> เหตุร้ายในชีวิตที่เรามักตัดพ้อ หลายต่อหลายครั้งที่เราด่วนตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆโดยไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อน !
...หญิงคนหนึ่งออกไปซื้อของนอกบ้านโดยมีสุนัขคู่ใจเฝ้าลูกน้อยวัยแบเบาะอยู่ในบ้าน เมื่อนางกลับถึงบ้านก็พบว่าสุนัขรีบวิ่งมาต้อนรับพร้อมกับกระดิกหางด้วยความดีใจ แต่ที่ปากของสุนัขมีคราบเลือดติดอยู่ เมื่อเห็นดังนั้นจึงคิดว่าเสียแรงที่ไว้ใจสุนัขตัวโปรด นางมั่นใจว่าสุนัขได้กัดลูกน้อยอย่างแน่นอน จึงคว้าไม้หน้าสามกระหน่ำตีสุนัขอย่างสุดแรงเกิด แล้วรีบวิ่งเข้ามาดูลูกน้อยในห้อง ปรากฏว่าทารกนอนยิ้มเป็นปกติ แต่ข้างๆกายเด็กมีสุนัขจิ้งจอกที่มีบาดแผลเต็มตัวนอนแน่นิ่งอยู่ จึงได้ข้อสรุปว่าสุนัขจิ้งจอกตัวนี้ต้องการจะทำร้ายเด็ก แต่สุนัขตัวโปรดของนางเข้าขัดขวางและต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนกระทั่งสามารถฆ่าสุนัขจิ้งจอกและช่วยชีวิตเด็กน้อยไว้ได้ เมื่อคิดได้ดังนี้ นางจึงรีบวิ่งไปดูสุนัขของตน ซึ่งก็พบว่าสุนัขได้ตายไปแล้วเพราะแรงฟาดของเธอเอง เมื่อจ้องมองที่ตาของสุนัข นางรู้สึกเหมือนกับว่าสุนัขต้องการจะเอ่ยกับเจ้าของก่อนตายว่า “นายหญิงของข้า ทำไมท่านรีบตัดสินผู้อื่นถึงเพียงนี้”
หลายครั้งหลายคราที่เราตัดสินผู้อื่นว่าเป็นผู้ไม่หวังดี แต่หลังจากได้รับรู้ถึงความเสียสละและความทุ่มเทของเขา ก็ต้องมานั่งเสียใจและอับอายในภายหลัง เพราะในความเป็นจริง เราต่างหากที่เป็นผู้ไม่หวังดีและด่วนตัดสินใจ
ตัวอย่างข้างต้นต้องการจะสื่อว่า แม้จะเป็นเพียงสุนัข แต่หากเราตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบก็ย่อมทำให้ทำให้เราเสียใจในภายหลังได้ แต่ถ้าหากผู้มีพระคุณกับเราเป็นผู้ที่ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่เรา กระทั่งลมหายใจที่เรามี เรายังจะตัดสินพระองค์โดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบอีกหรือไม่?
ในกรณีของความยุติธรรมของพระองค์อัลลอฮ์ก็เช่นกัน หากเราเกิดข้อสงสัยว่า หากพระองค์ทรงยุติธรรมและเที่ยงธรรมจริง ทำไมจึงต้องเกิดเหตุการณ์ร้ายๆขึ้นด้วย? หากเกิดข้อสงสัยเหล่านี้ให้เราคำนึงเสมอว่า อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจว่าพระองค์ไม่ทรงหวังดีกับเรา พระองค์ไม่ทรงยุติธรรม .. (นะอูซุบิลลาฮ์) ทั้งนี้ก็เพราะความคิดและการวินิจฉัยของเรามีโอกาสถูกต้องน้อยมากเมื่อเทียบกับกฏเกณฑ์ต่างๆในโลกที่เรายังไม่รู้
หลายครั้งที่เรามักจะลืมไปว่า เราเองก็มีส่วนในเรื่องร้ายๆที่เกิดขึ้นไม่น้อย และมักจะยกความผิดให้พระองค์เสมอ! หลายคนตัดพ้อกับพระองค์ว่า “หากพระองค์ยุติธรรมจริง ทำไมจึงเกิดเรื่องร้ายๆขึ้นกับข้าพระองค์เล่า?” อย่าลืมสิครับว่าเรื่องร้ายๆบางเรื่อง เรานี่แหล่ะครับที่เป็นต้นเหตุ อาทิเช่น เมื่อเราไม่ดูแลสุขภาพ ทำให้เราเจ็บป่วย เมื่อเราไม่กั้นเหล็กดัด ทำให้ขโมยขึ้นบ้าน เมื่อเราไม่ทำราวบันได ทำให้ลูกของเราตกลงมาได้รับบาดเจ็บ .. ฯลฯ ถามว่าในกรณีเหล่านี้ เราจะโทษพระองค์ได้หรือไม่?
หากเราฝ่าไฟแดงแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส เรามีสิทธิจะโทษตำรวจจราจรหรือไม่?
เหตุร้ายในทัศนะอัลกุรอาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ กุรอานได้กล่าวไว้ว่า
و ما اصابکم من مصیبة فبما کسبت ایدیکم
“และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ประสบกับสูเจ้านั้นมาจากสิ่งที่สูเจ้าได้ก่อไว้” (ซูเราะฮ์ชูรอ,30)
و ان تصبهم سيّئة بما قدّمت ایدیهم اذاهم يقنطون
“และเมื่อใดที่เหตุร้ายประสบกับพวกเขาตามที่พวกเขาได้ก่อกรรมไว้ พวกเขากลับหมดหวัง(จากความเมตตาของเรา)” (ซูเราะฮ์อัรรูม, 36)
و امّا اذا ما ابتلیه فقدر علیه رزقه فیقول ربّی اهانن
“..แต่เมื่อ(พระองค์)ทรงทดสอบเขา (โดย)จำกัดริซกีของเขา เขาจะพูดขึ้นทันทีว่า พระผู้อภิบาลของข้าฯได้ดูหมิ่นเหยียดหยามข้าฯ” (ซูเราะฮ์ ฟัญร์,16) ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะพฤติกรรมของเขาเอง ดังที่กุรอานได้กล่าวต่อว่า..
کلا بل لا تکرمون الیتیم و لا تحاضّون علی طعام المسکین
“(พระองค์ไม่ลดริซกีโดยไม่มีเหตุผลใดๆ)แต่ทว่าพวกเขาต่างหากที่ไม่เคยให้เกียรติลูกกำพร้า และไม่เคยดำเนินการบริจาคอาหารแก่คนยากจน”
فکفرت بانعم الله فأذاقها الله لباس الجوع و الخوف
“และเมื่อกลุ่มชนได้อกตัญญูต่อเนี้ยะมัตของพระองค์ ทันใดนั้น พระองค์ได้ให้พวกเขาลิ้มรสความหิวโหยและความหวาดผวา” (ซูเราะฮ์ นะฮ์ลิ, 114) อายะฮ์นี้ชี้ให้เห็นว่า การอกตัญญูต่อพระองค์คือสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราประสบกับความยากลำบากต่างๆนาๆ
เราเชื่อว่าความลำบากหรือเหตุร้ายต่างๆมากมายเกิดจากการกระทำของมนุษย์เอง ฉะนั้น เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น ให้พิจารณาให้ถี่ถ้วนเสียก่อนว่าเราทำหน้าที่ต่างๆบกพร่องหรือไม่?
เหตุใดผู้กดขี่จึงไม่ถูกลงโทษ? บางคนตั้งคำถามขึ้นว่า ถ้าเหตุการณ์ร้ายๆทั้งหมดมาจากกรรมที่มนุษย์ก่อขึ้น อันเป็นกฏเกณฑ์ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ ทำไมบางคนก่อกรรมทำบาปใหญ่หลวง อย่างเช่นกดขี่ผู้ยากไร้อย่างทารุณ หรือสังหารหมู่ผู้บริสุทธิมากมายมหาศาล ทั้งที่พวกเขาจะต้องถูกลงโทษ แต่ทำไมบางคนจึงยังมีชีวิตที่สุขสบายและยังลอยนวลอยู่ในสังคม ? หากจะพิจารณาจากกุรอานและฮะดีษ จะพบว่าการลงโทษมนุษย์แบ่งออกเป็นสามประเภทด้วยกัน
กลุ่มบุคคลที่ได้รับการลงโทษตามผลกรรมทันที
กลุ่มบุคคลที่ได้รับประวิงเวลาก่อนได้รับโทษ
กลุ่มบุคคลที่ได้รับการประวิงเวลาและปล่อยให้สุขสบายชั่วระยะหนึ่งกระทั่งหมดลมหายใจ และจะถูกลงโทษในวันกิยามะฮ์
ความแตกต่างระหว่างการลงโทษสามประเภทนี้ย่อมสอดคล้องกับความเหมาะสมในโลกแห่งความเป็นจริง เนื่องจากลักษณะของผู้กระทำผิด, ประเภทของความผิด ตลอดจนเจตนาในการกระทำผิดมิได้เหมือนกันเสมอไป เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงโทษจึงสอดคล้องกับปัจจัยหรือเงื่อนไขต่างๆเสมอ
ตัวอย่างเช่นเมื่อนักเรียนทำผิด อาจารย์สามารถจะทำโทษได้หลายวิธี นักเรียนบางคนอาจจะถูกทำโทษทันทีที่ทำผิด ส่วนบางคนอาจจะได้รับการคาดโทษไว้ก่อน ในขณะเดียวกัน อาจารย์ท่านเดียวกันนี้อาจจะแสดงอาการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับนักเรียนบางคน แต่จะรอหักคะแนนสอบปลายภาคแทน
นักเรียนดีเด่นของร.ร.มักจะถูกทำโทษหรือตำหนิว่ากล่าวทันทีที่กระทำผิด ทั้งนี้ก็เพราะอาจารย์ไม่ต้องการจะเห็นนักเรียนประเภทนี้กระทำผิดเด็ดขาด แต่นักเรียนทั่วๆไปโดยเฉพาะนักเรียนที่ดื้อรั้นมักจะยังไม่ถูกลงโทษหรือตำหนิว่ากล่าวทันทีที่กระทำผิด เมื่อเราพิจารณาในคำสอนของกุรอานและฮะดีษจะพบว่า ในบางกรณีอย่างเช่นกรณีความผิดพลาดของบรรดาอันบิยาอ์ พระองค์ทรงตำหนิและสั่งสอนท่านเหล่านั้นทันทีแม้ความผิดพลาดนั้นจะไม่ไช่บาปก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นกรณีของนบียูนุสที่พระองค์ทรงเตือนสติทันทีด้วยการปล่อยให้อยู่ในท้องปลาวาฬ ซึ่งก็เป็นเพราะการที่ท่านอพยพหนีอะซาบที่พระองค์จะส่งมายังกลุ่มชนของท่านก่อนที่พระองค์จะสั่ง
แต่สำหรับบางกลุ่มชน พระองค์ได้ตรัสในซูเราะฮ์ กะฮ์ฟิ, 58 ไว้ว่า การลงทัณฑ์ของพระองค์มีกำหนดเวลาที่แน่นอน และพระองค์จะยังไม่ทรงลงโทษบุคคลกลุ่มนี้ทันทีที่พวกเขากระทำผิดบาป แต่จะประวิงเวลาและให้โอกาสคนเหล่านี้ได้พิจารณาตนเองก่อนกำหนดแห่งการลงโทษจะมาถึง
ในบางกรณี พระองค์ทรงประวิงเวลาการลงโทษคนบางกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาสะสมเพิ่มพูนความผิดบาปให้มากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้โทษของพวกเขาหนักยิ่งขึ้นในวันกิยามะฮ์ บุคคลเหล่านี้มีหัวใจที่แข็งกระด้างและมืดทึบเกินกว่ารัศมีแห่งทางนำจะเล็ดลอดเข้าไปได้ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่เราอาจจะพบเห็นบุคคลบางกลุ่มที่ก่อกรรมทำเข็ญหรือทำบาปใหญ่หลวง แต่กลับลอยนวลอยู่ในสังคมโดยที่ไม่ถูกพระองค์ลงโทษเสียที
กุรอานกล่าวในซูเราะฮ์ อัรเราะด์, 32 ว่า “ข้าได้ประวิงเวลาให้แก่ผู้ปฏิเสธ และหลังจากนั้น ข้าจะจัดการกับพวกเขา” ในอีกโองการหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ เหล่าผู้ปฏิเสธอย่าได้คิดว่าการที่เราประวิงเวลาแก่พวกเขาเป็นสิ่งดี แท้จริงเราประวิงเวลาเพียงเพื่อให้พวกเขาเพิ่มพูนบาป และการลงทัณฑ์ที่หยามเกียรติคือชะตากรรมของพวกเขา”
...............
การประวิงเวลาเพื่อรอลงอาญาในวันตัดสิน ในขณะที่ยะซีดกำลังหยิ่งผยองกับชัยชนะจอมปลอมหลังจากที่สังหารอิมามฮุเซนสำเร็จ ท่านหญิงซัยนับได้อัญเชิญอายะฮ์ดังกล่าวเพื่อต้องการจะสื่อให้ยะซีดเข้าใจว่า อำนาจบารมี,ชัยชนะ หรือความสะดวกสบายที่เจ้ามี ณ เวลานี้ล้วนเป็นเพียงองค์ประกอบในการเพิ่มพูนบาปให้มากขึ้นทวีคูณเท่านั้น
การที่พระองค์ทรงปล่อยให้บุคคลที่เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์ได้รับความสะดวกสบายในดุนยาคือการตระเตรียมการสำหรับอะซาบอันเจ็บปวด ดังที่กุรอานได้กล่าวว่า พระองค์ทรงประทานความสะดวกสบายอย่างล้นเหลือแก่บุคคลบางจำพวกเพื่อให้พวกเขาเพลิดเพลินและปลื้มปีติอย่างสุดซึ้ง ทันใดนั้นพระองค์จะริบความสะดวกสบายเหล่านั้นกลับคืนมาในชั่วพริบตา
...เพื่อให้พวกเขาทุกข์ระทมจากการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต
ฉะนั้น..
หากเราประสบความยากลำบากทันทีที่ทำผิด ให้เราคำนึงเสมอว่า
สภาพจิตใจของเรายังไม่เลวร้ายเสียทีเดียว
พระองค์จึงตักเตือนเราด้วยความยากลำบากในดุนยา
ซึ่งเป็นวิธีที่พระองค์ใช้กับศาสดาของพระองค์เอง
แต่จงกลัววันที่..
เราทำผิดบาปเท่าใด ก็ไม่มีเหตุร้ายใดๆมากล้ำกราย ซ้ำเงินทอง ลาภยศ ชื่อเสียง ยังใหลมาเทมา
เมื่อนั้น ให้เรารู้ทันทีว่า...
จิตใจเราแข็งกระด้างเกินการตักเตือนในดุนยา จนต้องรอวันที่จะถูกโยนลงไฟนรกสถานเดียว
ด้วยเหตุนี้จึงมีดุอาดีๆมาฝากพี่น้องไว้อ่านเสมอๆ นั่นคือ
ربّنا لا تکلنا علی انفسنا طرفة عين ابداً
“ร็อบบะนา ลาตะกิลนา อะลา อันฟุสินา ฏ็อรฟะตะ อัยนิน อะบะดา”
โอ้พระผู้อภิบาลของเรา ขอทรงอย่าปล่อยเราไว้กับตัวของเราเองแม้เพียงชั่วพริบตา
ชีวิตในดุนยาเหมือนถนนเส้นหนึ่ง
ที่อาจทำให้ผู้ขับขี่เผลอหลับไป
และอาจจะเกิดอุบัติเหตุ
ฉะนั้น..
เมื่อประสบความยากลำบาก อย่าท้อแท้สิ้นหวังเด็ดขาด
เพราะสิ่งเหล่านี้คือลูกระนาดบนถนนของชีวิต
หากไม่มีลูกระนาดเหล่านี้
เราอาจจะหลับสบายบนถนนชีวิต
แต่หารู้ไม่ว่า เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่อุบัติเหตุครั้งยิ่งใหญ่แห่งกิยามะฮ์
บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี