ถ้าหากอิมามฮุเซน (อ.) วางตัวนิ่งเฉยหรือเลือกที่จะประนีประนอม ไม่เพียงแต่ศักดิ์ศรีของชาวมุสลิมทุกคนจะถูกทำลายแล้ว แม้แต่เกียรติศักดิ์ศรีของอิสลามก็จะไม่หลงเหลือ
หนึ่งในบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในเหตุการณ์กัรบะลา คือบทเรียนแห่งเกียรติและศักดิ์ศรี แน่นอน! ใครก็ตามต้องการที่จะเป็นผู้มีเกียรติและมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อที่จะบรรลุสู่เป้าหมายนี้ อันดับแรกจำเป็นที่พวกเขาจะต้องรู้จักศัตรู เพราะเนื่องจากบรรดาศัตรูนั้นไม่ต้องการให้ฝ่ายตรงข้ามของตนได้พบกับเกียรติและศักดิ์ศรี
เกียรติศักดิ์ศรีคือสิ่งหนึ่งที่สูญหายไป ที่ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนเฝ้าตามหามัน และในการดำเนินชีวิตนั้นไม่มีบุคคลใดที่ต้องการจะเป็นผู้ที่ไร้เกียรติและศักดิ์ศรี หากใครก็ตามยอมรับความพ่ายแพ้อย่างง่ายดายและมองว่าตัวเองเป็นผู้พ่ายแพ้โดยปราศจากความพยายามใดๆ เขาได้สูญเสียเกียรติและศักดิ์ศรีของตนไปแล้ว และได้เลือกเอาความอัปยศอดสู คำว่า “อิซซะฮ์” นั้นหมายถึง ความแข็งแกร่งและการไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ เป็นคุณลักษณะที่เกิดจากความหวงแหน (ฆ็อยเราะฮ์) ความไว้ตน ความองอาจและความกล้าหาญ ในความเป็นจริงแล้วคำว่า “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) นั้นหมายถึงการที่ทุกคนรู้ถึงสถานภาพและตำแหน่งของตัวเอง สถานภาพที่เขาจะไม่ยอมขายมันและสูญเสียมันไป
ในคัมภีร์อัลกุรอาน มนุษย์ได้ถูกแนะนำในฐานะ “ค่อลีฟะฮ์ (ตัวแทน) ของพระเจ้า”
إِنِّي جَاعِلٌ فِي الأَرْضِ خَلِيفَةً
“แท้จริงข้าจะสร้างตัวแทนขึ้นในแผ่นดิน” (1)
สถานภาพหนึ่งเดียวที่เป็นความสง่างามของมนุษย์ และนี่คือภาระหน้าที่ของพวกเขาที่จะต้องพิทักษ์รักษาตำแหน่งนี้เอาไว้ให้ได้ การรักษาตำแหน่งอันทรงคุณค่านี้จะเป็นไปได้ก็โดยอาศัยการเชื่อฟังและการยอมตนเป็นบ่าวต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงเท่านั้น เนื่องจาก “อิซซะฮ์” (เกียรติศักดิ์ศรี) นั้นเป็นคุณลักษณะที่ดีงาม และพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงครอบคลุมคุณลักษณะที่ดีงามและน่าสรรเสริญทั้งมวลไว้ กระทั่งว่าพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงชี้ถึงประเด็นนี้ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และถือว่าเกียรติศักดิ์ศรีทั้งมวลเป็นของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว และการเข้าใกล้ชิดพระองค์คือหนทางที่จะได้รับมาซึ่งเกียรติศักดิ์ศรี
مَنْ کَانَ یُرِیدُ الْعِزَّةَ فَلِلَّهِ الْعِزَّةُ جَمِیعًا
“ผู้ใดที่ปรารถนาเกียรติยศศักดิ์ศรี ดังนั้นเกียรติยศศักดิ์ศรีทั้งมวลเป็นของอัลลอฮ์” (2)
ตลอดเวลามีคนจำนวนมากที่พยายามในการแสวงหาเกียรติและศักดิ์ศรี แต่เนื่องจากเลือกทางที่ผิดพลาดและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่ไม่ถูกต้อง พวกเขาจึงได้รับผลในทางตรงกันข้าม และแทนที่จะเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ศรีกลับกลายเป็นผู้ต่ำต้อยไร้เกียรติและอัปยศอดสู แม้แต่ในยุคแรกของอิสลาม ผู้ศรัทธาบางคนมองว่าเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองนั้นอยู่ในการใกล้ชิด ความเป็นมิตรและการผูกสัมพันธ์กับบรรดาผู้ปฏิเสธ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตำหนิการกระทำของพวกเขาไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน และทรงชี้ถึงแนวทางที่ถูกต้องสำหรับการได้มาซึ่งเกียรติยศศักดิ์ศรี โดยตรัสว่า :
الَّذینَ یَتَّخِذونَ الکافِرینَ أَولِیاءَ مِن دونِ المُؤمِنینَ ۚ أَیَبتَغونَ عِندَهُمُ العِزَّةَ فَإِنَّ العِزَّةَ لِلَّهِ جَمیعًا
“บรรดาผู้ที่ยึดเอาพวกปฏิเสธศรัทธาเป็นมิตรสนิทนอกเหนือไปจากบรรดาผู้ศรัทธา พวกเขากำลังแสวงหาเกียรติศักดิ์ศรี ณ พวกเขากระนั้นหรือ แท้จริงเกียรติยศศักดิ์ศรีทั้งมวลนั้นเป็นของอัลลอฮ์” (3)
หนึ่งในบุคคลที่ในชีวิตของตนได้ย่างก้าวไปในเส้นทางของเกียรติยศศักดิ์ศรีตลอดเวลา และได้แสดงให้เห็นถึงการมีชีวิตอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี นั่นคือท่านอิมามฮุเซน (อ.) ท่านคือผู้ซึ่งไม่ต้องการเห็นความอัปยศอดสูของอิสลาม และได้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อนำเกียรติศักดิ์ศรีกลับคืนมาสู่ศาสนาและประชาชาติของตาของท่าน โดยที่ท่านกล่าวว่า :
إِنَّما خَرَجْتُ لِطَلَبِ الاِصْلاحِ فی أُمَّةِ جَدّی
“แท้จริงแล้วฉันได้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้ เพื่อแสวงหาการแก้ไขปรับปรุงในหมู่ประชาชาติของตาของฉัน” (4)
หากอิมามฮุเซน (อ.) วางตัวนิ่งเฉยหรือเลือกที่จะประนีประนอม แน่นอนยิ่งไม่เพียงแต่ศักดิ์ศรีของชาวมุสลิมทุกคนเท่านั้นที่จะจะถูกทำลาย ทว่าแม้แต่เกียรติศักดิ์ศรีของอิสลามก็จะไม่หลงเหลืออยู่อีกต่อไป เมื่อมีบุคคลที่เป็นคนชั่วและทำบาปอย่างเปิดเผยได้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งผู้ปกครอง (คิลาฟะฮ์) ดื่มสุรา เล่นกับสุนัขและลิง แล้วเราจะสามารถพูดเกี่ยวกับเกียรติและศักดิ์ศรีของอิสลามได้อย่างไร? ด้วยเหตุนี้เองท่านอิมามฮุเซน (อ.) จึงได้ประกาศด้วยเสียงอันดังและไม่หวั่นกลัวใดๆ ว่า :
یَزیدُ رَجُلٌ فاسِقٌ شارِبُ الْخَمْرِ، قاتِلُ النَّفْسِ المُحَرَّمَهِ، مُعْلِنٌ بِالْفِسْقِ، وَ مِثْلِی لا یُبایِعُ لِمِثْلِهِ
“ยะซีดคือบุรุษที่เป็นคนเลว ดื่มสุราเมรัย ฆ่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ กระทำความชั่วอย่างเปิดเผย และคนอย่างฉันจะไม่ให้สัตยาบันกับคนเยี่ยงเขาอย่างแน่นอน” (5)
เคล็ดลับในการได้มาซึ่งเกียรติศักดิ์ศรี
เคล็ดลับที่จะทำให้ได้มาซึ่งเกียรติศักดิ์ศรีนั้นคือการที่มนุษย์จะต้อง “รู้จักศัตรู” เนื่องจากว่าบรรดาศัตรูนั้นมักต้องการที่จะทำให้มนุษย์คว่ำคะมำลงกับพื้นดินด้วยการใช้เล่ห์เหลี่ยมกลลวงทุกอย่าง และทำให้เขาอัปยศฮดสู ใครก็ตามที่ต้องการที่จะเป็นผู้มีเกียรติและมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อที่จะบรรลุสู่เป้าหมายนี้อันดับแรกจำเป็นที่พวกเขาจะต้องรู้จักศัตรู และจะต้องไม่ถูกหลอกด้วยภาพลักษณ์ที่หลอกลวงของศัตรู การที่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) รู้จักศัตรูและสามารถเผชิญหน้ากับพวกเขาได้อย่างทันท่วงที ท่านจึงสามารถรักษาเกียรติศักดิ์ศรีของอิสลามและมุสลิมเอาไว้ได้
เรามีสามศัตรู!
มนุษย์ทุกคนถูกล้อมรอบด้วยสามศัตรู คือศัตรูภายในตัวเอง นั้นคืออารมณ์ใฝ่ต่ำ (ฮะวานัฟซ์) และศัตรูจากจำพวกของญินและชัยฏอน (มาร) และอีกศัตรูหนึ่งจากจำพวกมนุษย์ นั่นคือบรรดาชัยฏอน (มาร) ในคาบมนุษย์ ตราบที่เรายังไม่เชื่อและไม่รู้จักศัตรูเหล่านี้ เราก็ไม่อาจจะบรรลุสู่การมีเกียรติศักดิ์ศรีได้ ศัตรูเหล่านี้จะไม่ปล่อยให้เราคงอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งและเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า
หน้าที่ของเราในการจัดการกับอารมณ์ใฝ่ต่ำและอิบลีส (มาร) นั้นเป็นสิ่งชัดเจน และเราสามารถที่จะรับรู้ถึงศัตรูทั้งสองนี้ได้จากกลิ่นไอของการกระซิบกระซาบต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง แต่การรู้จักมนุษย์ที่มีลักษณะนิสัยแบบชัยฏอน (มาร) นั้นเป็นเรื่องยาก ผู้ที่สวมหน้ากากของความเป็นมิตรเข้ามาหาเรา และดึงเราไปสู่ก้นบึ้งของความหายนะและความพินาศ ปัจจุบันนี้คนแบบนี้มีจำนวนไม่น้อย คนที่จะทำให้เราออกห่างจากความดีงามและไม่ปล่อยให้เราพัฒนาทางด้านจิตวิญญาณนั้น คนที่มีลักษณะนิสัยแบบชัยฏอน (มาร) เหล่านี้มีอยู่ในทุกๆ เวที ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และจะใช้ทุกโอกาสและทุกวิธีการในการทำลายบุคลิกภาพ สถานภาพของเกียรติของเรา ซึ่งจำเป็นที่เราจะต้องระมัดระวัง
สรุป : มนุษย์เพื่อที่จะเป็นผู้มีเกียรติศักดิ์ศรีในชีวิตนั้นจำเป็นต้องรู้จักศัตรู ศัตรูซึ่งจะล้อมกรอบเขาจากสามทิศทาง และเป้าหมายของมันคือการทำให้มนุษย์เกิดความต่ำต้อยไร้เกียรติศักดิ์ศรีและอ่อนแอ ศัตรูที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือศัตรูที่สวมหน้ากากของความเป็นมิตรและมีเจตนาที่จะทำลายเราเพียงเท่านั้น บางครั้งเขาจะทำให้เรากลัวจากสงคราม และบางครั้งก็จะให้สัญญาผลประโยชน์ทางวัตถุแก่เราโดยอาศัยเล่ห์เหลี่ยมและกลอุบาย เชิญชวนเราเข้าสู่การประนีประนอม และดึงเข้าสู่โต๊ะเจรจา กระทั่งว่าส่งรอยยิ้มแห่งมิตรภาพแก่เรา แต่สิ่งที่มีอยู่ในหัวของพวกเขา ไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากความเป็นศัตรู
แหล่งที่มา :
(1) อัลกุรอาน บทอัลบากาเราะฮ์ โองการที่ 30
(2) อัลกุรอาน บทฟาฏิร โองการที่ 10
(3) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 139
(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 329
(5) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 44, หน้าที่ 325