมละฮ์ของปาเลสไตน์ตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว
يَسْتَقْبِلُ مَارِقَةُ الرُّومِ حَتَّى تَنْزِلَ الرَّمْلَة
“กองทัพผู้ปฏิเสธศาสนาแห่งโรมัน (ชาวตะวันตก) จะยกพลเข้ามาพักอยู่ในเมืองร็อมละฮ์ (ของปาเลสไตน์)” (14)
وَ تَنْزِلُ الرُّومُ فِلَسْطِين
“และ (ในช่วงเวลานั้น) กองทัพโรมัน (ตะวันตก) จะเข้ามาในปาเลสไตน์…” (15)
จนกระทั่งสงครามที่ใหญ่ที่สุดอีกสงครามหนึ่งในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) คือสงครามฏอบะรียะฮ์ในปาเลสไตน์จะเกิดขึ้นระหว่างกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และกองทัพของซุฟยานีจะเกิดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวโรมัน (ตะวันตก) และชาวยิว ผู้ได้รับชัยชนะในสงครามครั้งนี้จะเป็นกองทัพของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.) และพวกเขาจะเข้าสู่แผ่นดินอัลกุดส์ (เยรูซาลํม) อย่างผู้ชนะ และปาเลสไตน์จะได้รับการปลดปล่อยตลอดไป
สิ่งที่ควรกล่าวถึงก็คือ ทิศทางการเคลื่อนไหวของซุฟยานีก็เช่นเดียวกับบรรพบุรุษของเขา และมีความคล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของบนีอุมัยยะฮ์ในการต่อต้านท่านอิมามอะลี (อ.) อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) อย่างสมบูรณ์ ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า :
إنا و آل أبی سفیان أهل بیتین تعادینا فی الله: قلنا صدق الله و قالوا کذب الله، قاتل أبوسفیان رسول الله صلياللهعليهوآله و قاتل معاویۀ علی بن ابیطالب عليهالسلام و قاتل یزید بن معاویۀ الحسین بن علی عليهالسلام و السفیانی یقاتل القائم
“แท้จริงเราและวงศ์วานแห่งอบีซุฟยาน คือสองครอบครัวที่จะขัดแย้งกันตลอดไปในเรื่องของอัลลอฮ์ เราจะกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงตรัสจริง ในขณะที่พวกเขาจะกล่าวว่า อัลลอฮ์ทรงกล่าวเท็จ อบูซุฟยานจะต่อสู้กับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) มุอาวียะฮ์จะต่อสู้กับท่านอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ยะซีดบุตรของมุอาวียะฮ์จะต่อสู้กับฮุเซน บุตรของท่านอะลี (อ.) และซุฟยานีจะต่อสู้กับกออิม (อ.)” (16)
ความแตกต่างในทิศทางการเคลื่อนไหวของซุฟยานีกับมุอาวิยะฮ์ คือความแตกต่างของสถานะของอิหร่านในสองช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ในยุคของบนีอุมัยยะฮ์ และในช่วงเริ่มต้นของอิสลามนั้นอิหร่านอยู่ในระดับที่ต่ำสุดของอำนาจ จึงไม่สามารถที่จะแทรกแซงในดุลอำนาจต่างๆ ของภูมิภาคได้ แต่ในยุคสุดท้าย (อาคิรุซซะมาน) อิหร่านจะไปถึงจุดสูงสุดในอำนาจทางประวัติศาสตร์ของตน และจะมีบทบาทสำคัญในดุลอำนาจต่างๆ ของภูมิภาค และจะเป็นสาเหตุของความสำเร็จและชัยชนะของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมพร้อมการปรากฏกาย (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
เชิงอรรถ :
(1) กะมาลุดดีน, เชคซอดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 650
(2) กะมาลุดดีน, เชคซอดูก, เล่มที่ 2, หน้าที่ 650
(3) สตรีผู้กินตับ หมายถึง “ฮินด์” ภรรยาของอบูซุฟยาน ที่ควักตับของท่านฮัมซะฮ์ ลุงของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มากินหลังจากการเป็นชะฮีดในสงครามอุฮุด เนื่องด้วยความแค้นที่มีอยู่ในจิตใจของนาง
(4) อัลฆ็อยบะฮ์, อัลนุอ์มานี, หน้าที่ 262
(5) อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 446
(6) บิฮารุ้ลอันวาร, มัจญ์ลิซี, เล่มที่ 53, หน้าที่ 10
(7) มุคตะศ๊อร อัลบะศออิร, ฮิลลี่, หน้าที่ 445
(8) ตัฟซีร อัลอัยยาชี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 65
(9) อัลฆ็อยบะฮ์, อัลนุอ์มานี, หน้าที่ 280
(10)- อัลฆ็อยบะฮ์, อัลนุอ์มานี, หน้าที่ 280
(11) อัลฆ็อยบะฮ์, อัลนุอ์มานี, หน้าที่ 280
(12) อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, เล่มที่ 2, หน้าที่ 378
(13) อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, เล่มที่ 2, หน้าที่ 256
(14) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 52, หน้าที่ 224
(15) อัลฆ็อยบะฮ์, เชคฏูซี, หน้าที่ 463
(16) มุอ์ญัม อะฮาดีษ อัลมะฮ์ดี (อ.), เล่มที่ 3, หน้าที่ 467
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน
source : alhassanain