วันที่ 25 ซุลฮิจญะฮ์ : วันประทานบท อัลอินซาน
و یُطعِمونَ الطّعامَ علی حُبّهِ مِسکیناً وَ یَتیماً وَ اَسیراً *
إنّما نُطعِمُکُم لِوَجهِ اللهِ لا نُریدُ مِنکُم جَزاءً وَ لا شکوراً *
إنّا نخاف من رًّبِّنا یوماً عبوساً قمطریراً
“และพวกเขาได้ให้อาหารแก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก ทั้งที่มีความปรารถนาต่อมัน (พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮ์ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด แท้จริงเรากลัวต่อพระผู้อภิบาลของเรา ในวันซึ่งใบหน้าทั้งหลายมีแต่ความบึ้งตึงและความทุกข์ยาก”
(อัลกุรอาน บทอัลอินซาน โองการที่ 8, 9 และ 10)
วันที่ 25 ของเดือนซุลฮิจญะฮ์ เป็นวันที่อัลกุรอานบท “อัลอินซาน” หรือ “อัดดะฮ์รุ” ได้ถูกประทานลงมาในวันนี้ (1)
เกี่ยวกับสาเหตุของการประทานบทนี้ นักวิชาการจำนวนมากทั้งจากชีอะฮ์และซุนนี่ ได้รายงานว่า : ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ป่วย และท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้มาเยี่ยมท่านทั้งสอง ท่านกล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า “เป็นสิ่งที่ดียิ่งที่เจ้าจะบนบาน (นัซร์) เพื่อให้พวกเขาหายป่วย” ท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และฟิฎเฎาะฮ์ (หญิงรับใช้) จึงได้บนบานที่จะถือศีลอดเป็นเวลาสามวัน เพื่อให้ท่านทั้งสองหายป่วย
เมื่อท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) หายจากการป่วย บุคลทั้งสามจึงถือศีลอดเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการบนบาน (นัซร์) และตามคำรายงานบางส่วน ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ก็ได้ถือศีลอดด้วยเช่นกัน ในขณะนั้นท่านเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในฐานะที่ยากลำบากด้านอาหาร เมื่อช่วงเวลาของการละศีลอดมาถึงท่านเหล่านั้นได้เตรียมขนมปังจำนวนหนึ่งไว้สำหรับการละศีลอด พวกท่านได้ยินเสียงขอความช่วยเหลือจากคนยากจน (มิสกีน) คนหนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ฟิฎเฎาะฮ์ ท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้มอบขนมปังของตนให้แก่คนยากจนผู้นั้น และในค่ำคืนนั้นทั้งหมดไม่ได้รับประทานสิ่งใด นอกจากการดื่มน้ำ
ในช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าของวันรุ่งขึ้นก็เช่นเดียวกัน เมื่อท่านเหล่านั้นต้องการที่จะละศีลอด เด็กกำพร้าได้มาขอความช่วยเหลือ และเหตุการณ์ของวันที่ผ่านมาได้เกิดซ้ำขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และพวกท่านจึงได้ละศีลอดด้วยน้ำ
วันที่สามก็เช่นเดียวกัน ในช่วงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เชลยศึกคนหนึ่งได้มายังบ้านของพวกท่าน และครอบครัวที่มีเกียรติ มีความเอื้ออาทรและเสียสละนี้ จึงได้เสียสละขนมปังที่เป็นส่วนของตนเองให้แก่เชลยศึกผู้นั้น
วันรุ่งขึ้นท่านอิมามอะลี (อ.) ได้จูงมือท่านอิมามฮะซัน (อ.) และท่านอิมามฮุเซน (อ.) ไปพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เมื่อท่านศาสดาเห็นหลานทั้งสองคนอยู่ในสภาพที่สั่นเทาเนื่องจากความหิวโหยอย่างรุนแรง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงสอบถามถึงสาเหตุ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ท่านฟัง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) รู้สึกไม่สบายใจ ทั้งหมดจึงพากันไปยังบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ในสภาพเช่นนั้น ท่านญิบรออีล (อ.) ได้ลงมา พร้อมกับนำซูเราะฮ์อัลอินซานมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซูเราะฮ์นี้กล่าวยกย่องเชิดชูอย่างมากมายในความเสียสละ (อีซาร) ที่ประกอบไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ (อิคลาศ) ของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) (2)
ในวันนี้มีอะมั้ลหลายประการได้ถูกกล่าวไว้ :
ท่านมัรฮูม “ซัยยิดอิบนิฏอวูซ” ได้อ้างอิงจากท่าน “เชคมุฟีด” (ร.ฮ.) ว่า : ในวันนี้เป็นมุสตะฮับให้ถือศีลอด เนื่องจากว่าในวันเช่นนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงเปิดเผยให้เห็นถึงความประเสริฐและความเหนือกว่าของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) (3)
ในค่ำคืนของวันที่ 25 และช่วงกลางของวันที่ 25 สมควรอย่างยิ่งที่จะให้อาหารและบริจาคทานแก่คนยากจน ถือเป็นการปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เหล่านั้น (4)
เป็นสิ่งที่สมควรที่ในวันนี้เราจะทำฆุซุล (อาบน้ำชำระร่างการตามศาสนบัญญัติ) เพื่อการซิยาเราะฮ์ และให้ทำการซิยาเราะฮ์ต่อบรรดาท่านอิมาม (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านบท “ซิยาเราะฮ์อัลญามิอะฮ์” ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง (5)
แหล่งที่มา :
(1) มิศบาฮุลมุตะฮัจญิด, หน้าที่ 770 ; อิกบาลุลอะอ์มาล, หน้าที่ 529
(2) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือตัฟซีรนะมูเนะฮ์, เล่มที่ 25, หน้าที่ 343 เป็นต้นไป
(3) อิกบาลุลอะอ์มาล, หน้าที่ 529
(4) อิกบาลุลอะอ์มาล, หน้าที่ 529
(5) ซาดุ้ลมะอาด, หน้าที่ 368
เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
source : alhassanain