ก. ทิฐิหมายถึงอะไร? (ในกุรอาน) มีสาเหตุมาจากอะไร และเหตุใดคนเราจึงมีทิฐิ? ข. มีวิธีแก้อย่างไร? ค. ทิฐิคือการหวาดระแวงไช่หรือไม่? ง. กุรอานกล่าวถึงผู้มีอคติไว้ว่าอย่างไร? ควรปฏิบัติอย่างไรกับบุคคลประเภทนี้? 5. หากได้รับการเยียวยาแล้ว ต้องทำอย่างไรจึงจะไม่มีนิสัยนี้อีก? 6. ผู้ที่มีทิฐิจะมีอคติต่อทุกคนหรือเฉพาะบางคน? กลุ่มใดบ้าง? (รวมถึงเพื่อนรักด้วยหรือไม่?) 7. จะต้องทำอย่างไรเพื่อมิให้มีนิสัยเช่นนี้? 8. ผลเสียของการมีอคติคืออะไรบ้าง? 9. อันตรายที่จะเกิดกับผู้ที่มีอคติมักจะเป็นอันตรายประเภทใด (จิตใจ ฯลฯ) หากเป็นไปได้กรุณาแจกแจงอันตรายทุกประเภท 10. หากผู้ที่มีอคติไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ผู้อื่นจะได้รับอันตรายจากเขาหรือไม่? 11. อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้มีอคติกับอันตรายที่จะเกิดแก่ผู้อื่นและสังคม สิ่งใดมีมากกว่ากัน? 12. ผู้ที่ไม่ยอมปรับปรุงตัวในเรื่องนี้จะถูกลงโทษ (ในวันปรโลก) หรือไม่? 13. ผู้ที่มีอุปนิสัยดังกล่าวนอกจากจะทรมานใจแล้ว จะถูกอะซาบในปรโลกอีกหรือไม่? 14. นอกจากอะซาบในปรโลกแล้ว เขาจะถูกอะซาบในโลกนี้หรือไม่? 15. บุคคลประเภทนี้มีสถานะเช่นไรในสังคม? 16. การคบหาคนประเภทนี้จะส่งผลเสียต่อเราหรือไม่? นิสัยดังกล่าวจะระบาดถึงเราหรือไม่? 17. ผู้มีอคติมักจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือมีอยู่ในทุกวัย กล่าวคืออุปนิสัยนี้จำกัดเฉพาะช่วงวัยใดเป็นการเฉพาะหรือไม่ หรือว่าสามารถพบเห็นได้ในทุกช่วงวัย? 18. นักจิตเวชมีความเห็นเกี่ยวกับบุคคลประเภทนี้อย่างไร?
คำตอบโดยสังเขป
การถืออคตินับเป็นอุปนิสัยที่น่ารังเกียจยิ่ง เราสามารถวิเคราะห์อุปนิสัยดังกล่าวจากหลายแง่มุมด้วยกัน ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีผลร้ายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นผลร้ายเชิงปัจเจกหรือสังคม จิตใจและร่างกาย โลกนี้และโลกหน้า อิสลามได้ตีแผ่ถึงรากเหง้าและผลเสียของการถือทิฐิ ตลอดจนนำเสนอวิธีปรับปรุงตนเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างถี่ถ้วน
คำตอบเชิงรายละเอียด
การถือทิฐิและการมีอคติ หรือที่เรียกกันในแวดวงอิสลามว่า “ซูอุซ ซ็อนน์”นั้น ถือเป็นภาวะทางอารมณ์ซึ่งจะส่งผลให้ผู้นั้นหมดความเชื่อถือต่อผู้อื่น ทำให้มองเหตุการณ์ บุคคล และพฤติกรรมต่างๆด้วยสายตาที่เคลือบแคลง และมักจะตีความสิ่งที่เห็นในเชิงลบเสมอ การมีอคติหรือ ซูอุซ ซ็อนน์ถือเป็นบาปประเภทหนึ่ง ตรงข้ามกับการมีทัศนคติเชิงบวก (ฮุสนุซ ซ็อนน์) ซึ่งถือเป็นอุปนิสัยที่งดงาม
หากพิจารณาถึงฝ่ายตรงข้ามแล้ว สามารถจำแนกอคติของเป็นสี่ประเภทด้วยกัน
1. อคติต่อพระเจ้า
2. อคติต่อตนเอง
3. อคติต่อศัตรู
4. หวาดระแวงเพื่อนฝูงและคนใกล้ชิด
1. อคติต่อพระเจ้า
การมีอคติต่อพระเจ้าหมายถึงการมีทัศนคติเชิงลบต่อพระองค์ในเรื่องต่างๆ อาทิเช่น การมีอคติต่อความเมตตาของพระองค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ารังเกียจและต้องห้าม (ฮะรอม) พระองค์ทรงตรัสในอัลกุรอานว่า
لا تیأسوا من روح الله انه لاییأس من روح الله الّا القوم الكافرون[1]
(จงอย่าสิ้นหวังในพระเมตตาของอัลลอฮ์ แท้จริง หามีผู้ใดสิ้นหวังในพระเมตตาของพระองค์ไม่ เว้นแต่กลุ่มชนผู้ปฏิเสธ)
อคติประเภทนี้มิบังควรอย่างยิ่ง และถือเป็นบาปใหญ่ เพราะความเมตตาและอภัยธรรมของพระองค์แผ่ไพศาลยิ่ง ไม่บังควรที่จะสิ้นหวังจากพระเมตตาและอภัยธรรมของพระองค์แม้จะแบกบาปของมนุษย์และญินทั้งมวลไว้ก็ตาม[2]
ปัจจัยบางอย่าง อาทิเช่น การทำบาปมาก การไม่รู้จักพระองค์ ความตระหนี่ถี่เหนียว ฯลฯ สามารถจะส่งผลให้เกิดอคติต่อพระองค์ได้ มีฮะดีษระบุว่าความตระหนี่ถี่เหนียวเป็นบ่อเกิดแห่งอคติต่อพระองค์[3]
เมื่อทราบถึงปัจจัยบางประการที่ก่อให้เกิดอคติต่อพระองค์แล้ว ก็ควรขจัดให้หมดไป เพื่อที่จะสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อพระองค์ ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “จงมีทัศนคติเชิงบวกต่อพระองค์เถิด เพราะพระองค์ทรงตรัสว่า ข้าให้ความสำคัญต่อทัศนคติเชิงบวก หากเขา (มนุษย์) มีทัศนคติที่ดี ก็จะได้รับสิ่งดีๆ แต่หากมีอคติ ก็ย่อมจะประสบกับสิ่งเหล่านั้น”[4]
2. อคติต่อตนเอง
การที่มนุษย์หลงตัวเองย่อมจะทำให้สถานภาพของตนตกต่ำและทำให้ผู้อื่นหมดศรัทธา ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “ผู้ที่หลงตัวเองจะเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์ของผู้คนมากมาย”[5] ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่มีอคติต่อตนเองในลักษณะการถ่อมตนย่อมจะได้รับความสูงส่ง อิมามอลี (อ.) กล่าวว่า “การคงอคติต่อตนเองถือเป็นคุณลักษณะประการหนึ่งของผู้ยำเกรง” [6]
3. การไม่ไว้วางใจศัตรู
อคติประเภทนี้ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เนื่องจากจะช่วยกำชับให้เราระวังเล่ห์เพทุบายของศัตรู เพราะบ่อยครั้งที่ศัตรูแสร้งหยิบยื่นมิตรภาพเพียงเปลือกนอก แต่แท้ที่จริงกลับจ้องที่จะทำลายเราได้ทุกเมื่อ จึงไม่อาจจะวางใจในคำพูดหรือพฤติกรรมของศัตรูได้เลย ท่านอิมามอลี (อ.) กล่าวแก่มาลิก อัลอัชตัรในตำรานะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ไว้ว่า “พึงระวังศัตรูแม้หลังจากสงบศึก เพราะบางครั้งศัตรูเข้าใกล้เพื่อลอบจู่โจม ฉะนั้นจงมีวิจารณญาณที่กว้างไกล และจงตำหนิทัศนคติเชิงบวกในกรณีนี้”[7]
4. อคติต่อเครือญาติ มิตรสหาย และพี่น้องผู้ศรัทธา
เข้าใจว่าคำถามของคุณคงเกี่ยวกับกรณีนี้เป็นหลัก อิสลามสอนว่าการหวาดระแวงเครือญาติ มิตรสหาย พี่น้องผู้ศรัทธานั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมที่เราอาศัยอยู่เป็นหลัก
ก. หากอาศัยอยู่ในสังคมที่กระทำบาปกันเป็นอาจิน คราคร่ำไปด้วยความอยุติธรรม โดยที่แต่ละคนคิดเพียงสนองความโลภโมโทสะของตนเอง แน่นอนว่าในสังคมเช่นนี้ หลักเบื้องต้นก็คือการไม่ไว้วางใจ ดังที่ท่านอิมามฮาดี (อ.) กล่าวไว้ว่า “เมื่อถึงกลียุคที่ความยุติธรรมเสียท่าแก่การกดขี่ ไม่ควรมองโลกในแง่ดีนอกจากจะเป็นที่ชัดเจนแล้วเท่านั้น”[8]
ข. แต่หากอาศัยอยู่ในสังคมที่มีพื้นฐานความยุติธรรม อีกทั้งแวดล้อมด้วยผู้ศรัทธาจำนวนมาก ในกรณีเช่นนี้จะต้องมีทัศนคติเชิงบวกเข้าไว้ โดยต้องหลีกเลี่ยงการถืออคติ เนื่องจากจะต้องไว้วางใจต่อสังคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไว้วางใจกันและกัน อัลลอฮ์ทรงตรัสไว้ว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงหลีกเลี่ยงทัศนคติบางประการต่อกันและกันเถิด เพราะการคาดเดาบางประการถือเป็นบาป...”[9] ท่านอิมามฮาดี (อ.) กล่าวว่า “เมื่อถึงยุคทองที่ความยุติธรรมมีชัยเหนือการกดขี่ เป็นเรื่องต้องห้ามที่จะมีอคติต่อผู้อื่น เว้นแต่ความบกพร่องดังกล่าวจะเป็นที่ประจักษ์แล้วเท่านั้น”[10] อิสลามถือว่าเกียรติยศของมุสลิมจะต้องได้รับการปกปักษ์รักษาเป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงปกปักษ์รักษาด้วยการห้ามมิให้มีอคติต่อกัน บรรดานักอรรถาธิบายกุรอานอธิบายความหมายของ “การคาดเดา”ว่าหมายถึงการมีอคติต่อพี่น้องมุสลิม[11]
ด้วยเหตุนี้เอง ในเบื้องต้นมุสลิมจะต้องถือว่าการกระทำของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะถือว่าสิ่งนั้นถูกต้องก็ตาม ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวไว้ว่า “จงเฟ้นหาเหตุผลสำหรับพฤติกรรมที่พี่น้องของเธอกระทำไป แต่ถ้าไม่พบก็จงรังสรรค์ขึ้นมาเอง”[12]
ส่วนคำถามอื่นๆที่เกี่ยวกับอคตินั้น ทางเราขอตอบตามลำดับดังต่อไปนี้โดยสังเขป
สาเหตุของการมีอคติคืออะไร?
การมีอคติมีสาเหตุต่างๆดังต่อไปนี้
1. มีจุดบกพร่องทั้งภายนอกและภายใน- บุคคลที่มีข้อบกพร่องย่อมจะมองผู้อื่นเสมอเหมือนตนเองเสมอ
2. คบคนพาล – หากคบค้าสมาคมกับคนชั่ว ย่อมจะคิดว่าผู้อื่นก็เป็นอย่างนั้น เพราะคิดว่าเพื่อนฝูงของตนเป็นตัวแทนของคนในสังคม ท่านอิมามอลี(อ.)เคยกล่าวไว้ว่า “การคบหาคนชั่วจะทำให้เกิดอคติกับคนดี”[13]
3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ฟอนเฟะ
4. มีปมด้อย – ผู้ที่ขาดความมั่นใจในตัวเองหรือถูกเหยียดหยันจากคนรอบข้างนั้น มักจะมองผู้อื่นด้วยสายตาที่เย้ยหยันเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อลบปมด้อยของตนเองและปลอบใจด้วยเหตุผลจอมปลอม
วิธีปลดเปลื้องอคติ
1. เสริมสร้างปัญญา – การถืออคติเกิดจากความบกพร่องทางความคิด ทำให้คล้อยตามเรื่องที่ยังไม่เป็นที่แน่ชัด อิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “การมีทัศนคติเชิงบวกถือเป็นคุณลักษณะจำเพาะของเหล่าผู้ทรงปัญญา”[14]
2. หลีกเลี่ยงการทรนงตน
3. ถือเสียว่าถูกต้อง – คนเราควรมองผู้อื่นบนพื้นฐานของเกียรติยศแห่งความเป็นมนุษย์
การมีอคติก็คือการมีทัศนคติเชิงลบไช่หรือไม่?
การมีอคติมิได้ต่างไปจากการมีทัศนคติเชิงลบ (ซูอุซ ซ็อนน์)
กุรอานมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับผู้ถืออคติ
กุรอานถือว่าภาวะดังกล่าวถือเป็นบาปประเภทหนึ่ง ดังที่ระบุไว้ว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา จงหลีกเลี่ยงการคาดเดาหลากหลายประเภท เพราะการคาดเดาบางประเภทถือเป็นบาป”[15]
หากปรับปรุงตัวได้แล้ว ควรทำอย่างไรไม่ให้อุปนิสัยนี้ย้อนกลับมาอีก?
หลังจากขจัดอุปนิสัยนี้ได้แล้ว แน่นอนว่าจะต้องระมัดระวังมิให้สาเหตุของอคติเกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด เพื่อจะได้ไม่ประสบกับอคติอีก
ผู้ที่ถืออคติมักมีอคติกับทุกคน หรือเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น?
ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวในเรื่องนี้ เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ระดับของอคติ และสาเหตุของอคตินั้นๆ บางคนอาจจะมีอคติกับบุคคลบางคนเนื่องจากตั้งตนเป็นศัตรูหรืออิจฉาริษยาคนๆนั้นเป็นการเฉพาะ โดยมิได้มีอคติกับคนอื่นๆ บางคนอาจมีอคติกับบุคคลบางคนเนื่องจากความใกล้ชิดและความคาดหวัง เช่น คาดหวังจะได้รับความเอาใจใส่จากบางคนแต่กลับไม่ได้รับ ซึ่งมักจะมองว่ามีเจตนาด้านลบ
แต่บางคนมีอคติที่หยั่งรากลึกถึงแก่นของบุคลิกภาพ ทำให้มีอคติต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคู่ครอง บุตร เพื่อนสนิท ฯลฯ ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวว่า “มากกว่าสองในสามของผู้คนป่วยเป็นโรคนี้”[16]
การถืออคติทำให้ถูกลงทัณฑ์หรือไม่?
ลำพังการจินตนาการในความคิดย่อมไม่ไช่บาป แต่ประเด็นที่ศาสนาได้ห้ามไว้ก็คือการที่บุคคลมีอคติต่อผู้อื่นในลักษณะที่ปักใจเชื่อและเริ่มปรากฏทางพฤติกรรมภายนอก[17] จึงกล่าวได้ว่าอคติมีสามขั้นด้วยกัน 1. อคติในใจ 2. อคติทางวาจา 3. อคติเชิงปฏิบัติ สิ่งที่แล่นเข้ามาในจิตใจย่อมอยู่นอกศาสนบัญญัติ เนื่องจากอยู่นอกขอบเขตการควบคุม แต่สิ่งที่ศาสนาห้ามไว้ก็คืออคติทางวาจาและการปฏิบัติ[18]
บาปประเภทนี้อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนในทุกช่วงวัย กล่าวคือสิ่งที่กุรอานต้องการจะสื่อถึง “การหลีกเลี่ยงการคาดเดา”นั้น มิไช่การห้ามคาดเดา เพราะการคาดเดาเป็นการรับรู้ทางจิตใจประเภทหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วหัวใจย่อมเปิดกว้าง ทำให้ไม่สามารถจะสกัดกั้นความคิดบางประเภทมิให้โลดแล่นในใจได้ ฉะนั้นจึงมิได้สื่อถึงการห้ามคาดเดา แต่โองการต้องการจะสื่อว่าห้ามคล้อยตามการคาดเดาเชิงลบ เสมือนจะสอนว่าหากมองผู้อื่นในแง่ลบก็จงอย่านำมาเป็นเครื่องตัดสินใจ ฉะนั้น ในกรณีที่มีการกล่าวถึงผู้อื่นในแง่ลบซึ่งทำให้เกิดทัศนคติเชิงลบกับบุคคลดังกล่าว หากเราคล้อยตามและเริ่มนำสู่ภาคปฏิบัติด้วยการตำหนิหรือกล่าวหาบุคคลนั้นตามที่ได้ยินมา หรือแสดงท่าทีอื่นๆตามทัศนคติเชิงลบที่มี เหล่านี้ถือเป็นผลพวงของอคติซึ่งล้วนเป็นบาปและเป็นสิ่งต้องห้ามทั้งสิ้น[19] โดยผู้ที่ฝ่าฝืนย่อมจะถูกลงทัณฑ์ในปรโลก
ผลเสียของการถืออคติมีดังนี้
1. ขาดความปลอดภัยในสังคม – ผู้มีอคติย่อมก้าวล่วงเกียรติภูมิของพี่น้องมุสลิม
2. อยากรู้อยากเห็นเรื่องชาวบ้าน – ผู้ถืออคติมักจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพี่น้องมุสลิมเพื่อแสวงหาประจักษ์พยานที่จะยืนยันความถูกต้องของอคติของตน
3. เป็นโรคนินทาพี่น้องผู้ศรัทธา[20] – เมื่อมีอคติกับผู้ใด เขาย่อมถือวิสาสะที่จะนินทาบุคคลนั้น[21]
4. สูญเสียผลบุญของอิบาดะฮ์ – อิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “จงหลีกเลี่ยงการคาดเดาในเรื่องไม่ดีไม่งาม เพราะจะทำลายอิบาดะฮ์และจะขยายบาปให้ใหญ่หลวง”[22]
5. สูญเสียมิตรสหายและอยู่อย่างเดียวดาย – อิมามอลี(อ.)กล่าวว่า “บุคคลที่เพลี่ยงพล้ำต่ออคติ ย่อมจะสูญเสียหนทางคืนดีกับมิตรสหายทุกราย”[23]
6. ก่อให้เกิดความกลัว ความตระหนี่ และความโลภ – ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวแก่ท่านอิมามอลี(อ.)ว่า “โอ้อลี ความหวาดกลัว ความตระหนี่ และความโลภคือกิเลสที่ถือกำเนิดจากอคติ”[24]
ส่วนทัศนคติของนักจิตเวชเกี่ยวกับผู้ถืออคตินั้น สามารถศึกษาได้จากหนังสือที่นักจิตเวชเขียนไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ
[1] ซูเราะฮ์ยูซุฟ,87
[2] ซัยยิดอับดุลฮุเซน ฏ็อยยิบ,อัฏยะบุ้ลบะยาน ฟี ตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 9,หน้า 416 และ 417 ,สำนักพิมพ์อิสลาม,เตหราน,พิมพ์ครั้งที่สอง,ปี 1378
[3] อะซีซุลลอฮ์ อะฏอรุดี, อีมานและกุฟร์,แปลจากอัลอีมานวัลกุฟร์,บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 1 หน้า 550,สำนักพิมพ์อะฏอรุด,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1378
[4] เพิ่งอ้าง,เล่ม 2,หน้า 65
[5] อัลลามะฮ์ มัจลิซี, บิฮารุลอันว้าร,เล่ม 69 ,หน้า 317, من رضى عن نفسه كثر الساخطون عليه
[6] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์,คุฏบะฮ์ที่ 193, فهم لانفسهم متهمون و من اعمالهم مشفقون اذا زكى احدهم خاف مما یقال له
[7] เพิ่งอ้าง,จดหมายฉบับที่ 53
[8] มุฮัมมัด มุฮัมมะดี เรย์ชะฮ์รี, มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 7,หน้า 3401
[9] อัลฮุจุร้อต,12 یا ایها الذین آمنوا اجتنبوا کثیرا من الظن ان بعض الظن إثم
[10] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 7,หน้า 3401
[11] โปรดศึกษาจากตัฟซี้รซูเราะฮ์ฮุญุร้อต โองการที่ 12
[12] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 12, عن رسول الله (ص) قال: اطلب لاخیک عذرا فانلم تجد له عذرا فالتمس له عذرا
[13] บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 71,หน้า 197,สถาบันอัลวะฟาอ์,เบรุต,ปีฮ.ศ. 1404 الامام علی (ع) قال: مجالسة الاشرار تورث سوء الظن بالاخیار
[14] มีซานุ้ลฮิกมะฮ์,เล่ม 7,หน้า 3392
[15] ฮุญุร้อต,12
[16] กุลัยนี, อุศูลุลกาฟี, เล่ม 2,หน้า 412,พิมพ์ครั้งที่สี่, ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1365
قال صادق (ع): یا اسحاق کم تری اهل هذا الآیة، "ان عطوا منها رضوا و ان لم یعطوا منها اذا هم یسخطون"، قال ثم قال هم اکثر من ثلثی الناس
[17] ฟัยฎ์ กาชานี,อัลมะฮัจญะตุ้ลบัยฎออ์, เล่ม 5,หน้า 268
[18] เฏาะบัรซี, ฟัฎล์ บิน ฮะซัน, คำแปลมัจมะอุ้ลบะยาน ฟีตัฟซีริลกุรอาน,เล่ม 23,หน้า 218 และ 219,สำนักพิมพ์ฟะรอฮอนี,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1390
[19] คำแปลอัลมีซาน,เล่ม 18,หน้า 483
[20] ดัสต์เฆ้บ, ซัยยิดอับดุลฮุเซน,กัลเบซะลีม,เล่ม 2,หน้า 183-185
[21] มุศเฏาะฟะวี,ฮะซัน,คำแปลของมุศเฏาะฟะวี,ตัวบท,หน้า 207,สำนักพิมพ์สมาคมอิสลามแห่งปรัชญาอิหร่าน,เตหราน,พิมพ์ครั้งแรก,ปี 1360
[22] อธิบายฆุเราะรุ้ลฮิกัม,เล่ม 2,หน้า 308الامام علی (ع) قال: "ایاک ان تبسی الظن فان سوء الظن تفسد العباده و یعظم الوزر".
[23] เพิ่งอ้าง,เล่ม 5,หน้า 406, الامام علی (ع) قال: "من غلب علیه سوء الظن لم یترک بینه و بین خلیل صلحا"
[24] อะฏอรุดี,อะซีซุลลอฮ์,อีมานและกุฟร์,แปลจากอีมานวัลกุฟร์ใน บิฮารุ้ลอันว้าร,เล่ม 2,หน้า 73
source : islamquest